มหัศจรรย์แห่งเจดีย์ญี่ปุ่น ที่ยืนสู้แผ่นดินไหว-ไต้ฝุ่น

เจดีย์ 5 ชั้นวัด Horyuji (ภาพจาก http://www.horyuji.or.jp)

ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันมานมนานแล้วว่า แผ่นดินไหวและไต้ฝุ่นไม่สามารถทำให้เจดีย์ 5 ชั้นล้มทลายลงได้

ศ.ฟูซากิชิ โอโมริ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหวแห่งมหาวิทยาลัยราชอาณาจักรโตเกียวในยุคเมจิ (พ.ศ. 2411-2455) เป็นบุคคลแรกที่เริ่มพิสูจน์ความเชื่อนี้ ในปี พ.ศ. 2464 ฟูซากิชิได้ทำการทดสอบกับเจดีย์ 6 องค์ หลังจากนั้นเขาก็ได้ข้อสรุปว่า

“แผ่นดินไหวไม่มีพลังเพียงพอที่สามารถล้มเจดีย์ห้า 5 ชั้นของญี่ปุ่นได้”

ถัดจากนั้นอีก 2 ปี ข้อเสนอของ ศ.ฟูซากิชิ ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ “Kanto” ทำให้อาคารส่วนใหญ่ในโตเกียวราพนาสูร แต่สำหรับเจดีย์แล้ว เช่น เจดีย์องค์หนึ่งที่วัด Ikegami Honmonji กลับไม่เป็นอะไรเลย

และเมื่อไม่นานมานี้ ในปี พ.ศ. 2538 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ “Hanshin-Awaji” เจดีย์ 3 ชั้น 15 องค์ในเมืองเฮียวโก รวมทั้งอีก 5 องค์ในเมืองโกเบ และเจดีย์ในเมืองตะการาซูกะ, เมืองอิตามิ, เมืองอะมากาซากิ และเมืองซูโมโต อีกเมืองละ 1 องค์ ทั้งหมดไม่ได้รับอันตรายอะไรเลย

ความทนทานของเจดีย์ต่อแผ่นดินไหว และไต้ฝุ่นเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 โรหัน โกดะ ได้แต่งนวนิยาย เรื่อง Goju no to” (เจดีย์ห้าชั้น) ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันระหว่างช่างไม้ฝีมือดี 2 คน ในการสร้างเจดีย์ของวัด Tennoji ในอำเภอยานากา เมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือเมืองโตเกียว) ในยุคโตกุกาวา (พ.ศ. 2146-2460)

ในนิยายเรื่องนี้ โรหันได้พรรณนาถึงเจดีย์ระหว่างที่เกิดไต้ฝุ่นว่า

“เจดีย์ 5 ชั้นถูกพายุเขย่าจนโอนไปเอนมา ยอดฉัตร 5 ชั้นแกว่ง อัญมณีศักดิ์สิทธิ์ที่ยอดเจดีย์ก็โยกไหวจนดูรูปร่างไม่ออก แม้ว่าลมสามารถเคลื่อนหินใหญ่ได้ แม้ฝนสามารถเซาะกระดองเต่าได้ แต่เจดีย์ก็ยังคงโอนเอน แล้วก็กลับมาตั้งตรง แล้วก็โยกเยกอยู่อย่างนี้ ประหนึ่งว่ามันจะล้มลงมาทุกชั่วขณะจิต…”

การพรรณนาถึงการสั่นสะเทือนของเจดีย์ประดุจใบไม้ไหวบนกิ่ง หาได้เกิดจากจินตนาการของผู้แต่งเท่านั้น โรหันบอกกับอิซูมิ ยานาจิดะ นักวิจารณ์วรรณกรรมว่า ขณะที่เขากำลังเขียนนวนิยายเรื่องนี้ เขาอยู่ที่เจดีย์ Tennoji ในคืนที่เกิดพายุหนัก

แต่เจดีย์สามารถโอนเอนจนดูเหมือนจะล้มแล้วกลับมาตั้งได้อย่างไร?

