“มงกุฎ” รัชกาลที่ 4 ในพระราชวังอังกฤษ ของขวัญหรือหลักประกันการเมือง?

มงกุฎ รัชกาลที่ 4 เครื่องราชบรรณาการ สยาม อังกฤษ
(ซ้าย) เครื่องราชบรรณาการจากรัชกาลที่ 4 มีเครื่องราชูปโภคของสูงสำหรับกษัตริย์ ถูกพระราชทานไปยังควีนวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ ค.ศ.1857 (ขวา) พระมหามงกุฎรัชกาลที่ 4 ในอังกฤษ (ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2555) ภาพจากไกรฤกษ์ นานา

ในพระราชวังอังกฤษ มีเครื่องราชบรรณาการล้ำค่าสิ่งหนึ่งจากสยาม คือ “มงกุฎ” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่ง ไกรฤกษ์ นานา นักประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องราวสมัยนั้นได้เขียนเผยแพร่ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ดังนี้ (เว้นวรรค ย่อหน้า และเน้นคำ โดยกองบรรณาธิการออนไลน์)


 

ในช่วงครึ่งหลังของรัชกาลที่ 4 หรือภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่งแล้ว อำนาจของอังกฤษก็แผ่เข้ามาปกคลุมเอเชียทั้งทวีป

นโยบายการค้าเสรีของอังกฤษสะเทือนระบบการเมืองและเศรษฐกิจของเอเชียอย่างรุนแรง การขัดขืนของจีนเร่งเร้าให้เกิดสงครามฝิ่น นำความหายนะมาสู่จีนเร็วยิ่งขึ้น พร้อมกับความเสื่อมสลายของอิทธิพลที่เคยมี สยามฉวยโอกาสจากความเพลี่ยงพล้ำของจีนและความซบเซาจากการค้า ยกเลิกการไป “จิ้มก้อง” แล้วหันไปฝักใฝ่อังกฤษ ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่ทรงอานุภาพมากกว่า

เครื่องราชบรรณาการชุดใหญ่ที่สยามส่งไปจิ้มก้องอังกฤษแทนจีน สร้างความประหลาดใจให้คนอังกฤษไม่น้อย เพราะมีของสูงเช่น พระมหามงกุฎ รวมอยู่ด้วย พระราชินีอังกฤษทรงตอบรับท่าทีของสยามเช่นไร และคนอังกฤษคิดอย่างไรกับของขวัญชิ้นนี้?

ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 ผู้เขียนเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของทีมงานที่ได้นำคนไทยเกือบ 300 คน ไปเยือนพระราชวังวินด์เซอร์ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีการเมื่อรัฐบาลไทยในสมัยนั้นร่วมกับมูลนิธิวัดพระพุทธศาสนา ณ กรุงลอนดอน จัดคณะพุทธศาสนิกชนเดินทางไปทำพิธีเปิดพระอุโบสถหลังใหม่ ณ วัดพุทธปทีป เมืองวิมเบิลดัน ประเทศอังกฤษ นับเป็นคณะคนไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ไปพระราชวังวินด์เซอร์ขนาดต้องเช่าเหมาลำการบินไทยทั้งลำไป [3]

แต่การเข้าชมพระราชวังวินด์เซอร์ครั้งนั้นยังเป็นการชมแบบฉาบฉวยและมีเวลาจำกัดมาก เนื่องจากเป็นคณะใหญ่ใช้รถบัสหลายคัน และเข้าชมได้ไม่พร้อมเพรียงกัน อีกทั้งยังไม่เคยมีข้อมูลทางลึกเกี่ยวกับที่มาของเครื่องราชบรรณาการจากสยามให้ค้นคว้า จึงยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้มากในการบรรยาย แม้แต่ หม่อมราโชทัย ผู้บันทึกการเดินทางของคณะราชทูต (ในนิราศลอนดอน) ก็ยังกล่าวถึงเครื่องราชบรรณาการไว้น้อยมาก จนแทบจะหาแก่นสารอะไรไม่ได้เลย ท่านเขียนแบบลอยๆ ว่า

(ครั้งแรก) ในครั้งนี้จอมนรินทร์ปิ่นพิภพ ทรงปรารภเรื่องไมตรีมิให้เศร้า
จึงส่งบรรณาการสารสำเนา มาตามเลาราวเรื่องเมืองไมตรี

(ครั้งที่ 2) สารพัดเครื่องราชบรรณาการ พนักงานวางถวายไว้รายเรียงฯ [8]

แต่กลับบรรยายเรื่องอื่นๆ ทางฝั่งอังกฤษไว้อย่างพิสดาร ข้อมูลเรื่องเครื่องราชบรรณาการ ที่มี มงกุฎ รัชกาลที่ 4 จึงขาดแคลนอยู่เสมอ และกลับบดบังความสำคัญเกี่ยวกับ “ของขวัญ” ชุดนี้ที่มิได้เคยส่งให้ผู้นำโลกคนใดมาก่อน ไม่ว่าจะสำคัญขนาดไหน

ต่อมาอีก 30 ปี จนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 หลังจากผู้เขียนค้นพบเอกสารเก่าประเภทหนังสือพิมพ์ย้อนยุคจาก พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) ชุดใหญ่ภายในร้านขายหนังสือเก่าที่อังกฤษ ทำให้ทราบว่าชาวอังกฤษในยุคนั้นกล่าวขวัญถึงเครื่องราชบรรณาการชุดนี้กันมาก กับความวิจิตรพิสดารของเครื่องราชูปโภคฝีมือกรมช่างสิบหมู่ที่รัชกาลที่ 4 ทรงกำกับควบคุมเอง และทรงให้สร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อการนี้โดยเฉพาะ กับเหตุผลที่ยังไม่ค่อยชัดเจนนักว่าส่งมาทำไม ทั้งที่รัฐบาลอังกฤษยังมิได้ทำความชอบถึงขั้นต้องตอบแทนบุญคุณกันขนาดนั้น

หากมองตามข้อเท็จจริงแล้ว ชาวอังกฤษก็ยังไม่คุ้นเคยกับประเพณีการให้ของกำนัลที่มีค่าจากบุคคลที่ยังไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน ราชสำนักสยามเชื่อว่าการทำให้พระราชินีอังกฤษประทับใจ แบบ First Impression เป็นสิ่งที่ต้องทำทันที เพื่อซื้อใจพระราชินีไว้ล่วงหน้า

