ร่องรอย “พระมหามงกุฎ” และของที่ราชวงศ์ไทยพระราชทานกษัตริย์กัมพูชา สมัยรัตนโกสินทร์

[ซ้าย] สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร ทรงพระมหามงกุฏ ในพระหัตถ์ทรงพระแสงกระบี่ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งของที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เมื่อครั้งอภิเษกสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) [กลาง] พระมหามงกุฎที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตารกษัตริย์กัมพูชาและเครื่องทรงพระเศียรพระเจ้ากรุงกัมพูชา ภาพถ่ายเก่าในสมัยอาณานิคมของฝรั่งเศส [ขวา] สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ ทรงพระมหามงกุฎ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, มิถุนายน 2558)

ร่องรอย “พระมหามงกุฎ” และของที่ราชวงศ์ไทยพระราชทานกษัตริย์กัมพูชา สมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประเทศกัมพูชามีสงครามความวุ่นวายภายในหลายครั้ง เป็นเหตุให้พระราชวงศ์กัมพูชาหลายพระองค์ได้เสด็จเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้แก่ พระองค์เอง (นักองค์เอง) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์สงวน พระองค์พิม พระองค์อิ่ม และพระองค์ด้วง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้ง พระองค์ราชาวดี และ พระองค์ศรีสวัสดิ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

Advertisement

ปรากฏหลักฐานเป็นธรรมเนียมว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา เมื่อถึงเวลาอันสมควรที่พระราชวงศ์กัมพูชาจะกลับไปครองราชสมบัติในกัมพูชา ก็จะมีการอภิเษกพระราชวงศ์กัมพูชาโดยมีการพระราชทานพระสุพรรณบัฏ และสิ่งของพระราชทานต่างๆ ที่เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศ เช่น มหามงกุฎ พระมาลา ฯลฯ รวมทั้งเครื่องราชูปโภคต่างๆ ออกไปยังกัมพูชาด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากในเวลานั้นกัมพูชามีฐานะเป็นประเทศราชของไทย ธรรมเนียมนี้ได้มีการปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ไทยได้มีส่วนร่วมในการอภิเษกกษัตริย์กัมพูชา เนื่องจากหลังจากนั้นกัมพูชาได้ตกเป็นรัฐในอารักขาและอาณานิคมของฝรั่งเศสตามลำดับ

บทความนี้จึงเป็นการศึกษาเกี่ยวกับ “พระมหามงกุฎ” และสิ่งของพระราชทานกษัตริย์กัมพูชาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยกับกัมพูชาในสมัยนั้น และน่าจะเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมการพระราชทาน “พระมหามงกุฎ” และสิ่งของอื่นๆ ที่พระราชทานไปยังกัมพูชา กับสิ่งของที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไปยังประเทศต่างๆ ในตะวันตก ในเวลาต่อมา

สิ่งของพระราชทานสมเด็จพระนารายณ์รามาราชาธิบดี (พระองค์เอง)

ในปี พ.ศ. 2337 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชดำริว่า พระองค์เองมีพระชนม์ได้ 21 พรรษา ควรเสด็จกลับออกไปครองราชย์ในกรุงกัมพูชา จึงพระราชทานนามและพระสุพรรณบัฏ รวมทั้งสิ่งของต่างๆ สำหรับการอภิเษกพระองค์เองให้เป็นกษัตริย์กัมพูชา ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า

“…ครั้นออกพรรษานักพระองค์เองลาสิกขาบทแล้ว ทรงพระราชดำริจะให้นักพระองค์เองออกไปครองกรุงกัมพูชาสืบวงศ์ต่อไป จึงพระราชทานนามแก่นักพระองค์เอง ให้เป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนารถบพิตร เจ้ากรุงกัมพูชา…” [1]

นอกจากนี้ยังปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับพระสุพรรณบัฏและสิ่งของพระราชทานพระองค์เองในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 1 เรื่อง “ตั้งให้พระองเอง เป็นพระนารายน์ราชาธิราชกรุงกัมพูชา” ว่า

