ตามรอย ท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา หนึ่งในนักเรียนไทยรุ่นแรก ที่ได้ไปศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น

นักเรียนไทยในญี่ปุ่นรุ่นแรก ถ่ายภาพกับครู ลูกหลานของครู และเพื่อน ๆ ที่บ้านในกรุงโตเกียว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2530)

เมื่อ พ.ศ. 2445 หลังจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมา) ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ได้เสด็จประพาสประเทศญี่ปุ่นทำให้ทรงเห็นความก้าวหน้าของงานหัตถกรรมและศิลปะญี่ปุ่น จึงมากราบบังคมทูล และรับสั่งกับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระราชมารดาความว่า ถ้าสมเด็จมีเด็กที่มีแววทางนี้ก็น่าจะทรงส่งให้ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเรียนจบกลับมาแล้วจะได้มาสอนคนไทยบ้าง

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงเห็นชอบในพระราชดำริ จึงทรงเลือกกุลสตรี 4 คน ซึ่งประกอบไปด้วย คุณหลี, คุณพิศ, คุณนวล, และคุณขจร หรือท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา

พร้อมกันนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ก็ได้ทรงเลือกมหาดเล็กของพระองค์อีก 4 คน ประกอบไปด้วย หม่อมเจ้าพงศ์ภูวนารถ, ม.ล.โป้ย มาลากุล (พระยาเทวาธิราช), นายเจริญ สวัสดิ์ชูโต (พระยานูรเทพ ปรีดา) และนายเสริม ภูมิรัตน (หลวงประกาศโกศัยวิทย์) ให้เดินทางไปศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่นด้วย

ท่านผู้หญิงขจรกับคุณพิศ ไปเรียนวิชาปักสะดึง และวาดเขียนแบบญี่ปุ่น ส่วนคุณหลีและคุณนวล ไปเรียนการทำดอกไม้แห้ง สำหรับนักเรียนชายทั้งสี่คนจะไปเรียนวิชาทอผ้า เลี้ยงไหม และทำทอง

ทั้ง 8 คนนี้ จึงนับว่าเป็นนักเรียนไทยรุ่นแรกที่ได้ไปศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยทั้งหมดออกเดินทางด้วยเรือเดินสมุทร เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2446 โดยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงฝากให้เดินทางไปกับนายโทคิชิ มาซาโอะ (หรือที่คนไทยเรียกว่านายเมาเซา) พร้อมภริยา

นายเมาเซาผู้นี้ได้เข้ามารับราชการในประเทศสยาม ตำแหน่งที่ปรึกษาในกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้เริ่มให้ญี่ปุ่นยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับสยาม ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยามหิธรมนูปกรณโกศลคุณ และใน พ.ศ. 2464 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

นายเมาเซาและภริยา ได้รับพระราชเสาวนีย์จากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ให้ดูแลนักเรียนไทยกลุ่มแรกในการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ เพราะนายเมาเซาจะกลับไปเยี่ยมบ้าน ท่านผู้หญิงขจรเล่าว่า ทั้งสามีและภริยาคู่นี้ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองที่ดี เห็นอกเห็นใจนักเรียน ที่ว้าเหว่เพราะจากบ้านเป็นครั้งแรก นักเรียนจึงได้เรียกนายเมาเซาว่า Pa และ เรียกภริยาว่า Ma

ในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นสมัยนั้นมีอยู่ทางเดียวคือไปโดยเรือเดินสมุทร ซึ่งใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือน เรือจะต้องแวะที่ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แล้วจึงจะไปขึ้นฝั่งประเทศญี่ปุ่นที่เมืองโยโกฮามา จากนั้นจึงต้องนั่งรถไฟต่อไปยังกรุงโตเกียว เมื่อถึงกรุงโตเกียวก็ได้ไปอยู่กับครอบครัวญี่ปุ่นซึ่งเป็นทั้งครูและผู้ปกครอง ทั้งนี้เพราะนายเมาเซาได้คัดเลือกและติดต่อครอบครัวที่ดีไว้แล้วสำหรับนักเรียนไทยเหล่านี้ ทั้งยังจัดการเรื่องการเข้าโรงเรียนไว้ให้เรียบร้อยแล้วอีกด้วย

