เจดีย์ทรงระฆัง-ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์-ทรงปรางค์ มาจากไหน อย่างไร

สถูป รุวันเวลิ อนุราธปุระ ศรีลังกา เจดีย์ แบบ ลังกา
พระสถูปรุวันเวลิ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา เจดีย์แบบลังกา (ภาพจาก Sukhothai Its History, Culture and Art, Oxford University Press,1991)

เมื่อกล่าวถึง “เจดีย์” บางท่านมักนึกถึง “เจดีย์ทรงระฆัง” โดยลืมหรือนึกไม่ถึงว่า “ปรางค์” ก็เป็นเจดีย์ชนิดหนึ่งด้วย 

คำว่า เจดีย์ หมายถึงปูชนียสถานในพระพุทธศาสนา โดยมิได้บ่งชี้ไปถึงลักษณะรูปทรงแต่อย่างใด เจดีย์ที่มียอดทรงดอกบัวตูมอันเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะสุโขทัย เรียกกันโดยบ่งบอกรูปทรง คือ เจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม บ้างก็เรียกว่า เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เจดีย์ทรงทะนาน ก็เรียก

คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับเจดีย์ คือ สถูป ใช้ปะปนกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล หรือก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีก

สถูปบ่งชี้ความหมายของสิ่งที่ก่อสร้างไว้สำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิ หรือบรรจุอัฐิของผู้ควรแก่การเคารพบูชา รูปทรงของสถูปมีทรงโอคว่ำเป็นสำคัญ คงเลียนลักษณะของกองพูนดินเหมือนหลุมฝังศพ เจดีย์มีความหมายพ้องกับสถูปโดยมีความหมายอื่นอยู่ด้วย คือสิ่งก่อสร้างสำหรับเป็นที่ระลึกหรือเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ความหมายที่พ้องกันของเจดีย์กับสถูปทำให้เกิดใช้ปะปนกัน คนไทยคุ้นเคยกับคำว่าเจดีย์มากกว่า ใช้เรียกกันจนติดปาก

อย่างไรก็ดี คำว่าเจดีย์ใช้คู่กับคำว่าสถูป เป็น สถูปเจดีย์ ก็มีผู้ใช้เพื่อระบุว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีพระบรมอัฐิของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ ซึ่งตรงกับที่เรียกว่า พระธาตุ พระบรมธาตุ หรือพระศรีรัตนมหาธาตุ

ในสมัยโบราณการสร้างเจดีย์ทรงระฆังแพร่หลายพร้อมพุทธศาสนาจากอินเดียไปเป็นที่นิยมในประเทศศรีลังกา รูปทรงและองค์ประกอบสำคัญของสถูปยังคงอยู่โดยมีการปรับเปลี่ยน จนมีแบบเฉพาะเรียกว่า เจดีย์แบบลังกา (รูปที่ 1)

ทรงโอคว่ำก็ยังเป็นลักษณะสำคัญเรียกว่า อัณฑะ ส่วนนี้เทียบกับเจดีย์ทรงระฆังของไทยก็คือ องค์ระฆัง หรือทรงระฆังเหนือขึ้นไปจากอัณฑะมีทรงสี่เหลี่ยมเรียกว่า หรรมิกา หมายความกันไปหลายอย่างว่าเป็นรูปจำลองของอาคารที่ซ้อนกันเป็นชั้นก็มี หรือหมายถึงรั้วที่กั้นล้อมพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็มี และยังความหมายอื่นอีก ชาวไทยเรียกทรงสี่เหลี่ยมนี้ว่า บัลลังก์

เหนือจากหรรมิกาคือ ฉัตราวลี ในศิลปะอินเดียเป็นแผ่นวงกลมมีความหมายแทนร่ม หรือฉัตรของพระมหากษัตริย์ เมื่อทำแผ่นวงกลมหลายแผ่นซ้อนเรียงลดขนาดเป็นลำดับคล้ายฉัตรที่มีหลายชั้นจึงมีทรงเป็นรูปทรวกรวย ลักษณะที่พัฒนาไปมากแล้วของฉัตราวลีในศิลปะลังกาเมื่อแพร่หลายเข้ามาในดินแดนไทยก็ปรับเปลี่ยนไปอีก แผ่นวงกลมเรียงซ้อนติดกัน รูปนอกเป็นทรงกรวย ดูคล้ายวงแหวนซ้อนเรียงกันเป็นชุดโบราณ ท่านคงเห็นว่าคล้ายปล้องของ ปี่ไฉน จึงเรียกส่วนนี้ว่า ปล้องไฉน

