“โบสถ์” สกุลช่างอยุธยา วิวัฒนาการศาสนาคารหลายร้อยปี

ลายเส้นโบสถ์ อยุธยา

เมื่อกล่าวถึงงานช่างศาสนาคาร “พระอุโบสถ” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปอย่างภาษาปากตลาดว่า “โบสถ์” นั้นในยุคสมัยที่ อยุธยา เป็นราชธานี พระอุโบสถถือเป็นส่วนที่มีองค์ประกอบสำคัญในเขตพุทธาวาสของวัด แตกต่างจากคติของราชอาณาจักรสุโขทัย ที่ให้ความสำคัญแก่พระวิหารมากกว่า พระอุโบสถ

ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นราชธานีเดิมของไทย ในช่วงเวลาแห่งการดำรงอยู่ของราชธานีแห่งนี้ซึ่งมีระยะเวลากว่า 417 ปี มีทั้งยุคที่เจริญรุ่งเรืองและยุคที่ตกต่ำจนถึงการล่มสลายไปในที่สุด เหลือไว้แต่เพียงร่องรอยทางอารยธรรมจากซากอิฐปูนตามโบราณสถานต่าง ๆ

กล่าวกันว่า มีวัดอยู่ในกรุงศรีอยุธยากว่า 531 แห่ง (กรมศิลปากร. ผังเมืองอยุธยาโบราณ, ใน สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14. 2530, . 19.) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ล้วนได้รับความเสียหายจากพิษภัยแห่งสงครามและได้ผุพังไปตามกาลเวลา อีกทั้งบางส่วนได้รับความเสียหายก็มาจากการลักลอบขุดค้นหาสมบัติของคนในชาติเรานี่เอง    

เฉกเช่นที่พวกฝรั่งบันทึกไว้ว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คนไทยคนจีนไม่ต้องทำอะไรกัน นอกจากไปขุดค้นสมบัติในกรุงเก่า แล้วเอาไม้จากประตูวิหารอุโบสถมาเป็นฟืนเผาหล่อหลอมโลหะ เดินไปทางไหนพบแต่เถ้าถ่าน นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก และบางส่วนก็ต้องขนอิฐจากกรุงเก่าเอาไปสร้างเมืองใหม่ที่บางกอก ด้วยเป็นอิฐที่แข็งแกร่งดีกว่าอิฐที่เผาขึ้นใหม่

โบสถ์ ภาพวาด ลายเส้น อยุธยา โบสถ์ อยุธยา

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงทำให้โบราณสถานต่าง ๆ หรือโบราณวัตถุต่าง ๆ ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงหลงเหลืออยู่น้อยมาก (. ปากน้ำ, (นามแฝง). ถามตอบศิลปะไทย. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, 2540, . 162-163.)) ดังนั้นจึงแทบจะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ (ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโบสถ์) เพียงพอที่จะสะท้อนให้เราเห็นถึงความวิจิตรตระการตาในชั้นเชิงของช่างฝีมือในสมัย อยุธยา ที่หลงเหลืออยู่ในทุกวันนี้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นเอง เฉกเช่นเมื่อเราได้ศึกษาหลักฐานเอกสารต่าง ๆ จากสิ่งที่ชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาทำการค้าขายหรือเผยแผ่ศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้จดบันทึกเกี่ยวเนื่องกับโบสถ์ไว้เป็นหลักฐานต่าง ๆ ดังนี้

ท่านบาทหลวงบูเวต์ ได้เขียนบันทึกโดยบรรยายถึงความประทับใจเกี่ยวกับโบสถ์และวิหารไว้ว่า “…ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าชาวสยามนำเอาสิ่งที่เขาใช้ในการก่อสร้างตกแต่งเจดีย์ โบสถ์ วิหารของเขามาจากไหน เมื่อเปรียบเทียบกับโบสถ์ของชาวยุโรปแล้ว ต้องยอมรับว่าโบสถ์ของชาวสยามสวยงามมาก และต้องยอมรับว่าอดประหลาดใจไม่ได้ว่าท่ามกลางบ้านเรือนที่เป็นกระท่อมหรือกระต๊อบ ที่เรียกอย่างนี้เพราะเห็นว่าไม่สมควรเรียกว่าบ้าน

บ้านเมืองสยามจะเต็มไปด้วยโบสถ์ วิหาร เจดีย์ที่น่าชื่นชมเช่นในยุโรป และเชื่อว่าโบสถ์จะมีอยู่ในหมู่บ้าน และในเมืองมีมากเท่า ๆ กับโบสถ์ในปารีสทีเดียว ไม่มีโบสถ์แห่งไหนที่จะไม่ทาสีภายในโบสถ์ จะเห็นพระพุทธรูปทองคำซึ่งมีสัดส่วนพอเหมาะ การประดับตกแต่งทุกอย่างเป็นสีทอง ซึ่งประเทศฝรั่งเศสไม่มีเหมือนที่นี่…” (กรมศิลปากร. สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14. . 17.)