8 นักเรียนไทยรุ่นแรกในญี่ปุ่น (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2530)

การที่นักเรียนไทยเหล่านี้ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่ต่างแดนที่ตนเองไม่รู้จักกับใคร ภาษาญี่ปุ่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี บ้านเมือง อาหารการกิน ฯลฯ ก็ไม่ใคร่รู้จักคุ้นเคยว่าเป็นอย่างไร นับว่าเป็นประสบการณ์สำคัญในชีวิตของนักเรียนไทยรุ่นแรกกลุ่มนี้ ในช่วงแรก ๆ ท่านผู้หญิงขจรเล่าว่ารู้สึกลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหารการกิน เพราะอาหารญี่ปุ่นออกรสหวานและปลาก็สุก ๆ ดิบ ๆ แต่เมื่ออยู่กับครอบครัวคนอื่นแล้วหากเขากินอะไรก็ต้องกินตาม

จนกระทั่งวันหนึ่ง นักเรียนไทยเหล่านี้ได้ไปที่สถานทูตไทย แล้วท่านทูตได้ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ จนได้ทราบว่ากินอาหารญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ ท่านจึงกรุณาส่งอาหารไทยไปให้บ้างนาน ๆ ครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่กันนาน ๆ ไป เรื่องอาหารก็ไม่เป็นปัญหา นอกจากนี้ นักเรียนไทยยังสอนให้คนญี่ปุ่นทำไข่เจียวแบบไทย แกงบะช่อ และกับข้าวง่าย ๆ อีก 2-3 อย่าง ซึ่งคนญี่ปุ่นที่อยู่บ้านเดียวกันกลับชอบกินเสียด้วย

การเรียนในช่วงแรกต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น ทั้งการพูด อ่าน และเขียน และเมื่อรู้ภาษาบ้างแล้วก็เริ่มเรียนวาดเขียนสีน้ำ และปักสะดึง ท่านผู้หญิงขจรอธิบายว่า รากฐานของวิชาเย็บปักนั้น อยู่ที่วิชาวาดเขียน หากไม่เป็นวาดเขียนก็ไม่สามารถเขียนลาย หรือประดิษฐ์อะไรให้สวยงามได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติในวิชาวาดเขียนก่อนจะเรียนศิลปหัตถกรรมแขนงอื่นใดต่อไป

เมื่อได้หลักในการวาดเขียนพอสมควรแล้ว ท่านผู้หญิงขจรกับคุณพิศก็แยกมาเรียนปักสะดึง ส่วนคุณหลีและคุณนวลได้แยกไปเรียนการทำดอกไม้แห้ง

สตรีทั้ง 4 คน ที่ไปเรียนวิชาหัตถกรรมยังประเทศญี่ปุ่น (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2530)

ท่านผู้หญิงขจรเล่าเกร็ดในระยะ 4 ปี ที่นักเรียนไทยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเอาไว้เช่น เมื่อไปถึงประเทศญี่ปุ่นในช่วงแรกเป็นระยะที่ท่านผู้หญิงขจรเพิ่งโกนจุกไม่นาน ผมยังสั้น เกล้ามวยไม่ได้ จึงหวีผมแบบผมบ็อบ ในสมัยนั้นผู้หญิงญี่ปุ่นจะไว้ผมยาวเกล้ามวย จึงไม่เคยเห็นผู้หญิงไว้ผมสั้นมาก่อน เมื่อได้เห็นนักเรียนหญิงไทยผมสั้นจึงเป็นเรื่องประหลาดมากสำหรับเขาพวก เพื่อนคนญี่ปุ่นต่างเรียกล้อคนไทยเหล่านี้ว่า “คิ ซึ เนะ” ซึ่งแปลว่า “หมาจิ้งจอก” ท่านผู้หญิงขจรบอกว่ารู้สึกโกรธมากและไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเอาไปเปรียบกับหมาจิ้งจอก แต่ก็ต้องอดทนจนกว่าผมจะยาวและเกล้ามวยได้

