ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | วรชาติ มีชูบท |
เผยแพร่ |
เรื่องการโบยหลังทหารที่ศาลาว่าการยุทธนาธิการเมื่อ ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงกันมากว่าเป็นชนวนเหตุหนึ่งของการที่คณะนายทหารหนุ่มคิดก่อการไม่สงบที่เรียกกันว่า “กบฏ ร.ศ. 130” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454
ที่มาของวาทกรรมดังกล่าวมีที่มาจากข้อเขียนของร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) และ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ เรื่อง “ปฏิวัติ ร.ศ. 130” ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน “หมอเหล็งรําลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. 130” อนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายน 2503 ว่า
“ณ พ.ศ. 2452 (ร.ศ. 128) ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช) ได้มีเหตุการณ์สําคัญเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเหตุการณ์ที่ยังความสะเทือนจิตใจนักเรียนนายร้อยทหารทั่วไปทั้งฝ่ายบกและเรือ ผู้ซึ่งจะออกรับราชการเป็นนายทหาร ของชาติไทยสืบไป นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและสําคัญอันอุบัติขึ้นมาอย่างมิได้คาดฝันกันเลย คือการเฆี่ยนหลังนายทหารชั้นสัญญาบัตร ทหารของชาติด้วยสาเหตุอันมิบังควร มีร้อยเอก โสม ผู้เคยช่วยชาติ โดยปราบกบฏเลี้ยวมาแล้วเป็นหัวหน้าที่ถูกเฆี่ยนหลัง พร้อมกับนายร้อย นายดาบ และ นายสิบพลทหาร รวม 5 คน ณ กลางสนามหญ้าภายในกระทรวงกลาโหม ท่ามกลางวงล้อมของนายทหารกองทัพบก ต่อพระพักตร์สมเด็จพระยุพราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) และเหล่าข้าราชบริพารในพระราชสํานักบางจําพวก บนมุขด้านหลังกระทรวงกลาโหมชั้นที่ 2
สาเหตุแห่งการเฆี่ยนหลังก็ด้วยทหารพวกนั้นวิวาทกับพวกมหาดเล็กบางคนของสมเด็จพระยุพราช ซึ่งสมัยนั้นมักเรียกกันติดปากว่า “มหาดเล็ก สมเด็จพระบรมฯ” (คําเต็มว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) สมเด็จพระบรมฯ ประทับอยู่ที่วังปารุสกวัน ใกล้ๆ กับกรมทหารราบที่ 2 เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์
เรื่องเดิมที่จะเกิดขึ้นจนถึงกับเป็นเหตุวิวาทกันนั้น ก็เพราะผู้หญิงขายหมากสมัดคนหนึ่ง แถวบริเวณสะพานมัฆวานฯ นั่นเองเป็นเชื้อเพลิงเสน่ห์ ทําให้พวกมหาดเล็กและพวกทหารไปคลอเคลียพูดเกี่ยว และเย้าหยอกกันในเวลาค่ำคืนเสมอๆ ในที่สุดพวกเจ้าชู้หนุ่มๆ เหล่านั้นก็เกิดขัดใจกันขึ้น ครั้นค่ำวันหนึ่งต่อมา พวกมหาดเล็กอาจจะเขม่นทหารด้วยความมืดหน้า ถึงกับใช้ไม้รุมตีศีรษะนายดาบ ราบ 2 ผู้หนึ่ง ซึ่งแต่งกายพลเรือนออกมาแต่ลําพังตัวคนเดียว
นายดาบผู้นั้นก็กุมศีรษะวิ่งเข้ากรมทหาร ไปรายงานตนต่อ ร.อ. โสม ผู้บังคับกองร้อยของตนทันที ขณะนั้นพวกมหาดเล็กยังท้าทายอยู่ที่หน้ากรม เมื่อ ร.อ. โสม ผู้เคยผ่านศึกสงครามมาแล้วได้ทราบเช่นนั้นก็ลั่นวาจาด้วยความโกรธว่า ‘เมื่อมีผู้อุกอาจมาข่มเหงทหารถึงหน้ากรมเช่นนี้ มันก็หนักเกินไปละ! ควรจะออกไปสั่งสอนให้หลาบจํากันไว้เสียบ้าง’