อันที่จริงราชสำนักอังกฤษมิได้คิดฟุ้งซ่านไปจนเกินกว่าเหตุ เพราะในรายการนั้นมีพระมหามงกุฎจำลองของรัชกาลที่ 4 ปนอยู่ด้วย อันนับได้ว่าเป็นมงกุฎชุดแรกจากพระเจ้าแผ่นดินที่ยังเสวยราชย์อยู่ ทั้งที่ไม่เคยมีประเพณีปฏิบัติเช่นนั้นโดยพระเจ้าแผ่นดินไทยมาก่อน

บรรณาการไทยให้จีนและอังกฤษแตกต่างกัน

ประเพณีปฏิบัติที่ไทยเคยทำตามธรรมเนียมที่ผ่านมา คือการส่งเครื่องราชบรรณาการหรือที่เรียก “จิ้มก้อง” ให้จีนแต่เพียงประเทศเดียว และทำมาอย่างยาวนานตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ทว่าของที่ส่งไปเมืองจีนนั้นก็หาใช่ของล้ำค่าที่คู่ควรกับบารมีขององค์ฮ่องเต้ไม่ หากแต่เป็นของป่าหายากซึ่งเป็นที่ต้องการของทางราชสำนัก มีสรรพคุณผสมเป็นยาอายุวัฒนะเสียมากกว่า สามารถนำไปใช้ทำยาหรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ

อาทิ จันทน์หอม พริกไทย รงทองคำ ขี้ผึ้งขาว กำมะถัน มหาหิงคุ์ เปลือกสมุลแว้ง กรักขี เปลือกสีเสียด กานพลู มดยอบ จันทน์ชะมด จันทน์เทศ กระวานขาว ผลกระเบา ฝาง ไม้พะยูง แก่นไม้หอม พรมลิอูด ผ้าโมรีแดง และสัตว์ป่าหายาก ซึ่งเป็นคตินิยมของชาวสวรรค์ ได้แก่ ช้าง งาช้าง หมี ชะนีเผือก นกกระเรียน นกยูง นกแก้ว นอแรด อุ้งตีนหมีและขนนกกระเต็น

ส่วนของที่ทางการจีนมอบตอบแทนแก่สยาม ได้แก่ เครื่องลายคราม กังไส เครื่องหยก เครื่องแก้ว ผ้าไหมจีน ผ้าแพรโล่ต่วน และแพรกิมต่วน เป็นต้น [7]

จะเห็นได้ว่าของขวัญที่พระมหากษัตริย์ไทยส่งไป “จิ้มก้อง” ทางเมืองจีนนั้นไม่ใช่ของสูงค่ามีราคาประดับพระบารมีของพระมหากษัตริย์เลย เป็นแต่เพียงพืชสมุนไพรและของป่าหายากที่จีนไม่มี แลกเปลี่ยนกันพอเป็นประเพณีเท่านั้น แต่กลับเป็นสัญลักษณ์ว่าของกำนัลเหล่านี้ส่งไปด้วยความนอบน้อม ไม่ได้แสดงความเย่อหยิ่งของประเทศเล็กๆ ที่นับถือจีน จีนจึงค่อยยอมติดต่อค้าขายด้วย

ผลที่ตามมาก็คือทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนอนุญาตให้พ่อค้าไทยสามารถแต่งสำเภาไปค้าขายที่เมืองจีน และซื้อหาสินค้ากลับมา โดยได้รับการผ่อนปรนระเบียบกฎเกณฑ์อันเข้มงวด เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้า และทำให้จีนเป็นแหล่งระบายสินค้าขนาดใหญ่จากสยาม

ทางด้านการเมือง สยามเป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลจีนในฐานะมิตรประเทศ ราชสำนักจีนและสยามมีพระราชสาส์นถึงกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม จีนไม่เข้ามาก้าวก่ายกับกิจการภายในของสยาม ทั้งยังได้ขึ้นบัญชีสยามเป็นประเทศที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งอีกด้วย ประชาชนจากทั้ง 2 ประเทศเดินทางติดต่อไปมาหาสู่กันโดยสะดวก บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นปกติสุขถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน [5]

จากการที่ราชสำนักจีนมิได้ยุ่งเกี่ยวหรือข้องแวะกับชาติเล็กชาติน้อย เพียงแต่ต้องการรักษาฐานอำนาจเดิมไว้ประดับบารมีของตน แสดงว่าจีนเป็นศูนย์รวมอำนาจและแผ่อิทธิพลไปได้ทั่วๆ โดยไม่จำเป็นต้องกดขี่ข่มเหงใคร ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับท่าทีของอังกฤษ

เพราะอังกฤษเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นจะต้องข่มรัศมีจีน เพื่อแสดงว่าชาติตะวันตกนั้นเจริญกว่า และมีเหตุผลมากกว่าตามหลักการทางศาสนา โดยการเผยแพร่หลักความเชื่อใหม่ๆ เช่น การค้าเสรีและศาสนาคริสต์ จึงต้องล้มล้างจารีตดั้งเดิมอันล้าสมัยของเอเชียที่มีจีนเป็นแม่บทเสียก่อน นั่นหมายถึงการพุ่งชนเสาหลักแห่งความน่านับถือของจีน ที่อังกฤษเห็นว่าเป็นอุปสรรคและถ่วงความเจริญ แล้วสถาปนาอำนาจของตนขึ้นแทนที่ และเมื่อจีนขัดขืน อังกฤษจึงประกาศสงครามกับจีน

ดังนั้น การที่สยามหันมาให้ความสำคัญกับอังกฤษแทนจีน ด้วยการตกลงทำสัญญาการค้าและพาณิชย์อย่างง่ายดาย (เรียกสนธิสัญญาเบาริ่ง) ตามด้วยการจัดส่งคณะทูตไปถวายเครื่องราชบรรณาการที่มีความหมาย เป็นการส่งสัญญาณที่มีเป้าหมายชัดเจนถึงการยอมรับอิทธิพลของอังกฤษ เป็นการมองว่านโยบายของอังกฤษเป็นเรื่องยอมรับได้

รายการเครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปอังกฤษ จึงแฝงด้วยทัศนคติแปลกใหม่ที่ฉีกแบบแผนของจารีตดั้งเดิมจนหมดสิ้น [4]

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นอังกฤษมีอาณานิคมครอบคลุมเนื้อที่เกือบ 3 ใน 4 ส่วนของโลก ผู้นำประเทศทั่วโลกต่างถือเป็นเกียรติยศหากได้ติดต่อคบหากับควีนแห่งอังกฤษ และจะทำทุกอย่างเพื่อให้พระนางทรงพอพระทัย