“วัน ๖ ฯ๑๐ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๖ ปีขาลฉ้อศก เพลา ๒ โมงเช้า สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ ชาลาฝ่ายประจิมทิศ ริมพระธินั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงขนานพระนามพระองเองพระราชทานให้ออกไปครองราษฎร ณ กรุงกำภูชาธิบดี พระญาพระคลังได้ทูลอองฯ ด้วยลักษณพระนามในพระสุพรรณบัตร…

ครั้น ณ วัน ๕ ฯ๑ ๗ ค่ำ ปีขาล ฉ้อศก เพลาเชา อาลักษณเชิญพานพระสุพรรณบัตรมาไว้ศาลาลูกขุน ครั้นเพลาบ่ายในวันนั้น พญาพระเขมนแต่งดอกไม้ทูปเทียนมาถวายบังคม แล้วเชิญพานพระสุพรรณบัตรแห่ไป ณ ตำหนักเจ้าพระองเอง

อนึ่งสมเดจบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้ายุหัวบรมธรรมมฤกมหาราชาธิราชเจ้าพระราชทาน พระสาริกะบรมธาตุหย่างกลาง อย่างน้อย 10 พระองค์ใส่พระโกฏนาคชั้นนอก พระโกฏทองคำชั้นในไว้สำหรับได้นมัศการบูชาเปนมหาสวัสดิมงคลอันประเสริฐ แล้วนิมนตรพระสงฆเขมนซึ่งเข้ามาอยู่กรุงเทพมหานคร ได้เรียนพระไตรปิฎกธรรมชำนาญออกไปชำระพระพุทธสาศนา ณ กรุงกำภูชาธิบดี 21 รูป มีมหาเอกเปนปรทาน

อนึ่งพระราชทานเรือพระธินั่งศรีสักหลาด ผูกเครื่องครบ ให้เจ้าพระองคเองผู้เปนสมเดจพระเจ้ารามาธิบดี ทรงพระราชทานเรือดั้งชักสามคู่ อนึ่งพระราชทานปืนคาบศิลา ๓๐๐ บอก ปากนกกสุน ดินปสิวพร้อม ไปไว้สำหรับเมือง…” [2]

สิ่งของพระราชทานสมเด็จพระอุทัยราชา (พระองค์จันท์)

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์รามาราชาธิบดี ครองกรุงกัมพูชาได้เพียง 3 ปี ก็ทิวงคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฟ้าทะละหะ (ปก) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกัมพูชา และทำนุบำรุงพระโอรสทั้ง 4 พระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์รามาราชาธิบดี

จนถึงปี พ.ศ. 2349 สมเด็จฟ้าทะละหะ (ปก) เห็นว่าตนเองชราลงแล้ว พระองค์จันท์พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระนารายณ์รามาราชาธิบดี (พระองค์เอง) มีอายุได้ 16 ปีแล้ว สมควรว่าราชการแผ่นดินได้ สมเด็จฟ้าทะละหะ (ปก) จึงพาพระองค์จันท์และพระองค์สงวนพระอนุชา เข้ามาที่กรุงเทพมหานคร ขอให้ทรงตั้งพระองค์จันท์เป็นกษัตริย์ปกครองกัมพูชา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาตั้งพระองค์จันท์เป็นสมเด็จพระอุทัยราชาธิราชรามาธิบดี และพระราชทานชฎาเครื่องยศ และเครื่องสูงตามอย่างเจ้าประเทศราชให้ออกไปครองกรุงกัมพูชา ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า

“…ครั้นมาถึง ณ วันจันทร์ เดือน ๘ ทุติยาษาฒ ขึ้น ๕ ค่ำ จึงทรงพระกรุณาตั้งนักพระองค์จันท์เป็นองค์สมเด็จพระอุทัยราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนารถบพิตร สถิตเป็นอิศวรกัมพุชรัฐราชโอภาสชาติวรวงศ์ ดำรงกรุงกัมพูชาธิบดี ศรียโสธรนครอินทปัตถ์ กุรุรัฐบุรีรมย์ อุดมมหาสถาน เจ้ากรุงกัมพูชา พระราชทานชฎาเครื่องยศ เครื่องสูงตามอย่างเจ้าประเทศราช โปรดให้ไปครอบครองบ้านเมืองต่อไป…” [3]

