“ถนนสีลม” มาจากไหน??

คนมากมาย บน ถนนสีลม บางรัก กรุงเทพ ในเทศกาลสงกรานต์
ถนนสีลม บางรัก กรุงเทพ ในเทศกาลสงกรานต์ (ภาพโดย trungydang ใน panoramio.com สิทธิ์การใช้งาน CC BY 3.0) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

ความเป็นมาของถนนทุกสายรวมทั้ง “ถนนสีลม” 1 ใน 3 ถนนแรกที่ก่อสร้างขึ้นในพระนครรัตนโกสินทร์ย่อมผูกพันอย่างแยกไม่ออกจากจุดที่ตั้งแรกเริ่มของ “กรุงเทพฯ” อันเป็นเมืองท่า ศูนย์กลางการค้าและการปกครองของชาวบางกอก ตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงเลือกที่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตามชัยภูมิ “นาคนาม” ในตำราพิชัยสงครามคือมีน้ำโอบรอบภูเขา หรือถ้าไม่มีภูเขาหรือมีน้ำโอบรอบก็ได้

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราษฎรกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองซึ่งเอื้อต่อการดำรงชีพหลายอย่าง คูคลองเหล่านี้ได้ขุดเชื่อมต่อเข้าไปถึงเขตเมืองชั้นในอย่างสะดวก ในขณะที่การค้าขายกับโลกภายนอกนั้นก็สะดวกทุกประการ ด้วยเรือสำเภาสามารถเข้าเทียบท่าได้ถึงปากเจ้าพระยา แม่น้ำสายสำคัญ

เมื่อการค้าขายกับต่างชาติเกิดขึ้น ชุมชนคนต่างชาติก็เกิดตามมา ชุมชนชาวตะวันตกเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในการปลูกฝังความรู้ ตลอดจนศิลปวิทยาการสมัยใหม่ต่างๆ ให้กับคนไทย และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดถนนหนทางขึ้นในสยามประเทศ แทนการใช้คูคลองเป็นเส้นทางสัญจรคมนาคม

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 พ่อค้าและกงสุลต่างประเทศได้ร่วมกันยื่นเรื่องต่อกรมท่า ขอให้รัฐบาลสร้างถนนในพระนคร เพราะชาวยุโรปที่เคยขี่ม้าตากอากาศพากันเจ็บไข้เนืองๆ ด้วยเหตุว่าพระนครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่ม้าขี่รถไปเที่ยว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเห็นสมควรให้สร้างถนนหนทางขึ้นตามแบบบ้านเมืองในยุโรป เพื่อให้บ้านเมืองงดงามเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม เป็นแม่กองทำงานก่อถนนขึ้น

ถนนสีลม
ภาพถนนสีลมในปัจจุบัน

ถนนที่สร้างในคราวนั้นมี 3 สายคือ ถนนเจริญกรุง (ตอนนอก) ถนนหัวลำโพง และ ถนนสีลม เฉพาะถนนสีลมนั้น ได้มาจากการขุดคลองขวางจากบางรักไปถึงคลองถนนตรง ณ ศาลาที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) สร้างไว้ จากนั้นได้ทำถนนขนานคลองนี้ทางทิศใต้

ถนนสีลมเดิมชาวบ้านเรียกชื่อว่า “ถนนขวาง” ซึ่งเป็นคันดินที่เกิดจากการขุดคลอง เพื่อเชื่อมคลองบางรักกับคลองถนนตรง คันดินกลายเป็นถนน ชาวต่างประเทศได้นำเครื่อง สีลม ซึ่งใช้สำหรับการวิดน้ำมาติดตั้งที่ถนนขวาง โดยที่บริเวณทั่วไปยังเป็นทุ่งนาโล่ง เครื่องสีลมวิดน้ำจึงดูเด่น และกลายเป็นชื่อเรียกของถนนสีลมมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่สร้างถนนทั้ง 3 สายนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงชักชวนให้ขุนนางเจ้าสัวและผู้มีทรัพย์ต่างๆ ร่วมกันสร้างสะพานข้ามคลองที่ถนนทอดผ่าน เพื่อให้สามารถใช้เส้นทางคมนาคมได้อย่างสะดวกขึ้น

ถนนที่เกิดขึ้นในคราวแรกนั้น จึงเชื่อมการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำของกรุงเทพฯ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ จนมีผู้กล่าวว่าเป็นลักษณะ “ถนนน้อง-คลองพี่” เลยทีเดียว

ต่อมามีการสร้างถนนเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตัดถนนถึง 18 สาย เมื่อ พ.ศ. 2434 จากนั้นก็เกิดชุมชนรายทางถนนตามมา โดยพระคลังข้างที่จะชักชวนให้เจ้าของริมถนนออกทุนสร้างตึกแถวให้เป็นระเบียบแบบแผนเดียวกัน เพื่อให้เช่าทำการค้าริมถนน จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของย่านธุรกิจในเวลาต่อมา มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงปัจจุบันคือ ริมถนนบำรุงเมือง เฟื่องนคร ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนิน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “วันวาน…กับวันนี้ของถนนสีลม” เขียนโดย สุมิตรา จันทร์เงา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2536


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2562