ข้อแตกต่างระหว่าง “พระไดบุตสึเมืองนารา” กับ “พระไดบุตสึเมืองคามาคุระ” ประเทศญี่ปุ่น

(ซ้าย) พระไดบุตสึเมืองนารา (ขวา) พระไดบุตสึเมืองคามาคุระ (ที่มา: ภาพโดยผู้เขียน)

พระไดบุตสึเมืองนาราและพระไดบุตสึเมืองคามาคุระ พระไดบุตสึทั้งสององค์นี้โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ว่ากรุ๊ปทัวร์คนไทยหรือชาวต่างประเทศ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น โปรแกรมทัวร์มักจะจัดให้มาสักการะพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ ด้วยเพราะว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น อันที่แท้จริงแล้วพระไดบุตสึในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายองค์ด้วยกัน เช่น พระไดบุตสึที่วัดนิฮอน ที่จังหวัดชิบะ (ดูรูปที่1) พระไดบุตสึอสึกะ ที่นารา (ดูรูปที่2) เป็นต้น และชื่อที่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ไดบุตสึ” เป็นภาษาญี่ปุ่นนั้นมีความหมายว่า “พระองค์ใหญ่” หรือที่คนไทยเรามักเรียกพระพุทธรูปขนาดใหญ่ๆ ว่า “หลวงพ่อโต” แล้วตามท้ายด้วยชื่อเมืองหรือสถานที่ที่พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่

รูปที่ 1 พระไดบุตสึที่วัดนิฮอน (ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Postcard_Buddha.jpg)
รูปที่ 2 พระไดบุตสึอสึกะ (ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/File:Asuka_dera_daibutsu.jpg)

ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอพระไดบุตสีที่นารา (ดูรูปที่ 3) และพระไดบุตสึที่คามาคุระ (ดูรูปที่ 10) ที่คนไทยเรามาสักการะบูชากัน เป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยนาราและสมัยคามาคุระ ตามลำดับ โดยผู้เขียนจะขอนำเสนอในประเด็นแนวความคิดทางความเชื่อของการสร้างพระพุทธรูป ประวัติการก่อสร้าง และรูปแบบทางศิลปะของพระพุทธรูปทั้งสององค์ ซึ่งหัวข้อที่นำเสนอข้างต้นอาจเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางศิลปกรรม และเพื่อสำหรับเป็นความรู้ของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาทัศนศึกษาประเทศญี่ปุ่นแล้วแวะเข้ามาสักการะพระพุทธรูปทั้งสององค์ ก็สามารถที่จะแยกแยะวิเคราะห์เปรียบเทียบและมีความรู้ความเข้าใจในองค์พระพุทธรูปในเบื้องต้นได้มากยิ่งขึ้น

พระไดบุตสึนารา รูปที่ปรากฏในปัจจุบันประดิษฐานในวัดโตได (โตไดจิ คำว่าจิแปลว่าวัด) เป็นพระพุทธรูปที่บูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2235 ตรงกับสมัยเอโดะ โดยมีเค้าจากองค์เดิมที่สร้างในสมัยนาราตอนปลาย (เทมเปียว) ได้ผ่านการซ่อมมาหลายครั้ง รูปเดิมครั้งสมัยก่อนหน้านั้นมีนักวิชาการไทยได้กล่าวว่า รูปเดิมนั้นต้องดูที่จากภาพม้วน ชิกิชังเอนจิ เขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 (มาลินี คัมภีรญาณนนท์,2532, หน้า 78) ดังนั้นแล้วรูปองค์พระไดบุตสึที่นาราองค์เดิมเป็นรูปที่สร้างในสมัยเทมเปียว (นาราตอนปลาย) และได้ถูกการซ่อมแซมไปแล้วหลายช่วงเวลา ตามประวัติการก่อสร้างพระไดบุตสึองค์แรกนั้น เริ่มแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1292 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี ในปี พ.ศ.1296 ได้มีพิธีเบิกพระเนตร โดยใช้สีป้ายนัยน์ตา พิธีดังกล่าวนี้เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น มีบรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางราชการ ภิกษุสงฆ์ เป็นจำนวนนับพันเข้าร่วมพิธีนี้ (มาลินี คัมภีรญาณนนท์, 2532, หน้า 78)