บาญชีเครื่องราชบรรณาการไปกรุงลอนดอน

พระราชสาทิศฉายาลักษณ์ 2 พระมหามงกุฎลงยาประดับเพ็ชรบ้างมรกฎบ้างทับทิมบ้าง 1 พระสังวาลลายกุดั่นประดับทับทิม 1 พระธำมะรงค์นพเก้าใส่ตลับทองคำลงยา 1 ฉลองพระองค์พระกรน้อยมีดุมเพ็ชร์เจ็ด 1 ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง 1 รัดพระองค์กุดั่นประดับเพ็ชร์บ้างมรกฎบ้าง สายทองมีประจำยามประดับมรกฎ 1 วัดพระองค์เจียรบาดตาดปักเลื่อมรัดพระองค์กรองทอง 1 สนับเพลาเข้มขาบเชิงงอนลายทองคำลงยาราชาวดี 1 ผ้าทรงยกทองผืน 1 ผ้าทรงลายกรวยเกี้ยวเขียนทองผืน 1 ผ้าทรงปูมอย่างดี 4 ผืน

ลังขอุตราวัฏเครื่องทองคำลงยาราชาวดีมีดอกนพรัตน มังสีทองคำจำหลักลงยาเปนเครื่องรอง 1 ขัน น้ำกับพานรองทองคำลงยาราชาวดีสำรับ 1 เครื่องชาสำรับหนึ่ง คือ ถาดทองคำ 1 ป้านเลี่ยมทองคำ 1 จานทองคำรองป้าน 1 ถ้วยหยกใหญ่มีฝาเลี่ยมทอง 1 เรือทองคำรองถ้วย 1 ถ้วยฝาทองคำลงยา ถ้วยฝาเงินถมยาดำตะทองรวมเปน 2 ซองบุหรี่ทองคำลงยา 1 หีบใส่กรรไกรส้นประดับเพ็ชร 1 ประดับทับทิม 1 รวม 2 สางเจียดงากรอบแลก้านทองคำลงยาประดับพลอยมรกฎคู่ 1 รวมหนึ่งหีบ หีบใส่ ซ่อม ช้อน มีด ทองประสม ด้ามประดับเพ็ชร์สำรับ 1 โต๊ะเงินใหญ่ปากก้าไหล่ทองคู่ 1

ดาบเหล็กลายฝักทองคำลงยา 1 จำหลัก 1 หอกอย่างสยามฝักเงินถมยาดำตะทอง 1 ง้าวฝักเงินถมยาดำตะทอง 1 ทวนด้ามก้าไหล่ทองคำ 1 กฤชฝักทองลายจำหลักประดับพลอยต่างๆ 1 เครื่องสูง ฉัตร 7 ชั้น 2 ฉัตร 5 ชั้น 2 ฉัตร 3 ชั้น 2 ฉัตรชุมสาย 2 พระกลด 1 บังพระสูริย์ 1 พระราชยานกง 1 กลองมโหระทึกกับปี่งาสำรับ 1 เครื่องม้าทองคำประดับพลอยสำรับ 1 ฉากรูปพระแก้วมรกฎซึ่งเปนที่นมัสการในพระบรมมหาราชวังเขียนสามรูปตามอย่างทรงเครื่องในฤดูทั้งสาม ซึ่งมีหนังสือชี้แจงมาเปนนิทานนั้น 1 ฉากเรื่องบรมราชาภิเษก 4 แผ่นฯ [6]

คำว่า “พระมหามงกุฎลงยาประดับเพ็ชรบ้างมรกฎบ้างทับทิมบ้าง” หมายถึงเครื่องราชูปโภคชิ้นเอกที่เป็นตัวชูโรงในบรรดาของมีค่าอื่นๆ อีกหลายรายการ และได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก โดยสื่อมวลชนอังกฤษในวันเปิดตัวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1857 (ดูรูปเปิดบทความ)

การลงพื้นที่ครั้งล่าสุดที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 พบว่าบรรณาการชิ้นเอกนี้ยังอยู่สบายดีภายในตู้โชว์ของบรรณาการจากประเทศต่างๆ ที่ถูกส่งเข้ามาในสมัยเดียวกัน ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น พม่า และอินเดีย ณ ห้องโถงอันตระการตา โดยมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของควีนผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรอยู่โดยบังเอิญ

รูปราชทูตถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ เป็นภาพอันตระการตาและหลักฐานสำคัญในการเจริญพระราชไมตรีครั้งนี้ บุคคลในภาพและสิ่งที่น่าสังเกตมีดังนี้ คือ (1) Mr. Fowle กงสุลสยามประจำอังกฤษ (2) ลอร์ดคลาเรนดอน รมต.ว่าการต่างประเทศ ผู้รับผิดชอบราชการในสยามโดยตรง (3) ควีนวิกตอเรีย (4) เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของควีน (5) พระราชยานเกย ของขวัญขนาดใหญ่ในบัญชีเครื่องราชบรรณาการ (6) เจ้าชายเฟรเดอริค วิลเลี่ยม แห่งปรัสเซีย พระราชบุตรเขยของควีน (7) กล่องใส่พระราชสาส์นจากรัชกาลที่ 4 ถึงควีน และพระมหามงกุฎ รัชกาลที่ 4 (วงกลม) (ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEWS, 5 Dec. 1857)

ฉากหน้าของการส่งเครื่องบรรณาการไปอังกฤษ

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าฉากของการเดินทางมาของชาวสยาม เป็นความพยายามที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของชาวเอเชียที่ตกต่ำถึงขีดสุดกลับคืนมา อังกฤษมักจะปรามาสอยู่เสมอว่าชาวตะวันออกอ่อนแอและขี้ขลาดเกินไป ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงเคยวิเคราะห์ท่าทีของอังกฤษว่า

“การที่จะพูดกับอังกฤษครั้งนี้ ที่จะให้ได้สำเร็จเร็วนั้น ฉันเข้าใจและเหนการชัดว่าอังกฤษชอบแขงแรงกล้าพูด ถ้าพูดออดแอดเขาเหนว่าวีกคืออ่อน ซึ่งเปนคำของอังกฤษเคยติเตียนแลไม่มีความวางใจแก่คอเวอนเมนต์ที่วีกอ่อนอยู่เสมอ แลมักจะดูถูกถ้าพูดออดแอดอย่างนั้นเหมือนหนึ่งยุเข้าไปว่าจะให้ก็ได้ไม่ให้ก็ได้ โดยนึกเสียว่าไม่ให้ก็ไม่เถียงดอก เปนใจของใครก็ต้องไม่ให้ทั้งนั้นเพราะจะเสียให้ทำไมเปล่าๆ ถ้าไม่พอที่จะต้องเปนเหตุเปนผลเปนปากเปนเสียงแล้วเขาก็จะไม่เสียดายตายหยากอะไรนัก” [2]

