“โคะโคะโระ” วรรณกรรมสุดคลาสสิก ยุคญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านสู่สมัยใหม่

โตเกียว ญี่ปุ่น ยุคเมจิ โคะโคะโระ
เมืองโตเกียวในปี ค.ศ. 1912 สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของญี่ปุ่นในยุคเมจิ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“โคะโคะโระ” (心) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “จิตใจ” หรือ “หัวใจ” ในเชิงความรู้สึก แตกต่างกับ “ชินโซ” (心臓) ซึ่งแปลว่า “หัวใจ” ในเชิงกายภาพ 

นิยามคำว่าจิตใจสำหรับชาวญี่ปุ่นนั้นกว้างและสามารถตีความได้หลากหลาย เนื่องจากจิตใจเป็นนามธรรมที่เข้าใจยาก แต่ก็มีความสำคัญ การเรียนรู้เกี่ยวกับจิตใจจึงสำคัญอย่างมากสำหรับบางคน และนั่นได้นำมาสู่ โคะโคะโระ(こゝろ/こころ)วรรณกรรมญี่ปุ่นคลาสสิก ที่นำพาผู้อ่านเรียนรู้จิตใจของมนุษย์

โคะโคะโระ วรรณกรรมทรงคุณค่าที่ถูกนำไปใช้เป็นเนื้อหาในการศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่น วางจำหน่ายครั้งแรกใน ค.ศ. 1914 หรือปีไทโชที่ 2 เนื้อหาดำเนินอยู่ภายใต้บริบทของยุคสมัยเมจิ ซึ่งเริ่มใน ค.ศ. 1868 หรือตรงกับต้นรัชกาลที่ 5 อันเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นได้เผชิญกับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงจากการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งขับเคลื่อนให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติมหาอำนาจ จนก่อให้เกิดค่านิยมของความเป็น “ปัญญาชน” หรือบุคคลที่แสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากในยุคสมัยนี้

นัตสึเมะ โซเซกิ (Natsume Souseki) ผู้เขียนวรรณกรรมชิ้นนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาคือนักเขียนผู้เป็นดั่งภาพจำของวรรณกรรมญี่ปุ่นคลาสสิก มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยเมจิคาบเกี่ยวไปถึงต้นรัชสมัยไทโช (ค.ศ. 1867 ปีเคโอที่ 3 ถึง ค.ศ. 1916 ปีไทโชที่ 5) โซเซกิเขียนวรรณกรรมชื่อดังไว้มากมายจนกลายเป็นบุคคลสำคัญของญี่ปุ่น สำคัญถึงขนาดที่ใบหน้าของเขาเคยปรากฏอยู่บนธนบัตรมูลค่า 1,000 เยน ตั้งแต่ปี 1984-2007

ธนบัตร 1,000 เยน นัตสึเมะ โซเซกิ Natsume Souseki
ด้านหน้าของธนบัตรฉบับ 1,000 เยน ค.ศ. 1984-2007 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

โคะโคะโระ ว่าด้วยเรื่องราวของ “เซนเซย์” ปัญญาชนวัยกลางคนผู้ปล่อยผ่านกับสังคม และ “ข้าพเจ้า” ชายหนุ่มวัยนักศึกษา ตัวแทนของผู้อ่านที่จะค้นลึกลงไปในจิตใจของเซนเซย์  เนื้อหาเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าผ่านมุมมองของข้าพเจ้า ซึ่งพบกับเซนเซย์ครั้งแรกที่ทะเลในเมืองคามาคุระ และได้ถูกแรงดึงดูดบางอย่าง ส่งผลให้ข้าพเจ้าเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเซนเซย์ ก่อนจะเริ่มสนิทกันในเวลาต่อมา

นัตสึเมะ โซเซกิ
นัตสึเมะ โซเซกิ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

