ชีวิตของ “พระยากำแพงราม” หลังจากหักหลังเพื่อนทหารคณะ ร.ศ. 130 ที่วางแผนปฏิวัติ

คณะ ร.ศ. 130 ใน คุก
ภาพประกอบเนื้อหา - ส่วนหนึ่งของชาวคณะ ร.ศ. 130 ในคุก ภาพถ่ายราว พ.ศ. 2461

ความพยายามของทหารหนุ่มสยามสมัยรัชกาลที่ 6 ในเหตุการณ์ “กบฏคณะ ร.ศ. 130” ต้องประสบความล้มเหลว เพราะมี “ผู้หักหลัง” ที่นำเรื่องนี้ไปแจ้งราชการ จนนำมาสู่การจับกุมขนานใหญ่ บุคคลผู้นั้นก็คือ ร้อยเอก ยุทธ คงอยู่ มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสินาดโยธารักษ์ หรือ พระยากำแพงราม

หลังการจับกุมขนานใหญ่ ราชการพะว้าพะวงไม่รู้แน่ชัดว่า ทหารคนไหนอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ จึงรีบส่งตัว ร้อยเอก ยุทธ คงอยู่ ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อลี้ภัยคณะ ร.ศ. 130 ในช่วงที่ ร้อยเอก ยุทธ คงอยู่ อยู่ในประเทศฝรั่งเศสนั้นก็ไม่มีผู้ใดคบหาสมาคมด้วย ต้องคอยซุกซ่อนตัวเหมือน “วัวสันหลังหวะ” อยู่จนกระทั่งกลับประเทศสยาม เมื่อการดำเนินคดี คณะ ร.ศ. 130 ถึงที่สุดแล้ว

ต่อมา ร้อยเอก ยุทธ คงอยู่ ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พันเอก พระยากำแพงราม (ยุทธ) และเกือบจะได้รับพระราชทานยศ “นายพล” แต่ข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่คัดค้านว่า ยศนายพลนั้นเป็นเกียรติยศอย่างชั้นสูงของทหาร การที่จะพระราชทานแก่พระยากำแพงรามนั้นไม่เป็นการสมควร เพราะจะทำให้ทหารเห็นว่า ยศนายพลเป็นเกียรติยศที่ไม่มีความหมายแต่อย่างใด

เมื่อคณะ ร.ศ. 130 ได้รับพระราชทานอภัยโทษและถูกปล่อยตัวออกมาใช้ชีวิตอย่างเสรีชน พระยากำแพงรามรำพึงไม่อยากพบเพื่อนทหารคณะ ร.ศ. 130 และก็มีความรู้สึกเกรงกลัวอย่างมาก ที่เคยหักหลังบรรดาเพื่อนนายทหารมาก่อน ทั้งที่ร่วมดื่มน้ำสาบานด้วยกัน เมื่อจะออกไปไหนมาไหนก็จะระมัดระวังตัวสอดส่องสายตามองหาคณะ ร.ศ. 130 อยู่เสมอ

แต่แล้ววันหนึ่ง สมาชิกคณะ ร.ศ. 130 สองคนคือ ร้อยตรี ถัด รัตนพันธ์ กับร้อยตรี บ๋วย บุณยรัตพันธ์ุ เลิกงานไปกินดื่มพักผ่อนหย่อนอารมณ์อยู่ที่ร้านบิลเลียดกีตง บริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้า ได้พบกับพระยากำแพงรามโดยบังเอิญ เมื่อพระยากำแพงรามเห็นทั้งสองก็แสดงอาการ “สั่นเทิ้ม” สีหน้าซีดเซียวหมองสง่าราศีของนักรบนักเลงทันที

ร้อยตรี บ๋วย บุณยรัตพันธ์ุ กล่าวทักพระยากำแพงรามว่า “พวกผมทราบมานานแล้วว่า เจ้าคุณไม่อยากพบปะพวกผม เพราะเกรงว่า พวกผมจะยังอาฆาตอยู่ แต่พวกผมเป็นลูกผู้ชายพอ อะไรที่มันแล้วไปแล้วก็ให้แล้วกันไปตามหลักพระพุทธศาสนา ทั้งพวกเราก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาเป็นลำดับ ควรหรือจะทำอะไรแก่เจ้าคุณผู้ที่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ และการชุบเลี้ยงของพระองค์”

ร้อยตรี ถัด รัตนพันธ์ กับร้อยตรี บ๋วย บุณยรัตพันธ์ุ ก็ตรงเข้าไปยื่นจับมือพระยากำแพงราม เป็นการแสดงถึงการให้อภัย “ด้วยดวงจิตอันบริสุทธิ์”

