ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“สวนลุมพินี” ทุกวันนี้มีต้นไม้ร่มรื่น มีสระน้ำขนาดใหญ่ ให้ทุกคนได้เข้ามาพักผ่อน สูดลมหายใจได้เต็มปอด แต่ถ้าย้อนไปเมื่อเกือบร้อยปีก่อนแล้วล่ะก็ หากสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ อาจถึงขั้นอาเจียนได้ เพราะ “กรมนคราทร” เคยใช้สวนลุมพินีเป็นที่ทิ้งขยะแหล่งใหญ่มาก่อน!
ขยะและน้ำเสียเป็นปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานครมาตลอดก็ว่าได้ ปรากฏข้อมูลในปี 2441 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า ใน 1 วัน เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมขยะได้ราว 13 ตัน
ต่อมาราวปี 2460-2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขยายเขตสุขาภิบาลให้ครอบคลุมสำเพ็ง เยาวราช ปริมาณขยะที่เก็บได้ต่อวันก็เพิ่มเป็น 155 ตัน
ขยะสมัยนั้นจัดเก็บและกำจัดอย่างไร? คำตอบคือ นำไปถมตามคูคลอง พื้นที่ที่เป็นหลุมบ่อ หรือตามที่ลุ่มที่ต่ำในแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยต่างๆ นั่นเอง
ในทศวรรษ 2460 ขยะที่รวบรวมได้จากตอนเหนือของพระนคร ถูกนำไปถมบริเวณถนนราชดำเนิน ขยะจากตอนกลางของพระนคร เอาไปถมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขยะจากตอนใต้ของพระนคร เอาไปถมที่วัดดอน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชุมชนละแวกนั้นอย่างมาก เป็นต้น
ไม่เพียงขยะจะส่งกลิ่นเหม็น ชวนอาเจียน แต่ยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหลายอย่าง กลายเป็นปัญหาสุขอนามัยเพิ่มมาอีกหนึ่ง
ทิ้งขยะที่สวนลุมพินี
ปี 2470 ชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่บนถนนวิทยุ เข้าชื่อกันร้องเรียนว่า กรมนคราทร ได้ขนขยะไปเทที่สระใหญ่ใน “สวนลุมพินี” ริมถนนวิทยุ ทำให้น้ำในสระเน่าเหม็น มีลูกน้ำเต็มสระ และขยะจำนวนมากนี้ก็ไปปิดทางน้ำไม่ให้ไหลลงคลองเหมือนก่อน เกิดน้ำเน่าเสียเพิ่มขึ้นอีก
สระน้ำในสวนลุมพินีมีขนาดใหญ่มาก จึงเป็นแหล่งทิ้งขยะได้เรื่อยๆ ทิ้งไปทิ้งมากว่าจะเต็มก็ 2 ปีกว่า ระหว่างนั้นชาวตะวันตกทนไม่ไหว ทยอยหนีจากพื้นที่กันหลายคน รวมทั้ง เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ตัวแทนผู้เขียนจดหมายร้องเรียน ก็ยังต้องย้ายออก
พอถามไปยังกรมนคราทรก็ได้รับคำอธิบายว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “เยเนอราล แปลน” (general plan) เพื่อสร้างสนามโปโล แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะไม่มีที่ทิ้งขยะ เพราะที่ดินในจุฬาฯ พอถึงหน้าฝน รถเข้าไปไม่ได้
ต่อมา มีจดหมายชี้แจงจากเสนาบดีมหาดไทยบอกว่า ได้พิจารณาเป็นอย่างดีแล้ว ถึงได้เอาขยะไปทิ้งที่สวนลุมพินี แล้วคนที่โดนกลิ่นเหม็นจากลมขยะก็ถือว่าเป็นจมูกส่วนน้อย แต่บังเอิญเป็นจมูกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตและฝรั่ง
เมื่อเวลาผ่าน บ้านเมืองขยายตัว มีการจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบมากขึ้น การนำขยะไปทิ้งตามสถานที่ดังกล่าวจึงหมดไป
อ่านเพิ่มเติม :
- “สวนลุมพินี” สวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ กับที่มาของชื่อ “ลุมพินี”
- “ถนนสีลม” มาจากไหน??
- “บางรัก” ทำเลทองนอกกำแพงพระนคร ที่ฝรั่งต่างชาตินิยม
อ้างอิง :
ผศ. ดร. นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “นาสิกประสาตภัย: ประวัติศาสตร์ของกลิ่นเหม็นในเมืองกรุงเทพฯ”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม ปี 2562.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2567