เผยแพร่ |
---|
ในเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่ดำเนินการจัดการกลุ่มกบฏนี้มาตั้งแต่การวางแผนการจับกุม การจับกุม และการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาคดี จึงทรงตระหนักถึงปัญหา ข้อเรียกร้องของทหาร และยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ จึงทรงพยายามกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ให้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักการบางอย่างหรือการดำเนินงานบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทว่า ความพยายามของพระองค์ไม่ค่อยเป็นผลสำเร็จ เพราะไม่ได้รับพระราชกระแสตอบจากรัชกาลที่ 6 หรือถ้าทรงมีพระราชกระแสตอบ ก็หมายความว่าทรงมีแนวพระราชดำริที่ทรงไม่เห็นด้วยกับคำกราบบังคมทูล
พลังใหม่
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงตระหนักถึงพลังของคนกลุ่มใหม่ เพราะส่วนหนึ่งทรงมีความเข้าใจในสภาพของปัญหาร่วมกันกับกลุ่มกบฏ ดังมีบันทึกว่า “…คณะปฏิวัติจึงใคร่ทูลขอพระวิจารณญาณ ได้ทรงเห็นใจประชาธิปไตย… คณะทหารผู้เห็นแก่ชาติจึงจำต้องรวบรวมกันขึ้นเป็นกลุ่มก้อน เข้าแก้ไขสถานการณ์ของบ้านเมือง ซึ่งทูลกระหม่อม (หมายถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ) ทรงทราบอยู่แก่พระทัยแล้ว และก็หวังในพระกรุณาของทูลกระหม่อมด้วยจึงจะนำความสำเร็จมาสู่ประเทศแต่ด้วยดี เพราะทูลกระหม่อมเป็นพระราชอนุชาที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในองค์พระประมุขตลอดมา…”
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงตระหนักดีว่าจะต้องปรับปรุงการบริหารราชการเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ “ราษฎรมีความรู้มากขึ้น… มีคนภายนอกเข้ามาปะปนกับราษฎรไทยแท้… มีความคิดค้นคว้าหาสิ่งที่ดีที่ชั่ว… เลยพาให้คนไทยแท้คิดไปด้วย… พวกทนายความต่าง ๆ ซึ่งหากินในทางพลิกกฎหมาย ทำให้ราษฎรเห็นชัดว่าพระราชกำหนดกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเชื่อมั่นดุจคำภีร์พระสาสนา… ราษฎรขาดความเชื่อมั่นในพระราโชบาย ทั้งเกิดมีนายราษฎรขึ้นได้นอกจากพระมหากษัตริย์…” รวมถึงข้าราชการที่หย่อนการทำงานลง เห็นว่าตนมีอำนาจ แสวงหาแต่ประโยชน์ส่วนตน และการเข้ามาของหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์จากต่างประเทศ และหนังสือพิมพ์ที่ตั้งขึ้นโดยผู้ไม่มีความรู้ “…คอยแต่พัดให้คนมีความคิดในทางผิดแทบเสมอ”
จึงทรงมีจดหมายเรื่อง จัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน เมื่อเดือนมิถุนายน ร.ศ. 131 ทรงถวายคำแนะนำเป็นข้อ ๆ สรุปได้ดังนี้
1. ทรงมีความเห็นว่าข้าราชการประพฤติตัว “เปนนายราษฎรขึ้นเอง… เกิดเปนอิศระใหญ่ลืมเสียว่าตนเปนแต่ข้า ถ้ามีสิ่งใดที่ไม่พอใจของตน กลับจะออกความเห็นติเตียนพระราโชบาย แลชักนำให้ราษฎรคิดผิดไปเสียด้วยซ้ำ…” ทรงเห็นว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการปกครองบ้านเมืองแต่เพียงพระองค์เดียว ต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจของข้าราชการ ว่าจะต้องรู้ว่าตนเป็นแต่เพียงผู้ดำเนินพระราโชบาย “…เปนข้าคนใช้ของพระมหากระษัตริย์ ไม่มีความชอบธรรม (ไร้ต์) ของตนเองอย่าง 1 อย่างใดเลย…” ทำผิดต้องมีโทษออกจากราชการทันที ไม่มีการอะลุ่มอะล่วย และไม่ให้มีข้าราชการรับเงินเดือนเปล่า ๆ โดยไม่ทำงานอะไรเลย
2. ต้องวางหลักการแก่ราชการว่า พระมหากษัตริย์ทรงปกครองบ้านเมืองสำหรับความสุขของราษฎรเท่านั้น มิได้ทรงมีพระราชดำริถึงความสุขและประโยชน์ส่วนพระองค์เลย เพื่อให้ข้าราชการทุกระดับชั้นมีความคิดเช่นเดียวกันนี้ทั้งหมด เพื่อให้ทำงานอันจะก่อประโยชน์แก่ราษฎร ไม่ใช่เอาตนเองเป็นที่ตั้ง ทรงยกตัวอย่างเรื่องการจดทะเบียนที่ดิน ซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อความสะดวกแก่ราษฎร แต่ปรากฏว่าราษฎรเดือดร้อน มีแต่ข้าราชการที่ได้รับความสะดวกเท่านั้น
