ปรางค์ เรื่องเดียวกัน ที่แตกต่างกัน

ปรางค์ วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม

ความหมายเดิมของคำว่า ปรางค์ ยังคลุมเครือว่า คือชาลาทางเดิน หรืออาคารศาสนสถานแบบใดแบบหนึ่ง ภายหลังจึงกลายมาใช้เป็นคำเรียกรูปทรงของเจดีย์ ซึ่งคลี่คลายจากปราสาทแบบขอม

ทรงแท่งของปราสาทแบบขอมคือ ความศักดิ์สิทธิ์น่าเกรงขาม ประกอบจากสามส่วนหลักได้แก่ ส่วนฐาน ส่วนกลางคือเรือนธาตุสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ และส่วนบนเป็นชั้นซ้อนลดหลั่น เมื่อคลี่คลายรูปแบบมาเป็น ปรางค์ ราว 100 ปีก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา มีตัวอย่างสำคัญคือ ปรางค์พระมหาธาตุ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี และปรางค์รายในวัดเดียวกันนี้ด้วย

ความนิยมสร้างปรางค์สืบทอดมาในกรุงศรีอยุธยา รูปทรงโปร่งเพรียวยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขนาดเล็กลงเป็นลำดับมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และต่อเนื่องอยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย จึงมีที่กล่าวกันว่ารูปทรงแท่งผอมของปรางค์ไม่งามล่ำสันอย่างปรางค์ของสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

หากกล่าวว่ารูปทรงที่เปลี่ยนแปลงของปรางค์ในช่วงเวลาอันยาวนานดังกล่าวคือความเสื่อมถอย ก็ไม่เป็นพัฒนาการซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในทางเจริญขึ้น แต่หากโยงความเปลี่ยนแปลงนี้ว่าสอดคล้องกับเงื่อนไขอื่นๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ใช้คำว่าพัฒนาการก็ไม่น่าจะผิด

ปรางค์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไม่ว่าก่อไว้ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัดหรือก่อเป็นปรางค์รายมีขนาดเล็กกว่า เชื่อว่าล้วนมีพระพุทธรูปปูนปั้นติดอยู่กับผนังของจระนำหรือประตูช่องตันของเรือนธาตุ แตกต่างจากประตูหลอกของปราสาทขอม ซึ่งก่อศิลาเป็นประตูและสลักเป็นบานประตูปิด สี่ด้านของเรือนธาตุปรางค์มักมีจระนำประจำไว้สามด้าน ที่เหลือเป็นช่องประตูทางเข้าสู่คูหาเรือนธาตุซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่

เมื่อกลายเป็นวัดร้าง สิ่งก่อสร้างภายในวัดขาดการดูแลรักษาก็ชำรุดทรุดโทรม ในส่วนของพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่กับผนังจระนำของเจดีย์ทรงใดๆ ก็ตามมักเสียหาย หรือหลุดร่วงลงจนหมด หากร่องรอยยังฝากติดอยู่กับผนัง ก็มักหมดไปเพราะงานบูรณะปฏิสังขรณ์ที่ฉาบปูนทับ (คงเพื่อให้ดูเรียบร้อย) จึงเป็นเหตุที่มักเข้าใจกันผิดไปว่าจระนำของเจดีย์ไม่เคยมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่

การประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ที่ผนังจระนำของปรางค์เป็นแบบแผนสำคัญสมัยกรุงศรีอยุธยา คงมีแนวความคิดให้เห็นพระพุทธองค์ได้จากทุกด้านคือที่จระนำ และภายในคูหาโดยมองผ่านช่องประตู การมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่เจดีย์เช่นนี้ อย่างน้อยก็ช่วยเสริมคติความเชื่อที่ว่าเจดีย์เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปรางค์ทรงแท่งผอมสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายบางองค์ที่มีขนาดเล็กมาก ช่างก็ทำจระนำไว้ครบทั้งสี่ด้าน ดังนั้นจึงไม่มีช่องประตูคูหา ปรางค์หลายองค์เล็กจนผนังของจระนำแคบเกินกว่าจะประดิษฐานพระพุทธรูปได้ แต่ล่วงมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แม้ที่เป็นปรางค์ขนาดเล็ก ผนังจระนำก็มีการประดิษฐาน แต่มักแทนที่พระพุทธรูปด้วยรูปเทวดา

ปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัดอรุณราชวรารามฯ จระนำทั้งสี่ประดิษฐานรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แบบฉบับความงามโดยเฉพาะของปรางค์องค์นี้เกิดจากรูปทรงที่ได้รับการปรุงเป็นพิเศษในศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว

พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณที่จระนำของปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ กรุงเพทฯ สร้างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ภาพจาก เว็บไซต์วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร)

พระอินทร์ทรงเป็นเทวราช มีพาหนะคือ ช้างเอราวัณ พระองค์สถิต ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีเจดีย์ชื่อจุฬามณีที่พระองค์ทรงสร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระเกศาของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อทรงผนวช เมื่อพระบรมโพธิสัตว์พระองค์นี้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและปรินิพพานแล้ว หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระอินทร์ก็อัญเชิญพระมหาธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ของพระพุทธองค์มาประดิษฐานเพิ่มเติมไว้ในเจดีย์จุฬามณีอีก

การประดิษฐานรูปพระอินทร์เทวราชแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ประทับบนช้างเอราวัณไว้ที่จระนำของปรางค์วัดอรุณฯ จึงชวนให้เข้าใจว่าช่างผู้รับผิดชอบคงคิดว่าสร้างสรรค์ปรางค์องค์นี้ให้เป็นเสมือนเจดีย์จุฬามณี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งก็คือสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ จึงไม่ต่างจากแนวความคิดของช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ในจระนำ แต่ช่างของกรุงรัตนโกสินทร์คิดซับซ้อนกว่า จึงสื่อด้วยรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณดังกล่าว อนึ่ง ความคิดในการสร้างปรางค์สําคัญองค์นี้ยังอาจผนวกเอาคติสมมติเทพไว้ด้วย เพราะรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมีความหมายเช่นเดียวกับรูปวิมานอยู่เหนือช้างเอราวัณ

รูปวิมานนี้แทนพระอินทร์ อันเป็นพระราชลัญจกรประจำองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2565