ว่าแล้ว ร.อ. โสม ก็วิ่งนําหน้านายร้อยตรีผู้บังคับหมวดผู้หนึ่ง พร้อมกับนายดาบผู้ถูกรุมตี ตรงไปยังหน้ากรมด้วยมือเปล่าๆ แต่ ณ ที่นั้นบังเอิญมีกิ่งก้ามปูที่ถูกรานทิ้งไว้ตามโคนต้น ต่างก็ตรงเข้าหักได้คนละท่อน พุ่งเข้าตีโดยฉับพลันทันที ฝ่ายพวกมหาดเล็กทนกําลังความว่องไวไม่ได้ และเห็นท่าจะสู้ไม่ไหว จึงวิ่งหนีร่นไปทางวังปารุสก์ ทันใดนั้น นายสิบพลทหารอีก 2 คนเพิ่งกลับจากเป็นกองตรวจ พอดีพบเหตุการณ์เข้า จึงสมทบกับนายของตนไล่ติดตามไปด้วย รวมเป็น 5 คนด้วยกัน ครั้นไล่ไปถึงวังปารุสก์ พวกมหาดเล็กก็หลบเข้าประตูวังไป พวกทหารก็พากันกลับกรมหาได้รุกติดตามเข้าไปไม่
เมื่อสมเด็จพระบรมฯ ทรงทราบเหตุจากมหาดเล็ก ก็รับสั่งให้ผ.บ.ก. กรมทหารราบที่ 2 สอบสวนทันที ร.อ. โสม ผู้ผ่านศึกก็ออกรับสารภาพตามความสัตย์จริงทุกประการอย่างลูกผู้ชาย เลยพากันถูกขังทั้ง 5 คน เพื่อรอคําสั่งผู้บังคับบัญชาต่อไป
ครั้นรุ่งขึ้น เมื่อความปรากฏเป็นสัตย์ดังนั้นแล้ว สมเด็จพระยุพราชก็นําความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระชนกนาถ รัชกาลที่ 5 ขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้น ตามประเพณีจารีตนครบาลในฐานทําการอุกอาจถึงหน้าประตูวังของพระรัชทายาท
เท่าที่ทราบมาว่า ชั้นแรก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หาทรงเห็นด้วยไม่ ประกอบด้วยเจ้านายบางพระองค์ได้ทรงคัดค้านไว้ อาทิเช่น เสด็จในกรมราชบุรี นักปราชญ์กฎหมายได้ทรงชี้แจงว่าควรจะได้จัดการไปตามกระบิลเมือง เพราะได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาเยี่ยง อารยประเทศพร้อมมูลแล้ว ไม่ควรจะนําจารีตนครบาล ซึ่งยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก
แต่เมื่อสมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลัง เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างให้จนได้ มิเช่นนั้นพระองค์จะทรงลาออกจากตําแหน่งพระรัชทายาททันที สมเด็จพระชนกนาถทรงเห็นการณ์ไกลว่าถ้าไม่ตามพระทัย เรื่องอาจจะไปกันใหญ่โต เพราะจะเกิดการน้อยพระทัยจึงทรงอนุมัติไปตามคําขอ”[1]
วาทกรรมที่ว่า “สมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลังเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง” นั้น ออกจะขัดกับความใน “ประกาศกระแสพระราชดําริห์ในเรื่อง เป็นลูกผู้ชาย” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 128 ก่อนที่จะมีการโบยทหารครั้งนั้นเพียง 2 เดือนเศษ โดยมีความตอนหนึ่งในประกาศนั้นว่า “การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเป็นต้น ก็ทรงพระราชดําริห์ว่าน่าจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉานที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา” ซึ่งความตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ว่า
“เมื่อเกิดชําระกันขึ้นได้ความว่าตัวการมีนายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีจัน, กับนายดาบบาง, ได้พาพลทหารออกจากโรงไปตีเขา. กรมนครชัยศรีเอาตัวพวกทหารขึ้นศาลทหารชําระได้ความจริงว่าได้ออกจากโรงทหารผิดเวลา และยกพวกไปตีเขาเช่นนั้น, เห็นว่าเป็นโทษหนัก, จําเป็นต้องลงอาญาให้เป็นเยี่ยงอย่าง, กรมนครชัยศรีจึงได้กราบบังคมทูลพระเจ้าหลวงขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลัง คนละ 30 ทีและถอดจากยศ. การลงอาญาครั้งนั้นไม่ใช่โดยความขอร้องของฉันเลย, ตรงกันข้ามฉันเป็นผู้ท้วงว่าแรงเกินไป, แต่กรมนครชัยศรีว่าจะต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง, หาไม่จะกําราบปราบปรามทหารที่เกะกะไม่ได้, และนายทหารจะถือตนเป็นคนมีพวกมากเที่ยวรังแกข่มเหงเขาร่ำไปให้เสียชื่อทหาร.”
