จักรพรรดิญี่ปุ่นยกพระราชธิดาให้ ร.6 (?) ไทยเกือบมีพระราชินีเป็นราชนารีแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ แห่ง ญี่ปุ่น
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ขวา) สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ แห่งญี่ปุ่น

ข่าวลือในอดีต เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ พระจักรพรรดิญี่ปุ่น ยกพระราชธิดาให้ รัชกาลที่ 6 ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และมีโอกาสได้เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น

มกุฎราชกุมารผู้ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าแผ่นดินสยาม เกือบได้เป็น “เขย” จักรพรรดิญี่ปุ่น?

เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชและทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. 2446 จากนั้นได้เสด็จกลับพระนครโดยผ่านทางตะวันตก ประเทศสหรัฐอเมริกา ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะวกลงมายังสยาม

แต่ในระยะหนึ่งเดือนที่ทรงประทับดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้เกิด “ข่าวลือ” หนาหูว่า ทรงเสกสมรสกับ “ราชนารีญี่ปุ่น” ข่าวลือนี้แพร่สะพัดมาถึงประเทศสยาม และดูเหมือนจะลือกันระดับสากล ณ ห้วงเวลานั้นด้วย

หลักฐานที่พอจะไขความกระจ่างเรื่องนี้ได้ อยู่ในบันทึกของ พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ผู้ไปรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชถึงญี่ปุ่น ท่านเล่าว่า ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ถามท่านถึงเรื่องนี้ว่าจริงหรือไม่ที่ “พระจักรพรรดิญี่ปุ่น” จะถวายพระราชธิดาแก่สมเด็จพระบรมฯ

ท่านก็ตอบว่า จริงตามนั้น

สำหรับเราท่านทั้งหลายในปัจจุบันย่อมตระหนักได้ว่า คงมีเหตุบางประการทำให้การเสกสมรสระหว่างรัชกาลที่ 6 กับราชนารีญี่ปุ่นมิได้เกิดขึ้น เพราะไม่ปรากฏว่าพระองค์ทรงมีคู่สมรสเป็นชาวญี่ปุ่นในรายนามพระมเหสีในรัชกาลที่ 6 แต่อย่างใด… เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้นกันแน่?

ต้องขอบคุณที่พระยาประดิพัทธภูบาลท่านเล่าเพิ่มเติมไว้อย่างครบถ้วน ในบันทึกข้างต้นซึ่งปรากฏในหนังสือ เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ ที่จัดพิมพ์ในงานศพของท่าน (พ.ศ. 2508) ให้รายละเอียดไว้ ดังนี้

“สมเด็จพระบรมโอรสฯ เสด็จญี่ปุ่น สมเด็จพระบรมโอรสธิราชทรงสำเร็จการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ได้เสด็จนิวัตพระนครทางอเมริกา มีพระบรมราชโองการให้ข้าพเจ้า (พระยาประดิพัทธภูบาล-ผู้เขียน) ไปรับเสด็จที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ท่านประทับที่นั่นประมาณหนึ่งเดือนเศษ

ระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรส (รัชกาลที่ ๖) ประทับอยู่ที่ญี่ปุ่นนี้ วันหนึ่งอธิบดีกระทรวงวังมาบอกข้าพเจ้าว่า โดยคำสั่งของเอ็มเปอเรอ (สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ-ผู้เขียน) พระองค์จะถวายพระธิดาองค์หนึ่งในสามพระองค์แก่สมเด็จพระบรมราชโอรส พระธิดาสาวทั้งสามนี้ มิใช่พระธิดาของเอ็มเปรส แต่เรียกเอ็มเปรสเป็นพระมารดา ส่วนเอ็มเปรสไม่มีพระธิดา พระธิดาทั้งสามจะเสด็จประพาสสวน ให้เชิญเสด็จพระบรมโอรสไปทรงเลือกตามพระทัย แต่ให้คนตามเสด็จได้คนเดียวเท่านั้น  คือตัวข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าดีใจที่จะได้ไปชมด้วย แต่สมเด็จพระบรมโอรสรับสั่งว่า ‘ไม่ได้ กลับไปบอกเขาเถอะว่าเรายังเด็กนักที่จะมีภรรยา’ ข้าพเจ้ากราบทูลว่า ‘ทำไมไม่เสด็จเพราะเป็นโอกาสดี’ ทรงตอบว่า ‘ลิ้นกับฟันยังรู้จักกระทบกัน ถ้าเราเอาลูกสาวเขามาเดี๋ยวเกิดทะเลาะกัน เขาบอกให้พ่อเอาเรือรบมาเมืองเราสัก ๒ ลำ เราก็แย่เท่านั้น”

