ทำไม “โอชิน” ละครทีวีญี่ปุ่น ตำนานดราม่ายุค 80s ถึงเป็นอมตะ?

สตรี ญี่ปุ่น กิโมโน
ภาพประกอบเนื้อหา - สตรีญี่ปุ่นในชุดกิโมโน มาชมดอกไม้ในโตเกียว เมื่อ 28 มีนาคม 2021 ภาพจาก BEHROUZ MEHRI / AFP

ก่อนที่วัฒนธรรมร่วมสมัยบนหน้าจอจะเข้าสู่ยุคซีรีส์เกาหลี ประเดิมด้วยเรื่อง “แดจังกึม” คอละครยุคก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ติด “ละครทีวี” ญี่ปุ่นอย่าง โอชิน (Oshin) ที่เรียกน้ำตาและทำให้หลายคนสะเทือนใจกับชีวิตครอบครัวของตัวเอกที่ชวนสงสารอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละครทีวีเรื่องโอชินก็คือ สึงาโกะ ฮาชิดะ (Sugako Hashida) นักเขียนบทหญิงซึ่งล่วงลับไปแล้วเมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2021 ด้วยอายุ 95 ปี จากสาเหตุมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ละครทีวีเรื่องโอชิน ได้รับการกล่าวขานจากสื่อหลายแห่งว่า เป็นอีกหนึ่งผลงานทางทีวีญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ออกอากาศครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1983 ไปจนถึงปี 1984 เคยทำสถิติเรตติ้งที่ 52.6% มาแล้ว ต่อมา Japan Foundation ได้นำโอชินไปเผยแพร่ออกอากาศในต่างประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเผยแพร่ทางวัฒนธรรม จนกระทั่งในปี 1995 โอชินเผยแพร่ออกอากาศไปแล้ว 44 ประเทศ (Takahashi, 1998 : 144)

นักวิชาการบางรายมองว่า โอชิน นำเสนอภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นในเชิงบวก แยกออกจากภาพเชิงลบแบบยุคจักรวรรดิญี่ปุ่น ออกสู่สายตานานาชาติ

โอชิน เล่าเรื่องราวของสตรีซึ่งถือกำเนิดในครอบครัวยากจนในหมู่บ้านที่ทำการเกษตรต้นทศวรรษ 1900s ไม่เพียงแค่เรื่องฐานะที่ชวนสงสาร ตัวละครหลักในเรื่องยังประสบชะตากรรมและปัญหาภายในครอบครัวหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องบทบาทของผู้หญิงกับความสัมพันธ์ในเครือญาติ แม้จะเผชิญอุปสรรคมากมายในชีวิต แต่ในหน้าที่การงานยังได้เป็นหนึ่งในพนักงานระดับสูงในซูเปอร์มาร์เก็ตได้

ตัวอย่างภาพยนตร์ “โอชิน” ฉบับ 2013

โอชิน ออกอากาศเผยแพร่ไปในหลายประเทศเช่น จีน ไทย อิหร่าน ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวจาก Japan Times ยังเผยว่า หู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีจีน และผู้นำทางการเมืองคนสำคัญของจีน ถึงกับเคยเอ่ยปากเมื่อปี 2008 ว่า “ประทับใจอย่างมาก” ในตัวซีรีส์เรื่องนี้

นอกจากดังเปรี้ยงปร้างทางจอเงิน ยังสร้างแรงกระเพื่อมไปยังแวดวงวิชาการ เช่น เอลิซาเบธ ชีเรอร์ (Elisabeth Scherer) ทำวิจัยเรื่อง Revisiting a nationalinstitution: NHK’s morningdrama (asadora) in transition เผยแพร่ในวารสารวัฒนธรรมร่วมสมัยในเอเชียตะวันออก (East Asian Journal of Popular Culture) เมื่อ ค.ศ. 2019

ในบทความวิจัยนี้ที่ศึกษาละครยามเช้า (Asadora) เป็นซีรีส์ที่ฉายช่วงเช้าและมีผู้หญิง (โดยเฉพาะสตรีที่เป็นภรรยาทำงานบ้าน) เป็นตัวละครนำ ได้กล่าวอ้างถึง โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขณะเดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1983 ที่เปรียบเปรยถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างความนิยมในตัวละคร “โอชิน” กับการเติบโตและความสำเร็จทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Haberman, 1984)

งานวิจัยของเอลิซาเบธ อธิบายว่า นับตั้งแต่ปี 1961 Asadora (หรือในความหมายว่า serial TV novel) ออกอากาศสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมตอนเช้าเป็นเวลา 15 นาที ตั้งแต่วันจันทร์ถึงเสาร์ Asadora มักมีแพทเทิร์นโครงเรื่องเกี่ยวกับตัวละครหญิงในแต่ละช่วงเวลา แต่ละเรื่องอาจเล่าเรื่องราวตัวละครภายในช่วง 1 ปี หรือภายหลังปรับมาเป็น 6 เดือนบ้าง

