ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2541 |
---|---|
ผู้เขียน | ไมเคิล ไรท |
เผยแพร่ |
ระยะนี้ (พ.ศ. 2541) เมืองไทยกําลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่ร้ายกาจนัก ผมจึงไม่อยากเขียนเรื่องเมืองไทย เพราะผมไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ จึงเขียนอะไรที่เป็นประโยชน์ไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว ผมเป็นคนขี้บ่น พูดมาก ระยะที่เมืองไทยกําลัง “รุ่งโรจน์เป็นแผ่นดินทอง” ผมมักเขียนด่าเพื่อเตือนสติคนเหลิง แต่เมื่อแผ่นดินตกยาก ผมก็ต้องระงับอารมณ์หงุดหงิดด้วยความเห็นอกเห็นใจ
ผมจึงคิดจะเขียนเรื่องอังกฤษบ้าง แต่จะต้องเป็น “อังกฤษในยุโรป” เพราะหากไม่มียุโรป อังกฤษก็ไม่มีบริบท ไม่มีตัวตน ไม่มีความหมาย เมืองไทยก็เช่นกัน หากเขียนเรื่อง “ไทยๆๆๆ” โดยไม่ใส่เข้าไปในบริบท “อุษาทวีป” ก็เท่ากับเด็กเอาทัพพีเคาะหม้อ
อังกฤษไม่ค่อยมีเอกลักษณ์ และไม่มีวัฒนธรรมของตนเอง
ในหมวด “เอกลักษณ์” พอหาได้บ้าง เช่น หน่อมแน้ม, เจ้าเล่ห์ และหลอกตัวเองว่า “ภาพพจน์สําคัญมากกว่าความเป็นจริง” (Appearances are more important than reality.), “อังกฤษไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน” (England is unique.), และ “ชาวอังกฤษดีกว่า ชาติอื่นทุกชาติในโลก” (The English are the best people in the world.)
ที่ว่าอังกฤษไม่มีวัฒนธรรมของตนเอง เป็นเพราะอังกฤษมีแต่วัฒนธรรมท้องถิ่น (Scots, Welsh, Irish) นอกนั้นล้วนเป็นวัฒนธรรมรวมของยุโรปที่ยืมกันแล้วยืมกันเล่า โดยไม่มีใครละอายหรือปฏิเสธ เพราะใครๆ รู้ว่าคนปัญญาดีย่อมเลียนแบบของดีของเพื่อน
British Museum เรียนจากกรีก
Westminster Abbey เรียนจากฝรั่งเศส
St. Pauls เรียนจากอิตาลี
แต่ชาวอังกฤษมีปัญหากับรัฐในยุโรปมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ฝรั่งเศส, ดัตซ์ และเยอรมัน, เช่นเดียวกับ ไทยที่มีปัญหากับเขมร, ลาว, พม่า มันเป็นปัญหารักๆ เกลียดๆ คล้ายปัญหาระหว่างพี่น้องหรือผัวเมีย
“โอ้ฝรั่งเศส, ศัตรูแสนหวาน!” ท่านเชคสเปียร์สรุปความรู้สึกของทางอังกฤษต่อฝรั่งเศส แล้วสรุปความรู้สึกฝรั่งเศสต่ออังกฤษว่า “ผาขาวเจ้าเล่ห์” (Perfidious Alboin!) ทุกสิ่งที่เท่ๆ หลายอย่าง อังกฤษเรียนจากฝรั่งเศส แต่แล้วอังกฤษเรียกโรคหนองในว่า “ฝีฝรั่งเศส” (French leave) และถุงยางอนามัยคือ “จดหมายจากฝรั่งเศส” (French letter – ผมไม่ทราบว่าทำไม)
