“แผ่นดินไหวคันโต” ปี 1923 ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่พลิกโฉมหน้าประเทศญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวคันโต แผ่นดินไหว ญี่ปุ่น
"แผ่นดินไหวคันโต" แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น เมื่อปี 1923

แผ่นดินไหวคันโต ซึ่งเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466) ที่ ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเขตวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ของมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งหินอัคนีขนาดใหญ่ยังซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนดินทางตอนใต้ ทำให้หมู่เกาะแห่งนี้ประสบภัยแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง

แผ่นดินไหวคันโต หรือที่สื่อขนานนามว่า “The Great Japan Earthquake” ทำลายล้างเมืองโยโกฮาม่าและกรุงโตเกียวไปเกือบสิ้น ผู้คนบาดเจ็บล้มตายสูญหาย อาคารบ้านเรือนพังพินาศ แต่ในความวิปโยคคือบทเรียนที่ทำให้ญี่ปุ่นสร้างความเข้มแข็งด้านการป้องกันภัยแผ่นดินไหว

จุดเริ่มต้นของแผ่นดินไหวคันโต เกิดขึ้นในเช้าวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน ปี 1923 ขณะที่ผู้คนกำลังใช้ชีวิตปกติเหมือนทุก ๆ วัน แต่มีบางอย่างที่เริ่มผิดปกติ ซึ่ง โจชัว แฮมเมอร์ (Joshua Hammer) กล่าวถึงปรากฏการณ์วันนั้นไว้ในงาน “Yokohama Burning” ว่า “เกิดสายฟ้าออกมาจากก้อนเมฆสีทมิฬ ซึ่งฉวัดเฉวียนไปทั่วผืนน้ำทะเล” 

จนเมื่อเวลาเกือบเที่ยงวัน ชาวญี่ปุ่นก็เผชิญกับแผ่นดินไหวที่คาดการณ์ว่ารุนแรง 7.9-8.2 แมกนิจูด ตามด้วยสึนามิลูกใหญ่ที่ซัดเข้าถล่มเกาะและพื้นที่ชายฝั่งมากมาย เช่น เกาะโอชิมะ ที่ต้องประสบคลื่นยักษ์สูงเกือบ 12 เมตร แหลมอิซุและแหลมโบโซ เจอคลื่นขนาด 6 เมตร เป็นต้น

ความโกลาหลวุ่นวายก่อตัวมากขึ้นอีก เมื่อช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเหตุแผ่นดินไหว เป็นช่วงที่ชาวบ้านจุดไฟเพื่อตระเตรียมอาหารมื้อเที่ยง แรงสั่นสะเทือนทำให้ข้าวของภายในบ้านหล่นกระจัดกระจาย ไฟจากการทำครัวลามไปยังจุดต่าง ๆ เมื่อเจอกลุ่มลมซึ่งรวมตัวกันจนเรียกว่า “ทอร์นาโดไฟ” หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “เกลียวไฟมังกร” (Dragon twist fire) ซึ่งมีความสูงถึง 91 เมตร ก็ยิ่งทำให้ความเสียหายรุนแรงยิ่งขึ้น พื้นที่ราว 45% ในกรุงโตเกียวถูกเผาจนราบเป็นหน้ากลอง และใช้เวลาถึง 3 วันกว่าจะสิ้นสุดลง

นอกจากนี้ เฮนรี ดับเบิลยู. คิดนีย์ (Henry W. Kidney) บรรณาธิการ Trans-Pacific Magazine ยังอธิบายบ้านเมืองตอนนั้นไว้ว่า

“โยโกฮาม่า เมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนเกือบครึ่งล้าน ได้กลายเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยไฟ หรือเปลวเพลิงที่แผดเผา มีเศษซากของอาคารและกำแพงที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ ตั้งตระหง่านเหมือนก้อนหินเหนือเปลวเพลิง ซึ่งไม่ทราบแล้วว่าอดีตเคยเป็นอย่างไร…เมืองโยโกฮาม่าได้สลายหายไปแล้ว”

แผ่นดินไหวคันโตยังทำให้ “พระพุทธรูปโคโตกูอิง” ของวัดโคโตะกุอิน ที่มีน้ำหนักถึง 93 ตัน เกิดการทรุดตัว และฐานของพระพุทธรูปเคลื่อนไปมากกว่า 30 เซนติเมตร

ความสูญเสียดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาการป้องกันภัยพิบัติของประเทศให้รัดกุมยิ่งขึ้น เช่น สร้างความตระหนักรู้เรื่องการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติธรรมชาติให้เด็ก ๆ ผ่านการศึกษา ออกแบบถนนและอาคารบริเวณชายฝั่งของเมืองให้สามารถทนต่อแผ่นดินไหวมากขึ้น และเพื่อให้น้ำปริมาณมหาศาลที่ซัดขึ้นมาได้ไหลกลับลงทะเลอย่างรวดเร็ว ต่อมาในปี 1960 สำนักงานที่ดินแห่งชาติญี่ปุ่นจัดตั้งให้วันที่ “1 กันยายน” ของทุกปี เป็นวันสำหรับป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ของ ประเทศญี่ปุ่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Joshua Hammer. Yokohama Burning. New York: Free press, 2006.

Joshua Hammer. “The Great Japan Earthquake of 1923.” Access 07 February 2023 https://www.smithsonianmag.com/history/the-great-japan-earthquake-of-1923-1764539/.

Kallie Szczepanski. “The Great Kanto Earthquake in Japan, 1923.” Access 07 February 2023  https://www.thoughtco.com/the-great-kanto-earthquake-195143.

Nippon. “Looking Back on the 1923 Great Kantō Earthquake, Which Devastated Tokyo and Yokohama.” Access 07 February 2023 https://www.nippon.com/en/japan-data/h00526/looking-back-on-the-1923-great-kanto-earthquake-which-devastated-tokyo-and-yokohama.html.

William Haris. “How Fire Tornadoes Work.” Access 07 February 2023 https://science.howstuffworks.com/nature/natural-disasters/fire-tornado4.htm.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566