การตระหนักถึงความจำเป็นต้องปิดบังความอ่อนแอหรือ weakness ออกไป เห็นได้จากความพยายามที่กล้าหาญของรัชกาลที่ 4 ในการกลบเกลื่อนความรู้สึกหวาดกลัว แต่แสดงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ทั้งที่หวาดหวั่นความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามที่เหนือกว่าอยู่ไม่น้อย ด้วยการออกตัวล่วงหน้าแบบตัดไม้ข่มนามให้ควีนซึ่งเป็นผู้ปกครองประเทศใหญ่มีมโนธรรมต่อชาติที่เล็กและอ่อนแอกว่า

“ขอทรงรับการถวายคำนับจากราชทูตผู้กำกับมากับพระราชสาส์นนี้กับทั้งพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการของในพระบวรราชวังด้วยกันแล้ว ได้ส่งออกมาคำนับแสดงความยินดีกรุงสยาม ต่อสมเด็จพระนางเจ้ากรุงบริตาเนียเจริญทางพระราชไมตรี

ขอพระเมตตากรุณาของสมเด็จพระนางเจ้ากรุงบริตาเนียได้โปรดแก่คนที่เปนทูตานุทูตออกไปจากกรุงสยามครั้งนี้ ให้ได้เฝ้าคำนับในสถานเวลาอันควรให้ปรากฏเปนเกียรติยศอันยิ่งแก่กรุงสยาม แลขอให้ได้ไต่ถามหารือฟังการสิ่งใดๆ ที่ควรจะได้ฟังแต่เสนาบดีพนักงารว่าการต่างประเทศเพื่อจะได้เข้าใจอย่างธรรมเนียมที่จะรักษาไมตรีกับประเทศใหญ่สืบไปให้วัฒนาการถาวรไปภายหน้า ขอพระเมตตากรุณาพระเจ้ากรุงบริตาเนียแลเมตตากรุณาของเสนาบดีในกรุงลอนดอนจงอนุเคราะห์แก่ทูตานุทูตฝ่ายสยามโดยสมควร เทอญฯ

ถ้าทูตานุทูตฝ่ายสยามไม่เข้าใจการที่ชอบที่ควรก็ขอรับประทานโทษโปรดช่วยให้สั่งสอนการที่ควรเถิด ด้วยเปนคนประเทศไกลที่ไม่เข้าใจในการข้างยุโรปเลย แลเครื่องมงคลราชบรรณาการซึ่งกรุงสยามยินดีออกมาครั้งนี้ เปนของทำในแผ่นดินสยามทั้งสิ้น โดยอย่างเครื่องบรมราชูปโภคของพระเจ้าแผ่นดินสยามถึงจะเปนเครื่องไม่ควรใช้ในยุโรป กรุงสยามก็ยังหวังมาว่าพระเจ้ากรุงบริตาเนียจะทรงยินดีรับไว้พอเปนตัวอย่างเครื่องราชูปโภคในกรุงสยามนี้ แลเปนที่ระฦกถึงทางพระราชไมตรีต่อไป

กรุงสยามได้มีความปราถนาขออาราธนาแก่สิ่งซึ่งเปนใหญ่เปนประธานในสกลโลก จงอนุเคราะห์รักษาสมเด็จพระนางเจ้ากรุงบริตาเนียเพื่อความสุข แลสืบติดต่อพร้อมยาวไปของชนมชีพ และราชสมบัติทั่วทั้งสกลอาณาจักร และขอให้ทางไมตรีสองพระนครติดพันธ์อยู่เย็นเปนสุขไปนานชั่วฟ้าแลดินเทอญฯ

พระราชสาส์นนี้เขียนอักษรอังกฤษฉบับ 1 เขียนอักษรสยามฉบับ 1 เปนสองฉบับความต้องกัน ได้มอบ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิฉัยมไหศวริยพิมาน ในพระราชฐานชื่อบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร มหิทรายุธยาบรมราชธานี อันมีในประเทศบางกอกแว่นแคว้นแดนสยาม ในวันศุกรข้างขึ้นของจันทรมาสชื่อสาวัน นับเปนเดือนที่ 9 แต่ต้นรดูหนาวในปีมะเสงนักษัตรนพศก มีศักราชสยาม 1219 ตรงกันกับสุริยคติกาลสังเกต ซึ่งรู้ทั่วพร้อมในประเทศยุโรป เปนวันที่ 24 แห่งเดือนยุไล ในปีมีศักราชคฤศต์ 1857 เปนปีที่ 7 ในราชกาลปจุบันของแผ่นดินสยามนี้ฯ” [6]

ในวันจริงราชทูตก็ยังตอกย้ำจุดประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ด้วยการยืนยันอย่างหนักแน่นถึงสถานะอันยิ่งใหญ่ของควีน และความชอบธรรมของผู้มีอำนาจที่จะต้องอนุเคราะห์เห็นใจผู้อ่อนแอกว่า เมื่อสยามรู้ตัวว่าเป็นผู้น้อยที่ต่ำต้อยก็ยินดีลดตัวลงมาสวามิภักดิ์ก่อนด้วยความสมัครใจ และทูลขอให้ควีนทรงรับเครื่องบรรณาการชุดนี้ไว้เป็นตัวแทนของผู้นำประเทศที่ไม่เคยมีใจเหิมเกริมต่อนโยบายของอังกฤษ

คำทูตทูลถวายมอบพระราชสาส์น

ข้าพระพุทธเจ้าทูตานุทูตสยามทั้งปวง คือ พระยามนตรีสุริยวงราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษณ์ตรีทูตๆ พวกนี้ได้รับพระบรมราชโองการมารพระบันฑูรสุรสิงหนาท ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามพระองค์ใหญ่ ผู้เปนใหญ่แก่ประเทศราชต่างๆ ที่ใกล้เคียง คือ เมืองลาว เมืองกัมโพชา เมืองมลายูหลายเมืองแลที่อื่นๆ แลรับพระบวรราชโองการมารพระบันฑูรสุรสิงหนาท ในพระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศวรมหิศวเรศรังสรรค์พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าประเทศสยามพระองค์ที่สอง โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมราชสาส์นแลพระบวรราชสาส์น แลเครื่องมงคลราชบรรณาการเปนส่วนในพระบรมบวรราชวัง ซึ่งเปนของทรงยินดีออกมาคำนับเจริญทางพระราชไมตรีแด่พระองค์ท่านซึ่งเปนสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนียผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ทรงพระเดชานุภาพมาก ในพระราชอาณาจักอันรวมกัน คือทวีปบริตาเนียใหญ่แลไอยิแลนแลกอลอนีนานาประเทศต่างๆ