หากเป็นจริงดังเจ้าคุณประดิพัทธฯ เล่า (ซึ่งก็น่าจะจริง) แปลว่าข่าวลือรัชกาลที่ 6 กับราชนารีญี่ปุ่นเป็นเรื่องจริงแน่ เพราะมาจากปากคำผู้ใกล้ชิด แต่รัชกาลที่ 6 ทรงปฏิเสธไมตรีนี้ของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ด้วยเหตุผลว่าพระองค์ยังไม่พร้อม และทรงเกรงว่าชีวิตคู่ที่อาจไม่ราบรื่นไปเสียทั้งหมดจะนำไปสู่ปัญหาระหว่างสองแผ่นดินได้

“การเลือกคู่” จึงไม่เกิดขึ้น

ยังมีอีกหนึ่งเรื่องเล่าลือน่าสนใจที่ (อาจ) มีส่วนทำให้ข่าวลือดังกล่าวเป็นที่กล่าวขานไปทั่วเช่นกัน โดย ลาวัณย์ โชตามระ ได้เล่าไว้ในหนังสือ รักแรกของรัชกาลที่ 6 (สนพ. ดวงกมล, 2524) มีความตอนหนึ่งว่า

“ต้นเหตุนั้นมีอยู่ว่า เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว ได้เสด็จกลับทางประเทศอเมริกา และทรงแวะเยือนประเทศญี่ปุ่นด้วยระยะหนึ่ง ในระหว่างที่เสด็จประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้ทรงเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ และทรงพบปะกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นหลายพระองค์ด้วยกัน… ทรงแต่งองค์แบบญี่ปุ่นและทรงฉายพระรูปไว้เป็นที่ระลึก

แต่ที่พิเศษกว่านั้นก็คือ ยังทรงแต่งพระองค์เป็นสตรีญี่ปุ่น ทรงช้องผมอย่างสตรีสาว ทรงสวมกิโมโนและคาดโอบิครบครัน พระหัตถ์ทรงถือพัดและทำท่าตามแบบราชนารีญี่ปุ่นที่ทรงได้พบปะสมาคมมา และเพราะว่ารูปนั้นมีลักษณะงามแช่มช้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงใส่กรอบไว้

และนี่เองจึงกลายเป็นข่าวลือว่า สมเด็จพระบรมฯ ของไทยจะทรงมี ‘ข้างใน’ เป็นเจ้าหญิงญี่ปุ่น เรื่องที่ลือกันนี้ ถึงกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระพันปีทรงซักไซ้ไล่เลียงอย่างหนักหนา และสมเด็จพระบรมฯ ก็ได้กราบทูลความจริงให้ทรงทราบโดยละเอียด”

เป็นอันว่าข่าวลือเรื่อง รัชกาลที่ 6 กับราชนารีญี่ปุ่น มีทั้งบันทึกของผู้ตามเสด็จใกล้ชิดและความเข้าใจผิดที่แต่งเติมเสริมเรื่องกันไป

ท้ายที่สุดคือ การ “ดอง” ระหว่างราชวงศ์จักรีกับราชวงศ์ยามาโตะแห่งญี่ปุ่นมิได้เกิดขึ้น น่าคิดอยู่ไม่น้อยเช่นกันว่าหากวันนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาฯ ทรงรับไมตรีของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรหรือหน้าประวัติศาสตร์หลังจากนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว. (2566). ก้นครัวชีวิต. เพชรบุรี : พื้นภูมิเพชร.

ลาวัณย์ โชตามระ. (2524). รักแรกของรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : ดวงกมล.

ประดิพัทธภูบาล, มหาอำมาตย์ตรี พระยา. (2508). เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ. หนังสืออนุสรณ์งานศพวัดบวรนิเวศวิหาร ในงานสตมวารศพ พระยาประดิพันธภูบาล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2567