ตำนาน “โบสถ์ ก. ข. ค.” ชาตินิยมในศิลปกรรมไทยประเพณีภาคกลาง

โบสถ์ ก. ข. ค.

ตำนาน “โบสถ์ ก. ข. ค.” ชาตินิยมในศิลปกรรมไทยประเพณีภาคกลาง

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นำก็โหมกระแส “ชาตินิยม” ในทุกด้าน ที่ก่อให้เกิดการแพร่อิทธิพล “วัธนธัม” ไทยประเพณีภาคกลางไปยังท้องถิ่นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม หนึ่งในนั้นคือ “โบสถ์ ก. ข. ค.” ที่รัฐไทยเป็นผู้ออกนโยบายให้แต่ละวัดสร้างโบสถ์ตามแบบที่ส่วนกลางกำหนด

โบสถ์ ก. ข. ค. ถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2483 จุดประสงค์เพื่อกำหนดรูปแบบการก่อสร้างโบสถ์หรือวิหารให้กับวัดทั่วประเทศ โดยยึดรูปแบบศิลปกรรมตามแบบแผนสถาปัตยกรรมไทยประเพณีภาคกลาง หรือแบบกรุงเทพฯ มีพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ออกแบบ

พระพรหมพิจิตรออกแบบโบสถ์ 3 รูปแบบ คือ แบบ ก. แบบ ข. และแบบ ค. ลักษณะโดยรวมคล้ายกัน คือ ผังอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นอาคารทรงเครื่องลำยองแบบจั่ว การประดับตกแต่งอาคารนั้น ส่วนฐานประดับลวดบัวฐานสิงห์ ตัวอาคารประดับซุ้มประตูหน้าต่างทรงบันแถลง และคันทวยรับชายคา ส่วนหลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และลายหน้าบัน

แบบ ก. ขนาดใหญ่ที่สุด กว้าง 8.15 เมตร ยาว 23.00 เมตร มีขนาด 7 ห้อง หลังคาด้านหน้าและหลังซ้อน 3 ชั้น ชั้นละ 3 ตับ ออกแบบให้มีมุขยื่นด้านหน้าและหลัง

แบบ ข. กว้าง 7.50 เมตร ยาว 12.70 เมตร มีขนาด 6 ห้อง หลังคาด้านหน้าซ้อน 3 ชั้น ด้านหลังซ้อน 2 ชั้น หลังคาทุกชั้นซ้อน 3 ตับ ออกแบบให้มีมุขยื่นด้านหน้าด้านเดียว

แบบ ค. ขนาดเล็กที่สุด กว้าง 7.00 เมตร ยาว 13.75 เมตร มีขนาด 7 ห้อง หลังคาด้านหน้าและหลังซ้อน 3 ชั้น ชั้นละ 3 ตับ ออกแบบให้มีมุขยื่นด้านหน้าและหลัง แต่มุขยื่นขนาดเล็กกว่าแบบ ก.

โบสถ์ ก. ข. ค. แบบแปลน
โบสถ์แบบ ก. แบบ ข. และแบบ ค. (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ อ้างใน, ภูวดล ภู่ศิริ. “งานออกแบบสถาปัตยกรรมของพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) : รูปธรรมแห่งอุดมการณ์ชาตินิยม พ.ศ. 2475-2490” ใน, วารสารวิชาการสถาปัตยกรรมศาสตร์, ฉบับที่ 74 มกราคม-มิถุนายน 2565.)

เหตุที่ต้องมี 3 รูปแบบก็เพื่อเป็นทางเลือกให้แต่ละวัดสามารถเลือกรูปแบบก่อสร้างได้ตามความเหมาะสม และงบประมาณ

รัฐไทยส่งเสริมโบสถ์ ก. ข. ค. อย่างจริงจังให้วัดทั่วประเทศสร้างโบสถ์หรือวิหารขึ้นใหม่ตามรูปแบบที่กำหนด รูปแบบก่อสร้างถูกนำไปแจกจ่ายทั่วประเทศ รวมถึงมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในลักษณะหนังสือเพื่อชักจูง โน้มน้าว หรือกึ่งบังคับให้มีการสร้างด้วยรูปแบบข้างต้นนี้

นอกจากนี้ โบสถ์ ก. ข. ค. ยังถูกออกแบบให้ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเป็นโครงสร้างหลักในการก่อสร้าง ซึ่งคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นวัสดุสมัยใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมมากในยุคนั้น นี่จึงทำให้โบสถ์ ก. ข. ค. ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโบสถ์ ก. ข. ค. กลับเป็นการทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของท้องถิ่น

ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายว่า สถาปัตยกรรมไทยประเพณีภาคกลางของรูปแบบโบสถ์ ก. ข. ค. สะท้อนถึงอุดมการณ์ชาตินิยมไทยทางสถาปัตยกรรมในช่วงเวลานั้น ที่เลือกยกย่องรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบกรุงเทพฯ เพียงแบบเดียวให้เป็นตัวแทนของชาติและความเป็นไทย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบตามมาทั้งอาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คือ ความรู้สึกรังเกียจศิลปกรรมของท้องถิ่นว่าไม่สวยงาม และไม่มีคุณค่าทางศิลปะมากพอ

“…’พระอุโบสถมาตรฐานแบบ ก. ข. ค.’ ได้กลายเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการรื้อถอนพระอุโบสถแบบดั้งเดิมที่ถูกออกแบบด้วยศิลปะท้องถิ่นลงอย่างมากมาย รูปแบบพระอุโบสถฉบับมาตรฐานกลางจากกรุงเทพฯ ของพระพรหมพิจิตรได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยและสวยงามแบบใหม่ในสายตาของชนชั้นนำท้องถิ่นโดยเฉพาะเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา…แม้หลายวัดจะมีการออกแบบปรับแปลงในรายละเอียดตกแต่งทางสถาปัตยกรรมให้แตกต่างออกไปบ้างตามแต่ละท้องที่ แต่โครงสร้างภาพรวมทางรูปแบบและแผนผัง ก็ยังอาจกล่าวได้ว่ามีกลิ่นอายของงานออกแบบของพระพรหมพิจิตรชุดนี้ผสมอยู่ไม่มากก็น้อย…” ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี กล่าว

โบสถ์ ก. ข. ค.
โบสถ์ แบบ ก. (ภาพจาก ชาตรี ประกิตนนทการ. “พระพรหมพิจิตร กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่ ในระบอบประชาธิปไตย (จบ)” ใน, มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2565.)

ขณะที่ ภูวดล ภู่ศิริ อธิบายว่า รูปแบบศิลปกรรมที่รัฐไทยสนับสนุนในยุคนี้ ไม่มีแนวคิดในเรื่องงานศิลปกรรมของท้องถิ่นแต่อย่างใด มีเพียงรูปแบบศิลปกรรมแบบภาคกลาง หรือรูปแบบศิลปะที่ชนชั้นนำเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรไทยอย่างสุโขทัยหรือเขมร ที่เรียกว่าศิลปะแบบลพบุรีเท่านั้น โดยจะเห็นได้ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยทั้งหมดของพระพรหมพิจิตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการของรัฐ ไม่มีงานใดที่อ้างอิงรูปแบบสถาปัตยกรรมของท้องถิ่นเลย

โบสถ์ ก. ข. ค. จึงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปกรรมประจำชาติในยุค “ชาตินิยม” ที่รัฐไทยพยายามสร้างขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่ก็เป็นแบบแผนสถาปัตยกรรมไทยประเพณีภาคกลางเท่านั้น ส่วนศิลปกรรมของท้องถิ่นกลับถูกหลงลืม เพราะ “ความเป็นไทย” ในมุมของรัฐไทย คือศิลปกรรมไทยแบบกรุงเทพฯ เท่านั้น

ท่านผู้อ่านลองกลับไปสังเกตโบสถ์วิหารที่วัดใกล้บ้าน ท่านอาจเห็นร่องรอยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจาก “วัธนธัม” ในยุค “ชาตินิยม” โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลงเหลืออยู่

โบสถ์ วัดอภัยทายาราม
โบสถ์วัดอภัยทายาราม บูรณะเมื่อ พ.ศ. 2489 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ลักษณะคล้ายกับโบสถ์ ก. ข. ค. ในยุคนั้น (ภาพถ่ายโดย ธัชชัย ยอดพิชัย, 2565)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ชาตรี ประกิตนนทการ. “พระพรหมพิจิตร กับงานสถาปัตยกรรมไทยใหม่ ในระบอบประชาธิปไตย (จบ)” ใน, มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2565.

ภูวดล ภู่ศิริ. “งานออกแบบสถาปัตยกรรมของพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) : รูปธรรมแห่งอุดมการณ์ชาตินิยม พ.ศ. 2475-2490” ใน, วารสารวิชาการสถาปัตยกรรมศาสตร์, ฉบับที่ 74 มกราคม-มิถุนายน 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2565