เมื่อ “โอชิน” เริ่มออกอากาศไม่นานก็กลายเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสภาพสังคมแบบวัตถุนิยมในช่วงเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโต และถูกเรียกว่า “ภาวะฟองสบู่” (Bubble Economy) ในยุค 1990s ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกในเวลาต่อมา

ดร. อาร์วินด์ ซิงก์ฮัล (Dr. Arvind Singhal) ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) ให้สัมภาษณ์กับ BBC โดยอธิบายความสำเร็จของโอชินในระดับโลกว่า มาจากสารเรื่องคุณค่าของ “ความรัก, ความเสียสละ, อดทนอดกลั้น และการให้อภัย” 

ตัวละครโอชินเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ไม่ย่อท้อ แม้จะต้องเผชิญหน้ากับความลำบากจนถึงเรื่องเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม

ด้าน ดร. หยวน จูมิน (Yuen Shu Min) นักวิชาการด้านญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มองว่า ประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ผู้ติดตามเพศหญิงนิยมเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคือการพูดถึงบทบาทและตำแหน่งแห่งหนทางสังคมของสตรีในครอบครัว ซึ่งประสบสภาพความตึงเครียดระหว่างลูกสะใภ้กับแม่สามี ไปจนถึงกดดันจากความคาดหวังเรื่องปมสืบสายตระกูล

รายละเอียดเล็กน้อยที่สร้างความแตกต่างนี้ น่าจะต้องยกความดีความชอบให้กับทักษะในการเขียนบทของฮาชิดะ ซึ่งรายงานข่าวเผยว่า เธอมีชื่อเสียงเรื่องการเก็บข้อมูลจากการสังเกตการณ์ในครอบครัวสะท้อนผ่านผลงานละครทีวีที่เธอเขียนบท และที่สำคัญ ขณะให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2018 ฮาชิดะยังกล่าวว่า งานเรื่องโอชินมีแรงบันดาลใจมาจากความสัมพันธ์ช่วงแรกๆ ของเธอกับแม่สามี ซึ่งเป็นไปอย่างตึงเครียด

“เมื่อฉันทำอาหาร แม่สามีจะบ่นว่ามันจืดไป หากฉันอธิบายว่าควรลดปริมาณเกลือลง เธอก็จะไปเอ่ยกับครอบครัวว่าสะใภ้คนใหม่ตอบโต้เธอกลับ ฉันตกใจว่าการอธิบายเรื่องต่างๆ กลับทำให้ถูกมองว่าเป็นการอวดดี”

ไม่เพียงแค่ปัญหาในชีวิตโอชิน เรื่องหน้าที่การงานของตัวละครหลักในเรื่องก็สะท้อนภาพเส้นทางอาชีพของนักเขียนบทเองเช่นกัน

รายงานข่าวเผยว่า ฮาชิดะเข้าทำงานในสตูดิโอภาพยนตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำหน้าที่เขียนบท แต่ต้องลาออกเมื่อบริษัทต้นสังกัดพยายามย้ายเธอมาทำงานเลขาฯ แต่ท้ายที่สุดเธอก็ประสบความสำเร็จในฐานะคนเขียนบท

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Nikkei Shimbun เมื่อปี 2019 ฮาชิดะอธิบายว่า เรื่องเกี่ยวกับโอชินเป็นต้นแบบเรื่องของ “ผู้หญิงในญี่ปุ่นที่สามารถรอดมาจากความยากลำบากนานนับปี”

ความเข้าอกเข้าใจผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านละครทีวีเรื่องโอชิน รวมทั้งชีวิตของโอชินที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะประสบความสำเร็จ จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “โอชิน” คือละครทีวียอดฮิตที่ยังคงเป็นที่จดจำและครองใจผู้ชมมานานนับทศวรรษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Haberman, Clyde. ‘In Japan, “Oshin”means it’s time for a good cry’,
New York Times, 11 March 1984, p. 25.

“Sugako Hashida, writer of acclaimed Japanese TV drama ‘Oshin,’ dies at 95”. Japan Times. Online. Published 6 APR 2021. Access 4 JUN 2021. <Sugako Hashida, writer of acclaimed Japanese TV drama ‘Oshin,’ dies at 95>

SCHERER, ELISABETH. “Revisiting a nationalinstitution: NHK’s morningdrama (asadora) in transition”. East Asian Journal of Popular Culture. Volume 5 Number 2, 2019. <https://www.academia.edu/41205723/Revisiting_a_national_institution_NHK_s_morning_drama_asadora_in_transition_Editorial_>

Takahashi, Kazuo. ‘The impact of Japanese television programs: Worldwide “Oshin phenomena”’, Journal of Regional Development Studies ,1, 1998. pp. 143–56.

Yip, Waiyee. “Oshin: The gritty Japanese drama that gripped the world”. BBC. Online. Published 4 JUN 2021. Access 4 JUN 2021. <https://www.bbc.com/news/world-asia-57005333>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2564