จากบันทึกที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ ทำให้เราทราบถึงความรู้สึกหรือมุมมองของชนชาติอื่นที่มีต่ออาคารทางพุทธศาสนาประเภทนี้ สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างหลวงซึ่งมีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง ภูมิปัญญาเหล่านี้เกิดจากการสะสมประสบการณ์จากอดีต และผสมผสานวัฒนธรรมอื่น ๆ จนก่อเกิดเป็นรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ของ “สกุลช่างอยุธยา” ถือได้ว่าส่งอิทธิพลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมในสมัยต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน (ในสมัยอยุธยาถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของพระอุโบสถ ซึ่งแต่เดิมนิยมสร้างวิหารมากกว่า ดังเช่นในสมัยสุโขทัย)

และหากจะจินตนาการภาพถึงความงดงามของงานพุทธศิลปะสถาปัตยกรรมประเภทนี้ ประจักษ์พยานทางด้านวัตถุที่ยังหลงเหลืออยู่และใช้งานอยู่ ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งทางด้านรูปทรงทางสถาปัตยกรรม และองค์ประกอบตกแต่งจากงานจำหลักไม้ ก็คือ พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมพระอุโบสถสกุลช่างอยุธยารูปแบบหนึ่ง (ซึ่งในยุคนี้ยังมีอีกหลายรูปแบบ) ที่มีความโดดเด่นซึ่งรอดพ้นจากพิษภัยแห่งสงคราม (รวมถึงการลักลอบขุดค้นขโมยของคนในชาติเราเองด้วย)

แต่ไม่ได้หมายความว่า รูปแบบที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้จะเป็นรูปแบบดั้งเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การบูรณะในสมัยหลัง ซึ่งเป็นช่วงรัตนโกสินทร์ได้พยายามรักษาสภาพเดิมไว้ (ดูรายละเอียดการบูรณะที่จดบันทึกไว้ที่เห็นชนวนทั้ง 3 แผ่น ซึ่งอยู่ภายในโบสถ์และวิหารน้อย)

หากมองในภาพรวมเพื่อค้นหาลักษณะร่วมในเชิงช่างของโบสถ์สกุลช่างอยุธยา สามารถจำแนกได้โดยข้าพเจ้าได้อิงกรอบแนวความคิดการแบ่งยุคสมัยทางศิลปะของ . ปากน้ำ ซึ่งจำแนกได้ดังนี้

สมัยอยุธยายุคต้น (สมัยพระเจ้าอู่ทองสมเด็จพระไชยราชา .. 1893-2089 รวมระยะเวลา 196 ปี) จำแนกลักษณะรูปแบบพระอุโบสถได้ 2 ลักษณะ คือ

1. รูปทรงมุขโถง หลังคาจั่วกันสาดและหลังคาจั่วเปิด
2.
รูปทรงมุขเด็จ

โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ส่วนฐาน นิยมทำฐานปัทม์ (ไม่ตกท้องสำเภา) ส่วนเรือน เสานิยมทำเป็นเสาหน้าตัดแปดเหลี่ยมหรือเสากลมโดยมีบัวหัวเสาเป็นบัวโถ คันทวยมีลักษณะหยักลูกคลื่น ช่องเปิดด้านข้างนิยมทำแบบช่องแสง ส่วนยอด หน้าบันจำหลักเป็นรูปเทพหรือยักษ์ไม่นิยมทำลวดลาย

สมัยอยุธยายุคกลาง (สมัยพระยอดฟ้าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา .. 2089-2199 รวมระยะเวลา 110 ปี) จำแนกลักษณะรูปแบบพระอุโบสถได้ 4 ลักษณะ คือ

ภาพวาด ลายเส้น โบสถ์ ทรงหลังคามุขประเจิด
รูปทรงหลังคามุขประเจิด

1. รูปทรงมุขโถงหลังคาจั่วเปิด
2.
รูปทรงโรงหลังคาจั่วเปิด (ทรงคฤห์)
3.
รูปทรงจั่นหับ (ด้านหน้าด้านหลัง)
4.
รูปทรงหลังคามุขประเจิด

โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ส่วนฐาน ยังคงลักษณะรูปแบบฐานปัทม์ และเริ่มทำฐานตกท้องสำเภาในช่วงปลาย ส่วนเรือน เสาหน้าตัดเริ่มทำเสาสี่เหลี่ยมย่อมุม บัวหัวเสาแบบบัวจงกล ช่องเปิดด้านข้างเริ่มทำช่องเปิดแบบบานหน้าต่าง ส่วนยอด หน้าบันไม้จำหลักลวดลายกนกก้านขดและหน้าบันแบบเครื่องก่อประดับถ้วยชามจีน

ภาพวาด ลายเส้น โบสถ์ ทรงมุขโถงหลังคาจั่วเปิด กับ ทรงโรงแบบคฤห์
(ซ้าย) รูปทรงมุขโถงหลังคาจั่วเปิด, (ขวา) ทรงโรงแบบคฤห์

