เกร็ดความรู้องค์ประกอบ “เจดีย์ทรงระฆัง” บัลลังก์ ปล้องไฉน มาลัยเถา มีที่มาจากไหน

วัดพระศรีสรรเพชญ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสนพระทัยค้นคว้าที่มาของคำช่าง สืบสาวไปถึงต้นตอของคำ หรือต้นตอของความคิดในการสร้าง ศัพท์บางคำก็ทรงคิดใหม่ เพราะชื่อเดิมไม่เป็นที่รู้จักกันแล้ว สืบเนื่องจากพระนิพนธ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับชื่อทางช่าง ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าช่างไทยโบราณเคยชินกับการตั้งชื่องานช่างตามลักษณะที่เห็น เมื่อสื่อให้เข้าใจกันได้ดีก็เรียกชื่อนั้นกันต่อ ๆ มา เช่น เจดีย์ทรงระฆัง เพราะเจดีย์ทรงนี้มีส่วนสำคัญที่ดูคล้าย ทรงระฆัง ส่วนประกอบอื่นของเจดีย์ทรงระฆังที่มีชื่อเรียกตามลักษณะยังมีอีก เช่น มาลัยเถา ซึ่งรองรับทรงระฆัง เหนือทรงระฆังเป็นแท่นทรงสี่เหลี่ยมเรียกว่า บัลลังก์ และ ปล้องไฉน ที่ตั้งบนบัลลังก์ เป็นต้น

ทรงระฆัง มีที่มาจากพูนดินเหนือหลุมฝังศพในสมัยอินเดียโบราณ คติทางพุทธศาสนาสืบทอดมาใช้สร้างเป็นสถูป (หรือที่เรานิยมเรียกว่าเจดีย์) โดยก่อด้วยศิลา เช่นมหาสถูปที่สาญจีในประเทศอินเดีย ทรงที่คล้ายขันคว่ำหรือโอคว่ำของมหาสถูปนี่แหละที่ใช้เวลาราวสองพันปี จึงคลี่คลายมาเป็นเจดีย์ไทย ซึ่งมีทรงคล้ายระฆัง เพราะยืดสูงจากทรงดั้งเดิม อนึ่ง ยังมีที่เรียกส่วนนี้เป็นอย่างอื่นตามลักษณะที่ดูคล้าย ทรงลอมฟาง หรือเรียกว่า ทรงกลม ซึ่งหมายถึงระฆังซึ่งเป็นทรงกลม (ความจริงเรียกว่า ทรงกระบอก ก็เห็นจะได้) โดยเรียกให้ต่างจากเจดีย์ที่มีระฆังทรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมซึ่งช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาคิดแบบขึ้นใหม่

มหาสถูปที่สาญจีในประเทศอินเดีย (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540)

มาลัยเถา ใช้เรียกแถบนูนเป็นปล้องที่คาดส่วนล่างของทรงระฆัง บางท่านเทียบลักษณะของแถบที่นูนไว้ว่า เหมือนหวายผ่าซีก ช่างโบราณมักทำไว้สามแถบ คาดเรียงไว้ใต้ทรงระฆัง ช่างบางคนคงดูที่นูนเป็นปล้อง ว่าคล้ายปล้องที่เกิดจากวงของพวงมาลัยดอกไม้ที่เรียงซ้อนกันขึ้นไปเป็นชุด การซ้อนกันเป็นชุด หากให้นึกถึงชั้นปิ่นโต ที่ซ้อนกันเรียกว่า เถา ก็ย่อมทำให้เข้าใจคำว่า “มาลัยเถา” ได้ดีขึ้นว่า ไม่ใช่คล้ายพวงมาลัยวงเดียว แต่คล้ายหลายวงซ้อนกัน

ลักษณะที่เรียกว่ามาลัยเถา คงคลี่คลายมาจากวิธีการของช่างอินเดียโบราณที่ต้องก่อหินให้เป็นเขื่อน คาดคล้ายเข็มขัดรอบโคนของทรงขันคว่ำ เพื่อป้องกันปัญหาที่ทรงขันคว่ำนั้นจะแบะออก ต่อมาเมื่อทรงขันคว่ำยืดสูงขึ้น ทำฐานล่างเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนักแทน ปัญหาที่มีแต่แรกก็หมดไป เข็มขัดที่คาดใต้ทรงระฆังจึงกลายเป็นส่วนประดับเพื่อความงดงาม ทำเป็นแถบเล็ก ๆ คาดแทน มักทำไว้สามแถบ คลี่คลายมาถึงช่วงนี้เองที่นักวิชาการบางท่านอธิบายจำนวนสามแถบว่า หมายถึงพระรัตนตรัย