3. ต้องการหนทางแสดงความคิดเห็นของรัฐบาลให้ราษฎรทราบอยู่เสมอ ว่าจะดำเนินการอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่ปกปิดอย่างที่เป็นมาโดยตลอด ทรงเสนอให้นำคำสั่ง คำชี้แจง พระราชกำหนด กฎหมาย ข้อบังคับ ฯลฯ ใด ๆ ก็ตามที่มาจากราชการนำลงเผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลเอง หรือหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในมือของรัฐบาล เพื่อให้ราษฎรรู้กันโดยทั่วไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเอง
4. ควรให้มีพระราชบัญญัติเรื่องหนังสือพิมพ์ “…แต่ให้เปนไปในทางอ่อนที่สุด ไม่ใช่กำหราบแขง…”
อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ไม่ได้มีพระราชกระแสตอบในเรื่องสำคัญ ๆ ทรงมีพระราชกระแสตอบเพียงว่า “ได้รับความดำริห์ของเธอที่ส่งมาในน่าที่องค์มนตรีนั้น ในวันนี้แล้ว ที่คิดแลแสดงความเห็นมาในเรื่องหนังสือพิมพ์นั้น เปนข้อควรดำริห์ เพราะฉนั้นจะได้นำปัญหาข้อนี้เสนอในที่ประชุมเสนาบดีต่อไป แต่ในวันจันทรน่านี้ยังไม่มีประโยชน์ เพราะกรมดำรงยังไม่กลับ วันจันทรต่อนั้นไปเห็นจะได้”
เสือป่า
ปัญหาสำคัญคือกิจการเสือป่าที่เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ตั้งซ้ำและแข่งกับทหาร รวมทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณ แม้จะเป็นเงินส่วนพระองค์ก็ตาม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ จึงกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 เมื่อเดือนมีนาคม ร.ศ. 130 ถึงข้อบกพร่องขอกิจการเสือป่าว่า “…หลักของการคือเกี่ยวด้วยพระราชดำริแล้ว ดีอย่างยิ่งทั้งสิ้น แต่ทางการที่ดำเนินไปยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก…” มี 7 ข้อคือ
- มีการบังคับให้เป็นเสือป่า มีคำกล่าวว่าถ้าใครไม่เป็นเสือป่า แปลว่าไม่จงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- การเสือป่าเป็นใหญ่กว่าราชการ ถ้าจะให้ได้ดีแล้ว แม้ราชการจะบกพร่องหากทางเสือป่าดีอยู่ก็ไม่เป็นไร
- ส่วนใหญ่จะโปรดแต่งตั้งเฉพาะข้าราชสำนักให้มีตำแหน่งในกองเสือป่า
- เดิมเข้าใจว่าการเข้าเป็นเสือป่าจะมีโอกาสใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั่วหน้ากัน หากในทางปฏิบัติมีการแบ่งชนชั้นกันในบรรดาสมาชิกเสือป่า สมาชิกเสือป่าบางพวกไม่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเลย
- สมาชิกเสือป่าต้องฝึกทุกวัน และการฝึกก็เป็นเพียงเดินไปมา ไม่เกิดประโยชน์ เหน็ดเหนื่อยเสียเปล่า
- ต้องเสียเงินจุกจิก ค่าเครื่องแต่งตัว เครื่องใช้ ค่าเรี่ยไร และค่าปรับต่าง ๆ
- จะต้องออกไปซ้อมรบไกล การซ้อมไม่จริงจัง เหน็ดเหนื่อยเปล่า กลับมาก็รับราชการไม่ใคร่ได้
ซึ่งสืบเนื่องมาจากการซ้อมรบเสือป่าที่พระปฐมเจดีย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์ ขอให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงอนุญาตให้ข้าราชการกระทรวงกลาโหมที่เป็นสมาชิกเสือป่าไปซ้อมรบ
เรื่องนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงมีความเห็นไม่ต้องตามพระราชประสงค์ ดังที่ทรงมีหนังสือเวียนถึงข้าราชการในกระทรวงกลาโหมว่า จะให้นายทหารไปซ้อมรบทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ ห้ามทหารในกรมเสนาธิการ กรมแผนที่ กรมปลัดกองทัพบกไปซ้อมรบกับเสือป่า เพราะมีงานอยู่เต็มมือแล้วทั้งนั้น ส่วนกรมอื่น ๆ แล้วแต่หัวหน้าจะอนุญาต ทรงย้ำเตือนว่า “แต่มิให้เสียราชการในกระทรวงเป็นอันขาด หัวน่ากรมไม่ว่ากรมใดไปไม่ได้ เพราะจะเสียราชการ”
รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชกระแสวินิจฉัยตอบโต้อย่างยืดยาวเป็นเชิงน้อยพระทัยที่บรรดานายทหารไม่เข้าใจพระองค์ รวมทั้งชี้แจงปัญหาต่าง ๆ พร้อมกับออกพระองค์ว่า “ขออย่าให้สำคัญไปกว่าฉันดื้อดันไม่ยอมรับผิด” ซึ่งต่อมากิจการเสือป่าก็ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด หากกลับทรงส่งเสริมกิจการเสือป่ายิ่ง ๆ ขึ้นไป
ส่วนพระองค์