บัดนี้ ได้มาถึงที่เฉพาะพระองค์ท่านพร้อมทั้งพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการ ได้นำเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระองค์ท่านในกาลบัดนี้แล้ว อนึ่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง ขอกราบถวายบังคมทูลให้พระองค์ท่านแน่พระไทยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหญ่แลพระองค์ที่สอง ทรงเห็นว่าทางพระราชไมตรีกรุงบริตาเนียกับกรุงสยาม ได้ต่อติดสนิทชิดชมชัดแจ้งกว่าแต่ก่อน กาลบัดนี้นั่นก็ด้วยความดำริห์ของพระองค์ท่านซึ่งเปนพระเจ้ากรุงบริตาเนีย ได้ทรงจัดเปนเดิมเหตุให้เปนคุณแลทำให้เปนพระเกียรติ แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ แลบ้านแลเมืองสยามนี้ ประจักษ์มากเปนหลายประการ มีความข่าวแจ้งถ้วนถี่ในพระราชสาส์นนี้แล้ว

บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าทูตานุทูตทั้งปวง ชาวสยามซึ่งมาครั้งนี้ ได้อาไศรยพระเดชานุภาพพระเมตตากรุณาปรานีแลอนุเคราะห์ของพระองค์ พระเจ้ากรุงบริตาเนียได้โปรดให้เรือรบไปรับมาแต่กรุงเทพมหานคร ในท้องทะเลส่งต่อๆ มาตามทางจนถึงกรุงลอนดอน โดยความสุขสวัสดิ์สดวกสบายปราศจากอันตรายต่างๆ

ข้าพระพุทธเจ้าทูตานุทูตทั้งปวงขอถวายความสัตยาว่าได้รู้พระเดช พระคุณพระองค์ท่านเปนผู้ใหญ่ยิ่ง แล้วจะไม่ลืมลบหลู่พระเดชพระคุณพระองค์ท่านเลยฯ แลขอรับพระราชวโรกาศเพื่อจะถวายพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทั้งสองพระองค์แก่พระองค์ท่าน ซึ่งเปนพระเจ้ากรุงบริตาเนีย ณ กาลบัดนี้ขอพระองค์ท่านได้โปรดทรงรับไว้ให้เปนพระเกียรติยศ สมพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าพระเจ้าแผ่นดินสยาม แลสมเด็จพระปวเรนทราเมศวรมหิศวเรศรังสรรค์พระปิ่นเกล้าเจ้าประเทศสยาม ซึ่งเปนพระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์นั้นเทอญฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดฯ [6]

รัชกาลที่ 4 มิได้ทรงคิดว่าสนธิสัญญาการค้าและพาณิชย์ (สนธิสัญญาเบาริ่ง) จะเป็นของตายต่อการตอบสนองของอังกฤษ การส่งทูตมาติดต่อกับควีนโดยตรงเป็นการลดขั้นตอนการเจรจาต่อรองระหว่างทูตกับทูต มาเป็นรัฐบาลกับรัฐบาลโดยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นแกนกลางเชื่อมโยงให้

ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นต่อทางการเมือง ความสามารถในการอ่านใจคนอังกฤษของสยามเป็นหน้าฉากของการส่งทูตมาอังกฤษ อันเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือและยกฐานะทางการเมืองของสยามขึ้นมาจนล้ำหน้าจีนซึ่งกำลังเพลี่ยงพล้ำต่ออังกฤษ

ก่อนทำสนธิสัญญาเบาริ่ง สยามมีทางเลือกเพียง 2 ทาง ทางหนึ่งคือลุกขึ้นต่อต้านอังกฤษเหมือนที่จีนทำ อีกทางหนึ่งคือนั่งรอให้อังกฤษจู่โจมเข้ามาใช้มาตรการรุนแรงตามอำเภอใจ แต่สยามก็ผ่าทางตันกับวิธีที่ 3 ด้วยการติดต่อไปยังต้นสังกัดของรัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอน โดยไม่ผ่านการตัดสินใจของคนอังกฤษในพื้นที่ ทำให้อำนาจในการต่อรองมีมากขึ้นถึงแม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างก็ตาม

ผลที่ตามมาคือควีนทรงกระวีกระวาดต้อนรับการมาของคณะทูตชุดนี้มากพอๆ กับที่รัชกาลที่ 4 ทรงกระตือรือร้นที่จะทำให้พระนางประทับใจด้วยเครื่องราชบรรณาการอันล้ำค่า เช่น มงกุฎ รัชกาลที่ 4 แม้จะแปลกประหลาดด้านจุดประสงค์ แต่ก็สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่ายแบบซึ้งใจผู้ให้และถูกใจผู้รับ

ของบรรณาการหรือเครื่องพันธนาการทางการเมือง?

ปัจจัยทางด้านการเมืองเป็นเหตุผลสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งมิได้พ้นความรับผิดชอบของคณะทูตชุดนี้เลย การอ่านใจควีนออกของรัชกาลที่ 4 ยังเกี่ยวโยงไปถึงบุคคลอีก 3 คน ที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับประเทศสยามด้วย เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวมีความผูกพัน
กันอยู่ตั้งแต่แรกกับการส่ง เซอร์จอห์น เบาริ่ง เข้ามายังสยาม

กล่าวคือ ในประการแรก ควีนวิกตอเรียทรงเป็นผู้แต่งตั้ง เซอร์จอห์น เบาริ่ง เข้ามาเป็นราชทูตพิเศษ (ค.ศ. 1855) ของพระนาง เพื่อปูทางไปสู่การทำสนธิสัญญาการค้าและพาณิชย์ที่มีอังกฤษเป็นฝ่ายได้เปรียบ เซอร์จอห์นจึงเท่ากับเป็นผู้แทนของควีน ไม่น้อยไปกว่าผู้แทนการค้าของรัฐบาล

ประการที่ 2 เซอร์จอห์นเป็นข้าราชการประจำที่ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่มีลอร์ดคลาเรนดอน (Lord Clarendon) เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นอกจากในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มือหนึ่งแล้ว ยังเป็นเพื่อนสนิทของลอร์ดพาล์เมอร์สตัน (Lord Palmerston) นายกรัฐมนตรีอังกฤษเป็นส่วนตัวอีกด้วย
ดังนั้นความคิดเห็นของเซอร์จอห์นในคำขอให้รัฐบาลอังกฤษส่งเรือรบเข้ามารับคณะทูตถึงกรุงเทพฯ และคำแนะนำของเขาให้ต้อนรับคณะทูตเป็นกรณีพิเศษ จึงได้รับการตอบสนองจากต้นสังกัดที่ลอนดอนเป็นอย่างดีเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์การเมืองในสมัยนั้นโดยสิ้นเชิง