อนึ่ง จำนวนสำคัญสามแถบของเจดีย์ทรงระฆังของไทยนั้นมีลักษณะแตกต่างกันไป ในศิลปะสุโขทัยก็แบบหนึ่ง ศิลปะล้านนา ศิลปะกรุงศรีอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ ต่างก็มีแบบเฉพาะ ชื่อเรียกจึงแตกต่างกันไป สำหรับมาลัยเถานิยมใช้เรียกแก่เจดีย์ทรงระฆังของภาคกลาง คือ แบบกรุงศรีอยุธยา และแบบกรุงรัตนโกสินทร์

องค์ประกอบเจดีย์ทรงระฆัง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540)

บัลลังก์ ที่ไทยเราเรียกว่าบัลลังก์ซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม คล้ายแท่นฐาน ตั้งอยู่บนทรงระฆังนั้น เดิมมีอยู่หลายความหมาย นักวิชาการตรวจพบจากรูปสลักนูนในสมัยอินเดียโบราณ เช่นว่าเป็นรั้วสี่เหลี่ยมตั้งอยู่เหนือทรงขันคว่ำ รั้วสี่เหลี่ยมนี้ล้อมต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ แต่ก็มีรูปสลักนูนบางรูปที่ทรงสี่เหลี่ยมนี้อยู่เหนือทรงขันคว่ำนั้น โดยสลักเป็นรูปนูนทั้งสี่ด้านเป็นรูปอาคารทรงสี่เหลี่ยมหลายชั้น ซึ่งตรงกับความหมายของปราสาทหรือเรือนฐานันดรสูงนั่นเอง

ส่วนเดียวกันนี้ที่เจดีย์ทรงระฆังของไทยไม่เปลี่ยนลักษณะไปมากนัก ช่างไทยคงนึกเทียบกับแท่นฐาน จึงเรียกให้มีฐานันดรสูงว่า บัลลังก์

ปล้องไฉน เจดีย์ทรงขันคว่ำในศิลปะอินเดียโบราณมีฉัตร ทำจากศิลา ปักอยู่บนแท่งสี่เหลี่ยมที่ช่างไทยเรียกว่าบังลังก์ที่เพิ่งกล่าวมา รูปฉัตรคล้ายแบบอย่างตามความเป็นจริง ทำไว้ชั้นเดียวก็มี ที่หลายชั้นซ้อนห่าง ๆ ให้ลดหลั่นกันก็มี ซึ่งทำให้เกิดรูปนอกเป็นทรงกรวย อย่างไรก็ตาม จำนวนที่ชั้นซ้อนกันนั้นมักไม่เกินจำนวนห้า

ต่อมาแบบอย่างของฉัตรคลี่คลายมาควบคู่กับส่วนอื่นของเจดีย์ ฉัตรกลายมาเป็นทรงกรวยต้น แต่ยังรักษาเค้าเดิมไว้ คือ ทำให้เป็นปล้อง ๆ เพื่อแทนชั้นหลาย ๆ ชั้นของฉัตร การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมเกิดจากวิธีทางช่างที่ต้องการเพิ่มความมั่นคงแข็งแรง ช่างไทยคงเห็นปล้อง ๆ ว่าคล้ายกับปี่ไฉน จึงเรียกว่า ปล้องไฉน

สำหรับชาวไทย พระมหาเศวตฉัตรมีเก้าชั้น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในบรรดาเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอื่น ๆ ที่ประจำองค์พระมหากษัตริย์ จำนวนเก้าชั้นย่อมเป็นจำนวนสูงสุดตามพัฒนาการที่ถึงระดับสมบูรณ์ ทั้งทางด้านของจำนวนที่สอดคล้องกับตัวเลขมงคลตามคติไทย และสัดส่วนที่งดงามภายใต้ข้อจำกัดในการสร้าง ส่วนฉัตรที่กลายเป็นปล้องไฉนของเจดีย์นั้น ความหมายเดิมเลือนมาอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งจำนวนปล้องมีมากกว่าเก้าขึ้นไปทั้งสิ้น

มีผู้สันนิษฐานว่าจำนวนปล้องของปล้องไฉนนั้นเกี่ยวข้องกับจำนวนต่าง ๆ ที่มีความหมายทางพุทธศาสนา แต่พัฒนาการของเจดีย์ที่ยืดสูงขึ้นเป็นลำดับ ทำให้จำนวนปล้องไฉนเพิ่มมากขึ้น ตามสัดส่วนด้วย ความหมายจากจำนวนปล้องไฉนจึงไม่คงที่

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “คำช่าง ทรงระฆัง, บัลลังก์, ปล้องไฉน, มาลัยเถา” เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2565