ต่อมาในชั้นหลังวัดโตไดได้รับความเสียหายหลายครั้ง เช่น พ.ศ.1623 ขุนศึกชิเงะฮิระของตระกูลไทระ สู้รบกับตระกูลมินาโมโตะแห่งคามาคุระ และช่วง พ.ศ.2101 วัดได้ถูกเผาอีกจากฝีมือขุนศึกโอดะ โนบุนางะ และมีการบูรณะครั้งใหญ่อีกในสมัยเอโดะของตระกูลโตกูงาวะ ที่ปรากฏในปัจจุบัน (กำจร สุนพงษ์ศรี,2551, หน้า 52) ซึ่งรูปที่ปรากฏมีการกล่าวว่าพระอุระได้บูรณะขึ้นในปี พ.ศ.1728 ส่วนพระเศียรนั้นได้บูรณะขึ้นในปี พ.ศ.2235 (Japanese Buddhist Statuary เข้าถึงได้จาก www.yomiuri.co.jp/nanjo/nanjo50.htm)

รูปที่ 3 แสดงรูปแบบพระไวโรจน วัดโตได เมืองนารา ศิลปะนาราตอนปลาย(เทียมเปียว) (ที่มา: ภาพโดยผู้เขียน)

แนวความคิดในการสร้างพระไดบุตสึเมืองนาราก่อสร้างโดยจักรพรรดิโชมุ พระองค์มีความศรัทธาทางพระพุทธศาสนาโดยได้รับความคิดจากคัมภีร์อวตัมสกสูตร (เคงอนเกียว) (Todai Ji,2012,p.10) เป็นพระคัมภีร์หลัก โดยที่ในคัมภีร์  เคงอนได้กล่าวว่า พระมหาไวโรจนะพระองค์เป็นพระประธานของนิกายเคงอนเกียว ทรงเป็นตัวแทนของจักรวาลและเป็นพระราชาของพระพุทธเจ้าทั้งปวง ประกอบกับที่องค์จักรพรรดิโชมุ พระองค์ก็เป็นหัวหน้ารัฐ พระองค์จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดให้สร้างพระมหาไวโรจนะขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยประดิษฐานยังวัดโตได และวัดโตไดได้เป็นวัดศูนย์กลางของเมืองหลวงพร้อมทั้งเป็นวัดศูนย์กลางทางศาสนา ซึ่งวัดในจังหวัดอื่นๆ ต้องขึ้นตรงต่อวัดโตได และพระไวโรจนะยังยังสัญลักษณ์ของชินโตด้วย โดยเปรียบเสมือนอวตารของสุริยเทพีซึ่งมีความเชื่อมาก่อนสร้างแล้ว ดังนั้นแล้วทั้งองค์จักรพรรดิและวัดโตไดจึงเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมของชาติ (มาลินี คัมภีรญาณนนท์,2532, หน้า77-78) นั้นเอง วัดประจำจังหวัดที่ขึ้นตรงกับส่วนกลางนี้เรียกว่า โคะกุบุนจิ โดยสร้างขึ้นทั่วประเทศ (ฮาระดะ อายุมิ,2554, หน้า 233)

รูปที่ 4 แสดงรูปแบบพระไวโรจน วัดโตได เมืองนารา ศิลปะนาราตอนปลาย (เทียมเปียว) (ที่มา: http://www.onmarkproductions.com/html/birushana.shtmlและผู้เขียน)

ในช่วงหลังต่อมาผู้มีอำนาจที่นับถือคัมภีร์อวตัมสกสูตรหมดอำนาจลง การที่คนระดับล่างนั้นเข้าไม่ถึงจิตใจ ทำให้ถูกปล่อยปละละเลยไป ผู้มีอำนาจกลุ่มอื่นก็เข้ามาสนับสนุนนิกายอื่นต่อไป (พระมหาสมจินต์ สมมาปัญโญ,2551, หน้า131) ซึ่งเราจะพบได้จากพระไดบุตสึที่คามาคุระ เป็นต้น