ในเมื่อข้อมูลของฝ่ายกบฏ ร.ศ. 130 กับพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขัดแย้งกันเช่นนี้ จึงได้สืบหาหลักฐานเพิ่มเติม และในที่สุดก็ได้พบหลักฐานสําคัญเป็นลายพระหัตถ์นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ร.ศ. 128 ความว่า
“ด้วยเมื่อวันที่ 15 เดือนนี้เวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ หม่อมราชวงษ์เหรียญและนายกรด ซึ่งเป็นพนักงานรถสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร แจ้งความต่อกรมทหารราบที่ 2 สวนดุสิต ว่ามีคนหลายคนชกตีคนทั้ง 2 นี้ที่สพานมัฆวาฬรังสรรค์เข้าใจว่าเป็นทหาร นายกรด มีบาดแผลที่แขนซ้ายฟกช้ำแห่ง 1 หม่อมราชวงษ์เหรียญ ไม่มีบาดแผล
กรมทหารราบที่ 2 ไต่สวนได้ความจากพลทหารนายอ่อนว่า นายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีนั่น, นายดาบบาง, กรมทหารราบที่ 2 ไม่ได้แต่งเครื่องทหารไปเที่ยวที่นางเลิ้งกลับมา พบทหารกองตรวจนายร้อยเอกสมจึงเรียกพลทหารนายอ่อนในกองตรวจนั้นมาที่โรงทหาร ให้พลทหารนายอ่อน เปลื้องเครื่องทหารที่แต่งอยู่นั้นเปนพลเรือน แล้วชวนกันไปที่สพานมัฆวาฬทั้งนายสิบโทเที่ยงอีกคนหนึ่ง รวมเป็น 5 คนด้วยกัน พบหม่อมราชวงษ์เหรียญกับนายกรดและผู้หญิงเดินมา นายดาบบางร้องให้ลงมือ ทั้ง 5 คนก็เข้าชกตีคน 2 คนนั้น แล้วชวนกันหนีไป ได้ไต่สวนคน 4 คน แบ่งรับแบ่งสู้
ในเรื่องนี้ เมื่อได้สืบไต่สวนความโดยเลอียดแล้ว เห็นชัดได้ว่า เป็นความผิดในวินัยทหารเป็นอันมาก เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าสมควรลงโทษทางฝ่ายปกครองให้ปรากฏในทันที จะได้เป็นที่สยดสยองยําเกรงสําหรับการต่อไป ดีกว่าที่จะให้ต้องขึ้นพิจารณาทางศาล ซึ่งเป็นการชักช้าไปนั้น
เหตุการกระทําร้ายซึ่งมีในทหารราบที่ 2 มาหลายคราวนั้น เป็นที่ให้สงไสยอยู่แล้วว่าจะเป็นด้วยนายทหารด้วย จึงทําให้พลทหารเป็นไปในการประพฤติไม่เรียบร้อย ต่างๆ ตามที่นายพันเอก พระพิพิธเดชะ[2] ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 จับได้ขึ้นครั้งนี้จะเป็นที่เข็ดขยาดในการเช่นนี้ต่อไป
ถ้าทรงพระราชดําริห์เห็นสมควรแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดนายทหารที่มีความผิดนี้จากยศบรรดาศักดิ์ ลงพระราชอาญาเมี่ยนทั้ง 5 คนนี้คนละ 30 ทีในที่ประชุมทหารที่ศาลายุทธนาธิการ”[3]
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ร.ศ. 128 ว่า “เป็นการดีแล้ว อนุญาตให้ถอดนายทหารที่มีความผิดนี้จากยศบรรดาศักดิ์ แลลงอาญาเฆี่ยนทั้ง 5 คนๆ ละ 30 ที ตามที่ว่านั้น”
ต่อจากนั้นวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2452 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 26 ก็ได้ลงประกาศ “แจ้งความกรม ยุทธนาธิการ” ว่า
“ด้วยนายร้อยเอก สม นายร้อยตรี จิ้น กรมทหารราบที่ 2 ประพฤติตนไม่สมควรกับตําแหน่ง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดนายร้อยเอก สม นายร้อยตรี จั่น จากตําแหน่งยศบรรดาศักดิ์แล้ว ฯ
ศาลายุทธนาธิการ วันที่ 19 มิถุนายน รัตนโกสินทรศก 128
(ลงพระนาม) จิรประวัติวรเดช
ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ”
ความในพระราชบันทึกลายพระหัตถ์ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งแจ้งความกรมยุทธนาธิการที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ล้วนสอดรับเป็นเรื่องเดียวกัน จึงสามารถยืนยันได้ว่า ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลงพระราชอาญาโบยหลังทหาร เมื่อเดือนมิถุนายน ร.ศ. 128 นั้นคือ นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ หาใช่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังที่กล่าวอ้างกัน