บทแรก “เซนเซย์และข้าพเจ้า” จะนำผู้อ่านไปทำความรู้จักกับคนทั้งสองตามชื่อบท ทั้งเรื่องราวของข้าพเจ้าที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียว กับการแสวงหาการเรียนรู้ในฐานะมนุษย์ กับเรื่องราวของเซนเซย์ ที่ปราศจากความคาดหวังในสิ่งใด ไม่มีความเชื่อใจต่อใคร และประเมินตัวเองไว้ต่ำเกินไป ทั้งสองค่อยๆ รู้จักกัน ข้าพเจ้าจะได้รับรู้ถึงปมต่างๆ ของเซนเซย์ ได้เรียนรู้มันไปทีละน้อย พร้อมกันกับการดำเนินชีวิตของข้าพเจ้าในฐานะนักศึกษาคนหนึ่ง

บทต่อมาคือ “พ่อแม่และข้าพเจ้า” ว่าด้วยเรื่องราวของข้าพเจ้าที่กลับจากโตเกียวไปเยี่ยมพ่อที่ป่วยที่บ้านเกิด บทนี้ข้าพเจ้าจะได้รู้จักกับสัจธรรมส่วนหนึ่งของชีวิต คือความเจ็บป่วย และการครุ่นคิดถึงความตาย ผ่านบริบทสำคัญในเรื่องคือการตายของจักรพรรดิเมจิ (ค.ศ. 1912) เนื้อหาแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางแนวคิดระหว่างเซนเซย์กับพ่อแม่ของข้าพเจ้าในเรื่องชีวิต ความยอมรับและต่อต้านที่เกิดขึ้นพร้อมกันในจิตใจของข้าพเจ้า คือสิ่งที่ถูกส่งต่อให้ผู้อ่านมาร่วมครุ่นคิดด้วยต่อไป 

บทสุดท้ายคือ “เซนเซย์และพินัยกรรม” เล่าถึงอดีตทั้งหมดของเซนเซย์ผ่านจดหมายฉบับยาวที่ส่งให้ข้าพเจ้า ในช่วงที่ข้าพเจ้าดูแลพ่ออยู่ที่บ้านเกิด เนื้อหาเล่าถึงปมชีวิตทั้งหมดที่ส่งผลให้เป็นเซนเซย์ดั่งในปัจจุบัน ทั้งปมเรื่องครอบครัวที่ทำให้เซนเซย์ไม่เชื่อใจใคร กับปมของภรรยาและเพื่อนสนิทที่ส่งผลให้เซนเซย์ถูกตรึงติดอยู่กับบาปและด้อยค่าตัวเองอย่างหนัก บทนี้คือบทหลักของโคะโคะโระซึ่งจะทำให้ผู้อ่านจมลึกลงไปในห้วงจิตใจของตนเอง

ความน่าสนใจของ โคะโคะโระ ในฐานะวรรณกรรมคือการผูกโยงประเด็นด้านจิตใจกับบริบทของญี่ปุ่นยุคเมจิ ที่เผชิญกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง ตัวเซนเซย์เปรียบเสมือนบุคคลที่ไม่ได้เดินหน้าไปพร้อมกับยุคสมัย เพราะยังคงติดอยู่กับอดีต ขณะที่ข้าพเจ้าซึ่งอีกมุมหนึ่งเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของเซนเซย์ขณะยังเป็นวัยรุ่นคือผู้แสวงหาการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง โดยเรียนรู้จากเซนเซย์ผู้ละทิ้งสิ่งดังกล่าวไปนานแล้ว

กล่าวโดยลงลึกในบริบทแล้ว ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เกิดอุตสาหกรรมขึ้นจำนวนมากในยุคนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการทหาร ทั้งการต่อเรือ การผลิตอาวุธ และอุตสาหกรรมยิบย่อยอื่นๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญเติบโตขึ้นอย่างสุดขีด พร้อมๆ กับการถือกำเนิดของ “ไซบัตสึ” หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม จนกลายเป็นกลุ่มทุนที่สามารถชี้นำประเทศได้

เข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นเปิดหัวศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยชัยชนะในสงครามกับรัสเซีย ปี 1904-1905 ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะชาติเอเชียชาติแรกที่เอาชนะชาติจากยุโรปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ ซึ่งกองเรือญี่ปุ่นสามารถทำลายล้างกองเรือขนาดใหญ่ของรัสเซียได้ภายในเวลาแค่วันเดียว ประชาคมโลกจึงเริ่มจับตามองญี่ปุ่นในฐานะชาติมหาอำนาจที่จำเป็นต้องระแวดระวัง

