“Howl’s Moving Castle” หนังสุดลึกซึ้งจากสตูดิโอจิบลิที่ครองใจแฟนมาอย่างยาวนาน

โซฟี ฮาวล์ บิน บน ท้องฟ้า Howl’s Moving Castle
Howl’s Moving Castle (ภาพจาก : ghibli.jp)

“Howl’s Moving Castle” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์” เป็นหนังสไตล์โรแมนติกแฟนตาซีที่ออกฉายในปี 2004 ดำเนินเรื่องราวโดยตัวละครอย่าง “โซฟี” และ “ฮาวล์” ด้วยความสนุกและเนื้อหาสุดแสนประทับใจ จึงทำให้มีผู้คนมากมายออกมาวิเคราะห์เรื่องราวในแบบฉบับของตนเอง ซึ่ง นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ก็ได้ถ่ายทอดความคิดของตนไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1,332 ปีที่ 29” ในบทความ “Howl’s Moving Castle : (2) อารมณ์ภายใน” ดังนี้

“เหตุเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในยุโรป ไม่ปรากฏชัดเจนว่าเป็นประเทศอะไร บ้างว่าอังกฤษ บ้างว่าเยอรมนี ข่าวแจ้งว่าทีมงานจิบลิสตูดิโอใช้เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในฝรั่งเศสเป็นตัวต้นแบบ เหตุเกิด ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอดีต ไม่ปรากฏชัดเจนว่าเมื่อไร เดาว่าประมาณตอนปลายของศตวรรษที่ 19

หญิงสาวอายุ 18 ชื่อโซฟี เป็นพี่สาวคนโต เธอเป็นคนเงียบ ๆ ออกจะเคร่งขรึม ขณะที่น้องสาวของเธอสวยกว่าและเก่งกว่า

โซฟีเป็นช่างทำหมวก เธอรับมรดกนี้มาจากบิดาผู้ล่วงลับ

วันหนึ่งโซฟีเดินไปหาน้องสาวชื่อ เล็ตตี้ ระหว่างทางเธอถูกทหารสองคนหยอกล้อ พลันปรากฏชายหนุ่มผมยาวสีทองหน้าตาดีมาช่วยเธอเอาไว้ เขาใช้เวทมนตร์อะไรสักอย่างจัดการทหารสองคนนั้นแล้วพาโซฟีเดินต่อไป

มนุษย์ร่างกายเป็นเมือกสีดำจำนวนมากไล่สกัดชายหนุ่มและโซฟีจนมุมกลางตรอก ชายหนุ่มจึงพาโซฟีหนีขึ้นท้องฟ้าไป

เมื่อโซฟีเล่าเรื่องนี้ให้เล็ตตี้ฟังในภายหลัง เล็ตตี้บอกเธอว่านั่นคือ ฮาวล์ พ่อมดที่ชอบขโมยหัวใจสาว ๆ 

คืนนั้นโซฟีเผชิญหน้ากับสตรีร่างใหญ่น่าเกลียดและอมนุษย์อีกสองตน ครั้งนี้เธอถูกสาปให้เป็นหญิงชราอายุ 90 ปี ที่แท้สตรีน่าเกลียดนั้นคือ แม่มดแห่งเวสต์แลนด์ คู่ปรับของฮาวล์ มันสั่งโซฟีไว้ด้วยว่าห้ามบอกใครเรื่องถูกสาป

โซฟีจึงเดินทางออกจากเมืองขึ้นภูเขาไปตามลำพัง ระหว่างทางได้พบกับหุ่นไล่กา เทอร์นิป และพบกับ ‘ปราสาท’ เดินได้นั้น ในที่สุดภายในปราสาท โซฟีได้พบกับผู้ช่วยของฮาวล์เป็นเด็กชายชื่อ มาร์คล์ และกองไฟพูดมากชื่อ แคลซิเฟอร์ แคลซิเฟอร์สัญญาว่าจะช่วยโซฟีให้พ้นจากคำสาปถ้าเธอจะช่วยยกเลิกพันธะระหว่างมันกับฮาวล์ แต่ห้ามถามว่าพันธะนั้นคืออะไร โซฟีรับคำ