ตามที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่า พระไวโรจนะที่นาราองค์เดิมได้ถูกซ่อมแซมมาโดยตลอดนั้น รูปแบบจึงเปลี่ยนจากเดิมโดยเฉพาะพระพักตร์และพระวรกาย แต่ส่วนที่ไม่ได้ผ่านการซ่อมนักวิชาการกล่าวว่าเป็นส่วนฐาน ซึ่งส่วนนี้สามารถตอบแนวความคิดว่า พระไดบุตสึองค์นี้เป็นรูปของพระพุทธเจ้าไวโรจนะ ที่แสดงถึงความเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ตำแหน่งที่แสดงความเป็นศูนย์กลางนี้คือที่แท่นกลีบบัวพันกลีบ ซึ่งยังมีความสมบูรณ์ของภาพอยู่ แสดงเนื้อหาจากคัมภีร์พรหมชาลสูตร กล่าวถึงกลีบบัวเหมือนกับจักรวาลทางพระพุทธศาสนา ตอนบนของกลีบบัวแต่ละกลีบสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าศากยมุนีประทับนั่งเป็นประธาน แวดล้อมด้วยพระโพธิสัตว์จำนวน 25 องค์และพระพุทธเจ้าอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ส่วนท่อนล่างเป็นลายเส้นระนาบจำนวน 20 เส้นแสดงชุมนุมเทวดาแต่ละภูมิ ถัดลงมาเป็นเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (ดูเพิ่มเติมในคัมภีร์พรหมชาลสูตร ฝ่ายมหายานและในสมัยนี้มีการนับถือหลายคัมภีร์)

รูปที่ 5 พระศากยมุนีประนั่งเป็นประทาน บนกลีบบัวที่บัลลังก์ ศ.8 (ที่มา: ภาพโดยผู้เขียน)
รูปที่ 6 เป็นรูปพระโพธิสัตว์บนบัลลังก์ฐานบัว ศ.8 (ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/T%C5%8Ddai-ji)

นอกจากความเชื่อดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกข้อมูลหนึ่งที่ยังสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของจักรวาลคือเรื่องของแผนผังวัดโตได แต่เดิมศิลปะก่อนหน้าการวางผังวัดทางพระพุทธศาสนามักจะวางพระเจดีย์ไว้เป็นศูนย์กลางของวัด แต่ในสมัยนาราตอนปลายที่วัดโตไดได้วางวิหารหลวงที่ประดิษฐานองค์พระมหาไวโรจนะไว้กึ่งกลางของผังวัด (ดูภาพแผนผังวัดรูปที่ 7 ประกอบ) และมีขนาดที่ใหญ่ ปัจจุบันถือว่าเป็นวิหารหลวงใช้ไม้สร้างจึงเป็นวิหารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วิหารเดิมนั้นใหญ่กว่าวิหารปัจจุบัน 3 เท่า)

รูปที่ 7 แสดงการวางวิหารหลวงประดิษฐานพระไวโรจนะ วัดโตไดจิ ศิลปะนาราตอนปลาย (ที่มา: ดัดแปลงเพิ่มเติมจาก John M.Rosenfield et al., “The Great Eastern Temples: Treasures of Japanese Buddhist Art from Todai-ji”)

กรณีประเด็นของแผนผังวัดโตได ที่มีการวางวิหารหลวงไว้เป็นศูนย์กลางของวัดต้นแบบน่าจะมาจากวัดยาคุชิ เป็นวัดศูนย์กลางของนิกายฮอลโซสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเท็มมุ สมัยนาราตอนต้น เริ่มมีการวางเจดีย์สององค์อยู่ด้านหน้ามีวิหารหลวงเป็นศูนย์กลาง ล้อมด้วยระเบียงคด จนปรากฏที่วัดโคฟุคุ สมัยนาระที่วางวิหารหลวงอยู่กลางวัด แต่พระเจดีย์อยู่ทางด้านหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด ซึ่งผังทั้งสองวัดให้อิทธิพลกับวัดโตได (ดูผังใน Minoru Ooka Temple of Nara and Their Arts,1973, p.73 ) ดูรูปที่ 8 ประกอบ (พระเจดีย์ทั้งสององค์ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้วเนื่องจากภัยธรรมชาติ)

รูปที่ 8 ภาพแผนผังวัดยาคูชิและวัดโคฟุคุ (ที่มา: Minoru Ooka Temple of Nara and Their Arts,1973, p.73)

จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้เราทราบว่าในสมัยนาราตอนปลาย (เทมเปียว) ช่วงสมัยขององค์จักรพรรดิโชมุ พระองค์ต้องการสร้างเมืองให้มีความสมบูรณ์ หลังจากการย้ายเมืองจากเมืองฟูจิวาระ เมืองหลวงเก่าของสมัยนาราต้น (ฮะกุโฮ) มาอยู่ยังเมืองเฮอิโจ (นารา) สร้างพระพุทธรูปมหาไวโรจนะ ด้วยวัสดุสำริด ก่อนหน้านั้นใช้วัสดุเป็นไม้รักแห้ง หิน การใช้สำริดก็มีการใช้สร้างอยู่เช่นกัน แต่ยังเป็นขนาดองค์เล็กอยู่ และมีการสร้างระฆัง เป็นต้น ดังนั้นแล้วการสร้างพระมหาไวโรจนะวัดโตได จึงเป็นการใช้วัสดุสำริดสร้างเป็นองค์พระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุด

อิทธิพลพระพุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์ถังได้แพร่เข้ามาในญี่ปุ่น โดยเฉพาะนิกายเคงอนที่มีอิทธิพลต่อองค์จักรพรรดิโชมุ (นิกายเคงอน สันสกฤตเรียกว่า นิกายอวตังสกะ) เป็นนิกายที่ในสมัยนี้นับถือพระไวโรจนะเป็นพระพุทธเจ้าสูงสุด (ผาสุข อินทราวุธ,2543, หน้า 209) และเป็นนิกาย1ใน3 นิกายที่นับถือในสมัยนารา รูปแบบขององค์พระได้เปลี่ยนไปจากเดิม จากรูปปัจจุบันเราเห็นได้จากที่พระเศียร มีอุษณีษะเป็นเม็ดกลมอยู่ตรงส่วนบนเหนือพระนลาฏที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สมัยนาราเราพบว่ามีขนาดที่เล็ก อุษณีษะที่เป็นมวยผมรูปพระไวโรจนะ วัดโตไดไม่มี ซึ่งในสมัยนาราอุษณีษะนี้มวยผมมักจะปรากฏเสมอ นอกจากนั้นรูปแบบการห่มจีวรก็น่าจะอยู่ในสมัยหลังกว่าเป็นการเปิดให้เห็นพระอุระแบบสมดุล ไม่เหมือนกับศิลปะสมัยนาราที่เปิดเห็นพระอุระแต่ไม่สมดุล (ดูภาพที่ 10 ประกอบ)

รูปที่ 9 พระไวโรจนะ ประทับนั่งบนดอกบัวพันกลีบ สูง 304.5 เซนติเมตร วัดโตไชได (ที่มา : http://www.onmarkproductions.com/html/birushana.shtml)

จากการนับถือความเชื่อนิกายเคงอนเกียวนี้ พระมหาไวโรจนะเดิมจะเป็นรูปตรีกาย ซึ่งจะปรากฏเป็นสามรูปคือ องค์กลางเป็นรูปของพระมหาไวโรจนะ องค์ขวาของพระมหาไวโรจนะเป็นรูปสมันตภัทร (ฟูเงน) องค์ซ้ายของพระมหาไวโรจนเป็นรูปของพระมัญชูศรี (มอนจู) แต่ในวัดโตไดไม่ปรากฏรูปดังกล่าวตามความเชื่อในนิกายเคงอนผู้เขียนสันนิษฐานว่ามีการปรับใหม่ตามความนิยมในชั้นหลังคือ รูปทางขวาเขียนเป็น Kokuuzo Bosutsu ภาษาสัสสกฤตคือ Akasaqarbha คือพระโพธิสัตว์อากาศครรภ เป็นพระโพธิสัตว์แห่งกำลัง ปัญญา และความทรงจำ ส่วนองค์ทางซ้ายของพระมหาไวโรจนะคือ Nyoirin Kannon คือพระโพธิสัตว์จินดามณีจักร อวโลกิเตศวร เป็นรูปหนึ่งที่นิยมของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ช่วยเหลือมนุษย์ในวัฏสังสาร

รูปที่ 10 พระอมิตาภะ วัดโคโตคุ เมืองคามาคุระ (ที่มา: ถ่ายโดยผู้เขียน)

