หลวงสินาดโยธารักษ์ ผู้หักหลังคณะ ร.ศ. 130 ที่ ร.ต.เนตร ไม่รับเป็นสมาชิก?

ส่วนหนึ่งของ “คณะ ร.ศ. 130” (ภาพจากปฏิวัติ ร.ศ. 130, สำนักพิมพ์มติชน,2556)

บทความนี้คัดย่อจาก “ปฏิวัติ ร.ศ. 130” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2556) ที่เป็นบันทึกความทรงจำที่ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร่วมกันเขียนขึ้น โดยมีณัฐพล ใจจริง เป็นบรรณาธิการ หนังสือกล่าวถึงรายละเอียดของการปฏิวัติ ร.ศ. 130 ตีพิมพ์ครั้งแรกเพื่อแจกในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือ “หมอเหล็ง” หัวหน้าคณะผู้ก่อการ ครั้งนั้นใช้ชื่อว่า “หมอเหล็งรำลึก”

ส่วนเนื้อหน้าที่คัดย่อมาเสนอนั้น เป็นตอนที่เกี่ยวกับ ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) สมาชิก “ผู้หักหลัง” ที่ทำให้การปฏิวัติของคณะ ร.ศ. 130 ล้มเหลว ชาวคณะถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมามักเป็นการกล่าวถึง “จุบจบ” ของ ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์  หากในที่นี้จะกล่าวถึง นิสัยใจคอของหลวงสินาดโยธารักษ์ ที่ทำไม ร.ต. เนตรคัดค้านการรับเข้าเป็นสมาชิก, ลางร้ายที่เกิดขึ้น และปฏิบัติการ “หักหลัง” ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

Advertisement

 

แต่ในที่สุด จุดจบแห่งแผนการและความหวังใดๆ ทั้งสิ้นของคณะก็มาถึง เพราะทั้งรู้ๆ ว่า “ผู้หักหลัง” มีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ถึงคราวมันจะได้เข้ามาเป็นพรรคพวก มันก็ต้องพบกันจนได้ตามกฎแห่งกรรม (Law of nature)

ได้กล่าวมาแล้วว่า กองปืนกลที่ 1 ณ หลังพระราชวังดุสิตเป็นกองบัญชาการลับของคณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 ฉะนั้นจึงมีสมาชิกของพรรคปฏิวัติลอบไปประชุมลับกันเสมอๆ เพื่อปรึกษาหารือปัญหาเก่าบ้างใหม่บ้าง เพราะนายทหารชั้นประจำกองปืนกลได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคปฏิวัติแล้วทั้งหมด…

…………..

ราวๆ เวลาบ่าย 1 โมง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) ได้มีสมาชิกผู้หนึ่ง (นึกชื่อไม่ออก) ไปพบหารือและแจ้งข่าวกับสมาชิกที่กองปืนกลบางคน แต่จะเป็นผู้ใดบ้างจำไม่ได้ เรื่องที่นำไปคือ ปัญหาที่จะส่งคนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมหน่วยทหารมณฑลพิษณุโลก เขานั้นแจ้งว่า ร.ต.ทวน เธียรพิทักษ์ ได้เสนอต่อที่ประชุมย่อยครั้งที่ 10 หรือ 11 (จำไม่ได้) ว่าได้ชักชวนสมาชิกใหม่คนหนึ่งไว้นานแล้ว ซึ่งบัดนี้จะเดินทางขึ้นไปรับตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 7 พิษณุโลกในไม่ช้า เป็นตำแหน่งที่ควรแก่การไว้วางใจได้ และคณะก็กำลังต้องการหาตัวกันอยู่แล้ว

เขาผู้นั้น คือ ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่)

ร.ต.ทวน ยืนยันต่อที่ประชุมว่าเขาทั้งสองมีความชอบพอกันมาอย่างสนิทสนมตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย…ครั้นมาอยู่โรงเรียนนายร้อยด้วยกัน ก็ยิ่งเพิ่มความสนิทสนมกันยิ่งขึ้น ร.ต. ทวน จึงอดนึกถึงหลวงสินาดฯ เสียมิได้ในการที่ใคร่จะได้มาเป็นสมาชิกคณะปฏิวัติ จึงได้ชวนเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ยังเป็นนายร้อยโทยุทธ บัดนี้ได้เลื่อนทั้งยศทั้งบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งสำคัญขึ้น สมควรจะได้นำเข้าประชุม เพื่อทราบวัตถุประสงค์และรับนโยบายของคณะไปปฏิบัติต่อไป

เมื่อได้รับแจ้งเช่นนั้น สมาชิกบางคนดีใจ ในการที่จะได้กำลังทหารอีกมณฑลหนึ่งมาเป็นของคณะ และยิ่งหลวงสินาดฯ เป็นถึงนายทหารชั้นผู้บังคับการ ก็ย่อมมีอิทธิพลที่จะเกลี้ยกล่อมทหารได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ว่าทหารเหล่าใดในมณฑลนั้น ทำให้กำหนดวันในแผนการที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 30 วันเศษนั้น กระฉับกระเฉงมั่นคงขึ้นอีกมาก