นอกจากนี้ยังปรากฏในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 1 เรื่อง “ตั้งให้พระองคจัน เป็นพระองคอุไทยธิราช กรุงกำภูชา” ว่า “…ฝ่ายพญาพระเขมนแต่งดอกไม้ทูบเทียนมากราบถวายบังคม แล้วเชิญพานพระสุพรรณบัตรแห่ไปตำหนักพระองคจันที่เสดจอยู่นั้น พระราชทานเครื่องราชบริโภค…” [4]

จากหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) แสดงให้เห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อมีการสถาปนาพระองค์จันท์ไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา ได้พระราชทานเครื่องยศเพียง “ชฎา” ซึ่งเป็นเครื่องยศของเจ้าประเทศราช ยังไม่ได้พระราชทาน “พระมหามงกุฎ” ออกไปแต่อย่างใด

สิ่งของพระราชทานสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง)

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการยกทัพไปรบกับเวียดนามในกัมพูชา และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ออกไปในกองทัพด้วย ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสิ่งของต่างๆ หลายอย่างให้กับสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี

โดยเฉพาะเมื่อปี พ.ศ. 2390 เมื่อเสร็จสงครามกับเวียดนาม มีการอภิเษกพระองค์ด้วงเป็นสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพชรพิไชยคุมเครื่องซึ่งในบรรดาสิ่งของที่พระราชทานในคราวนี้มีพระมหามงกุฎ และพระมาลาพระเส้าสะเทิ้นขนยอดเกี้ยวยี่กาลงยาราชาวดีประดับพลอย ฯลฯ รวมอยู่ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เรื่อง “บัญชีรายชื่อสิ่งของพระราชทานองค์พระหริรักษ์ทั้ง 3 คราว จ.ศ. 1202-1209” ว่า

“…พระราชทานองค์ด้วงเป็นพระหริรักษรามาอิศราธิบดี วันพุธ เดือน ๒ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะแม นพศก พระมหามงกุฎองค์ ๑ พระมาลาพระเส้าสะเทิ้นขนยอดเกี้ยวยี่กาลงยาราชาวดีประดับพลอยองค์ ๑ พระธำมรงค์รังแตน เพชร ๒ ทับทิม ๑ มรกฎ ๑ (รวม) ๔ วง พระแสงกระบี่ฝักด้ามทอง กรงมือทอง ๑ ธารพระกรเครื่องทอง ๑ เครื่องสูงตีพิมพ์ สำรับหนึ่ง (มี) เครื่อง ๕ ชั้น ๕ คู่ ขาว แดง เขียว ม่วง น้ำเงิน สิ่งละคู่ บังแทรก ๓ คู่ ขาว แดง ม่วง สิ่งละคู่ (รวม) ๑ บังพระสูรย์ องค์ ๑ พระกลดกำมะหยี่ปักทองแผ่ลวด ๑ พระราชยานมีเบาะกำมะหยี่ ๑ หมอนอิงผ้าขาว ๑ (รวมเป็น) ๑ พระเสลี่ยงมีเบาะกำมะหยี่ ๑ หมอนอิงโหมด ๑ (รวมเป็น) ๑ เสื้อทรงประพาสกำมะหยี่แดงเครื่องทรง ๑ ตาดระกำไหมอย่างน้อย แดง ๑ ครุยกรองทองพื้นขาว ๑ (รวมเป็น) ๔ เจียระบาดเข้มขาบสาย ๑ สนับเพลาเข้มขาบริ้วม่วงมีเชิงงอน ๑ เข้มขาบสังเวียน กรวยเชิงแดงผืน ๑ ผ้าลายพระกระบวรกรวยเชิงพื้นขาวผืน ๑ (รวมเป็น) ๑๗ (รายการ)…” [5]