พระไดบุตสึเมืองคามาคุระ องค์พระที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยสำริดประดิษฐานในวัดโคโตคุ เมืองคามาคุระ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1795 มีความสูงอยู่ที่ 13.35 เมตรรวมฐานด้วย แต่เฉพาะองค์พระสูง11เมตร น้ำหนัก 122 ตัน พระไดบุตสึองค์เดิมนั้นสร้างโดยโชกุนโยริโมโตะ มินาโมโตะ มีความประสงค์ที่ต้องการสร้างพระไดบุตสึเมืองคามาคุระ ตามแบบความเชื่อในลัทธิโจโด (JODO) คือนิกายสุขาวดี โดยมีพระพุทธเจ้าอมิตาภะ ชาวญี่ปุ่นเรียกว่าอมิดา เนียวไร (Amida Nyorai) เป็นศูนย์กลาง แต่โชกุนโยริโมโตะ มินาโมโตะ ได้เสียชีวิตลงในช่วงขณะเริ่มต้นดำเนินการสร้างพระพุทธรูป (พลังธรรม นำแสงสว่าง สู่จิตใจมนุษย์ เข้าถึงได้จากhttp://www.palungdham.com/t184.php)

ต่อมาโยริเอะ มินาโมโตะ เป็นโชกุนคนต่อมา แต่อำนาจถูกครอบงำโดยตระกูลโฮโจจากทางฝ่ายมารดาซึ่งท่านนับถือนิกายเซน การสร้างไดบุตสึจึงยังไม่เกิดในสมัยนี้ ต่อมาท่านอินาดะ โนทสุโบเนะ (Inada Notsubone) เป็นสตรีที่รับใช้ในโชกุนโยริโตโมะ มินาโมโตะ ได้สานการสร้างต่อโดยที่ได้รับความช่วยเหลือจากหลวงพ่อ โจโคะ (JOKO) โดยท่านได้เดินทางรับบริจาคทรัพย์จากประชาชนเพื่อสร้างพระไดบุตสึเมืองคามาคุระ พร้อมกับวิหารตามแบบอย่างเมืองนารา เสร็จในปี พ.ศ.1786 เดิมองค์พระนี้แกะด้วยไม้ มีความสูง 24 เมตร ช่างได้หันกลับมาใช้วัสดุเดิมเป็นไม้ เรื่องนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าคงจะหาช่างยาก และวัสดุการสร้างยาก นอกจากนี้แล้วต้องใช้กำลังทรัพย์มากอีกด้วย

ผ่านมา 4 ปี องค์พระองค์นี้ได้ถูกพายุไต้ฝุ่นได้ทำความเสียหายแก่องค์พระและวิหาร ซึ่งยากที่จะซ่อมแซมได้ จึงทำให้นางอินาดะ โนทสุโบเนะ (Inada Notsubone) และหลวงพ่อโจโคะได้มีการเปลี่ยนวัสดุเหมือนกับไดบุตสึที่นาราเป็นสำริด แต่การหลอมล้มเหลวหลายครั้ง จนได้ช่าง2คนคือ ทันจิ ฮิซาโตโมะ (Tanji hisatomo) โกโรอิ โอโนะ Koroe Mon Ono ได้สำเร็จในปี พ.ศ.1795 ประดิษฐานในวัดโคโตกุอิน (KOTOKU IN TEMPLE) ปรากฏจนถึงปัจจุบัน

แนวความคิดการสร้างพระพุทธรูปไดบุตสึ ตามนิกายโจโด (นิกายสุขาวดี) ด้วยเหตุที่ประชาชนต่างเบื่อหน่ายพระพุทธศาสนาในสมัยนี้ จึงมีนิกายใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายนิกาย นิกายโจโดเป็นนิกายหนึ่งที่โชกุนโยริโมโตะนับถือ เป็นนิกายที่แยกออกจากนิกายเท็นได ก่อตั้งโดยท่านโฮเน็น (Honen) พ.ศ.1676-1765 นับถือพระอมิตาภะ ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า อมิดา เนียวไร (Amida Nyorai) หรือเน็มบุตสึ (Nembutsu) มีความเชื่อว่าบุคคลธรรมดาก็สามารถบำเพ็ญเพียรไปสู่นิพพานได้ และยังเชื่อว่าพระอมิตาภะประทับอยู่ ณ แดนสุขาวดีอันไกลโพ้น พระองค์ทรงพระเมตตาที่ยิ่งใหญ่ ให้คำมั่นสัญญามาแล้วหลายชั่วกัปกัลป์ จะช่วยเหลือปกป้องชีวิตมนุษย์ทีมีความศรัทธาในพระองค์ และแนะนำไปยังดินแดนสุขาวดีอันบริสุทธิ์เปี่ยมล้นด้วยความสุข (กำจร  สุนพงษ์ศรี,2551, หน้า 94 ) และเหตุที่ตั้งพุทธเกษตรนี้ชื่อว่า ดินแดนสุขาวดี เพราะที่ผู้อยู่ในพุทธเกษตรนั้นไม่มีทุกข์กายใจเสวยแต่ความสุข ผู้ที่อยู่ในดินแดนนี้เป็นอริยบุคคลทั้งสิ้นไม่มีสตรี ถ้าหากมีสตรีไปเกิดก็กลับแปลงเป็นบุรุษ และไม่มีคำว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นแดนแห่งนิพพาน (วิเชียร เพ็ชรพรประภาส (ผู้แปล),2540, หน้า 6)