ข้อมูลจำเพาะของเซอร์จอห์นที่รายงานเข้าไปยังรัฐบาลของตน บรรยายถึงความมั่งคั่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ (ป่าไม้ ดีบุก แร่ธาตุนานาชนิด และพืชพันธุ์ธัญญาหาร) รวมทั้งเหตุผลด้านโลจิสติกส์ของสยามนั้นโดดเด่นมากและเป็นรองก็แต่จีนเท่านั้น ซึ่งทางลอนดอนจะมองข้ามมิได้ [9]

รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงอ่านเกมของอังกฤษออก จึงทรงให้ความสำคัญกับผู้มีบารมีทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะพิเศษของเครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปถวายต้องวิเศษที่สุด แล้วยังต้องให้ความสำคัญต่อลอร์ดคลาเรนดอนผู้เป็นต้นคิดในการทำสนธิสัญญาครั้งนี้ และตัวเซอร์จอห์นเอง ซึ่งเป็นกลไกหลักทำให้โครงการสัมฤทธิผล ดังพระราชปรารภตอนหนึ่งที่ทรงฝากฝังให้คนในคณะทูตมอบหนังสือราชการสำคัญให้รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษให้ได้ที่ลอนดอน

ฉบับที่ 6

พระราชหัตถเลขาถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

จดหมายมายัง เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ว่าการอไรที่ต้องการจะสั่งให้เสร็จในครั้งเดียวคราวเดียวไม่ได้ เหลือสติที่จะจำด้วยการงารวุ่นมากนึกได้เมื่อใดๆ ต้องสั่งเพิ่มเติมมาหนังสือถุงแดงที่ฝากลงไปให้ที่ปากน้ำ ว่าให้แก่เลอรดกลาเรนดอนนั้น จงให้แก่เขาก่อนถวายพระราชสาส์นแต่ของสี่หีบที่ออกชื่อว่าให้แก่เขานั้น จะให้เขาพร้อมกันกับหนังสือนั้นก็ได้ฤๅทีหลังก็ได้ แต่อย่าให้เลอะเทอะไป

เมื่อเอาไปให้เขาจงพร้อมกันกับพระยาราชทูต และบอกเขาว่าเปนหนังสือลับของข้า ไม่ใช่หนังสือตามธรรมเนียมตามพนักงาร แลหนังสือตามธรรมเนียมตามพนักงารนั้น เปนหนังสือเจ้าพระยาพระคลังดอก เมื่อหนังสือให้เขาแล้วเขาจะพาไปให้เฝ้าเจ้านายข้างหน้าข้างในใดๆ ฤๅหาขุนหานางแห่งไรก็ตามเขาไปเถิด ข้าได้มอบหมายฝากฝังเขาไปแล้วในหนังสือของข้าไปถึงเขานั้น [6]

และอาจเป็นเพราะพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ บวกกับความเอาใจใส่ของควีนส่งเสริมให้ลอร์ดคลาเรนดอนเร่งรัดให้ส่งนักการทูตอังกฤษคนแรกไปจัดตั้งสถานกงสุลแห่งใหม่ขึ้นที่กรุงเทพฯ สมดังความปรารถนาของสยามที่ต้องการมีกงสุลเป็นตัวตนแทนราชทูตพิเศษ

การมีผู้แทนรัฐบาลอังกฤษในพื้นที่จะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และลดความสอดรู้สอดเห็นของรัฐบาลอังกฤษนอกพื้นที่ ปูทางไปสู่ความสัมพันธ์แบบบูรณาการในระยะยาว แทนที่จะเป็นการติดต่อแบบฉาบฉวยและขาดความจริงจังเช่นที่ผ่านมา กงสุลคนใหม่นี้มีชื่อว่า เซอร์โรเบิร์ต ชอมเบิร์ก (Sir Robert Schomburg) และข่าวดีเรื่องกงสุลอังกฤษคนแรกนี้ก็ได้รับการแจ้งออกไปให้คณะทูตทราบ อันหมายถึงความสำเร็จอีกโสดหนึ่งของโครงการนี้ได้รับการยืนยันโดยรัชกาลที่ 4 เอง

ฉบับที่ 24

พระราชหัตถเลขาถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน

จดหมายมาถึง พระยามนตรีสุริยวงศราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพ็ชรภักดีอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูต หม่อมราโชทัยล่าม แลจมื่นราชามาตย์ นายพิจารณ์สรรพกิจข้าหลวงกำกับเครื่องราชบรรณาการให้ทราบด้วยเซอรอเบิตสจอมเบิกกงสุลอังกฤษคนใหม่ มาถึงกรุงแล้วในวัน 5 ฯ 1 ค่ำ แล้วให้หนังสือมาถึงข้าพเจ้าว่า ได้ถือพระราชสาส์นสมเด็จพระนางเจ้ากรุงลอนดอนวิกตอเรีย เข้ามาสองฉบับให้ข้าพเจ้าฉบับหนึ่ง ถวายวังหน้าฉบับหนึ่ง กับเครื่องราชบรรณาการหลายสิ่ง แต่ได้มากับตัวแต่ 3 สิ่ง กระบี่ฝักทำอย่างพระขรรค์ 1 ปืนไมเนไรเฟอลเครื่องเงิน 1 กับตัวอย่างเงินเหรียญอังกฤษ แลอย่างเงินเหรียญไทย ตามอย่างซึ่งมิศเตอร์ปากเอาออกไปนั้น 2 หีบหนังเล็ก แลว่าเครื่องทำเงินเหรียญเครื่องบีบฝ้าย แลสิ่งอื่นหลายสิ่งก็มีมาด้วย แต่ยังมากับเรือกำปั่นแล่นใบอ้อมทางเขปคุดโหบยังไม่มาถึงเมืองสิงคโปร์