นายซึเนกาสุ นิชิโอกะ ช่างไม้ประจำวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการบูรณะซ่อมแซมเจดีย์องค์ตะวันตกของวัด Yakushi อธิบายว่า

“เจดีย์ที่ดูมั่นคงแข็งแรงนั้น ถ้าหากมีการเข้าไม้ที่ดีที่มุมของจันทัน* ในขณะที่ก่อสร้างเจดีย์ก็จะเอนไปมาและก็กลับเข้าที่ ซึ่งถ้าไม่ทำเช่นนี้ เจดีย์ก็จะล้มได้”

เจดีย์ญี่ปุ่นมีส่วนประกอบต่างๆ มากมายที่ทำให้มันสามารถทนทานต่อแรงแผ่นดินไหว

ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์ญี่ปุ่นเช่นนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ ศ.ฟูซากิชิ เชื่อว่า ไม่มีแผ่นดินไหวใดที่จะสามารถทลายเจดีย์ 5 ชั้นได้

วิทยาสถาปัตย์

แล้วเจดีย์ 5 ชั้นมีวิธีการก่อสร้างอย่างไร?

โดยปกติเจดีย์ 5 ชั้นมีเสาแกนกลางที่ใหญ่และหนา เรียกว่า shimbashira” ซึ่งยาวจากฐานไปถึงยอดเจดีย์ shimbashira จะทำหน้าที่เป็นเสาเอกของโครงสร้างทั้งหมด ซึ่งจะยึดส่วนประกอบอื่นๆ เอาไว้ shimbashira มักจะทำด้วยไม้หลายชิ้นต่อเข้าด้วยกัน ดังนั้นจึงทำให้ขาดความแข็งแรงอยู่บ้าง แต่ shimbashira เพียงแต่รับน้ำหนักของมันเองและน้ำหนักของเครื่องยอด ฉะนั้นบางทีเจดีย์อาจจะถูกค้ำยันด้วยเสาด้านใน shitem-bashira” รอบๆ เสาแกน และเสาด้านนอก gawabashira” อีก 12 ต้น

ภาพโครงสร้างของเจดีย์ที่ Horyuji เจดีย์ 5 ชั้นของญี่ปุ่นที่ทนต่อแผ่นดินไหว และไต้ฝุ่นที่รุนแรงได้ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2539)

ด้วยเหตุที่รูปทรงของเจดีย์ที่แคบสอบขึ้นสู่ยอดนั้น ช่างจะประกอบชิ้นส่วนชนิดหนึ่งเข้าไป เรียกว่า kudahashira ปกติมันจะอยู่ที่ฐานเสาซึ่งตั้งอยู่บน taruki (จันทันใหญ่) ของหลังคาชั่นล่าง kudahashira เป็นส่วนประกอบชิ้นเล็กๆ ที่รับน้ำหนักโดยตรงจากชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไป หาใช่เสา shimbashira ที่รับน้ำหนักของเจดีย์ทั้งองค์ไม่

เจดีย์แต่ละชั้นจะมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมคล้ายหมวกแก๊ปที่เพียงแต่ตั้งอยู่บนยอดของจันทันของชั้นล่าง หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เจดีย์ 5 ชั้นเหมือนกับการนำเอาหมวกแก๊ปมาตั้งทับต่อๆ กัน

แม้แต่ในปัจจุบัน วิศวกรสมัยใหม่ก็ไม่สามารถอธิบายได้อย่างแน่ชัดว่า โครงสร้างของเจดีย์ 5 ชั้นสามารถทนต่อแรงแผ่นดินไหวและไต้ฝุ่นได้อย่างไร มากสุดอาจจะสันนิษฐานได้ว่า ความยืดหยุ่นของข้อต่อในองค์เจดีย์อาจจะช่วยดูดซับแรงจากแผ่นดินไหว ทำให้เจดีย์ไม่เอนมากเกินไปจนล้มลงได้

มีทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจ ในเจดีย์มีเสา shimbashira ยาวตลอดจากฐานถึงยอดเจดีย์ เสา shimbashira จะทำหน้าที่เหมือนลูกตุ้มที่ดูดซับพลังงานจากแผ่นดินไหว ดังนั้นจึงช่วยรักษาอาคารไว้ได้

เรือนตุ๊กตา

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปตรวจสอบเจดีย์ไม้ในประเทศจีน และดูว่าเจดีย์จีนแตกต่างกับเจดีย์ญี่ปุ่นมากน้อยเท่าไร ชายคาของเจดีย์ญี่ปุ่นนั้นจะยื่นออกมามากกว่าเจดีย์จีน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศแบบฝนตกชุกของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับความสามารถในการทนทานต่อแรงแผ่นดินไหวและลมพายุด้วย

ชายคาที่ยื่นยาวของเจดีย์ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมี taruki ขนาดใหญ่ไว้รับน้ำหนัก และทำหน้าที่เป็นตัวถ่วงดุลน้ำหนักบนจุดศูนย์กลางที่เสา gawabashira, ในเจดีย์แต่ละชั้นจะมีลักษณะเช่นนี้ ที่ปลายนอกของ taruki จะรับน้ำหนักชายคาที่ยื่นยาวออกมา และที่ปลายด้านในจะมีน้ำหนักของเสา shimbashira และน้ำหนักของชั้นบนทั้งหมดคอยกดทับไว้ ฉะนั้นชายคาจึงทำหน้าที่เหมือนคานถ่วงน้ำหนัก

แต่ทำไมต้องออกแบบเจดีย์ให้โลดโผนเช่นนี้?

ความจริงแล้ว ชายคาที่ยื่นยาวจะทำหน้าที่แบบเดียวกับแขนของ yajirobe” ซึ่งเป็นตุ๊กตาโบราณของญี่ปุ่นที่มีแขนยาว ซึ่งรักษาความสมดุลของตุ๊กตา เมื่อเกิดแผ่นดินไหวเจดีย์จะโอนไปเอนมาจนน่าหวาดเสียว แต่ในที่สุดแล้วมันก็จะกลับมาสู่สภาพเดิม นี้เป็นเหตุผลว่าเมื่อเกิดพายุและแผ่นดินไหวทำไมเจดีย์จึงไม่ล้ม แต่ละชั้นถูกสร้างให้เหมือนกับตุ๊กตา yajirobe เจดีย์ห้าชั้นก็เสมือนมีตุ๊กตา 5 ตัวขี่ทับกัน แต่ละตัวสามารถเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ

โครงสร้างแบบนี้จึงทำให้เจดีย์มีความมั่นคงถาวร ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนจากนายนิชิโอกะ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยืนอยู่ใต้เจดีย์ที่วัด Horyuji ในระหว่างที่เกิดแผ่นดินไหว เขาเล่าว่า

“เมื่อชั้นล่างเอนไปทางซ้าย ชั้นต่อไปจะเอนไปทางขวา และชั้นต่อไปก็จะเอนไปทางซ้าย”

ในขณะที่เกิดแผ่นดินไหวและลมแรงนั้น เจดีย์จะแกว่งไกวเหมือนกับการเลื้อยของงู

เสาศักดิ์สิทธิ์

กระนั้นถ้าชั้นใดชั้นหนึ่งเอนมากผิดปกติเจดีย์ก็จะพังทลายลงมา ซึ่งกุญแจสำคัญนั้นอยู่ที่เสาแกน shimbashira

ในขณะที่กำลังชมเจดีย์ในประเทศจีนนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าเจดีย์จีนไม่มีเสา shimbashira หรืออย่างน้อยเจดีย์จีนก็ไม่มีเสากลางที่ยื่นจากพื้นถึงยอดของเจดีย์เหมือนกับเสา shimbashira ของเจดีย์ญี่ปุ่น

ส่วนเจดีย์เกาหลีนั้นมีเสา shimbashira แสดงให้เห็นว่าช่างญี่ปุ่นสมัยโบราณอาจจะได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่จากเจดีย์ของเกาหลี