เนื่องจากส่วนสำคัญทั้งสามดังกล่าวข้างต้น มีอยู่ที่เจดีย์ทรงระฆังในศิลปะไทย เค้าโครงก็คล้ายคลึงกับเจดีย์ทรงระฆังของศิลปะลังกา และคงประกอบกับทราบกันว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 แพร่หลายมาจากประเทศศีลังกาจึงนิยมเรียกเจดีย์ทรงระฆังว่า เจดีย์ทรงลังกา แต่นอกเหนือจากอิทธิพลของศิลปะลังกาแล้ว ยังมีที่แพร่หลายมาจากประเทศพม่าสมัยเมืองพุกามซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18

แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา และศิลปกรรมที่มีอยู่ในสมัยเมืองพุกามมีที่มาทั้งจากศิลปะอินเดีย และศิลปะลังกา ผ่านการปรับปรุงจนมีลักษณะเฉพาะ ช่วงเวลาที่ศิลปะของไทยแห่งราชธานีสุโขทัย และ ราชธานีเชียงใหม่เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นนั้นอยู่ในสมัยปลายหรือแรกสิ้นสุดของอาณาจักรพุกาม อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาและศิลปกรรมของไทย โดยเฉพาะที่แคว้นล้านนาและสุโขทัย ก็ยังเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพุทธศาสนาและศิลปกรรมแห่งอาณาจักรพุกามในอดีต

เจดีย์ทรงระฆังของล้านนา

2. เจดีย์ฉบัต เมืองนยอง-อู ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพุกาม ประเทศพม่า

ราชธานีทางเหนือ คือเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางแห่งศิลปกรรมล้านนามีความเจริญอย่างยิ่ง เรียกกันว่ายุคทองของล้านนาตั้งแต่ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 20

ศิลปกรรมของล้านนาที่มีพัฒนาการมาจนถึงช่วงเวลานั้น มีรูปแบบสำคัญของเจดีย์ทรงระฆังอยู่ด้วยก่อนที่จะมีรูปแบบและแบบแผนเฉพาะ เจดีย์ทรงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งของศิลปะพุกาม เช่น เจดีย์ที่ชื่อว่า ฉปัต (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “เจดีย์ทรงกลมแบบพื้นเมืองเชียงแสน” โบราณคดี ปีที่ 2/1.2511: 115) ชื่อเรียกเจดีย์ตามชื่อพระเถระชาวมอญผู้สร้าง ท่านเคยไปบวชเรียนพุทธศาสนาที่ประเทศลังกาอยู่หลายปี ครั้นกลับสู่บ้านเกิดจึงได้สร้างเจดีย์องค์นี้ (ในราวกลางพุทธศตรรษที่ 18) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจดีย์ทรงระฆังของศิลปะลังกา ระเบียบสำคัญของเจดีย์องค์นี้ที่ควรกล่าวถึง คือฐานกลมซ้อนกันรองรับทรงระฆัง (รูปที่ 2)

เจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์
3. เจดีย์ทรงระฆัง พระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน (ภาพจากหนังสือพระธาตุเจดีย์มรดกล้ำค่าของเมืองไทย,โดย ทศพล จังพานิชย์กุล, )

เจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนาอาจเริ่มรับอิทธิพลจากเจดีย์แบบดังกล่าวของศิลปะพุกามตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ภายหลังจากคลี่คลายอยู่ระยะหนึ่ง ก็กลายมามีลักษณะใหม่โดยเพิ่มฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จ ทรงของฐานข้างสูงฐานแบบพิเศษนี้ รองรับชุดวงแหวนเรียงซ้อนประกอบกันเป็นจังหวะคล้ายรูปฐานกลมสามฐาน ตั้งซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ซึ่งคลี่คลายมาจากระเบียบที่มีอยู่ของเจดีย์ฉปัต ทำให้ความสูงขององค์เจดีย์เพิ่มมากยิ่งขึ้นขนาดของทรงระฆังที่ตั้งซ้อนขึ้นไปจึงย่อมมีขนาดเล็กตามลำดับไปด้วย เหนือทรงระฆังมักมีบัลลังก์รับส่วนยอดทรงกรวยที่มีขนาดเล็กตามไปอีก