ชาวฝรั่งเศสก็รักชาวอังกฤษเช่นกัน โดยเรียกการลักเพศว่า “โรคอังกฤษ” (La malade anglaise)
อังกฤษกับดัตช์รักกันไม่น้อยเช่นกัน โดยที่อังกฤษเรียกหมอนข้างว่า “เมียดัตช์” (Dutch wife ที่นิ่งเฉยไม่มีความรู้สึก), เหล้า คือ “ความกล้าหาญแบบดัตช์” (Dutch courage เพราะชาวดัตช์ต้องกินเหล้าถึงจะสู้), ถุงยางอนามัยสําหรับสตรีใส่ว่า “หมวกดัตช์” (Dutch cap)
ส่วนไอร์แลนด์เป็น “เขมร” ของอังกฤษ คือเป็นแหล่งวัฒนกรรมที่สําคัญแต่โบราณ แต่แล้วถูกอังกฤษรังแกมากจนยากที่จะรักกัน
ห่างออกไปอีกชั้นหนึ่ง ที่เกลียดกันมากเป็นพิเศษ คืออังกฤษกับเยอรมัน ซึ่งน่าจะเกิดเพราะทั้งสองชาติเป็นพี่น้องกันตามชาติพันธุ์, ภาษา และประเพณีจึงรู้ไต๋กันและไม่ไว้ใจกัน
แล้วอังกฤษไม่มีเพื่อนในยุโรปหรือ? ก็มีมาก แต่ส่วนใหญ่อยู่ห่างๆ เช่น นอร์เวย์, สวีเดนและเดนมาร์กที่ถ่วงอํานาจเยอรมัน, โปรตุเกสที่ถ่วงอำนานสเปน และอิตาลีที่ถ่วงอํานาจฝรั่งเศส (ผ่านอํานาจศาสนจักรที่กรุงโรม)
เพื่อนรักที่สนิทมากของอังกฤษส่วนใหญ่อยู่ในวงนอกห่างไกล เช่น โปแลนด์, เชกและสโลวัก และฮังการี คนรัฐเหล่านี้ เมื่อถูกเบียดเบียนจากรัสเซียหรือเยอรมัน มักอพยพไปอยู่อังกฤษแล้วช่วยสร้างวัฒนธรรมอังกฤษที่เรารู้จัก วรรณกรรมรุ่นเก่าส่วนใหญ่ของอังกฤษเป็นมือชาวสก็อต, เวลส์, ไอร์แลนด์
แต่วรรณกรรมชิ้นใหม่หลายชิ้นเป็นงานของ Conrad (ชาวโปแลนด์) และ Geoge Mikes (นักเขียนเสียดสีทางสังคมชาวฮังการี) นอกจากนี้นักเขียนนำหน้าภาษาอังกฤษ ทุกวันนี้คือชาวจีน (เช่น Amy Tan) กับชาวอินเดีย (เช่น Gita Mehta)
วัฒนธรรมในประเทศอังกฤษมิได้เป็น “วัฒนธรรมอังกฤษ” หรือ “วัฒนธรรมแห่งชาติ” หากเป็นวัฒนธรรมมนุษย์ที่หลากหลาย ไม่มีชายแดน แต่ก็ไม่ได้ขอดแห้งหายไปไหน
หากใครอยากรู้เรื่องอังกฤษ จะไปดูเฉพาะที่อังกฤษเห็นจะไม่ได้ผล แต่ควรศึกษายุโรปทั้งหมดรวมทั้งอินเดียและจีน จะได้เห็นแจ้งถึงความดีและความชั่วของอังกฤษ ที่ว่า “ดีและชั่ว” นั้นเพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องพฤติกรรรมมนุษย์ทั้งหมด ไม่ใช่การชมสิ่งสวยๆ งามๆ อย่างเดียว
แล้วเมื่อไรหนอ เราจะเริ่มศึกษาเมืองไทย ทั้งในแง่ดีแง่ชั่ว ในบริบท “อุษาทวีป” ในบริบท “มนุษย์” และในโลกแห่งความเป็นจริง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2563