“กรมทหารรักษาวัง” กองกำลังส่วนพระองค์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ ร. 6 ทรง “ไม่มั่นใจ” ทหารในกองทัพ

กบฏ ร.ศ. 130 กรมทหารรักษาวัง
กบฏ ร.ศ. 130 ที่มาของ กรมทหารรักษาวัง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจทาง “การทหาร” หลายกิจการ เช่น การก่อตั้งกองเสือป่า ราชนาวีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ การนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 การสถาปนา “กรมทหารรักษาวัง” เป็นต้น

หลังการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติไม่นานนัก ทหารจำนวนหนึ่งได้รวมกลุ่มกันก่อการกบฏ ที่รู้จักในนาม “กบฏ ร.ศ. 130” แม้จะดำเนินการไม่สำเร็จ แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในพระราชบัลลังก์ ด้วยเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์และสถาบันถูกท้าทายพระราชอำนาจจากสามัญชน

Advertisement

รัชกาลที่ 6 ทรงไม่แน่พระราชหฤทัยต่อความจงรักภักดีของทหารในกองทัพ เพียง 3 เดือนหลังการกบฏ จึงทรงสถาปนากรมทหารรักษาวังขึ้น เพื่อถวายความปลอดภัยเป็นการส่วนพระองค์ แทนที่ทหารจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

กรมทหารรักษาวังที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ แบ่งออกเป็น 2 กองพัน คือ กองพันที่ 1 ประจำการอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง และกองพันที่ 2 ประจำการอยู่ที่พระราชวังดุสิต มีสมุหราชองครักษ์เป็นผู้บังคับการ ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ ใช้เงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินงบประมาณสำหรับบริหารกิจการภายในกรม สายการบังคับบัญชาของกรมทหารรักษาวังแยกออกจากกระทรวงกลาโหม แต่กรมทหารรักษาวังได้ทำการเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับกองทัพบก

ส่วนกำลังพลนั้นโอนย้ายจากข้าราชบริพารสังกัดกรมวังนอกเดิม และนายทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหมบางนาย โอนย้ายมาสังกัดกรมทหารรักษาวัง นอกจากนี้ยังมีข้าราชการในพระราชสำนัก รวมทั้งมหาดเล็กในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมัครเข้าเป็นทหารรักษาวัง

ด้วยพระราชประสงค์ให้กรมทหารรักษาวังทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยและเป็นกองทัพส่วนพระองค์ ผู้บังคับบัญชาของกรมทหารรักษาวังจึงเป็นบุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย หรือทำงานรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ เช่น พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ)-จเรทหารรักษาวัง พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แมค เศียนเสวี)-รองจเรทหารรักษาวัง หรือพระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)-ผู้บังคับการกรมทหารรักษาวัง เป็นต้น

เมื่อสิ้นรัชสมัยแล้ว กรมทหารรักษาวัง ตกอยู่สภาพเดียวกับกองเสือป่าที่กลายเป็นส่วนเกินของระบบราชการ ทั้งรัชกาลที่ 7 ทรงลดความสำคัญของ กรมทหารรักษาวังลง ด้วยการลดทอนอัตรากำลังพลของกรมทหารรักษาวัง และเมื่อเข้าสู่ยุคคณะราษฎร กรมทหารรักษาวังก็ยุบเลิกไปด้วยหน่วยทหารภายใต้สังกัดของกองทัพบกแทน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เทพ บุญตานนท์. “ ‘กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ : พลเรือนในเครื่องแบบทหาร” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2567