พงศาวดารเขมร ฉบับพระยาราชเสนา (เดช) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“…เจ้าพญาบดินเดชาฯ บอกข้อราชการเข้ามาว่ารบกับญวรมีชัยชนะที่อุดง และญวรทำสัญญากับเขมรมา ณ กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยกความชอบเจ้าพญาบดินเดชาแล้วให้นามเมืองอุดงเป็นเมืองอุดงมีไชย [6] โปรดเกล้าให้พระองค์ดวงเป็นเจ้าประเทศราช ณ วัน จันทร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๒ ศักราช ๑๒๐๙ ปีมะแม นพศก เวลาเช้า ๓ โมง กับบาทหนึ่ง อาลักษณ์จารึกพระนามพระองค์ดวงลงพระสุพรรณบัตร ลงกล่องเงินถมยาดำ กล่องงาชั้นนอก

พญาเพชพิไชยจางวางล้อมพระราชวังซึ่งเป็นที่เจ้าพญาธรมา (เสือ) [7] พี่เจ้าพญาธรมา (มั่ง) [8] เดี๋ยวนี้ [9] เชิญพระสุพรรณบัฏกับศุภอักษรตราพระราชสีห์ ออกไปให้เจ้าพญาบดินเดชาที่สมุหนายกเษกพระองค์ดวง ออกจากกรุงเทพฯ วันพุธ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะแม นพศก [10] เษกองค์ดวงเป็นองค์พระหริยรักษรามหาอิศราธิบดี ครองกรุงกำโพชาอยู่ ณ เมืองอุดงมีไชย ณ วันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ศักราช ๑๒๐๙ ปีมะแม นพศก [11]…”

ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา กล่าวถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จัดการพระราชพิธีปราบดาภิเษกสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ขึ้นที่เมืองอุดงค์ฦๅชัย ในปีพุทธศักราช 2390 ว่า

“…ครั้นถึง ณ วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีมแม นพศก ๑๒๐๙ จัดการพระราชพิธีอภิเษกสมเด็จพระองค์ด้วง พระชนมายุ ๕๒ ปี ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนาม พระบาทสมเด็จพระราชโองการพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี พระศรีสุริโยพรรณธรรมิกวโรดม บรมสุรินทรา มหาจักรพรรดิราช บรมนารถบรมบพิตร สถิตย์เป็นอิศวรยอดรัฐราษฎร์โอภาษชาติวงษ์ บำรุงกัมพูชามหาอินทปัตนคร บวรอดิเรกเอกราช ขัติโยมหาธิบดินทร์ นรินทรวิสุทธิอุดม บรมบพิตร พระองค์ได้ปราบดาภิเศกเสวยราชสมบัติ ประทับอยู่ ณ กรุงอุดงฤๅชัย…” [12]

จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกพระองค์ด้วงเป็นสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) นั้น ได้พระราชทาน “พระมหามงกุฎ” สำหรับการอภิเษกสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ด้วย รวมทั้งยังมีเครื่องยศและเครื่องสูงอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตารในเวลาต่อมา

สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร และพระมหามงกุฎพระราชทาน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, มิถุนายน 2558)

สิ่งของพระราชทานสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร (พระองค์ราชาวดี)

หลังจากสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ทิวงคต ในปี พ.ศ. 2403 ขุนนางทั้งหลายอัญเชิญพระองค์ราชาวดี ซึ่งเวลานั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์มหาอุปราชขึ้นครองราชย์ ครั้นสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ทรงขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงส่งขุนนางเข้ามากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงข่าวการทิวงคตของสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดีให้ทรงทราบ [13]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ศรีวัตถาซึ่งในเวลานั้นเข้ามาประทับอยู่ในกรุงเทพมหานคร ออกมายังกัมพูชาพร้อมกับพระพิเรนทรเทพ [14] เพื่อช่วยงานพระศพของพระหริรักษรามาอิศราธิบดี เมื่อพระองค์ศรีวัตถาเสด็จออกมาถึงเมืองอุดงค์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขมรในขณะนั้น พระองค์ก็เริ่มรวบรวมสมัครพรรคพวกเตรียมก่อการกบฏ ต่อมาสนองโสร์ได้หลบหนีเข้าไปอยู่ในตำหนักของพระองค์ศรีวัตถา สมเด็จพระนโรดมจึงทราบว่า พระองค์ศรีวัตถาคิดก่อการกบฏ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์จึงโปรดให้ออกญาวิบุลราชเสนา (แบน) นำทหารหลวงไปล้อมจับสนองโสร์ที่ตำหนักพระองค์ศรีวัตถา

