ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ระหว่างทรงมี “ความรัก”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระชนมายุ 30 พรรษา ทว่ากลับยังไม่ทรงมี “ความรัก” หรือคู่ครองเลย จนพระบรมราชชนนีของพระองค์ ยังตรัสว่าให้พระองค์ทรงเลือกคู่เสีย จนเมื่อทรงมีพระชนมายุ 40 พรรษา ก็มี “ข่าวดี” เกิดขึ้นในพระราชสำนัก
ความรักครั้งแรกในรัชกาลที่ 6
เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงมี “ความรักครั้งแรก” กับ หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล วรวรรณ (ภายหลังพระราชทานพระนามใหม่ “วัลลภาเทวี”) พระชันษา 28 ปี พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระยศขณะนั้น)
หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2463 ในงานประกวดภาพเขียน ที่โรงละครพระราชวังพญาไท และพระองค์รับสั่งชวนหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลแสดงละครเรื่อง “โพงพาง” ละครเรื่องแรกที่ทรงใช้ผู้แสดงเป็นชายจริงหญิงแท้ ทรงให้หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลทรงแสดง “คุณหญิงสมุทรโยธิน” และพระองค์ทรงแสดงเป็น “พระยาสมุทรโยธิน” จากนั้นหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลก็ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์อีกหลายครั้ง
แล้วข่าวดีในพระราชสำนักก็ประกาศอย่างเป็นทางการ มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 ว่า
“…ด้วยข้าพเจ้ามีประสงค์ต่อไป ว่าจะให้ทำพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสด้วยกับหม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ข้าพเจ้าได้ทราบอยู่ในใจอันฤกซึ้งแล้ว ว่าการที่ข้าพเจ้าได้กระทำมั่นสัญญาอย่างนี้เป็นการสําคัญใหญ่ยิ่งนัก…”
ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี เป็น “พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี”
ความรักนี้ของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจให้เกี่ยวกับงานพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น ทรงปรับปรุงพระราชนิพนธ์บทละครร้องเรื่อง “ศกุนตลา” สำนวนที่ 3 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 เป็นสำนวนที่ 4 พระราชทานหม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี ดังพระราชหัตถเลขา (ดูภาพประกอบ 1), ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ตามใจท่าน” ซึ่งทรงค้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2461 ต่อ แต่ก็ยังไม่เสร็จ, ทรงพระราชนิพธ์ “ธรรมาธรรมะสงคราม” ที่ค้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2461 แล้วเสร็จลงในระยะนี้ ฯลฯ
ทว่า หลังจากพระราชพิธีหมั้นได้ 4 เดือน ก็มีประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2463 ยกเลิก ดังความตอนหนึ่งว่า
“…มีความเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาทรงทราบตระหนักแน่ชัดขึ้นว่า การจะไม่เป็นไปได้โดย เรียบร้อยสมพระราชประสงค์อันดีที่กล่าวมาแล้ว เพราะเหตุที่พระราชอัธยาศัยและพระอัธยาศัยของพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี มิได้ต้องกัน…
และโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกข้อความตามประกาศพระราชพิธีมั่น ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2463 นั้นเสีย และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาคำนำพระนามแทนคำ ‘พระวรกัญญาปทาน’ นั้น เปลี่ยนเป็น ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี’ ”
พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ช่วงความรักหลังจากนั้น
ความรักครั้งที่ 2 ของพระองค์ เกิดกับหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ (ภายหลังพระราชทานพระนามใหม่ว่า “หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ”) พระชันษา 21 ปี ซึ่งได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่ 6 ณ โรงละครพระราชวังพญาไท พร้อมๆ พระเชษฐภคินี (หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล) และพระองค์ทรงชักชวน หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ แสดงละครพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น เป็นเจ้าหญิงอันโดรเมดา นางเอกในเรื่อง “วิวาหพระสมุท” และเป็นเจ้าหญิงแอนเจลา ในเรื่อง “กุศโลบาย” ฯลฯ
รัชกาลที่ 6 พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์พร้อมด้วยลายพระราชหัตถ์ ว่า “ให้แม่ติ๋ว [พระนามเล่นของ หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ] พร้อมด้วยดวงจิต ขอฝากชีวิตและความสุขไว้ด้วย”
หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ ทรงพระนิพนธ์ทูลเกล้าฯ ถวายว่า
“อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้ หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต
อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด ขอถวายไม่คิดขัดจำนง
อะไรเป็นความสุขสราญวานรับสั่ง จะถวายได้ดังประสงค์
ขอแต่เพียงทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย”
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ เป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ” (4 เมษายน พ.ศ. 2464) ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระบรมราชโองการ ว่า
“ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณรับราชการฉลองพระเดชพระคุณเป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังมีความแจ้งในประกาศพระบรมราชโองการวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2464 นั้นแล้ว บัดนี้ได้ทรงพระราชวินิจฉัยแล้วว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเศกสมรส ณ เบื้องน่า จึงเป็นการสมควรที่จะยกย่องพระเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระวรวงศ์เธอพระองค์นั้น มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ…”
แม้ความรักในครั้งนี้จะจบลงในระยะเวลาสั้น แต่ก็ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ที่ทรงค้างอยู่ ได้แก่ “ตามใจท่าน” แล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์ “สักรวาชายทะเล”, ทรงแปล “คดีลึกลับแห่งพระมหานคร”, ทรงพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง “กุศโลบาย” แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงแสดงเป็นนางเอก
ความรักครั้งที่ 3 ของพระองค์เกิดขึ้นกับ คุณประไพ สุจริตกุล ธิดาที่เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) ได้นำเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2464 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้คุณประไพแสดงโขนพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “นางลอย” ซึ่งทรงพอพระราชหฤทัย ภายหลังจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2464 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น พระอินทราณี พระสนมเอก
ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี” และ “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี” ตามลำดับ
ผลงานพระราชนิพนธ์ที่ได้แรงผลักดันจากความรักในครั้งนี้ ได้แก่ พระราชนิพนธ์แปลบทละคร “โรเมโอและจูเลียต” ของ วิลเลียม เช็กสเปียร์ ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแด่ พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิขจี, พระราชนิพนธ์ บทละครคำฉันท์ “มัทนะพาธา” พระราชทานสมเด็จพระนางเจ้า อินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ฯลฯ
ความรักครั้งสุดท้ายของรัชกาลที่ 6 เกิดกับ คุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ธิดาพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) ซึ่งได้มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับคุณเครือแก้ว ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็ฯ “พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี”
เมื่อ เจ้าจอมสุวัทนาจะมีงานฉลองอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (16 เมษายน พ.ศ. 2468) รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พิมพ์พระราชนิพนธ์ 2 เรื่อง คือ “พญาราชวังสัน” และ “สามัคคีเสวก” พระราชทานแด่เจ้าจอมสุวัทนา ส่วนพระราชนิพนธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่ สาวิตรี, ปรียทรรศิกา, เสภาเรื่อง “พญาราชวังสัน”, พระราชนิพนธ์แปล “มัทนะพาธา” ฯลฯ
เหล่านี้คือ พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ระหว่างทรงมี “ความรัก”
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 6 ทรงถูกเกณฑ์ให้ “เลือกคู่” กับเจ้าฟ้าหญิงที่ได้รับเลือก
- คำเล่าลือรัชกาลที่ 6 “มีพระชายาไม่ได้” และคำอธิบายจากเจ้านายที่ถวายรับใช้ใกล้ชิด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
บัว ศจิเสวี. “แม้ทรงมีความรักสักอีหน กวีนิพนธ์จักล้นแหล่งสยาม” ใน, วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 4, 11 พฤศจิกายน 2526
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2565