“สวนลุมพินี” สวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ กับที่มาของชื่อ “ลุมพินี”

สวนลุมพินี สยามรัฐพิพิธภัณฑ์
สวนลุมพินี (ภาพจาก pixabay.com - public domain)

“สวนลุมพินี” เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดพระราชทานที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ณ ตําบลศาลาแดง จํานวน 360 ไร่ มีพระราชประสงค์ให้จัดเป็นสวนพฤกษชาติสาธารณะ มีเครื่องเล่นและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่น สนามฟุตบอล สนามเด็ก สระว่ายน้ำ เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยได้มีโอกาสใช้สถานที่นี้สําหรับพักผ่อน และโปรดพระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า “สวนลุมพินี” อันเป็น นามที่ได้มาจากชื่อ ลุมพินีวัน ตําบลหนึ่งในประเทศเนปาลอันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

ก่อนที่จะโปรดให้ทําเป็นสวนพฤกษชาติสาธารณะนั้น มีพระราชดําริให้ใช้สถานที่นี้เป็นที่จัดงานแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของคนไทยทั่วทุกภาค โดยมีพระราชประสงค์ฟื้นฟูฐานะเศรษฐกิจไทยซึ่งอยู่ในภาวะตกต่ำหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และโปรดพระราชทานนามงานนี้ไว้ว่า “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์”

แต่งานครั้งนั้นยังอยู่ในระยะเพียงเตรียมการก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน โครงการต่างๆ จึงต้องยุติลงโดยปริยาย

สวนลุมพินี้ได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2471 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาคทาธรธิบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) เช่าที่ด้านใต้ของสวนลุมพินีประมาณ 90 ไร่ จัดเป็นวนเริงรมย์ เปิดการแสดงมหรสพ ออกร้านขายของขายอาหาร มีเครื่องเล่นสําหรับเด็ก เช่น กระเช้าสวรรค์ ม้าหมุน เป็นต้น และนําเงินที่ได้จากค่าเช่านี้มาปรับปรุงที่ดิน

ส่วนที่เหลือเปิดเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้เข้าใช้พักผ่อนหย่อนใจตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมเชษฐา ในการพระราชทานโฉนดที่ดินสวนลุมพินีนี้ทรงมีพระราชกระแสตอนหนึ่งว่า

“ที่นี่ต้องให้เป็นวนะสาธารณะอย่างเดียว จะไปทําอื่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากฉันและกุลทายาทต่อๆ ไปเท่านั้น”

ปัจจุบันสวนลุมพินีนับเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดกลางกรุงเทพมหานคร และเพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2485 รัฐบาลจึงจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดสวนลุมพินี ประดิษฐาน ณ ด้านหน้าของสวนลุมพินี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2561