รัชกาลที่ 6 มีรับสั่งถึงเบื้องหลังการประทับ “พระราชยาน” ที่ “…หาความสุขสบายมิได้เลย”

รัชกาลที่ 6 ประทับ พระราชยาน
รัชกาลที่ 6 ประทับพระราชยานที่เกยหน้าพลับพลาเปลื้องเครื่องวัดบวรนิเวศวิหาร

ปัจจุบัน การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ “พระราชยานพาหนะ” ที่ทรงใช้ คือ รถยนต์พระที่นั่ง, เครื่องบินพระที่นั่ง ฯลฯ ที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น หากย้อนกลับไปในอดีต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กลับมีรับสั่ง “ไม่มียานพาหนะใดที่จะนั่งด้วยอาการเป็นคิงค์แท้ๆ เท่า ราชยาน”

เรื่องเกี่ยวกับพระราชยานนี้ พระเสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) อดีตมหาดเล็ก สมัยรัชกาลที่ 6 บันทึกไว้ใน “อนุสรณ์ ‘ศุกรหัศน์’” (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์) ณ วัดมกุฏกษัตริยารม 20 มกราคม 2511) ว่า

Advertisement

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งกรมทหารรักษาวัง การเชิญ (แบก) พระราชยาน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทหารรักษาวังเป็นผู้เชิญ แทนข้าราชการกองอภิรมย์ราชยานที่รับผิดชอบงานดังกล่าว แต่ด้วยความตั้งใจที่จะแสดงถึงความเข้มแข็งแบบทหาร กลับ “ทำเอาในหลวงไม่ทรงสบายไปหลายวัน” ดังบันทึกว่า

“…แรกๆ เล่นกันทุลักทุเล…แกก็ตั้งใจจะให้เข้มข้นแข็งแรงอย่างทหาร…เดินพร้อมกันอย่างทหาร ทำเอาในหลวงไม่ทรงสบายไปหลายวัน ราชยานก็แกว่งไปตามจังหวะเดิน…หลับตานึกเอาว่า คนเดินอย่างทหารแบกสิ่งของไว้บนบ่า สิ่งของนั้นก็จะกวัดไกวไปได้อย่างไร ถึงปวดเมื่อย เพราะวิธีเดินเชิญราชยาน เขาไม่เดินเท้าพร้อม เขาต้องใช้วิธีเดินอย่างกิ้งกือเดิน…” 

นานเข้ากรมทหารรักษาวังคงจะชำนาญในการเชิญพระราชยาน หากก็ยังมีปัญหาจากตัวพระราชยานบางองค์ ดังที่จมื่นมานิตย์นเรศบันทึกไว้ว่า

“…ทรงเล่าอย่างขันๆ ว่า ไม่มียานพาหนะใดที่จะนั่งด้วยอาการเป็นคิงค์แท้ๆ เท่าราชยาน เพราะหาความสุขสบายมิได้เลย ทรงตรัสว่า ที่นั่งกว้างพอดีกับพระที่นั่ง (คือ ก้นของท่าน) ที่วางพระบาทมีเฉพาะเพียงพระบาททั้งคู่วางชิดๆ กันได้ไม่ตกแต่หมิ่นเต็มที่ บางทีต้องไขว้ และก็ต้องไขว้ซ้ายบนบ้าง ขวาบนบ้าง…สลับกันไปเช่นนี้ตลอดทาง ไม่มีทางทำอย่างอื่นได้…

สองข้างบัลลังก์ยังเป็นกระจังทำด้วยทอง บางทีแกะด้วยไม้มีกนกแหลมๆ เต็มไปหมด วางพระกรเข้าก็เจ็บ ไม่วางก็ไม่รู้จะวางที่ไหน ต้องทนขยับเขยื้อนได้ยากเต็มที เพราะที่จำกัด และลอยอยู่ด้วยพลังของคน ถ้าขยับเขยื้อนรุนแรงข้างล่างก็เดือดร้อน ดีไม่ดีพลิกคว่ำลงเป็นเสร็จ ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่…

ท่านว่าทูลกระหม่อม คือ หมายถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เคยสอนไว้ว่า นั่งราชยานต้องดัดทรงเป็นละคร คือ ดันกระเบนเหน็บให้ตัวตรง แล้วคิดดูซิ ประทับอยู่บนนั้นตั้งๆ ชั่วโมง

ท่านรับสั่งแล้วทรงยิ้มว่า เวลาประชาชนเขาแสดงความเคารพ ทั้งๆ ปวดเมื่อยและเป็นเหน็บก็ต้องแข็งพระราชหฤทัย ทรงยิ้ม ทรงยกพระคธาขึ้นรับเคารพ เพราะยิ้มของพระเจ้าแผ่นดิน คือ น้ำทิพย์ชโลมใจของประชาชน 

ท่านว่าถ้าจ้างกันละก็ วันละ 50 บาท (สมัยโน้น) ท่านก็ไม่เอา ต่อให้ร้อยก็ไม่รับประทาน แต่เป็นพระราชกรณียกิจแม้ให้ยากแสนยากเหนื่อยแสนเหนื่อยกว่านี้ก็ต้องรับทำ เพื่อประโยชน์สุขของทวยราษฎร์…”

ส่วนเบื้องหลังเมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว พระวรกายทรงเมื่อยล้าอย่างยิ่ง ดังที่จมื่นมานิตย์นเรศบันทึกไว้ว่า “มหาดเล็กผู้ถวายอยู่งาน เพราะจะได้ยินแต่พระสุรเสียงว่า เอาตรงนี้หน่อย คือที่บั้นพระองค์ ที่พระชาณุ (ขา) เป็นต้น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2567