พระอมิตาภะเป็นธยานิพุทธที่สำคัญองค์หนึ่ง พระองค์มีชื่ออีกพระนามหนึ่งว่า อมิตายุ หมายถึงชีวิตที่เหลือคณานับหรือวันไม่ถ้วน พระองค์เป็นเทพแห่งแสงสว่างและอมต และพระองค์มีหน้าที่ตัดสินมนุษย์ทั้งโลกภายหลังเมื่อมนุษย์สิ้นชีวิตไปแล้ว (พรหมศักดิ์ เจิมสวัสดิ์.2525, 73-82) และดูใน (Daibutsu The Great Buddha of Kamakura,….,p.1)

การแสดงความเชื่อศรัทธาต่อองค์อมิตาภะ สามารถทำได้ทุกเวลา ทุกสถานที่โดยการท่องบ่นวลีว่า เน็มบุตสึ (Nambutsu) วลีนี้ย่อมาจาก “นะมุอมิดะ” (Namu Amida) หรือ “นะมุอมิดะบุตสึ” (Namu Amida Butsu) แปลว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธอมิดะ” (พิพาดา ยังเจริญ.2539,หน้า 85)

รูปลักษณะของพระอมิตาภะ คามาคุระ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ธยานมุทรา (ปางสมาธิ) ห่มจีวรคลุม แบบเปิดพระอุระแบบสมดุล พระพักตร์โน้มลงไปด้านหน้า พระเนตรมองต่ำ พระเศียรแสดงอุษณีษะเป็นเม็ดกลมเหนือพระนลาฏขึ้นไป ไม่ปรากฎอุษณีษะแบบมวยผม เม็ดพระศกขดก้นหอย พระกรรณยาว เหนือพระโอษฐ์แสดงเส้นพระมัสสุ และที่พระนลาฏมีอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง (ดูรูปที่ 11-12 ประกอบ)

รูปที่ 11 พระอมิตาภะ วัดโคโตคุ เมืองคามาคุระ (ที่มา: ถ่ายโดยผู้เขียน)
รูปที่ 12 ภาพจิตรกรรมพระอมิตาภะ ศิลปะนารา (ที่มา: The Great Eastern Temples: Treasures of Japanese Buddhist Art from Todai-ji)

รูปองค์พระอมิตาภะ เมืองคามาคุระจากแนวความคิดความเชื่อดังกล่าวข้างต้น รูปพระไดบุตสึคามาคุระ เป็นรูปของพระอมิตาภะ สร้างขึ้นในสมัยคามาคุระตอนปลายสมัย สร้างขึ้นตามความเชื่อของนิกายสุขาวดี เป็นพระพุทธเจ้าสวรรค์ด้านทิศตะวันตก ในสมัยคามาคุระนี้ชาวญี่ปุ่นนิยมสร้างรูปพระอมิตาภะเป็นจำนวนเป็นกลุ่มด้วย เช่นจำนวน 9 องค์ โดยมีความเชื่อว่าแต่ละองค์จะช่วยนำวิญญาณผู้ตายไปสู่นิพพาน 9 แบบหรือ 9 ระดับ แบ่งเป็นระดับสูงสุด 3 ขั้น ใช้สัญลักษณ์นิ้วชี้มาจรดนิ้วหัวแม่มือ ระดับกลางมี 3 ขั้นใช้นิ้วกลางมาจรดหัวแม่มือ และระดับต่ำสุด ใช้นิ้วนางมาจรดหัวแม่มือ (ผาสุข อินทราวุธ,2543, หน้า 211)