พระองค์ศรีวัตถาเห็นทหารมาล้อมพระตำหนักเช่นนั้น จึงทรงให้สนองโสร์กับมโนแก้วนำทหารจำนวน 50 คน ออกรบ ทหารของออกญาวิบุลราชเสนาใช้ปืนยิงตอบโต้ถูกทหารของพระองค์ศรีวัตถาเสียชีวิตไปประมาณ 8 คน พระองค์ศรีวัตถาและพระองค์สิริวงศ์เห็นท่าว่าจะสู้ไม่ได้ก็ควบม้าหลบหนีออกจากพระตำหนักมาได้ ส่วนสนองโสร์กับมโนแก้วพร้อมด้วยทหารสามารถแหกวงล้อมหนีออกไปได้เช่นกัน

พระองค์ศรีวัตถาได้ตั้งสนองโสร์ให้เป็นที่ออกญามหาฤทธิ์รงค์ชาญชัย และให้มโนแก้วเป็นที่ออกญากำแหงโยธา ทั้งสองได้ชักชวนชาวบ้านแถบเมืองบาพนมมาเป็นพรรคพวกได้อีกจำนวนมาก ออกญาธรรมเดโชเจ้าเมืองบาพนมจัดทัพออกไปสู้กับพวกกบฏ แต่เนื่องจากขาดทัพหนุนจึงถูกตีแตกกลับมาทุกครั้ง จึงต้องหนีไปตั้งหลักที่กำปงศาลา สนองโสร์กับมโนแก้วจึงนำทัพบุกยึดเมืองพนมเปญได้สำเร็จ [15]

เมื่อสมเด็จพระนโรดมทราบข่าวว่าสนองโสร์ยึดเมืองพนมเปญได้แล้ว พระองค์จึงตัดสินพระทัยอพยพพระบรมวงศานุวงศ์และเครื่องราชาภิเษกทั้งปวง (ซึ่งน่าจะรวมทั้ง “พระมหามงกุฎ” ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้สมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง)) เข้าไปประทับที่เมืองพระตะบอง ทิ้งเมืองอุดงค์มีชัยให้สมเด็จพระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้า (พระองค์ศรีสวัสดิ์) เป็นผู้รักษาเมือง [16]

เมืองพระตะบองในเวลานั้นขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีพระยาคธาธรธรณินทร์เป็นเจ้าเมือง สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ได้มีศุภอักษรเข้ามายังกรุงเทพฯ ขอกองทัพไทยให้เข้ามาช่วยปราบปรามความวุ่นวาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบจึงโปรดให้รับสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์เข้าไปประทับยังกรุงเทพมหานคร [17]

สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์จึงเสด็จเข้าไปประทับที่กรุงเทพมหานคร เป็นการชั่วคราว พระองค์ได้นำเครื่องราชาภิเษกเข้าไปกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ “พระขรรค์ราชย์” และ “มงกุฎราชย์” เนื่องจากเวลานั้นสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ยังมิได้ทรงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาอย่างเป็นทางการ

หลังจากพวกกบฏอันมีสนองโสร์และมโนแก้วเป็นหัวหน้าบุกยึดเมืองพนมเปญได้แล้วก็ยกทัพมาตีเมืองอุดงค์ เมื่อกบฏล้อมเมืองอุดงค์แล้ว สมเด็จพระหริราชดนัยไกรแก้วฟ้าทรงเจรจากับพวกสนองโสร์ สนองโสร์กับมโนแก้วจึงได้เมืองอุดงค์มีชัย พวกขบถได้กวาดต้อนเอาพระราชทรัพย์ที่เหลืออยู่ในพระคลังไปจนหมดสิ้น และขนเอาทรัพย์สินชาวบ้านชาวเมืองไปด้วย [18]