เจดีย์ทรงนี้เป็นสักษณะเฉพาะของศิลปะล้านนา ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ และมีชื่อเสียงคือเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลําพูน (รูปที่ 3) สําหรับในเมืองเชียงใหม่ มีอยู่หลายแห่ง เป็นต้นว่าที่วัดร้างปัจจุบันอยู่ในบริเวณหอประชุมติโลกราช วัดกิติ ซึ่งเป็นวัดร้างเช่นกัน อยู่ภายใน บริเวณของโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่

เจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์
4. เจดีย์ทรงระฆัง วัดตระกวน สุโขทัย (ภาพจาก Sukhothai Its History, Culture and Art, Oxford University Press,1991)

ทรวดทรงสูงเพรียวของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เมื่อมองโดยรวม เป็นทรงแท่งสี่เหลี่ยมของส่วนฐาน รองรับองค์เจดีย์ทรงกรวย ขนาดใหญ่ที่มีความสูงเพรียว แตกต่างจากแบบแผน และรูปทรงที่ป้อมเตี้ยกว่าของเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย (รูปที่ 4) และแบบของกรุงศรีอยุธยา

ศิลปกรรมจากต่างเมืองต่างท้องถิ่นที่มีลักษณะบางประการ คล้ายคลึงกัน มักเกิดจากที่มีการติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมากกว่าคล้ายกันโดยบังเอิญ ยิ่งเขตแดนใกล้กันการถ่าย-รับอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมก็เป็นไปอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

เจดีย์ซึ่งเป็นศิลปะสาขาสถาปัตยกรรมจึงบอกเล่าความเป็นไปในประวัติศาสตร์บางด้าน แนวความเชื่อทางศาสนาอันเป็นแรงบันดาลใจสําคัญในการสร้างศิลปกรรมในอดีต เมื่อเผยแพร่จากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งก็นําเอาศิลปกรรมอันเป็นอุปกรณ์สําคัญที่ช่วยสื่อถึงแนวความคิด คําสอนไปด้วย ศิลปกรรมจึงควบคู่กับศาสนา คล้ายกับเป็นสัญลักษณ์ อย่างหนึ่งของศาสนา สัญลักษณ์ประเภทนี้แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขเพาะของท้องถิ่น และเงื่อนไขนี้เอง คือแนวทางสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมอย่างหนึ่งด้วย รูปแบบเฉพาะของเจดีย์ทรงระฆังของล้านนาใช้เวลาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ หากเทียบกับช่วงเวลาสำหรับการมีรูปแบบเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมของศิปละสุโขทัยอาจเป็นไปได้ว่าช่างสุโขทัยใช้เวลาในการพัฒนารูปแบบเจดีย์ของตนน้อยกว่า

เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมของสุโขทัย

เจดีย์ทรงออกดอกบัวตูมของศิลปะสุโขทัยแสดงให้เห็นว่า เกี่ยวข้องกับรูปแบบศิลปะมากแหล่งกว่าเจดีย์ทรงระฆังของศิลปะล้านนา

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ เมื่อ พ.ศ. 2444 พิมพ์อยู่ในหนังสือ จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก (2506/65) ดังนี้ “ฐานเป็นแว่นฟ้าสามชั้น ชั้น 4 โกลนที่เป็นองค์ปรางค์… ยอดคล้ายพระเจดีย์ลังกา พระเจดีย์ลังกาตามความหมายของพระองค์คือเจดีย์ทรงระฆัง

5. เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม หรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่วัดตระพังเงิน สุโขทัย (ภาพจาก Sukhothai Its History, Culture and Art, Oxford University Press,1991)

ข้อสังเกตของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ น่าจะเป็นจริง กล่าวคือ ส่วนสําคัญที่เรียกว่า เรือนธาตุ (ชั้น 4) เป็นทรงแท่งสี่เหลี่ยมหยักมุมตั้งอยู่เหนือฐานสูง ทรงกลีบขนุน ตั้งประดับอยู่บนหยักมุมของทรงแท่ง เรือนธาตุและการประดับดังกล่าวจึงปรับปรุงมาจากที่มีอยู่ส่วนเดียวกันอันเป็น ลักษณะเฉพาะของ ปรางค์ (โกลนที่เป็นองค์ปรางค์) เหนือขึ้นไปคือทรงดอกบัวตูมซึ่งตอนบนสอบเรียว ต่อเนื่องขึ้นไปด้วยชุดวงแหวนและทรงกรวยขนาดเล็ก องค์ประกอบส่วนนี้ที่มีอยู่เป็นประจําที่ส่วนยอดของเจดีย์ทรงระฆัง (ยอดคล้ายพระเจดีย์ทรงลังกา) คือ ชุดวงแหวนเทียบกับปล้องไฉน ทรงกรวยเทียบกับปลี (รูปที่ 5)