จากคำให้การของกลุ่มกบฏบางคนได้กล่าวพาดพิงพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 6 ที่โปรดการเล่นโขนละคร เสือป่า ทำให้สิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ ไม่เอาใจฝักใฝ่ในราชการ ข้าราชการผู้อื่นทำอะไรก็ไม่โปรดเท่ามหาดเล็กในพระองค์ ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และเงินเดือนมาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงรวบรวมข้อคิดเห็นและความต้องการทั้งจากนายทหารที่ถูกจับ และทหารทั่วไป แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 เมื่อเดือนมีนาคม ร.ศ. 130 ความว่า
“…อย่าว่าแต่รีบับลิกเลย ปาร์ลิเมนต์ก็ไม่ต้องมี ขอแต่ข้อความบางอย่าง เช่น ให้มีการเสด็จออกได้ เฝ้าแหนได้วิกละ 2 ครั้ง เรื่องสัญญาบัตรขอให้สม่ำเสมอ ข้าราชการในพระราชสำนักได้รับพระราชทานสัญญาบัตรในปี 1 ตั้ง 3 ครั้งก็มี แต่คนอื่นไม่ได้ มีแต่ประกาศในราชกิจจา ขอให้ผ่อนเรื่องเสือป่า ที่พวกเสือป่าเองก็เบื่อนั้น ดังนี้เป็นต้น…”
ข้อเสนอส่วนที่เกี่ยวกับพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเสนอให้ข้าราชการได้เข้าเฝ้าเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งพระองค์จะได้ทรงชี้แจงให้บรรดานายทหารไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ตามที่ต้องการ
รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบอย่างยืดยาวว่า ในการเสด็จออกให้เฝ้าแหนนั้น ทรงสังเกตว่ามีทหารไปเฝ้าน้อยและซ้ำหน้ากันอยู่เสมอ เมื่อทรงตั้งเสือป่าก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้ข้าราชการไปเข้าเฝ้าโดยทั่วหน้ากัน แต่บรรดานายทหารไม่เข้าใจในพระราชประสงค์ แม้จะให้พระองค์เสด็จออกอาทิตย์ละหลายครั้งก็ทรงทำได้
ส่วนเรื่องพระราชทานสัญญาบัตรแก่ข้าราชสำนักบ่อยกว่าข้าราชการอื่นนั้น ทรงยอมรับว่าข้าราชการอื่นได้รับช้า แต่ข้าราชสำนักได้รับเร็วก็เพราะไม่ต้องรอถามเจ้ากระทรวง และเป็นส่วนต่างหากที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชการแผนกอื่น ทรงอธิบายว่าข้าราชสำนักเหล่านี้เงินเดือนน้อย จึงต้องทรงบำรุงน้ำใจด้วยยศ ทรงเน้นว่า “ฉันก็มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะพูดตามความเห็นของฉันเหมือนกัน”
กบฏ
ภายหลังจากการจับกุมกลุ่มกบฏ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ได้ทรงสนทนากับ Mr. Knoght อุปทูตฝรั่งเศสประจำสยาม เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทรงแสดงความคิดเห็นส่วนพระองค์โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน คือไม่ทรงเชื่อว่านายทหารเหล่านี้จะยอมเสี่ยงชีวิตกระทำการที่ยิ่งใหญ่นี้ นอกเสียจากจะได้รับการจูงใจและสนับสนุนจากบุคคลผู้มีอิทธิพลและอำนาจในทางการเมือง
นอกจากนี้ จากหนังสือเกิดวังปารุสก์ พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงอธิบายว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ มักจะทรงจดหมายเหตุรายวันอย่างละเอียดละออเสมอทุก ๆ วัน แต่กลับไม่ทรงบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ไว้เลยแม้แต่คำเดียว
จากกรณีเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ทำให้เห็นพระดำริที่ขัดแย้งกันระหว่างรัชกาลที่ 6 กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ หากแต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงเป็นพระโสทรานุชา (น้องร่วมมารดา) ในรัชกาลที่ 6 พระองค์จึงได้รับพระเมตตาจากพระเชษฐาเสมอมา ขณะที่รัชกาลที่ 6 ก็ทรงมั่นพระทัยในความจงรักภักดีของพระอนุชา ดังจะเห็นจากพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 30 พฤษภาคม ร.ศ. 131 ความว่า
“…ว่าถึงคิดกบฏ ฉันก็ไม่กลัว เพราะฉันเชื่อว่ามีทหารของฉันที่พอจะปราบได้ แต่ถ้าทหารพากันโกงอำนาจของฉันเสียแล้ว ฉันก็หมดทางหวังเท่านั้น ข้อนี้เล็ก (หมายถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ) ทราบอยู่ดีและเข้าใจอยู่ดีแล้ว และเธอก็ได้พยายามแก้ไขความเข้าใจผิดในหมู่ทหารอยู่เสมอ…”
อ้างอิง :
ศิรินันท์ บุญศิริ. (2523). บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2563