สมัยอยุธยายุคปลาย (สมัยสมเด็จพระนารายณ์พระเจ้าเอกทัศน์ .. 2199-2310 รวมระยะเวลา 111 ปี) จำแนกลักษณะรูปแบบพระอุโบสถได้ 5 ลักษณะ คือ

1. รูปทรงมุขเด็จ
2.
รูปทรงมุขโถง หลังคาจั่วเปิด
3.
รูปทรงมุขโถงหลังคาจั่วกันสาด
4.
รูปทรงจั่นหับ ซึ่งแบ่งย่อยได้ 2 ลักษณะ คือ ทรงวิลันดาและทรงคฤห์
5.
ทรงโรง แบ่งย่อยออกได้ 2 ลักษณะ คือ ทรงวิลันดาและทรงคฤห์

โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ส่วนฐาน มีลักษณะแบบฐานปัทม์แบบตกท้องสำเภา และมีการทำฐานสิงห์ ส่วนเรือน เสาหน้าตัดสี่เหลี่ยมย่อมุม บัวหัวเสาแบบบัวจงกล ช่องเปิดด้านข้างทำช่องเปิดแบบบานหน้าต่าง มีการตกแต่งซุ้มช่องเปิด ส่วนยอด หน้าบันไม้ จำหลักลวดลายละเอียดมากขึ้นและหน้าบันเครื่องก่อมีอิทธิพลศิลปะต่างชาติเข้ามาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะมุสลิม ศิลปะตะวันตก ศิลปะจีน หรือศิลปะขอมก็ตามแต่

ภาพวาด ลายเส้น โบสถ์ ทรงจั่นหับแบบวิลันดา กับ ทรงจั่นหับแบบคฤห์
(ซ้าย) รูปทรงจั่นหับแบบวิลันดา, (ขวา) รูปทรงจั่นหับ (ด้านหน้า-ด้านหลัง) แบบคฤห์

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อรูปแบบในเชิงช่างของโบสถ์ รวมถึงคตินิยมในการสร้างโบสถ์ในสยามประเทศ ในสมัยต่อมา (เรื่องโบสถ์ว่ายกขึ้นเป็นประธานสำคัญเมื่อไรนั้น สมเด็จกรมพระยานริศฯ ประทานอธิบายว่า “…ในการสร้างพระเจดีย์ไว้หลังโบสถ์นั้นก็มาแต่วิหารที่นมัสการพระเจดีย์นั้นเองหากถูกแก้ให้เป็นโบสถ์เสียในภายหลัง…” (กรมศิลปากร. เรื่องพระปฐมเจดีย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2528), . 118.) นั้นหมายความว่าคติเดิมนิยมสร้างวิหารมากกว่าโบสถ์

ด้วยเพราะจริง ๆ แล้วโบสถ์เป็นที่สำหรับพระสงฆ์ที่ใช้ประกอบศาสนกิจพิธีที่เกี่ยวกับสงฆ์เท่านั้น จึงมีขนาดเล็ก ๆ ที่เพียงพอและเหมาะสมกับการใช้งานจริง ๆ ดังที่ยังปรากฏรูปแบบโบสถ์ลักษณะดังกล่าวอยู่ในแถบวัดโบราณของอีสานที่เรียกว่า “สิม” และยังถือคติเดิมคือไม่ให้สตรีเพศเข้าไป

หากแต่ในวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการปกครอง ทำให้ต้องมีการติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมอื่น ๆ จากภายนอกเข้ามามากทั้งเจตนาและไม่เจตนา ทำให้คตินี้เสื่อมและถูกยกเลิกไป จนในที่สุดจึงปรับเปลี่ยนคติวิหารมาแปลงเป็นโบสถ์แทน เพราะวิหารในวัดหนึ่ง ๆ จะมีหลายหลังได้ไม่จำกัดจำนวนแต่ในขณะที่โบสถ์จะต้องมีเพียงหลังเดียวตามคตินิยมที่ยังทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีใบเสมาเป็นสัญลักษณ์ร่วม ที่กำหนดความแตกต่างระหว่างโบสถ์กับวิหารตามโครงสร้างสังคมใหม่        

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคติการสร้างพระอุโบสถที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนั้น มีพัฒนาการด้านรูปแบบและเอกลักษณ์ในเชิงช่างที่มีลักษณะการถ่ายมาเทไป ผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายของ รูปแบบ ศิลปะสุวรรณภูมิ จนกลายมาเป็นฉันทลักษณ์มาตรฐานของงานช่างประเพณีหลวงของราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ส่งอิทธิพลต่อให้กับวัฒนธรรมชาวบ้าน ภายใต้เงื่อนไขตัวแปรทางสังคมการเมืองเรื่องวัฒนธรรม ไม่แตกต่างอะไรจากในอดีต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2562