การที่ปล้องไฉนและปลี ต่อขึ้นเป็นยอดของทรงดอกบัวตูมเลยทีเดียวโดยไม่มีบัลลังก์สี่เหลี่ยมคั่นอยู่นั้น ผิดไปจากแบบแผนของเจดีย์ทรงระฆังของลังกา แต่เจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งของสมัยเมืองพุกาม ก็ไม่ทําบัลลังก์ทรงสี่เหลี่ยมเหนือทรงระฆัง อนึ่ง หากนึกภาพว่ายอดทรงดอกบัวตูมที่สอบขึ้นบนอย่างรวดเร็ว เกิดมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมตั้งอยู่ และต่อยอดด้วยปล้องไฉน กับปลี ส่วนนี้คงมีรูปนอกและปริมาตรที่ขัดแย้งทําให้ดูประหลาด ช่างของสมัยสุโขทัยคงคำนึงถึงเรื่องนี้ เพราะศิลปะสุโขทัยดังเช่นพระพุทธรูปซึ่งมีเอกลักษณ์ที่รู้จักกันทั่วไปในด้านของความประสานกลมกลืนทั้งเส้น รูปนอก และปริมาตรของรูปทรงสุนทรียภาพเช่นนี้ คือภาพรวมของศิลปสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยที่รู้จักกันโดยทั่วไป

ทรงดอกบัวตูมเป็นข้อขบคิดกันมานานว่ามีแรงบันดาลใจจากที่ใด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ม.ร.ว.สุริยว สุขสวัสดิ์ มีความเห็นว่าคงมาจาก ทรงของยอดปราสาทแบบขอม (“เจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 11/8, 2533 : 31-35) อนึ่ง หากจะพิจารณาว่าการกลายมาเป็นทรงดอกบัวตูมเกิดจากแรงบันดาลใจ จากทรงระฆังหรือรวมทั้งทรงศิขรที่เป็นส่วนยอดของเจดีย์-วิหารสมัย เมืองพุกามเพราะมีปริมาตรและรูปทรงใกล้เคียงกัน ก็อาจเป็นได้เช่นกัน

การพิจารณาเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมข้างต้น ทําให้เชื่อว่าสุโขทัยมีความเกี่ยวข้องกับแหล่งอิทธิพลศิลปะขอม และอิทธิพลศิลปะพุกามเป็นสําคัญ ทั้งนี้แตกต่างจากเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ที่สังเกตได้เพียงแบบแผนบางประการ ที่คลี่คลายจากศิลปะพุกามเพียงแหล่งเดียว แหล่งบันดาลใจทางศิลปะที่มีมากกว่าแหล่งเดียวของศิลปะสุโขทัย และอาจจะประกอบจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสุโขทัย ราวไม่ก่อนรัชกาลของพระเจ้าเลอไทที่คงมีส่วนผลักดันให้คิดหารูปแบบเฉพาะของเจดีย์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์สําหรับราชธานี หากเป็นดังข้อสันนิษฐานนี้ เจตนาจะให้มีเจดีย์อย่างที่คิดไว้โดยปรับปรุงจากรูปแบบที่รู้จักกันอยู่ก่อน ก็น่าจะทําให้เกิดรูปแบบของเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมิใช่การเกิดตามขบวนการของวิวัฒนาการโดยตรงที่ต้องมีระยะเวลาเป็นเงื่อนไขสําคัญ

เจดีย์ทรงปรางค์ของกรุงศรีอยุธยา

เจดีย์ ทรง ปรางค์
6. เจดีย์ทรงปรางค์ วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา (ภาพจากหนังสือพระธาตุเจดีย์มรดกล้ำค่าของเมืองไทย,โดย ทศพล จังพานิชย์กุล, )