แต่พวกเราจำได้ว่า มีสมาชิกผู้หนึ่งได้กล่าวคัดค้านไม่เห็นพ้องด้วย คือ ร.ต. เนตร เลขานุการ คำคัดค้านของเขามีใจความว่า ไม่ควรรับหลวงสินาดฯ เข้าเป็นสมาชิกเป็นอันขาด เพราะเขารู้จัก [ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์] ดี ตั้งแต่อยู่ร่วมกันเมื่อครั้งเป็นศิษย์วัดเบญจมบพิตร สมัยพระคุณเจ้าพระธรรมวโรดม (จ๋าย) เป็นเจ้าคณะ เวลานั้นหลวงสินาดฯ ชื่อ “แต้ม” ไม่มีนามสกุล

นายแต้มขณะนั้นมีลักษณะไม่น่าไว้วางใจ พูดจาอะไรเชื่อถือยาก กิริยาท่าทางแม้จะเข้าผู้เข้าคนได้สนิทก็จริง แต่น้ำใสใจจิตตรงกันข้ามกับการแสดงออกซึ่งกิริยาวาจา เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยมีใครชอบหน้านัก แม้แต่พวกศิษย์วัดหรือนักเรียนเบญจมบพิตรด้วยกัน แต่เป็นคนค่อนข้างขยันหมั่นเพียร ไม่ยอมด้อยกว่าเพื่อนๆ ในเรื่องวิชาความรู้ แต้มไม่ค่อยยอมรับผิดในเมื่อเขาทำอะไรพลาดพลั้งลง อันเป็นวิสัยตรงกันข้ามกับวิสัยของนักรบ นอกจากจะเป็นความดีเท่านั้นที่เขารีบปรารถนา โดยมนุษย์ผู้ใดจักได้รับความเดือดร้อนเพียงไรเขาก็ไม่พึงคำนึงถึงแม้กระทั่งเพื่อนรักของเขาเอง

เนื่องด้วยคำคัดค้าน ของ ร.ต. เนตร ทำให้สมาชิกนิ่งงันกันไป เป็นเชิงสงสัยในตัวหลวงสินาดฯ ขึ้นมาทันที แต่มีสมาชิกบางคน ดูเหมือนจะเป็น ร.ต. ปลั่ง ปูรณโชติ กับ ร.ต. สอน วงษ์โต ซึ่งเคยรู้นิสัยใจคอหลวงสินาดฯ อยู่บ้าง ตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนนายร้อยร่วมกัน ได้กล่าวสนับสนุนว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องรีบระงับเสียโดยด่วน ดังนั้นชาวคณะจึงขอร้องให้ผู้ที่มาแจ้งเรื่องได้รีบกลับไปพบ ร.ต.ทวน เพื่อระงับการนำหลวงสินาดฯ เข้าร่วมประชุมอย่างเด็ดขาด

อนิจจา! แผนการปฏิวัติของคณะ ร.ศ. 130 ถึงฆาตเสียแล้ว!

เพราะในเย็นวันนั้นเอง เมื่อการประชุมย่อยครั้งที่ 11 หรือ 12 (ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของคณะ)…

การประชุมครั้งสุดท้ายที่เรียกได้ว่า เป็นครั้งทลายแผนการปฏิวัติ ร.ศ. 130 ให้ถึงฆาตนั้น ได้เริ่มต้นประชุมแต่เวลาบ่าย 2 โมง (14 น.) ในวันเดียวกันกับที่สมาชิกกองปืนกลได้รับแจ้งเรื่อง ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) จะเข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์นั่นเอง จนผู้ที่จะไประงับ ร.ต. ทวน ดังกล่าวแล้วไปไม่ทัน เพราะการประชุมได้เริ่มลงมือเสียก่อนแล้ว

ในที่ประชุมครั้งนั้น มีหมอเหล็ง หัวหน้าเป็นประธาน ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง รองหัวหน้าทำหน้าที่รองประธาน ร.ท. จือ ควกุล เสนาธิการ ร.ต.ทวน เธียรพิทักษ์ ร.ต.สนิท กองปืนกล ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์ ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ ร.ต. จาบ ราบ 11 และสมาชิกเข้าใหม่อีกหลายคน ซึ่งเป็นนายทหารช่าง นายทหารปืนใหญ่กับฝ่ายพลเรือน แต่ยังมิทันจะเปิดการประชุม ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) ได้โผล่เข้าไปเป็นคนสุดท้าย ร.ต. ทวน ผู้นำเข้าก็ผลุนผลันออกไปต้อนรับอย่างกุลีกุจอฐานเพื่อนสนิท สมาชิกทั้งหลายก็พลอยแสดงความยินดีด้วย เพราะล้วนแต่เคยรู้จักชอบพอกันมาแล้วแทบทั้งนั้น