สมาชิกคณะ ร.ศ. 130 บางคนมีความเห็นว่า พระยากำแพงรามอาจจะยังไม่แน่ใจว่า สิ่งที่สมาชิกคณะ ร.ศ. 130 พูดเป็นความจริง หรือให้อภัยแล้วจริง ๆ จึงไม่ใคร่ได้พบปะกันเท่าใดนัก แต่ฝ่ายคณะ ร.ศ. 130 “ไม่มีใครติดใจที่จะคิดผูกพยาบาทอาฆาต (ผู้เคยหักหลังเรา) อีกต่อไป”

ต่อมา เมื่อ “คณะราษฎร” ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนามีความคิดที่จะนำตัวพระยากำแพงรามมาลงโทษ ฐานที่เป็น “ผู้หักหลัง” เพื่อนร่วมตายคณะ ร.ศ. 130 ถึงขั้นจะยิงเป้าเอาเลือดมาเซ่นธงชัยเฉลิมพล ดังที่มีบันทึกไว้ว่า

“ขณะที่ท่านได้นำกองทหารทุกเหล่ามาจากสะพานแดงบางซื่อ มีพันเอก พระยากำแพงราม (ยุทธ) ผู้หักหลังคณะ ร.ศ. 130 ได้ถูกนำตัวมาด้วย ด้วยหัวใจอันเร้าแรงในขณะชั่วแล่นของเหล่านักรบที่กำลังจะมุ่งไปทำงานเพื่อเสี่ยงต่อความเป็นความตาย ท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ออกคำสั่งให้กองทหารทุกเหล่าหยุดลง ณ ที่นั้น ตั้งใจจะทำพิธียิงเป้าพันเอก พระยากำแพงราม ผู้หักหลังเพื่อนร่วมตายคณะ ร.ศ. 130 เพื่อเซ่นธงชัยเฉลิมพล เป็นการเตือนใจเพื่อนร่วมตายทุกคนในคณะของท่าน ซึ่งได้กระทำสัตย์สาบานกันไว้

แต่ชะตาของพระยากำแพงรามยังไม่ถึงฆาต พันเอก พระยาทรงสุรเดช รองหัวหน้าคณะได้ขอร้องให้ยับยั้งไว้ โดยยกเหตุผลว่า จะกระทำให้บุคคลส่วนใหญ่คิดเห็นไปว่า กิจกรรมของคณะ 2475 กลายเป็นทำเพื่อแก้แค้นแทนคณะ ร.ศ. 130 ไป หาได้เป็นกิจกรรมปฏิวัติเพื่อประเทศชาติไม่ เพียงเท่านั้นท่านเจ้าคุณพหลฯ ก็กลับใจทันที โดยเห็นพ้องด้วย เลยงดอารมณ์อันรุนแรงนั้นเสีย มุ่งหน้านำกองทหารปฏิวัติดำเนินการยึดครองอำนาจการปกครองแผ่นดินจนเป็นผลสัมฤทธิ์ด้วยดีในวันนั้นเอง”

หลังประเทศสยามผันเปลี่ยนสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ใน พ.ศ. 2476 พระยากำแพงรามก็เข้าร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดชหมายทำการล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลฯ แต่ไม่สำเร็จผล พระยากำแพงรามถูกจับ ถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำบางขวางเพื่อรอการไต่สวน

ต่อมา รัฐบาลได้จัดงานฌาปนกิจศพทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 โดยได้เชิญ คณะ ร.ศ. 130 มาร่วมงานด้วย พระยาพหลฯ ได้เชิญคณะ ร.ศ. 130 ไปแจ้งให้ทราบว่า

“เมื่อเวลาย่ำรุ่งเศษวันนี้ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้รายงานว่า พันเอก พระยากำแพงราม (ยุทธ) ได้ผูกคอตายเสียแล้วที่ในห้องส้วมเรือนจำบางขวาง ขอให้พวกเรา (หมายถึงคณะปฏิวัติทั้งสอง) เข้าร่วมกันถวายของไทยทานแด่สงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พระยากำแพงรามพร้อม ๆ กันด้วย”

เป็นอันว่าชีวิตของพระยากำแพงราม หรือที่พวกคณะ ร.ศ. 130 เรียกว่า “ผู้หักหลัง” ได้สิ้นสุดลงด้วยพฤติการณ์ที่น่าเศร้า ในการนี้ คณะ ร.ศ. 130 พร้อมด้วยพระยาพหลฯ จึงได้ร่วมกันทำบุญแผ่ส่วนกุศลไปให้พระยากำแพงราม เพื่อขอแสดงอโหสิกรรมต่อกันเป็นวาระสุดท้าย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บทความ “คณะ ร.ศ. 130 กับคณะราษฎร : ก่อนและหลังการปฏิวัติ เดือนมิถุนายน 2475” (บันทึกตอนหนึ่งจาก “หมอเหล็งรำลึก : ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130”) ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2548

หนังสือ “ปฏิวัติ ร.ศ. 130” (ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ เขียน) สำนักพิมพ์มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2563