เมื่อเซอรอเบิตสจอมเบิกมาจากเมืองนั้น แลเห็นว่าคงจะตามมาโดยไม่ช้า แลเซอรอเบิตสจอมเบิกได้ส่งมาแต่หนังสือของเลอรดกลาเรนดอนถึงข้าพเจ้าก่อน ความในหนังสือนั้นบอกความว่าพระเจ้ากรุงลอนดอน ตั้งเซอรอเบิตสจอมเบิกคนนี้มาเปนกงสุลในเมืองไทย แลว่าสรรเสริญเซอรอเบิตสจอมเบิกไปต่างประเทศรับรองมาว่าเปนคนดีแน่แท้ แลว่าตั้งแต่นี้ไปผู้ปกครองฝ่ายสยามจะให้หนังสือบอกกล่าวขึ้นไปถึงผู้ปกครองฝ่ายอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน คือพระราชสาส์นแลหนังสือเสนาบดี ก็ให้มอบให้เซอรอเบิตสจอมเบิกรับส่งไปเถิด อย่าให้ต้องส่งไปเมืองฮ่องกงอย่างแต่ก่อนเลย ถึงพระราชสาส์นแลหนังสือเสนาบดี ณ กรุงลอนดอน ก็จะส่งมาตรงถึงเซอรอเบิตสจอมเบิก ให้ส่งที่กรุงนี้เทอญ ไม่ต้องส่งมาฮ่องกงอ้อมค้อมไปให้ป่วย

เหตุผลที่ปลายทางข้อนี้ จึงเป็นมูลเหตุของแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ชาวสยามบากบั่นที่จะไปเข้าเฝ้าควีนถึงในอังกฤษ เพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ยังมีวัตถุประสงค์แอบแฝงซึ่งมิอาจประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการได้

สยามคิดอย่างไรกับการถวายบรรณาการให้อังกฤษ?

อาจกล่าวได้ว่าเครื่องราชบรรณาการที่จัดส่งไปได้ “ขโมยซีน” เหตุผลทางการเมืองทั้งปวงที่สยามตั้งใจจะไปเจรจากับอังกฤษ ทว่าทางอังกฤษก็มิได้เฉลียวใจว่าสยามสร้างเครื่องราชูปโภคชุดนี้ขึ้นมาโดยเจตนา เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักดีว่าราชสำนักอังกฤษซึ่งเย่อหยิ่งในศักดิ์ศรีของตนอยู่เสมอ ย่อมจะภาคภูมิใจหากมีใครช่วยยืนยันเกียรติศักดิ์นั้น แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของสยามยังสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1. เป็นการผ่าทางตันในการปกครองคนภายในราชสำนัก ซึ่งผูกขาดอยู่แต่กับขุนนางในตระกูลบุนนาค โดยการยืมมืออังกฤษมาช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับราชบัลลังก์ ส่งเสริมให้ภาพพจน์ของรัชกาลที่ 4 สูงเด่นขึ้นและเปิดเผยมากขึ้น

2. เป็นการถือหางข้างอังกฤษที่รบชนะจีน เพราะสยามกำลังแปรพักตร์ และตีตัวออกห่างจากจีนที่เคยผูกขาดอำนาจแต่ผู้เดียวในเอเชีย การมาของขั้วอำนาจใหม่คืออังกฤษทำให้สยามมีอิสระมากขึ้น และมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

3. เป็นเกราะคุ้มกันภัยตนเอง และเป็นการชนะใจควีนก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งหรือหันมาเล่นงานสยามเพราะอังกฤษกำลังสนใจเอเชีย การที่สยามตัดบทแล้วหันมาโปรอังกฤษเต็มที่ด้วยการยอมทำสนธิสัญญาเบาริ่งโดยดุษณี และส่งเครื่องราชบรรณาการมาแสดงความพึงพอใจโดยที่อังกฤษมิได้ร้องขอ แสดงว่าสยามไม่ได้ถูกบังคับจิตใจ

4. เป็นสะพานเชื่อมโยงไปถึงผู้กำหนดนโยบายตัวจริง ซึ่งก็คือควีนวิกตอเรีย แทนที่จะติดต่อกับพวกข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอินเดียหรือฮ่องกงตามธรรมเนียมปฏิบัติ หรือผ่านบรรดาราชทูตพิเศษเท่านั้น และก็เป็นจริงดังคาด เพราะรัฐบาลอังกฤษหันมาช่วยเร่งรัดให้มีการแต่งตั้งกงสุลอังกฤษอย่างถาวรขึ้นที่กรุงเทพฯ และจัดส่งกงสุลคนแรกเข้ามาทันที

5. เป็นการคานอำนาจฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่แข่งของอังกฤษ นับจากนี้ฝรั่งเศสก็ไม่กล้าคุกคามสยามจนออกนอกหน้าอีกต่อไปเพราะเกรงใจอังกฤษ

6. เป็นเครื่องผูกมัดใจควีนโดยตรง เพราะเครื่องราชบรรณาการล้วนเป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ มิใช่ของขวัญให้รัฐบาลอังกฤษ ทำให้ควีนเกิดความเมตตาสงสาร จะเรียกว่าเป็นการแก้เกมทางการเมืองก็คงไม่ผิดนัก [1]

อังกฤษคิดอย่างไรจึงตอบรับเครื่องราชบรรณาการของสยาม?

กล่าวฝ่ายอังกฤษก็รีบรับรองคณะทูตอย่างเต็มที่ แล้วจัดให้มีพิธีการรับเครื่องราชบรรณาการโดยควีน ภายในห้องบัลลังก์ ซึ่งมีไว้ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญเท่านั้น โดยที่พระราชพิธีรับเครื่องราชบรรณาการเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่ากับประเทศใดๆ เพราะส่วนใหญ่อังกฤษมีแต่เมืองขึ้น ส่วนประเทศที่เป็นเอกราชก็มักจะวางท่าไม่ยอมก้มหัวให้อังกฤษ

เครื่องราชบรรณาการจากสยามเรียกได้ว่าโดนใจควีนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงเหตุผลที่อังกฤษเต็มใจรับของกำนัลจากสยาม กล่าวคือ

1. คิดว่าเป็นผลงานของ เซอร์จอห์น เบาริ่ง เนื่องจากเซอร์จอห์นเป็นคนของควีนโดยตรง ความสำเร็จในการทำสนธิสัญญากับสยามก็เท่ากับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่มีควีนเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

2. ชนชั้นปกครองของอังกฤษมองว่าเป็นผลงานของรัฐบาลที่น่าประทับใจที่สุด และเป็นการดัดหลังฝ่ายค้านที่กำลังโจมตีรัฐบาลเรื่องสงครามฝิ่นที่ไม่ชอบธรรมในจีน อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลก็มีผลงานเกี่ยวกับเอเชียที่ฝ่ายค้านไม่สามารถดิสเครดิตรัฐบาลได้เต็มปากนัก

3. คิดว่าเป็นการแก้ภาพลักษณ์อันฉาวโฉ่ของอังกฤษด้านนโยบายต่างประเทศ โดยมี เซอร์จอห์น เบาริ่ง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสงครามในจีน และทั่วโลกกำลังประณามอังกฤษ การมาของชาวสยามจึงเป็นข้อแก้ตัวชั้นดีสำหรับอังกฤษในสายตาคนภายนอก