ต่อมาเมื่อออกญามนตรี (แกบ) ร่วมมือกับออกญาธรรมา (ปก) พร้อมด้วยบรรดาขุนพลทั้งหลายนำทัพเข้าขับไล่ออกญากำแหงโยธาออกจากเมืองอุดงค์มีชัยได้สำเร็จ และยังสามารถขับไล่พวกกบฏออกจากเมืองพนมเปญได้ [19]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) พระยาบริรักษราชา และเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ นำทหารไทยคุ้มกันสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์กลับมาเมืองเขมรโดยทางชลมารค รวมเวลาประทับในกรุงเทพฯ ได้ 105 วัน ขบวนเสด็จกลับมาขึ้นฝั่งที่ท่าเมืองกำปอด พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวว่า สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์เสด็จเข้าสู่เมืองอุดงค์มีชัยเมื่อวันแรม 11 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา ตรีศก 1223 ตรงกับปี พ.ศ. 2404 [20]

เพราะหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2406 อัดเมราล แม่ทัพเรือฝรั่งเศส (ดูดาร์ต เดอ ลาเกร์) ได้เสนอเรื่องสนธิสัญญาให้กัมพูชาอยู่ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส ในเดือนกรกฎาคม พลเรือเอก กรอนดิแยร์ ข้าหลวงใหญ่ของแคว้นโคชินจีนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนโรดม ณ เมืองอุดงค์มีชัยและเสนอให้กัมพูชาอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของฝรั่งเศส ในที่สุดสมเด็จพระนโรดมจำต้องลงพระนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ พงศาวดารเขมร ฉบับปลีก ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“…อยู่มาอัศมิราล [21] แม่ทัพเมืองไซร่ง่อน ให้ขุนนางฝรั่งเศดขึ้นมาพูดจาทำสัญญาแต่เมืองเขมร องค์พระณโรดมฯ …(ต้นฉบับชำรุด)…ไม่ทำสัญญาก็กลัวบ้านกลัวเมืองจะเกิดเหตุต่างๆ จึงได้ปรึกษาพร้อมด้วยพระยาพระเขมรทำสัญญากับขุนนางฝรั่งเศส แล้วก็บอกข้อความเข้ามา ณ กรุงเทพฯ ท่านเสนาบดีทั้งปวงปรึกษาเห็นว่า เมืองเขมรเป็นเมืองขึ้นกรุงเทพฯ มาช้านาน จะไม่ให้องค์พระนโรดม พระยาพระเขมรทำสัญญาไว้ต่อกรุงเทพฯ บ้างเห็นไม่ควร จึงได้ให้พระยาราชวรานุกูลแม่ทัพกลับออกไปพูดจาทำสัญญากับเขมร ครั้นมองชิเออโอบาเรศ [22] กงสุลฝรั่งเศสไปจัดการเมืองญวนเสร็จแล้วเข้ามากรุงเทพฯ ท่านเสนาบดีได้เอาสัญญาเมืองเขมรทำไว้แก่กรุงเทพฯ เขมรทำให้ฝรั่งเศสมาปรึกษาการหารือกันก็เรียบร้อยทั้ง 3 ฝ่าย…” [23]

หลังจากนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสและไทยได้ร่วมกันจัดการราชาภิเษกสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชาภิเษกมาเพื่อใช้ในพิธีราชาภิเษก สันนิษฐานว่า เครื่องราชาภิเษกนี้น่าจะเป็นชุดเดียวกับที่สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตารนำเข้าไปไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อครั้งเกิดสงครามกับพระองค์วัตถา

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องอิสริยยศ และเครื่องสูงต่างๆ สำหรับการราชาภิเษกสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร ปรากฏในเอกสาร เช่น พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังความตอนหนึ่งใน พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 10 พระราชหัตถเลขา ถึงองค์พระนโรดม ณะกรุงกัมพูชา ว่า

