ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
สมัยรัชกาลที่ 6 ทางการเตรียมจัด “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นการแสดงสิ่งของต่างๆ ของประเทศสยาม ทำนองเดียวกับงานเอ็กซ์โปของต่างประเทศ โดยเป็นความตั้งพระทัยของ รัชกาลที่ 6 ที่ทรงต้องการให้ประชาชนได้เปิดโลกทัศน์ จึงทรงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดงาน และสถานที่จัดงาน
สถานที่จัดงานที่กำหนดไว้คือ “ทุ่งนาขนาดใหญ่” ข้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตำบลศาลาแดง อันเป็นที่ดินส่วนพระองค์ เคยใช้เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลมาแล้ว
บริเวณดังกล่าวรู้จักกันในปัจจุบันว่า “สวนลุมพินี” ด้วยรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า เมื่อจัดงานเสร็จแล้ว จะพระราชทานให้เป็น “สวนสาธารณะ” สำหรับประชาชนเข้าไปพักผ่อน
รายละเอียดของเรื่องนี้ เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2563 เคยเขียนไว้ในบทความชื่อ “งานใหญ่ที่ไม่ได้จัด สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ 2468” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับเดือนกันยายน 2545) ตามวิสัยของเอนกที่สะสมหนังสือเก่าและของเก่าไว้จำนวนมาก
ครั้งนี้ เขาได้ข้อมูลจาก หนังสือพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 6 หัวข้อกำเนิดสวนลุมพินี เขียนโดยจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) กับหนังสือที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์สวนลุมพินี พระพุทธศักราช 2468
สยามรัฐพิพิธภัณฑ์
การจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะฝืดเคือง อันเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เพิ่งยุติ ค่าใช้จ่ายในการจัดงานส่วนหนึ่งจึงมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดย กำหนดเปิดงานคือ หน้าหนาว ในวันที่ 23 มกราคม 2468 (ถ้านับอย่างปัจจุบันจะเป็น พ.ศ. 2469)
จุดประสงค์ของการจัดงานนี้ เพื่อเป็นการเปิดหูเปิดตาประชาชนที่มาชมงาน เกิดความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์ผลงาน และเพื่อฉลองการครองราชย์ 15 ปี ของรัชกาลที่ 6
หนังสือพิมพ์เลอสยาม ฉบับวันเสาร์ที่ 10 และ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2468 ลงประกาศของสำนักงานหอหัตถกรรมแห่งสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ แจ้งหมวดของที่จะแสดงออก 11 หมวด ดังนี้
- การทำกระดาษ ได้แก่ งานเกี่ยวกระดาษทุกชนิด เช่น กระดาษเขียนหนังสือ ซองหนังสือ การตีพิมพ์ และการเย็บสมุด, หนังสือพิมพ์, ภาพการ์ตูน ภาพสำหรับพิมพ์ในสมุด ฯลฯ
- รูปถ่ายต่างๆ ทั้งที่ถ่ายบนกระดาษ, บนผ้า และบนลายคราม ฯลฯ
- เครื่องดนตรีและเครื่องละครที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ฉาก, เครื่องแต่งตัว, หัวโขน ฯลฯ
- การช่างประณีตต่างๆ ได้แก่ ของใช้ เครื่องประดับ พระพุทธรูป ที่ทำด้วย ทองคำ, เงิน, ทองขาว, เพชร, เครื่องลงยา เครื่องรัก เครื่องปั้นเครื่องเคลือบ ฯลฯ
- เครื่องเรือนและเครื่องช่างไม้ ได้แก่ เครื่องเรือนและของใช้ที่ทำด้วยไม้, เครื่องจักสานจากไม้ไผ่และหวาย, เครื่องจับสัตว์น้ำ สัตว์บก รวมถึงกรงสำหรับขังที่ทำจากไม้
- เครื่องปั้นดินเผาไม่ประณีต เครื่องดินเผา ได้แก่ อิฐ, กระเบื้อง, ท่อ, โอ่ง, ปูนขาว, ซีเมนต์, ถ่าน, เครื่องทำด้วยแก้วทุกชนิด หมวดนี้ยังรวม เครื่องเหล็กและส่งของที่ทำจากโลหะ เช่น มีด, ดาบ, ก๊อกน้ำ, ตะปู, โซ่, อาวุธยุทธภัณฑ์ ฯลฯ
- การทอต่างๆ เช่น ทอผ้า, ทอกระสอบ ด้วยไหม, เส้นป่าน, ปอ, ขนสัตว์, เชือก ฯลฯ
- เครื่องหนัง
- เครื่องกิน เครื่องดื่ม และยาสูบ
- หัตถกรรมที่ใช้วิชาเคมิสตรี
- การทำยานพาหนะ
โดยกำหนดว่าสิ่งของใด ที่ควรจะเอามาร่วมงานนั้น “มิใช่เพียงแต่แสดงให้คนดูอย่างเดียว เปนการประกวดเอารางวัลด้วย”
ขณะที่ทางการกำลังปรับพื้นที่ทุ่งนาให้เป็นสถานที่จัดงาน มีการขุดดินเป็นสระน้ำ สร้างเกาะ สร้าง สะพาน ทำถนน สร้างศาลา ลงต้นไม้กันอย่างขะมักเขม้นอยู่ ก็เกิด “ข่าวร้าย” ของประเทศขึ้น คือ รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ก่อนกำหนดจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์
งานเอ็กซ์โปอันยิ่งใหญ่จึงเป็นอันต้องเลิกล้ม ส่วนทุ่งนาติดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ให้ดำเนินการจัดสร้างต่อไปจนกว่าจะสำเร็จตามพระราชประสงค์ของ รัชกาลที่ 6 พระบรมเชษฐาธิราช ที่ต้องการให้เป็น “สวนสาธารณะ” สำหรับประชาชน หลังเสร็จงาน
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2566