4. เป็นเครื่องบรรณาการที่น่ารับไว้ เพราะมาจากประเทศเอกราช ที่มิใช่เมืองขึ้นของอังกฤษ จึงเป็นการเพิ่มเครดิตให้อังกฤษทางอ้อม แสดงว่านโยบายของอังกฤษในเอเชียเดินไปถูกทางแล้ว

5. อังกฤษเห็นว่าเป็นของสมพระเกียรติยศควีน เป็นเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ในระดับเดียวกัน และไม่ใช่แค่เพชรพลอยทองหยองที่อังกฤษมีอยู่มากพอแล้ว ทั้งยังเป็นการฉีกหน้าประมุขอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งของอังกฤษ ซึ่งยังไม่มีประมุขพระองค์ใดถูกยกย่องเทียบเท่าควีนวิกตอเรีย

6. อังกฤษยินดีรับเครื่องราชบรรณาการชุดนี้ด้วยความเต็มใจเพราะมาจากสยาม เนื่องจากในประวัติศาสตร์ทุกคนรู้ว่าก่อนหน้านี้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเคยส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ยิ่งใหญ่มาก่อน แสดงว่าสยามดำเนินนโยบายน่าเชื่อถือและเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ได้คิดประจบสอพลอเพราะหวังสิ่งตอบแทนจากอังกฤษ เนื่องมาจากกรณีสงครามฝิ่น

สรุป

จากเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงที่แวดล้อมเหตุผลการไปอังกฤษของคณะราชทูตจากรัชกาลที่ 4 ในปี ค.ศ.1857 โดยมีเครื่องมงคลราชบรรณาการชุดใหญ่เป็นจุดดึงดูดความสนใจในการไปครั้งนั้น เกิดขึ้นในภาวะสงครามระหว่างอังกฤษกับจีน (สงครามฝิ่น) ทำให้ดูเหมือนว่าเครื่องราชบรรณาการชุดนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ประดุจ “หลักประกัน” ทางการเมือง มากกว่าของขวัญของกำนัลในยามบ้านเมืองเป็นปกติสุข

และเพราะการที่เครื่องราชบรรณาการชุดนี้ถูกจัดสร้างขึ้นเป็นกรณีพิเศษ และเป็นองค์ประกอบของเครื่องราชูปโภคที่พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงมีไว้ใช้เอง จึงมีความหมายมากกว่าของขวัญโดยทั่วไปที่พระมหากษัตริย์จากยุโรปเคยพระราชทานเข้ามาถวาย ตัวอย่างเช่น ควีนวิกตอเรียทรงเคยพระราชทานลูกโลกและรถไฟจำลอง แท่นหมึกและปากกาสำหรับทรงพระอักษร หรือพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสพระราชทานชุดเครื่องแก้วเจียระไน ก็ล้วนแต่ด้อยคุณค่าและไม่มีราคาเหมือนของที่รัชกาลที่ 4 ทรงส่งตอบแทนออกไป เป็นการแสดงออกโดยเปิดเผยว่าอังกฤษและฝรั่งเศสมิได้ต้องการสร้างความประทับใจให้กับรัชกาลที่ 4 มากเท่ากับการที่รัชกาลที่ 4 ทรงต้องการซื้อใจผู้นำยุโรปเลย [1]

หากจะประเมินว่าพระราชกุศโลบายของรัชกาลที่ 4 เป็นนโยบายนำร่อง สำหรับผลประโยชน์ทางการเมืองและเป็นตัวอย่างให้ชาติอื่นๆ เลียนแบบแล้ว ก็ต้องเข้าใจเสียใหม่ว่ากุศโลบายนี้เป็นเรื่องเฉพาะกิจเท่านั้น เรียกว่าเป็นการทูตในลักษณะที่ไม่เป็นข่าว และไม่สามารถนำไปเลียนแบบได้ในทางปฏิบัติกับกรณีอื่นๆ “มงกุฎสยาม” ในต่างแดนเป็นเรื่องหาอ่านยากแม้ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทยและไม่เคยเป็นข้อสังเกตในหนังสือประวัติศาสตร์สากลไม่ว่าเล่มใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


กิตติคุณประกาศ ขอขอบคุณ คุณฤกษ์อารี นานา ที่สละเวลาติดตามไปช่วยบันทึกภาพมงกุฎสยามกลับมาฝากคนที่เมืองไทย

(คลิกชมรายละเอียดมงกุฎสยามในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพระราชวังวินด์เซอร์ในปัจจุบันที่นี่)


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “ตามหารูปต้นแบบ ราชทูตไทยเข้าเฝ้าวิกตอเรียไม่ได้อยู่ที่พระที่นั่งจักรีฯ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2556).

[2] ______. “ทึ่งหลักฐานใหม่ ‘นโยบายกันชน’ ของรัชกาลที่ 5 มีจริงหรือ? ทำไมต้องมี?,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2555).

[3] ______. บันทึกการเดินทางของผู้เขียน ขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการทัวร์ภาคพื้นยุโรป บริษัท เอ็ม ดี ทัวร์ จำกัด ได้รับการว่าจ้างให้จัดการเดินทางไปอังกฤษ คราวมูลนิธิวัดพระพุทธศาสนา ณ กรุงลอนดอน นำคณะไปเปิดพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดพุทธปทีป เมืองวิมเบิลดัน เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2525 ต่อด้วยการนำชาวคณะทัศนาจรทวีปยุโรป

[4]______. เบื้องหลังสัญญาเบาริ่ง และประวัติภาคพิสดาร ของ Sir John Bowring. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.

[5] ______. “ระทึก! หลักฐานใหม่ ‘จิ้มก้อง’ อวสานบรรณาการไปจีน เพราะ ‘ไทยถูกหลอกลวง’ และ ‘จีนแพ้สงครามตังเกี๋ย’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2555).

[6] จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2521.

[7] ประวิตร ผลวัฒนะ (นายอินเครา). “เมื่อไทยจิ้มก้องจีน,” ในเมืองไทยในอดีต. พระนคร : ก้าวหน้า, 2506.

[8] ราโชทัย, หม่อม. นิราศลอนดอน และ จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย เรื่องราชทูตไทยไปอังกฤษ ในรัชกาลที่ 4 เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2400. พระนคร : คลังวิทยา, 2508.

[9] Manich Jumsai, M.L. History of Anglo-Thai relations. Bangkok : Chalermnit, 1970.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2561