พระอมิตาภะวัดโคโตคุเมืองคามาคุระ แต่เดิมนั้นอาจจะมีรูปองค์พระสาวกของท่านประดิษฐานร่วมอยู่ด้วย คือทางขวามือประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (คันนอน) ทางซ้ายประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระมหาสถามปราบต์ (ไซซี) ซึ่งยังไมมีหลักฐานคงต้องค้นคว้าต่อไป

รูปที่ 13 แผนภูมิแสดงการวิเคราะห์พระไวโรจนะนารา กับพระอมิตาภะคามาคุระ (ที่มา: ถ่ายโดยผู้เขียน)

โดยสรุปจากการศึกษาพระไดบุตสึทั้งสององค์ ที่นาราและที่คามาคุระ เป็นการสร้างตามความเชื่อในพระพุทธศาสนามหายาน เป็นนิกายที่แตกต่างกัน ตามช่วงเวลาที่มีความนิยม และตามความศรัทธาของผู้นำ ซึ่งผู้นำเป็นระดับบุคคลชั้นสูงทั้งสองช่วงสมัย เดิมนั้นพระไวโรจนะนาราสร้างขึ้นก่อน โดยได้รับอิทธิพลจากภายนอกและเป็นต้นแบบวัสดุให้กับพระอมิตาภะที่คามาคุระ หลักฐานที่บ่งบอกความเป็นศิลปะนาราคือฐานบัลลังก์ ต่อมาได้มีการซ่อมแซมหลายครั้งขององค์พระไวโรจนะ จนรูปที่ปรากฏอยู่ในสมัยเอโดะ กลับใหม่กว่าสมัยคามาคุระถึง 400 กว่าปี ซึ่งเราพบว่ารูปพระพุทธเจ้าสมัยนาราการสร้างอุษณีษะนิยมเป็นแบบมุ่นมวยผม ตัวอย่างได้จากจิตรกรรมรูปพระอมิตาภะ (รูปที่ 12 ประกอบ)


เอกสารอ้างอิง

กำจร สุนพงษ์ศรี.(2551).ประวัติศาสตร์ศิลปญี่ปุ่น .กรุงเทพฯ: อักษรสมัย.

ผาสุข อินทราวุธ. (2543).พุทธปฏิมามหายาน.กรุงเทพฯ: อักษรศิลป์.

พิพาดา ยังเจริญ.(2539).ประวัติอารยธรรมญี่ปุ่น.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์.

พระมหาสมจินต์ สมมาปัญโญ.(2551).พระพุทธศาสนาในจีน ทิเบต เวียดนาม ญี่ปุ่น.กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยรายวันการพิมพ์.

พรหมศักดิ์ เจิมสวัสดิ์.(2525).”อมิตาภะ” เมืองโบราณ.ฉบับที่ 2 (เมษายน-กรกฎาคม),73-82.

มาลินี คัมภีรญาณนนท์.(2532). ประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วิเชียร เพ็ชรพรประภาส. (ผู้แปล),(2540).สุขาวดียุวหสูตร.กรุงเทพฯ: ไม่ปรากฏโรงพิมพ์.

ฮาระดะ อายุมิ.(2554).“พระพุทธศาสนาและพุทธศิลป์ในประเทศญี่ปุ่น” งานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพ ไทย-ญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).

John M.Rosenfield et al.,(1986). “The Great Eastern Temples: Treasures of  Japanese Buddhist Art from Todai-ji” ,USA : Art Institute of Chicago.

Ooka Minoru.(1973). Temple of Nara and Their Arts. Japan.

Todai Ji Daibutsu The Great Buddha of Kamakura.Kamakura:Hobundo.

www.en.wikipedia.org/wiki/File:Asuka_dera_daibutsu.jpg (สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2557)

www.en.wikipedia.org/wiki/File:Postcard_Buddha.jpg (สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2557)

www.en.wikipedia.org/wiki/T%C5%8Ddai-ji (สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2557)

www.onmarkproductions.com/html/birushana.shtml (สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2557)

www.plungdham (สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2557)

www.yomiuri.co.jp/nanjo/nanjo50.htm (สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2557)

ขอขอบคุณ ห้องสมุดศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น อาคารเสริมมิตร ชั้น 10 ถนนอโศก สุขุมวิท กรุงเทพฯ เอื้อเฟื้อข้อมูลในการศึกษาค้นคว้า


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2563