หากพิจารณาเนื้อหาในโคะโคะโระที่ดำเนินเรื่องอยู่ในช่วงเวลานี้ จะเห็นได้ว่า โตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวงมีพัฒนาการอย่างมากจากอดีต ทั้งรถไฟที่มีมากขึ้น ตึกรามบ้านช่อง และสภาพความเป็นอยู่ของคนเมือง อีกทั้งบริบทสังคม ณ ขณะนั้นที่ให้ความสำคัญกับปัญญาชน ทำให้การเรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยโตเกียว กลายเป็นค่านิยมสำคัญของวัยรุ่นที่ทำให้เมืองโตเกียวนั้นเต็มไปด้วยบรรดาผู้มีความรู้

นอกจากนี้ ยังมีค่านิยมขนาดใหญ่ที่ครอบทับตัวละครหลักทั้งสอง นั่นคือ ค่านิยมที่เร่งรีบแสวงหาความมั่นคงในหน้าที่การงาน อันเป็นค่านิยมพื้นฐานในช่วงรัชสมัยเมจิ กับค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในเรื่องจิตใจ ซึ่งเดิมไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในสังคมญี่ปุ่น

ในบทแรก ผู้อ่านจะเห็นว่า “ข้าพเจ้า” ให้ความสำคัญกับค่านิยมอย่างหลัง คือการเรียนรู้เรื่องจิตใจจากเซนเซย์ ข้าพเจ้าพยายามมองลึกไปถึงแนวคิด ค่านิยม และอดีตของเซนเซย์ ผ่านการแวะเวียนเข้าไปที่บ้านของเซนเซย์ โดยที่ข้าพเจ้าก็ไม่รู้แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดถึงได้สนใจในตัวเซนเซย์ตั้งแต่แรก

เซนเซย์นั้นเปรียบเสมือนบุคคลที่เอาตัวเองออกมาจากโลกที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ในมุมหนึ่งเซนเซย์จึงมองว่าการที่ข้าพเจ้าสุงสิงกับเซนเซย์จะเป็นเรื่องไม่ดีต่อตัวข้าพเจ้าที่อยู่ในช่วงที่ชีวิตต้องการความก้าวหน้า ในการสนทนาระหว่างทั้งสองในบทที่หนึ่ง ตอนที่หก เซนเซย์ได้กล่าวว่า

“ฉันเป็นมนุษย์ที่เดียวดาย และเธอก็คงจะเป็นมนุษย์ที่เดียวดายเหมือนกัน ถึงฉันจะเหงาสักแค่ไหนฉันก็มีอายุมากแล้ว ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาก็อยู่ได้ แต่คนหนุ่มอย่างเธอคงจะไม่ไหวล่ะมั้ง เธอคงอยากจะไปไหนมาไหนและคงอยากจะแสวงหาอะไรสักอย่าง จริงมั้ย” 

แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ในมุมมองของข้าพเจ้าแล้ว ความสัมพันธ์ของเขากับเซนเซย์คือสิ่งที่มีความหมายมากกว่าการวิ่งตามกระแสโลก ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ถึงจิตใจทีละน้อยจากคำบอกเล่าของเซนเซย์ มุมมองที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากอดีตที่เซนเซย์ระบุไว้ว่าเป็นอดีตอันเลวร้ายและดำมืด อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ข้าพเจ้ากับเซนเซย์ได้มารู้จักกันก็เป็นได้

ในบทที่สองที่เป็นเรื่องราวของข้าพเจ้าโดยตรง คือช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าและผู้อ่านจะได้เรียนรู้ถึงมุมมองของเซนเซย์มากขึ้น ทั้งมุมมองต่อเรื่องเงิน เซนเซย์มองว่าเงินคือปัจจัยที่ทำให้คนธรรมดาเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนชั่วได้ เรื่องเงินจึงเป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้เรียบร้อย (กล่าวในกรณีของการจัดการพินัยกรรม) หรือมุมมองเรื่องความตาย ที่เซนเซย์มองว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวและจำเป็นแก่การจะข้ามผ่านชีวิตที่ไร้คุณค่าไป

บทนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางค่านิยมระหว่างเซนเซย์กับครอบครัวของข้าพเจ้า ซึ่งถือค่านิยมตามสังคมส่วนใหญ่ ครอบครัวของข้าพเจ้ามองว่าการไม่ประกอบอาชีพหรือไม่พยายามจะทำอะไรเลยถือเป็นเรื่องล้มเหลว ขณะที่เซนเซย์นั้นเลือกชีวิตที่ละทิ้งสังคมและใช้ชีวิตที่กระทั่งตนเองยังมองว่าไร้ความหมายอยู่ต่อไป

บทที่สามอันเป็นส่วนหลักของวรรณกรรมชิ้นนี้ บอกเล่าเรื่องราวของเซนเซย์ในวัยเด็กที่โดนอาโกงมรดกของพ่อแม่เซนเซย์ซึ่งเสียชีวิตไปพร้อมๆ กัน ทำให้เซนเซย์เลือกที่จะไม่เชื่อใจใคร กับเซนเซย์วัยหนุ่มซึ่งเข้าไปอยู่บ้านเช่าหลังหนึ่งเพื่อเรียนมหาวิทยาลัย และได้พบกับ “คุณนาย” เจ้าของบ้านเช่า กับ “คุณหนู” ลูกสาวของคุณนาย เซนเซย์ตกหลุมรักคุณหนู และเริ่มคลายความระแวงที่จะไม่เชื่อใครลงไปได้บ้าง

ต่อมาเซนเซย์ได้นำ “K” ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งเข้ามาอยู่ในบ้านเช่าด้วย K เป็นชายที่ค่อนข้างมีความแปลกประหลาดพอสมควร ดูไม่สนใจโลก แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่บนอุดมคติบางอย่าง และมุ่งมั่นที่จะแสวงหาการพัฒนาในแบบของตัวเอง

K เข้ากับคนอื่นได้ยาก เซนเซย์จึงพยายามช่วยเหลือด้วยการให้ K มีปฏิสัมพันธ์กับคุณหนูและคุณนายให้มาก ภายหลัง K เริ่มสนิทกับคนอื่นๆ มากขึ้นและดูเข้าถึงง่ายมากขึ้น ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่งเซนเซย์เริ่มสังเกตว่า K กับคุณหนูสนิทกันมากกว่าเดิม

เซนเซย์ที่ตกหลุมรักคุณหนูอยู่ก่อนแล้วจึงเกิดความขุ่นมัวในจิตใจ และความระแวงบางอย่างที่เขาเคยทิ้งไปก็ได้กลับมาครอบงำจิตใจอีกครั้ง เขามองว่า K คือคู่แข่งคนหนึ่งที่ต้องเอาชนะให้ได้ และทุกอย่างก็หนักหนาขึ้นไปอีกเมื่อ K บอกกับเขาว่าแอบชอบคุณหนูอยู่

เซนเซย์ร้อนใจยิ่งกว่าเดิม เขาระแวง K มากขึ้น และเป็นทุกข์อย่างมาก ในขณะที่ K ก็ยังไม่ได้นำความรู้สึกนี้ไปบอกคนอื่นนอกจากเซนเซย์ จนกระทั่งเซนเซย์เลือกที่จะแก้ปัญหานี้โดยเอ่ยปากขอคุณหนูเป็นภรรยาจากคุณนายผู้เป็นแม่ ตัดหน้า K ซึ่งมาสารภาพความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อคุณหนูกับเขาเป็นคนแรก

เนื้อหาหลังจากนี้นำมาซึ่งบทสรุปอันน่าขมขื่นที่เซนเซย์บอกว่าเกิดมาจากตัวเขาเอง ตั้งแต่นั้นมาเซนเซย์ก็มองว่าตัวเองไร้ค่าและแบกรับบาปที่ไม่อาจบอกใครได้อยู่ต่อไป ความเชื่อใจผู้คนที่เขาเคยได้รับกลับคืนมาหลังจากพบกับคุณหนูก็ได้สูญหายไปอีกครั้ง พร้อม ๆ กับการตัดขาดตนเองจากสังคม