อย่างไรก็ตาม เจดีย์เกาหลีไม่มีโครงสร้างแบบ yajirobe แบบเจดีย์ญี่ปุ่น แต่ออกแบบให้มีเสากลางแทน และสร้างให้ชั้นล่างสุดมีขนาดกว้างมากคล้ายรูปทรงพีระมิด ทำให้สถาปัตยกรรมมีความมั่นคงมาก มีเจดีย์ 3 ชั้นองค์หนึ่ง ที่วิหาร Ssanbongsa ซึ่งสร้างลักษณะเดียวกับแบบ yajirobe ซึ่งมีคานลอย hanegi” ด้วย แต่กระนั้นเจดีย์องค์นี้เป็นเพียงโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุมทับคล้ายนำโต๊ะสี่ขา 3 ตัวมาตั้งต่อกันเท่านั้น และยิ่งกว่านั้นเจดีย์องค์นี้ก็ไม่มีเสา shimbashira ยาวตลอดทั้งองค์

วิศวกร โตชิฮิโกะ คิมูระ กล่าวถึงเสา shimbashira ในเจดีย์ 5 ชั้นที่มีรูปแบบ yajirobe ว่า การที่เจดีย์โอนเอนเหมือนการเลื้อยของงูนั้นเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยรักษารูปทรงของแต่ละชั้นของเจดีย์

เมื่อชั้นต่างๆ เริ่มสั่นเอียง shimbashira จะช่วยป้องกันมิให้แต่ละชั้นนี้เอนมากจนออกนอกเส้น ดังนั้น “หมวกที่ซ้อนกัน” หรือ yajirobe จะทำให้เจดีย์แกว่งไกวเหมือนการเลื้อยของงู อันสัมพันธ์กับ shimbashira ที่ทำหน้าที่เหมือนกระดูกสันหลัง เจดีย์จึงสามารถทนต่อแผ่นดินไหวและไต้ฝุ่นได้

แต่เรื่องยังไม่จบเท่านี้ เจดีย์ไม้ที่เก่าที่สุดของญี่ปุ่นคือ เจดีย์ 5 ชั้นที่วัด Horyuji ในเมืองนารา มี shimbashira ที่ฝังลงในดินลึกถึง 3 เมตร การฝังเสาลงในดินนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นสมัยโบราณ

เสา shin no mihashira ที่ฝังอยู่ภายในชั้นล่างของศาสนสถาน Ise นั้นเป็นศูนย์กลางของศาสนาชินโต เสาที่ปักลงในดินเป็นรูปวงกลม ซึ่งขุดพบเมื่อไม่นานนี้ที่แหล่งโบราณคดีของยุคโจมอน (c.10,000 B.C.-300 B.C.) นั้นก็เกี่ยวเนื่องกับการประกอบพิธีกรรม

ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้จากหลักฐานเหล่านี้ว่า เสาที่ฝังลงในพื้นดินนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษทางศาสนาในญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณ

ด้วยเหตุนี้ shinbashira ในเจดีย์ไม้ไม่เพียงแต่สําคัญ เฉพาะด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญทางศาสนาด้วย shimbashira คือศูนย์กลางของเจดีย์ แล้วก็เป็นศูนย์กลางของความเชื่อทางศาสนาด้วย ส่วนประกอบที่ห้อมล้อมเสา shinbashira นั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น

ดังนั้นจึงถือได้ว่าเจดีย์ 5 ชั้นเป็นสถานที่ประดิษฐานเสา shimbashira อันศักดิ์สิทธิ์

 


หมายเหตุ :

* จันทัน คือไม้ที่ทำหน้าที่ประกบกันยอดแหลมเหมือนจั่ว เพื่อยึดโครงเครื่องบนของหลังคาให้แข็งแรงในการพาดส่วนยอดคืออกไก่กับไม้แปทุกตัว

บทความนี้ ถอดความจากหนังสือ Look Japan, August 1996, Vol.42, p.22-24 Atsushi Ueda เขียน


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565