ทำไมรัชกาลที่ 3 ทรงอัญเชิญ “พระมหามงกุฎ” ไว้บนยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ

พระมหามงกุฎ ยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณ
ยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นที่ประดิษฐานพระมหามงกุฎ (ภาพ: วรวิทย์ พานิชนันท์)

ทำไมรัชกาลที่ 3 ทรงอัญเชิญ “พระมหามงกุฎ” ไว้บนยอดนภศูล พระปรางค์วัดอรุณฯ ก่อนอื่นต้องดูความหมายคำว่า “กุฎาคาร” กันก่อน 

กุฎาคาร ตามความหมายอย่างกว้าง คือ เรือนหรืออาคารที่มียอด เช่น ปราสาท มณฑป หรือกระทั่งบุษบก เป็นต้น การสร้างกุฎาคารยอดมงกุฎ หรือยอดทรงมงกุฎ ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้น “อินทรคติ” หรือคติพระอินทร์ เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก จนถือเป็นอุดมการณ์ประจำรัชสมัย เช่น วิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นกุฎาคารยอดมงกุฎ หรือพระมณฑป วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก็เป็นกุฎาคารยอดทรงมงกุฎ เป็นต้น

“พระบวรเศวตเวชยันตวิหาร” หรือ วิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

กุฎาคารยอดมงกุฎในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นสัญลักษณ์ของวิมานพระอินทร์หรือไพชยนต์มหาปราสาท บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหนือเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล ดังปรากฏนามอย่างเป็นทางการของวิหารยอดว่า “พระบวรเศวตเวชยันตวิหาร” ซึ่งหากดูคัมภีร์ปัญจราชาภิเษก ที่เขียนขึ้นในรัชกาลที่ 1 ก็จะยิ่งเห็นชัดถึงคตินี้ เพราะกล่าวเปรียบเทียบ พระมหามงกุฎ ของพระมหากษัตริย์ว่าเป็นยอดวิมานพระอินทร์

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระมหามงกุฎของพระประธานวัดนางนอง กรุงเทพมหานคร ไว้บนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สื่อความหมายถึงยอดของวิมานไพชยนต์เหนือเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล อันมีพระปรางค์เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับสถาปัตยกรรมยอดมงกุฎหรือยอดทรงมงกุฎนั่นเอง

(ซ้าย) พระมหามงกุฎบนยอดนภศูลพระปรางค์วัดอรุณฯ (ขวา) ลายเส้นพระปรางค์วัดอรุณ

หากในความรับรู้ของราษฎรทั่วไปในยุคนั้น กลับพากันโจษจันว่า เป็นนิมิตหมายว่ารัชกาลที่ 3 ทรงยกย่องให้ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” เป็นยอดของบ้านเมืองครองราชสมบัติต่อไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระผนวช จึงทรงถือเอาโอกาสนั้นนำตราพระมหาพิชัยมงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ออกมาใช้อย่างเปิดเผย

ยอดมงกุฎของบุษบกธรรมาสน์ในการเปรียญวัดราชประดิษฐ “พระบรมราชสัญลักษณ์” ประจำรัชกาลที่ 4

ด้วยเหตุนี้ กุฎาคารยอดมงกุฎ จึงเลื่อนความหมายจาก “อินทรคติ” ในรัชกาลที่ 3 กลายเป็น “พระบรมราชสัญลักษณ์” ประจำรัชกาลที่ 4 ไปในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา” เขียนโดย พิชญา สุ่มจินดา (จัดพิมพ์โดยวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม, 2555)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2560