บทสุดท้ายนี้คือบทที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ผู้อ่านอาจไม่ได้เห็นบทสรุปถึงเรื่องราวของข้าพเจ้า แต่จะเห็นบทสรุปของเซนเซย์ ที่มาที่ไปทั้งหมดที่ทำให้เขามีค่านิยม มุมมอง แนวคิด ทัศนคติ ดังที่ข้าพเจ้าและผู้อ่านได้เห็น รวมถึงการที่เซนเซย์ได้เลือกบทสรุปของตนเองไปพร้อมๆ กับการสิ้นสุดรัชสมัยเมจิ และการเปิดศักราชใหม่ของรัชสมัยไทโช อันเป็นยุคที่ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเวลาที่เกรียงไกรที่สุดในประวัติศาสตร์

เนื้อหาทั้งหมดนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงความอ่อนไหวและซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ดังปรากฏให้เห็นในเนื้อหาบทที่ 3 แล้ว ยังสะท้อนถึงการสิ้นสุดของอดีต ซึ่งเล่าผ่านเซนเซย์ และกลายเป็นรากฐานให้ข้าพเจ้าในอนาคต ที่จะใช้ชีวิตต่อไปในโลกที่ก้าวหน้า

ฉันขอถือวิสาสะยัดเยียดเงาด้านมืดของโลกมนุษย์เข้าไปในหัวเธอ แต่เธอไม่ต้องกลัวหรอก ขอให้เธอมองดู ‘ความมืด’ ที่ว่านี้ให้ดี และขอให้เธอเลือกเอาสิ่งที่เธอพอจะนำมาเป็นข้อคิดมาใช้ ที่ฉันพูดว่า ‘ความมืด’นั้นหมายถึง ‘ความมืดในเชิงคุณธรรม’ ฉันเป็นผู้ชายที่ได้รับการสั่งสอนมาให้มีคุณธรรม ความคิดในเชิงคุณธรรมของฉันที่ว่าอาจจะมีจุดที่แตกต่างจากคนหนุ่มสาวสมัยนี้มากทีเดียวก็ได้ แต่ไม่ว่าจะผิดพลาดอย่างไรก็ตาม ความคิดนั้นก็เป็นของของฉัน ไม่ได้ไปเที่ยวหยิบยืมใครมาเหมือนกับเสื้อผ้าที่เช่ามาใส่ให้ทันงาน ดังนั้นฉันจึงคิดว่าคงจะเป็นข้อคิดไม่มากก็น้อยแก่คนที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างเธอ” 

ในแง่มุมหนึ่ง “โคะโคะโระ” จึงไม่ใช่เพียงวรรณกรรมที่สะท้อนชีวิตจิตใจของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล หากยังสะท้อนจิตใจของมนุษย์ในฐานะ “อดีต” ที่เลือกจะส่งต่อบทเรียนของตนไปสู่ “ผู้ที่มองไปยังอนาคต” ภายใต้บริบทสังคมที่เคลื่อนไปข้างหน้า 

โคะโระโระของโซเซกิ ที่แปลได้ใกล้เคียงที่สุดว่า “จิตใจ” ส่วนหนึ่งจึงอาจหมายถึง “การส่งมอบอดีตสู่ปัจจุบัน” อันเป็นเนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นระหว่าง “ข้าพเจ้า”(私)  ที่มีความหมายถึงตัวเรา และ “เซนเซย์”  ที่มีความหมายหนึ่งว่า “อาจารย์” (先生) นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

นะทซึเมะ โซเซะคิ. (2559). こころ [โคะโคะโระ] (พิมพ์ครั้งที่ 4). ยิปซี. (แปลโดย ศ. ดร. ปรียา อิงคาภิรมย์ และ กนก (ศฤงคารินทร์) รุ่งกีรติกุล)

ริชาร์ด สตอร์รี่. (2520) ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่. โครงการตำรา คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์. (แปลโดย พรรณี สรุงบุญมี และ ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข)

 ทับทิม มวลเจริญ (2557, 17 พฤษภาคม) ‘โคะโคะโระ’ หรือดวงใจที่เดียวดายไร้ซึ่งวิญญาณ. ประชาไท. https://prachatai.com/journal/2014/06/53901


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2566