ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“ไปเรียนเมืองนอก” วันนี้คงไม่ได้ยุ่งยาก, น่ากลัว, ลำบาก ฯลฯ อะไรหนักหนา เพราะเทคโนโลยีช่วยให้หลายอย่างง่ายขึ้นเยอะ หรือถ้าใครคิดว่ายังลำบากอยู่, น่ากลัวอยู่,… ก็ต้องบอกว่างั้นลองไปดูว่า เมื่อ 100 กว่าปีก่อนจะขนาดไหน นอกจากนี้คนที่ไปยังเป็น “เด็กผู้หญิง” อีกด้วย ความวิตกกังวลและห่วงใยของทางบ้านก็เพิ่มตามมาเป็นเงา
มารู้จักกันว่าพวกเธอเป็นใครกันบ้าง
นักเรียนหญิงรุ่นบุกเบิก
นักเรียนหญิงไทยคนแรกที่ไปเรียนต่างประเทศ (คาดว่าเป็นการไปด้วยทุนส่วนตัว) เมื่อ พ.ศ. 2400 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชื่อตามฝรั่งเรียกคือ “เอสเทอร์” หรือ “เต๋อ” (นางเต๋อ ประทีปเสน) โดยเต๋อได้ติดตามศาสนาจารย์แมททูน กับภรรยา มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทย รุ่นเดียวกับ หมอเฮาส์ [แซมมวล เรโนลด์ เฮาส์] ไปศึกษาศึกษาวิชาพยาบาลผดุงครรภ์ที่อเมริกา เต๋อใช้เวลาถึง 3 ปีจนมีความรู้ความชํานาญเป็นอย่างดี
เมื่อกลับมาเมืองไทยเต๋อได้รับเชิญให้ไปทําการคลอดบุตรและทําการพยาบาลตามวังเจ้านาย รวมถึงบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นประจํา นอกจากนี้ยังเคยเป็นผู้ถวายการอภิบาล แต่สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ด้วย
นางเต๋อเป็นคนมีอายุยืนคนหนึ่ง เธอถึงแก่กรรรมเมื่ออายุ 85 ปี (พ.ศ. 2472)
หลังจาก “เต๋อ” นักเรียนนอกหญิงคนแรกของเมืองไทยไปอเมริกา อีก 26 ปี ต่อมาจึงมีการส่งนักเรียนหญิงรุ่นที่ 2 ไปต่างประเทศ โดยพวกเธอเป็นนักเรียนหญิงทุนหลวงรุ่นแรกของไทย
เนื่องจากราชสำนักมีประสบปัญหาเกี่ยว “ครูแหม่ม” ที่เข้ามาถวายพระอักษรพระเจ้าลูกเธอ มีความยุ่งยาก เพราะพอถึงกําหนด พวกครูแหม่มก็กลับบ้าน ก็ต้องนําส่งกลับยุโรป เป็นการสิ้นเปลืองมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์ให้ ส่งเด็กหญิงไทยไปให้เรียน แล้วกลับมาสนองพระเดชพระคุณถวายพระอักษร ซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลืองน้อยลง โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (พระอิสริยยศขณะนั้น) เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเด็กหญิงที่เห็นสมควรจะให้ไปเรียนต่างประเทศ
ในครั้งนั้นมีเด็กนักเรียนหญิง 4 คนที่โชคดี ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ คือ ลูกจันทร์, มี, ขำ และสุด
แต่ที่สามารถสืบค้นรายละเอียดได้เพียงคนเดียว คือ “ลูกจันทร์”
ลูกจันทร์ เกิดเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2413 ต้นรัชกาลที่ 5 บิดาเป็นจีนชื่อ “จ๋วน” เป็นนายอากรผูกขาดภาษี มารดาเป็นไทยชื่อ “สำริด” มีพี่สาว 2 คน ชื่อ วัน และ คลี บ้านที่สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ แต่กิจการเรือสําเภาของบิดาซึ่งค้าขายระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีนเกิดล่มลง บิดาเสียใจมากถึงกับล้มเจ็บและถึงแก่กรรม มารดาเมื่อไม่สามารถจะหาเงินมาใช้ค่าภาษีอากรที่คั่งค้างได้ จึงได้ยกบ้านให้เป็นของหลวง แล้วนำลูกสาว 2 คนโต ไปฝากญาติไว้ ส่วนลูกจันทร์ซึ่งขณะนั้นอายุได้เพียงขวบเดียว มารดาได้พาเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย ลูกจันทร์จึงได้รับพระเมตตาจากเจ้านายในวัง จนกระทั่งได้โอกาสไปเรียนต่างประเทศ
พ.ศ. 2426 เด็กนักเรียนหญิง 4 คนที่ได้รับการคัดเลือกก็ออกเดินทางไปต่างประเทศ โดยตามเสด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวร์วรฤทธิ์ ขณะพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่น เสด็จไปทรงรับตําแหน่งอัครราชทูตประจําราชสํานักอังกฤษ
เมื่อเดินทางไปถึงกรุงลอนดอนแล้ว เสด็จในกรมทรงพระกรุณาจัดการให้เข้าเรียนภาษาก่อนประมาณปีเศษ เมื่อพอจะเข้าใจแล้ว จึงได้ทรงจัดให้เข้าเรียนกับแม่ชีในสํานักคอนแวนต์ ระหว่างเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น มารดาของลูกจันทร์ถึงแก่กรรม ลูกจันทร์เศร้าโศกมากถึงกับล้มเจ็บ อาจารย์ใหญ่และครูในสํานักต้องช่วยกันปลอบโยน อยู่เป็นเวลานานลูกจันทร์จึงได้คลายความเศร้าโศก
พ.ศ. 2436 เด็กนักเรียนหญิงทั้ง 4 คน ที่ใช้เวลาเรียนอยู่ในประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 10 ปี ก็เรียนจบจึงเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศไทย
กรมหลวงดํารงราชานุภาพ ได้เสด็จไปรับนักเรียนหญิงทั้ง 4 ถึงท่าเรือ ปรากฏว่าต่างมีพ่อแม่ญาติพี่น้องมารับกันคับคั่ง ยกเว้นแต่ลูกจันทร์ที่ไม่มีญาติมารับเลย กรมหลวงดํารงราชานุภาพ จึงทรงพระกรุณาพาลูกจันทร์ไปไว้ที่โรงเรียนสุนันทาลัย (โรงเรียนราชินี) ที่โรงเรียนสุนันทาลัย ลูกจันทร์ได้ทําหน้าที่เป็นครูช่วยแหม่มครูใหญ่
ภายหลังหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ซึ่งทรงเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนนั้นด้วย ได้ทรงพาลูกจันทร์เข้าเฝ้า ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทั้งสองพระองค์ ลูกจันทร์จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระอักษรเจ้านายหลายพระองค์ อาทิ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ (สมเด็จพระราชปิตุฉา) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามลินีนภดาราฯ (กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานพดลฯ (กรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี) พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย
ลูกจันทร์คนนี้ ต่อมาได้เป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 5 หม่อมจันทร์ เทวกุล ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2506 อายุได้ 93 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ แห่งความหลัง, อักษรบัณฑิต (ไม่ได้ระบุปีพิมพ์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2562