เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน เจดีย์ไม้ที่เก่าแก่สุด สูงที่สุดในโลก อายุเกือบพันปี

เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน
เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยนเป็นเจดีย์ไม้ที่เก่าแก่และสูงใหญ่ที่สุดในโลก (ประกอบกับภาพฉากหลังเป็นภาพท้องฟ้า)

เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน เจดีย์ไม้ที่แก่ที่สุด สูงที่สุดในโลก อายุเกือบพันปี

เมื่อกล่าวถึงสถาปัตยกรรมจีน ส่วนใหญ่เรามักนึกถึง กำแพงเมืองจีน, หอบูชาฟ้าเทียนถาน, พระราชวังต้องห้าม เพราะงานสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ ด้วยขนาดที่ใหญ่โต, ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และการรับรู้ที่แพร่หลาย

แต่ในประเทศที่มีพื้นที่ถึง 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร สถาปัตยกรรมจีนจึงเสมือนกับ “ช้างเผือกอยู่ในป่า” ที่มีอยู่มาก แต่ต้องดั้นด้นไปเสาะหามา

สำหรับสถาปัตยกรรมจีน ก็เบาแรงไป เพราะ นิธิพันธ์ วิประวิทย์ เสาะหาและเรียบเรียงไว้ให้อ่านพร้อม กับหนังสือที่ชื่อว่า ระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร (สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2562)

นิธิพันธ์ วิประวิทย์ รวบรวมข้อมูลสถาปัตย์จีนไว้หลายแห่ง หนึ่งในนั้น คือ “เจดีย์ศากยมุนีแห่งวัดฝอกง” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน” ตามชื่อสถานที่ตั้งของเจดีย์ใน อําเภออิ้งเซี่ยน มณฑลซานซี ตามประวัติเจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน ก่อสร้างในสมัยราชวงศ์เหลียว (ค.ศ.916-1125) เมื่อ ค.ศ.1056

นับถึงวันนี้ เจดีย์อิ้งเซี่ยนเป็นเจดีย์โครงสร้างไม้ ที่ยืนหยัดบนโลกมาเกือบ 1 พันปี!

เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน เป็นเจดีย์ไม้ที่เก่าแก่และสูงใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ตัวเจดีย์มีความสูง 67.31 เมตร เป็นส่วนยอดโลหะประมาณ 10 เมตร หากเทียบกับอาคารยุคโบราณด้วยกัน เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยนสูงกว่าหอบูชาฟ้าเทียนถานที่ปักกิ่งประมาณ 30 เมตร และสูงกว่าเจดีย์ห่านป่าใหญ่ ซึ่งสร้างจากอิฐที่เมืองซีอาน 3.21 เมตร

เมื่อมองภายนอก เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยนจะดูเหมือนมีเพียง 5 ชั้น แต่ภายในเจดีย์นั้นมีชั้นลอยซ่อนอยู่อีก 4 ชั้น ชั้นลอยเหล่านี้ ซ่อนอยู่บริเวณช่วงที่เป็นหลังคานั่นเอง ชั้นลอยที่ว่าไม่มีหน้าต่างเปิดสู่ภายนอก แต่มีหน้าที่เป็นปลอกโครงสร้างรัดให้เจดีย์มีความแข็งแรง ภายในชั้นมีการเสริมโครงสร้างไม้ให้แข็งแรงเพิ่มเติมจากชั้นปกติ เปรียบเสมือนข้อปล้องไม้ไผ่ที่เสริมความแข็งแรงให้กับต้นไผ่

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของเจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยนคือ “โต๋วก่ง” (เท้าแขน, ค้ำยัน)  ซึ่งโครงสร้างสําคัญที่พบได้โดยทั่วไปในทุกสถาปัตยกรรมจีนยุคโบราณ  ใช้สำหรับโครงสร้างหลังคา หรือพื้นชั้นบน โดยโครงสร้างจะถูกขยายยื่นออกไปทั้งด้านหน้าและ ด้านข้างเพื่อกระจายออกไปรับน้ำหนักและถ่ายลงสู่โครงสร้างหลัก

ที่ผ่านมาเจดีย์ที่ทําจากไม้ สร้างได้ไม่กี่สิบปี ก็ต้องเจอกับฟ้าผ่า ไฟไหม้แล้วถล่มลงมา แต่ไม่ใช่เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ดินแดนแถบอําเภออิ้งเซี่ยน ในสมัยหยวนซุ่นตี้ เคยมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ต่อเนื่อง 7 วัน ในสมัยราชวงศ์หมิงเคยมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 7 ครั้ง บ้านเรือนพังราบเป็นหน้ากลอง มีชาวบ้านเสียชีวิตนับพันคน มีแต่เจดีย์ นี้เท่านั้นที่ยังตั้งอยู่โดยไม่เสียหาย

ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1926 กองกําลังซานซีเข้าปะทะกับทหารญี่ปุ่นในบริเวณนี้ มีปืนใหญ่ยิงเข้ามาบริเวณเจดีย์กว่า 200 นัด ใกล้องค์เจดีย์ ทุกวันนี้ยังมีรอยสะเก็ดระเบิดฝังอยู่ให้เห็นหลายครั้งหลังจากระดมยิงแล้วเกิดเพลิงไหม้ เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยนก็ยังคงรอดพ้นภัยพิบัติทุกอย่างนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

นี่ยังไม่นับฟ้าผ่าซึ่งเกิดขึ้นนอกบันทึกประวัติศาสตร์นับครั้งไม่ถ้วน

แน่นอนว่าหากตรวจสภาพโครงสร้างด้วยมาตรฐานการตรวจสอบในปัจจุบัน ย่อมจะสามารถพบร่องรอยความเสียหายจากแผ่นดินไหวในโครงสร้างได้ เช่น เสาบางต้นบิดโค้งไป แต่พิจารณาจากระยะเวลาเกือบพันปีก็นับว่า เจดีย์ไม้อิ้งเซี่ยน สามารถรอดพ้นวิกฤติต่างๆ มาได้โดยภาพรวมยังสมบูรณ์ ด้วยความสามารถของช่างสมัยโบราณ ซึ่งเห็นได้ในงานสถาปัตย์กรรมในอดีตของทุกชาติ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2562