จากวันนั้นโซฟีในคราบของหญิงชราก็พักอาศัยและทำหน้าที่แม่บ้านให้แก่ปราสาทเดินได้นั้น เธอพบว่าฮาวล์ออกไปทำสงครามและกลับมาในสภาพที่เหนื่อยแสนสาหัสทุกวัน ที่เธอไม่ทราบคือฮาวล์สู้รบในร่างของมนุษย์ปักษี

หญิงชราที่มีหญิงสาวติดอยู่ภายในจะรักกันกับพ่อมดหนุ่มรูปงานที่มีชื่อเสียงในทางไม่ดีได้อย่างไร 

โซฟีในร่างของหญิงชรายังคงบุคลิกภาพของโซฟีในวัยสาวเอาไว้ได้ โซฟีในวัยสาวเป็นพี่สาวคนโตที่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีตนเองเป็น แม้ว่าดูภายนอกเธอจะค่อนข้างนิ่งและไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส แตกต่างกับน้องสาวเล็ตตี้ราวฟ้ากับดิน แต่ก็เป็นความนิ่งที่มั่นคงมากกว่าที่จะซึมเศร้า

ในฉากที่เธอเผชิญทหารที่เข้ามาลวนลามเหินฟ้าไปกับฮาวล์ หรือปะทะคารมกับแม่มดแห่งเวสต์แลนด์ในร้าน เธอแสดงออกทางอารมณ์น้อยมาก แต่ก็เด็ดเดี่ยวอยู่ในที

จนกระทั่งถูกแม่มดร้ายโจมตี

โซฟีในวัยชราตื่นตระหนกกับภาพตนเองในกระจกเพียงช่วงสั้นๆ กระวนกระวายเดินไปมาสักพัก พอถึงรุ่งเช้าเธอก็ตัดสินใจไปจากเมือง คนที่มีบุคลิกมั่นคงจึงตัดสินใจเร็ว

โซฟีใช้เวลาไม่นานในการปรับตัวให้เข้ากับสังขารที่แก่ชราตัวงองุ้มเดินเหินไม่ถนัด เมื่อเธอเข้าไปในปราสาทของฮาวล์แล้วมองเห็นแมงมุมชักใยบนเพดาน เธอพูดว่า 

‘ข้อดีอย่างหนึ่งของคนแก่คือไม่มีอะไรเหลือให้กังวลมากนัก’ อันนี้แปลมาจากบทบรรยายไทยที่ปรากฏบนจอ

‘ข้อดีอย่างหนึ่งของคนแก่คือไม่มีอะไรเหลือให้แปลกใจมากนัก’ อันนี้แปลมาจากบทบรรยายอังกฤษที่ปรากฏบนจอ

‘One nice thing about getting old is that nothing frightens you’ อันนี้แปลมาจากบทภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์จัดพิมพ์โดยจิบลิสตูดิโอเอง โซฟีในวัยชราให้เสียงโดย ยีน ซิมมอนส์ แปลว่า ‘ข้อดีอย่างหนึ่งของคนแก่คือไม่มีอะไรทําให้กลัวอีกแล้ว’

ไม่รู้ว่าตอนเธอพูดภาษาญี่ปุ่นเธอพูดอะไรกันแน่

ถึงว่าก่อนจะซื้อดีวีดีดูตรวจสอบให้ดีว่ากำลังดูเวอร์ชั่นไหน หากไปพบเวอร์ชั่นพากย์อุบาทว์แปลอุบาทว์หรือบรรยายอุบาทว์ก็อย่าเพิ่งหยิบ

ประเด็นคือโซฟีปรับตัวเร็วกับทุกสถานการณ์เพราะบุคลิกภาพที่มั่นคง แต่ที่ไม่มั่นคงคืออารมณ์

อารมณ์กลายเป็นปัจจัยกำหนดรูปร่างลักษณะภายนอกของตัวละครสำคัญในหนังการ์ตูนเรื่องนี้

ตลอดทั้งเรื่องนับจากนี้ไปโซฟีจะเปลี่ยนวัยกลับไปกลับมาเป็นระยะ ๆ ช่วงสั้นบ้าง ช่วงยาวบ้าง บางครั้งแก่มากจนหลังงองุ้ม เห็นผิวหนังเหี่ยวย่นไปทั่ว บางครั้งแก่พอประมาณ แต่หลังยังค่อนข้างตรง บางครั้งโซฟีจะกลับเป็นสาวน้อยในร่างปกติและบางครั้งเธออยู่ในร่างสาวน้อยที่มีผมสีขาวของคนชรา 