กรุงศรีอยุธยาได้รับการสถาปนา เมื่อราชธานีทางเหนือเจริญรุ่งเรืองขึ้นแล้ว ราชธานีของภาคกลางแห่งนี้ อยู่ในแหล่งที่สืบทอดความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งจากศิลปวัฒนธรรมขอมสมัยเมืองพระนคร จึงมีการปรับปรุงลักษณะของปราสาทแบบขอมในศิลปะลพบุรี (บางท่านเรียกว่าปรางค์ขอม) โดยมีวิวัฒนาการมานานร่วมศตวรรษ หรือกว่านั้นก่อนที่มีรูปแบบเฉพาะของ ปรางค์ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (รูปที่ 6) ต่อจากนั้นก็มีวิวัฒนาการมาอีกอย่างต่อเนื่อง ผ่านสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาเป็น ปรางค์ แบบรัตนโกสินทร์

การเกี่ยวข้องของรูปแบบเจดีย์ศรีอยุธยาจากสามราชธานี

เจดีย์ทรงปรางค์แบบของกรุงอยุธยาเป็นทรงแท่งเหลี่ยมหยักมุมคล้ายทรงฝักข้าวโพด เจดีย์ที่มียอดทรงดอกบัวตูมของสุโขทัย มีฐานสี่เหลี่ยมหลายชั้น ตั้งซ้อนลดหลั่นรองรับทรงแท่งหยักมุม โดยมีทรงดอกบัวตูมเป็นยอดเจดีย์ทรงระฆังของเชียงใหม่ หรือเรียกรวมว่าแบบล้านนา มีทรงแท่งหยักมุม รองรับทรงกรวยสูง ดังนี้สะท้อนสุทรียภาพที่แตกต่างของศิลปะแต่ละราชธานี

เจดีย์ทรงปรางค์แบบกรุงศรีอยุธยา มีสร้างอยู่ในดินแดนที่เคยเป็นของสุโขทัยคือพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง พระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก สร้างขึ้นในคราวบูรณะวัด เมื่อสุโขทัยตกอยู่ใต้อํานาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ยังไม่เคยพบว่ามีเจดีย์ทรงปรางค์แบบกรุงศรีอยุธยาที่เมืองเชียงใหม่ ขณะที่ได้พบเจดีย์ทรงระฆังตามแบบแผนล้านนาในพุทธศตวรรษเดียวกันนั้นที่กรุงศรีอยุธยา ดังที่ วัดท่าแค ริมคลองสระบัว (รูปที่ 7) เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่กรุงศรีอยุธยาไม่เคยตกอยู่ใต้อํานาจปกครองของเชียงใหม่

สุโขทัยก่อนตกอยู่ใต้อํานาจของกรุงศรีอยุธยามีความใกล้ชิดกับเชียงใหม่ จึงมีการแลกเปลี่ยนถ่ายเททางด้านพุทธศาสนาและศิลปกรรมซึ่งกันและกันดังที่ทราบกันอยู่ เช่นมีการสร้างเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมที่วัดสวนดอกเมืองเชียงใหม่ (รูปถ่ายเก่าในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แสง มนวิทูร ผู้แปล. 2501 รูปที่ 2) ลักษณะบางประการของเจดีย์ทรงระฆังและเจดีย์ทรงอื่นของล้านนา ก็เข้าปะปนอยู่กับเจดีย์รายบางองค์ ในวัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย และในวัดมหาธาตุ สุโขทัย อนึ่ง เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมก็ยังไม่เคย พบในกรุงศรีอยุธยาเลย

รูปแบบที่แตกต่างกันของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมแบบสุโขทัย และเจดีย์ทรงปรางค์แบบกรุงศรีอยุธยา ย่อมเกิดจากเงื่อนไขนานาประการที่แตกต่างกันของท้องถิ่น

การเกิดรูปแบบเฉพาะของเจดีย์ มิได้เกิดขึ้นโดยไม่มีพื้นฐานใด ๆ มาก่อน ตรงกันข้ามรูปแบบศิลปะที่มีอยู่ก่อนย่อมเป็นแนวทาง ในการปรับปรุงที่จะกลายเป็นแนวของวิวัฒนาการสายใหม่ หากเมื่อมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ผิดปกติไปจากความนิยม หรือจากแนววิวัฒนาการย่อมเกิดจากผลกระทบที่มาจากทางใดทางหนึ่ง เช่น แนวความเชื่อทางศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้น

การค้นคว้าทางค้านประวัติศาสตร์คงจะขยายความได้จัดเจนยิ่งขึ้นในกรณีเช่นนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2562