สำหรับชีวิตนักเรียนของท่านผู้หญิงขจรในประเทศญี่ปุ่น ท่านเล่าว่าจะเริ่มด้วยตอนเช้าต้องเดินไปโรงเรียน (นักเรียนทุกคนต้องเดินไปโรงเรียน) เพื่อเรียนภาษาญี่ปุ่น แล้วจะกลับมากินอาหารกลางวันที่บ้าน เมื่อเสร็จแล้วในตอนบ่ายก็จะไปเรียนวิชาพิเศษที่บ้านครู บางวันไปเรียนวาดเขียน บางวันไปเรียนปักสะดึง บ้านครูพิเศษจะอยู่อีกแห่งหนึ่งในทิศตรงกันข้ามกับโรงเรียน ต้องเดินไปไกลพอสมควร ในฤดูที่อากาศดีก็เดินทางไม่ลำบาก แต่ถ้าฝนตกหรือหิมะตกและต้องใส่รองเท้าแบบญี่ปุ่นก็จะมีความทุลักทุเล ยิ่งถ้าสายรองเท้าขาดจะยิ่งทำให้เดินลำบากมาก ครั้งหนึ่งสายรองเท้าของท่านผู้หญิงขจรขาดจนต้องขึ้นรถลากกลับบ้าน แต่ก็ถูกครูหรือผู้ปกครองที่บ้านดุว่าฟุ่มเฟือยและไม่อดทน

ภาพวาดฝีมือ ท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2530)

การเรียนวิชาวาดเขียนและปักสะดึงถือว่าเป็นวิชาพิเศษซึ่งไม่ได้สอนลึกซึ้งในโรงเรียนประจำ จึงจำเป็นต้องไปเรียนที่บ้านของครูที่มีความชำนาญและมีชื่อเสียงในวิชานั้น ในปีสุดท้ายของการเรียนวาดเขียนของท่านผู้หญิงขจร ท่านได้มีโอกาสเรียนกับครูชื่อยิปโป้ อารากิ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากในการวาดภาพ เมื่อเอ่ยถึงชื่อครูท่านนี้ในวงการเขียนภาพเขาจะยอมรับและสรรเสริญท่านว่าเป็นปรมาจารย์ ถึงกับเรียกว่าเป็น “เทพศิลปิน” โดยปกติครูยิปโป้ อารากิ ไม่รับนักเรียนทั่วไป จะรับเฉพาะนักเรียนที่มีฝีมือดีเท่านั้น

ระยะเวลา 4 ปีที่นักเรียนไทยไปเรียนในประเทศญี่ปุ่น เป็นช่วงชีวิตในอดีตที่น่าจดจำ และเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เมื่อตอนที่เรียนจบแล้วและจะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อน ๆ และครูคนญี่ปุ่นก็ตามมาส่งจนถึงเมืองท่า เมื่อกลับมาประเทศไทยแล้วเพื่อน ๆ และครูก็ยังติดต่อกันอยู่เสมอ สำหรับท่านผู้หญิงขจรยังเก็บไปรษณียบัตรและรูปถ่ายของเพื่อน ๆ และครูไว้เป็นปึก ๆ ทำให้ทราบว่าเมื่อท่านผู้หญิงขจรอยู่ประเทศญี่ปุ่น ท่านเป็นที่นิยมรักใคร่อยู่มากในแวดวงของท่าน และคนญี่ปุ่นได้ตั้งชื่อในภาษาญี่ปุ่นให้ท่านผู้หญิงขจรว่า “ฮานาโซโนะ ยูริโกะ” ซึ่งแปลว่าดอกลิลลี่ (ว่าน) ในสวนดอกไม้

ท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา ภายหลังกลับจากญี่ปุ่น (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2530)

เมื่อท่านผู้หญิงขจรเดินทางกลับมายังประเทศสยาม ท่านได้กลับมาสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เป็นอย่างดี ท่านได้นำวิชาการด้านวาดเขียนและปักสะดึงแบบญี่ปุ่น มาถ่ายทอดและดัดแปลงให้เข้ากับศิลปหัตถกรรมแบบไทย และยังได้เป็นครูสอนวิชาการฝีมือ ณ โรงเรียนราชินีอีกด้วย

และเมื่อ พ.ศ. 2527 ท่านผู้หญิงขจรก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่น ในฐานะเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติ และส่งเสริมมิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทัศนีย์ ยุณยคุปต์. (เมษายน, 2530). 96 ปีของคุณแม่ ท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา ไปอยู่ญี่ปุ่น สมัยรัชกาลที่ 5. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 8 : ฉบับที่ 6.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2565