ลองดูเถอะครับแล้วพยายามทำความเข้าใจว่าในรูปร่างเช่นนี้ เธออยู่ในสภาวะอารมณ์เช่นใด

หนังการ์ตูนเรื่องนี้บรรยายความแตกต่างระหว่างคำว่า affect หรือ mood หรือ emotion ได้ดีทีเดียว

สมมติฐานว่ามิยาซากิกำลังใช้อารมณ์กำกับรูปร่างภายนอกไม่น่าจะผิดเมื่อลองทวนสอบกับฮาวล์

ฮาวล์จะปรากฏตัวในหลายรูปร่างลักษณะ ตลอดทั้งเรื่อง ไล่ตั้งแต่ตอนต้นเรื่องเป็นหนุ่มรูปงามพาโซฟีเดินบนท้องฟ้าเหนือตลาดในยุโรปศตวรรษที่ 19 จากนั้นฮาวล์กลายเป็นมนุษย์ปักษีเข้าสู่สงครามเวหา ฮาวล์ในสภาพไปกลับจากสู้รบ ฮาวล์ในสภาพเปลี่ยนสีผม ฮาวล์ในสภาพเมือกสีเขียว และฮาวล์ในสภาพปักษายักษ์

ในการดูรอบแรกจะจับอารมณ์ของฮาวล์ได้ยากว่าเป็นอย่างไร เพราะคนเรามักดูหนังกันที่เนื้อเรื่องจึงเพ่งสมาธิดูให้รู้เรื่องมากกว่าอย่างอื่น

ในการดูรอบที่สองให้ใช้อารมณ์ดู เกาะอารมณ์ของตัวละครไปเรื่อย ๆ แล้วจะพบว่า หนังบางเรื่องให้ใช้อารมณ์ดูจึงจะรู้เรื่อง มิใช่เพียงดูให้ได้อารมณ์ แต่ให้ใช้อารมณ์ดู

ผมหลงใหลฉากห้องนอนของฮาวล์และฮาวล์ในสภาพหมดสิ้นทุกอย่างมีตุ๊กตาน่ารักและเครื่องรางของขลังรอบตัวในเวลาเช่นนั้น เขามิใช่พ่อมดหนุ่มผู้ควักหัวใจสาว ๆ มิใช่มนุษย์ปักษาหฤโหด และมิใช่ปีศาจ

แต่เป็นเด็กชายตัวน้อยในอ้อมกอดของมารดาหรือพี่สาวเช่นโซฟี

จะเห็นว่าโซฟีไม่เพียงทำหน้าที่เป็นคนรักของฮาวล์ตามท้องเรื่อง แต่ยังต้องทำหน้าที่พี่สาวและแม่ด้วย

มีอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดรูปร่างภายนอกของตัวละครนั่นคือเวทมนตร์

ฉากที่โซฟีสวมรอยเป็นมารดาของฮาวล์ไปเข้าเฝ้าพระราชา เธอเผชิญกับแม่มดแห่งเวสต์แลนด์และอมนุษย์สองตนอีกครั้ง โซฟีและแม่มดเคียงคู่กันเข้าสู่เขตอาคมของ แม่มดสุลิมาน (Suliman)

เขตอาคมที่คุ้มครองพระราชวังกดดันแม่มดแห่งเวสต์แลนด์ให้เปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างและเสียง เสียงของหล่อนพากย์โดยดารามากฝีมือ ลอเรน เบคอล ส่วนอมนุษย์นั้นแทบจะสลายไปเลย

ความหมายของมายาซากิคือที่แท้แล้วเวทมนตร์และอารมณ์เป็นเรื่องเดียวกัน สมมติฐานนี้ทวนสอบได้เมื่อดูฉากแม่มดโจมตีโซฟีในตอนต้นเรื่องอีกครั้ง และสามารถทดสอบได้หากดูหนังตลอดทั้งเรื่องจนถึงตอนจบ เมื่อคำสาปของโซฟีถูกถอนเปิดเผยสัญญาระหว่างแคลซิเฟอร์และฮาวล์ถูกถอน

สัญญาระหว่างแคลซิเฟอร์และฮาวล์ถูกเปิดเผย

ซึ่งเล่าถึงตรงนี้ไม่ได้ว่าสัญญานั้นคืออะไร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2566