“…ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ได้ฟังดังนี้แล้วปฤกษาเห็นพร้อมกันจะให้พระยามนตรีสุริยวงษ์คุมสุพรรณบัตรแลเครื่องอิศริยยศทั้งปวงออกไปทำการอภิเศกแก่เธอ ให้ทันในเดือนหกเป็นเดือนฤกษ์ดี…” [24]

นอกจากนี้ยังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า “…ครั้นเมื่อ ณ เดือนหก ขึ้นสิบห้าค่ำ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยามนตรีสุริยวงษ์ คุมเครื่องอิศริยยศสุพรรณบัตรไปเศกองค์พระนโรดม…” [25]

ส่วนพงศาวดารเขมรฉบับปลีกได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า “…(ต้นฉบับชำรุด)…เบญจศก ศักราช ๑๒๒๕ ปี จึ่งโปรดให้พระยามลตริสุริยวงษ [26] เชิญพระสุพรรณบัฏแลเครื่องอิสริยยศเครื่องบริวารยศ พร้อมด้วยมองชิเออโอบาเรศ กงสุลฝรั่งเศสลงเรือออกไปทำการอภิเษกองค์พระณโรดมฯ เป็นองค์สมเด็จพระณโรดมบรมเทวาวตาน เจ้ากรุงกำโพชาธิบดี [27] แต่ ณ วันศุกร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ศักราช ๑๒๒๖ ปีชวด ฉศก [28]…” [29]

จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องอิสริยยศ และเครื่องสูงสำหรับการราชาภิเษกสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตารด้วย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึง “พระมหามงกุฎ” และเครื่องทรงพระเศียรพระเจ้ากรุงกัมพูชาไว้ในหนังสือนิราศนครวัดว่า

“…ได้บอกเขาไว้ว่าอยากดูเครื่องต้น เขาเชิญเครื่องทรงพระเศียรพระเจ้ากรุงกัมพูชามาตั้งให้ดู ๔ องค์ และอธิบายให้ทราบ คือ พระมหามงกุฎลงยา ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนั้น สำหรับทรงราชาภิเษก และทรงเลียบพระนครกระบวนราบ พระมาลาเส้าสะเทิน (เหมือนอย่างต่างกรมทรงในกรุงเทพฯ) ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสำหรับทรงเลียบพระนครกระบวนม้า พระชฎาห้ายอดทองเกลี้ยง (มียอดใหญ่อยู่กลางยอดน้อยอยู่สี่ทิศ) สร้างขึ้นในกรุงกัมพูชา สำหรับทรงเลียบพระนครกระบวนรถ พระมาลาทรงประพาส พื้นตาดเครื่องทอง ทำในกรุงกัมพูชา สำหรับทรงเลียบพระนครกระบวนช้าง ก็ดูชอบกลอยู่…” [30]

ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วสันนิษฐานว่า เครื่องอิสริยยศเหล่านี้น่าจะเป็นชุดเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้สมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) และสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตารได้นำเข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกบฏวัตถา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานกลับมาเพื่อใช้ในพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระนโรดมบรมเทวาวตาร

สอดคล้องกับในภาพเก่าการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร ในภาพจะเห็นเครื่องอิสริยยศในพิธีราชาภิเษกไว้ประกอบด้วย พระมหามงกุฎ พระมาลาเส้าสะเทิ้น และพระแสงกระบี่ฝักด้ามทอง ซึ่งปรากฏรายการในสิ่งของพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เครื่องอิสริยยศที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร จึงน่าจะเป็นชุดเดียวกับที่ใช้ในการราชาภิเษกสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) นั่นเอง

บทสรุป

พระมหามงกุฎ และเครื่องอิสริยยศที่ไทยได้พระราชทานให้กษัตริย์กัมพูชาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีความแตกต่างจากเครื่องมงคลราชบรรณาการที่ไทยได้มอบให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเครื่องมงคลราชบรรณาการเหล่านั้นไทยได้มอบให้เพื่อเป็นเครื่องแสดงทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ เหล่านั้น เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส

แต่สำหรับพระมหามงกุฎ และเครื่องอิสริยยศที่ไทยได้พระราชทานให้กษัตริย์กัมพูชาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นสิ่งที่ไทยได้พระราชทานให้กับกษัตริย์กัมพูชาในฐานะเครื่องอิสริยยศของเจ้าประเทศราช เห็นได้จากสิ่งของต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานให้สมเด็จพระนารายณ์รามาราชาธิบดี (พระองค์เอง) และสมเด็จพระอุทัยราชา (พระองค์จันท์) ซึ่งมี “ชฎา” ซึ่งเป็นเครื่องยศของเจ้าประเทศราช ยังไม่ได้มีการพระราชทาน “พระมหามงกุฎ” เป็นเครื่องอิสริยยศแต่อย่างใด

ต่อมาในรัชกาลที่ 3 หลังสงครามอานามสยามยุทธ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน “พระมหามงกุฎ” และเครื่องอิสริยยศสำหรับการราชาภิเษกสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ซึ่งได้ใช้สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า พระมหามงกุฎที่ไทยได้พระราชทานให้กษัตริย์กัมพูชา เป็นเครื่องอิสริยยศ ประกอบความเป็นเจ้าประเทศราช แตกต่างจากการพระราชทานเป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการแสดงทางพระราชไมตรีไปยังประเทศในยุโรปดังได้กล่าวมา อย่างไรก็ตาม บทความนี้เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นอันควรมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2526), น. 143.

[2] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. (กรุงเทพฯ : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2514), น. 10.

[3] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. น. 195.

[4] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. น. 19.

[5] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑๒. (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549), น. 764.

[6] เรียกในภาษาเขมรว่า อุดงค์มานชัย (อุฎุงฺคมานชัย)

[7] พระยาเพ็ชรพิชัย (เสือ) เป็นบุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ได้เป็นเจ้าพระยาธรรมา ในรัชกาลที่ 4

[8] เจ้าพระยาธรรมา (มั่ง) หรือ (ลมั่ง) เป็นน้องเจ้าพระยาธรรมา (เสือ) ในรัชกาลที่ 4 ได้เป็นเจ้าพระยาธรรมาในรัชกาลที่ 5

[9] คำว่า เดี๋ยวนี้ หมายถึงเมื่อเรียบเรียงพงศาวดารฉบับนี้ ตรงกับปี พ.ศ. 2417

[10] ตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

[11] ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาว่า จัดพระราชพิธีอภิเษกเมื่อวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม นพศก 1209 (พ.ศ. 2390)

[12] กรมศิลปากร. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. น. 284-285.

[13] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. น. 464.

[14] เรื่องเดียวกัน.

[15] เรื่องเดียวกัน, น. 471.
[16] เรื่องเดียวกัน.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 474-475.

[18] เรื่องเดียวกัน, น. 472.

[19] เรื่องเดียวกัน.

[20] เรื่องเดียวกัน.

[21] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ว่า อัศมิราลเดลากรอนเด, คือ พลเรือเอก เดอ ลา กรองดิแยร์ (Contre Admiral de la Grandière)

[22] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ว่า มองซิเออออบาเรศ, คือ มองซิเออร์ โอบาเรต์ (Aubaret) เป็นกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ

[23] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. น. 535.

[24] พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2521), น. 116.

[25] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2547), น. 264.

[26] พระยามนตรีสุริยวงศ์

[27] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ว่า องค์สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร

[28] พ.ศ. 2407

[29] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. น. 535.

[30] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิราศนครวัด. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2517), น. 45.

บรรณานุกรม :

กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549.

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2514.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิราศนครวัด. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2517.

ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2526.

______. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2547.

พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2521.

ศานติ ภักดีคำ. เขมรรบไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554.

______. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘พระมหามงกุฎ’ และสิ่งของพระราชทานกษัตริย์กัมพูชา
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2565