สําหรับประเด็นที่กล่าวถึงในเรื่อง “ปฏิวัติร.ศ. 130” ว่า ประเทศสยาม “ได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาเยี่ยงอารยประเทศพร้อมมูลแล้ว ไม่ควรจะนําจารีตนครบาลซึ่งยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก” นั้น ก็นับว่ามีส่วนถูกอยู่ เพราะบทลงโทษ “โบย” ตามจารีตเดิมนั้นมิได้ถูกบัญญัติไว้ใน “กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 237” ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือน เมษายน พ.ศ. 2451
แต่ทว่าโทษ “โบย” นี้ยังคงเป็นบทลงโทษที่กําหนดไว้ใน “กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก” ซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 7 ที่ให้อํานาจ “นายทหารผู้มีอํานาจบังคับบัญชาได้นั้น ท่านให้มีอํานาจลงอาญาแก่ผู้ที่กระทําผิดต่อวินัยทหาร ตามลักษณกฏหรือข้อบังคับทหารบกทหารเรือ” โดยความผิดต่อวินัยทหารตามกฎว่าด้วยการลงอาญาทหารบกซึ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 130 นั้น กําหนดอาญาที่จะลงต่อผู้กระทําผิดต่อวินัยทหารไว้เป็น 7 สถาน ดังนี้
(1) โบย
(2) จําขัง
(3) กักขัง
(4) ยังมืด
(5) กักยาม
(6) ทัณฑกรรม
(7) ภาคทัณฑ์
การลงอาญาโบยฐานละเมิดวินัยทหารนี้เพิ่งจะมายกเลิกและเปลี่ยนมาเป็นโทษ “มัดมือ” แทน เมื่อมีการประกาศใช้ “กฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย” เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2464 แล้ว
ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การลงอาญาโบยนายและพลทหารทั้ง 5 นายที่สนามในศาลายุทธนาธิการเมื่อเดือนมิถุนายน ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) เป็นการลงอาญาฐานละเมิดยุทธวินัย หาใช่การลงโทษตามจารีตนครบาลดัง ที่คณะกบฏร.ศ. 130 ได้กล่าวอ้างไว้ใน “ปฏิวัติร.ศ. 130” อ้างว่า ได้ยกเลิกไปนานแล้ว
เชิงอรรถ
[1] ร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ ปฏิวัติ ร.ศ. 130. น. 23-25.
[2] นามเดิม พอน ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิพิธเดชะ
[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 ก.13.1/73 เรื่องคดีความซึ่งพิจารณาในศาลทหาร (27 สิงหาคม 120-17 ธันวาคม 128)
[4] “กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก”, ราชกิจจานุเบกษา 29 (18 กุมภาพันธ์ 130), น.482-494
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงกลาโหม ร.5 ก.13.1/73 เรื่องคดีความซึ่งพิจารณาในศาลทหาร (27 สิงหาคม 120-17 ธันวาคม 128)
ราชกิจจานุเบกษา
“กฏว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานลเมิดยุทธวินัย”, ราชกิจจานุเบกษา 32 (13 มิถุนายน 2458), น. 114-134.
“กฏว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานลเมิดยุทธวินัย”, ราชกิจจานุเบกษา 38 (6 ตุลาคม 2464), น. 305-323.
“กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก”, ราชกิจจานุเบกษา 28 (18 กุมภาพันธ์ 130), น. 482-494.
“แจ้งความกระทรวงกะลาโหม เรื่องถอดนายทหาร 22 คน”, ราชกิจจานุเบกษา 29 (12 พฤษภาคม 131), น. 385-390.
“ประมวลกฎหมายอาญาทหาร”, ราชกิจจานุเบกษา 28 (18 กุมภาพันธ์ 130), น. 355-482.
หนังสือ
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
เหรียญ ศรีจันทร์, ร้อยตรี และ เนตร พูนวิวัฒน์, ร้อยตรี. ปฏิวัติร.ศ. 130. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562