วิธีประชุมกันที่นั่น ใช้วิธีนั่งล้อมวงบนพื้นที่ทำความสะอาดแล้ว เพราะได้เนื้อที่จุกว่านั่งบนเก้าอี้ ส่วนเหล้ายาปลาปิ้งไม่ปรากฏว่ามี ดังข่าวที่เล่าลือใส่ร้ายชาวคณะอยู่เนืองๆ นอกจากจะได้มีการเลี้ยงอาหารกันเป็นครั้งคราว และ ณ ที่ประชุมในวันนั้นเอง ก็หามีสุราเป็นเครื่องจูงใจกัน ได้ใช้น้ำยาอุทัยใส่แก้วแจกประจำที่ทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การอภิปรายโต้เถียงกันได้เป็นไปด้วยน้ำใจอันเยือกเย็นบริสุทธิ์จริงๆ

ณ วาระนั้นเอง ขณะที่หลวงสินาดฯ ย่างเท้าเข้าไปในวงประชุม แก้วนำยาอุทัยแก้วหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นตามปกติ พอเท้าของหลวงสินาดฯ เฉียดเข้าไป มิทันจะกระทบเลยสักนิดเดียว แก้วใบนั้นก็แตก โพละ! ขาดกลางออกเป็นสองท่อน! คล้ายถูกตัด น้ำสีชมพูไหลเลอะพื้นกระดาน ทุกคนตะลึงงัน สมาชิกใหม่บางคนชักขวัญหาย…รู้สึกเป็นลางร้ายอย่างไรชอบกล

และในทันทีทันใดนั้น ร.ท. จือ ผู้วางแผนการก็รีบลุกขึ้นเดินเข้าไปหยิบแก้วที่แตกท่อนบนซึ่งขาดคาอยู่ ยกชูขึ้นท่ามกลางที่ประชุม พร้อมกับพูดเป็นภาษาอังกฤษด้วยเสียงอันดังว่า “Here’s the Absolute monarchy!” สองสามครั้ง ทำให้ที่ประชุมปรบมือด้วยความสรวลเสเฮฮากันขึ้น และต่างมีขวัญดีตามเดิม

นับว่าเสนาธิการได้แก้ลางร้ายให้เข้ากับแผนการได้อย่างคมคาย ทั้งนี้ใช่อื่นไกลไม่ทางพุทธศาสนาถือว่า เป็นความบังเอิญที่มาเหมาะเจาะพอดีกันเองเข้าเท่านั้น

แต่ก่อนที่จะลงมือดำเนินการประชุมกันต่อไป หมอเหล็งประธานการประชุม คงจะนึกได้ถึงพิธีกรรมของ พ.ต. หลวงวิฆเนศร์ฯ จึงกล่าวขึ้นมีความว่า การประชุมครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญ เพราะมีสมาชิกเข้าใหม่มากหน้าหลายตาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยเฉพาะก็คือ ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ เป็นถึงชั้นผู้บังคับการ นับว่าเป็นกำลังของคณะปฏิวัติมาก และจะได้รับหน้าที่เป็นผู้แทนคณะไปเกลี้ยกล่อมทหารมณฑลพิษณุโลกให้ด้วย ตามที่ ร.ต.ทวน ผู้นำเข้าได้แจ้งไว้ต่อที่ประชุมครั้งที่แล้ว สมควรที่สมาชิกจะได้ทำพิธีดื่มนํ้าสัตย์สาบานอย่างพิธีหลวงกันอีกสักครั้ง เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ทางจิตใจ หวังว่าสมาชิกทุกคนคงจะเห็นพ้องด้วย ทันใดนั้น เสียงปรบมือก็ดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แสดงว่า “เห็นชอบด้วย”

แล้วประธานก็ถอดกระสุนปืนออกจากซองกระสุน แช่ลงไปในเหยือกน้ำ พร้อมกับกล่าวคำแช่งอย่างหนักแน่นว่า “ทุกคนจักต้องสุจริตต่อกัน ผู้ใดคิดคดทรยศต่อคณะนี้ จงพินาศ!” แล้ว ร.ท. จรูญ ก็รินน้ำสาบานส่งให้ดื่มทุกคน (ผลแห่งสัตย์สาบาน แม้จะมิใช่ทัศนะแห่งพุทธศาสนา แต่ทางวิชชุจิตซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าจิตที่ไม่มีสาย ก็ย่อมจะดลบันดาลได้ดั่งจะได้ปรากฏในภาคปกิณกะต่อไป)

หลังจากนั้น ประธานก็ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ และแผนการให้สมาชิกใหม่ทราบแต่เฉพาะกรณีสำคัญๆ เพื่อขอความเห็นที่ประชุม เช่น แผนการทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือในโบสถ์วัดพระแก้ว สมาชิกใหม่ก็เห็นพ้องด้วยเมื่อได้อภิปรายกันแล้ว ว่าเป็นวิธีที่แนบเนียนกว่าแผนอื่นทั้งสิน

ส่วนแผนการส่งกำลังออกคุมจุดต่างๆ ในพระนคร และยึดกำลังในต่างจังหวัดนั้น เสนาธิการเป็นผู้ชี้แจง สมาชิกใหม่ก็แสดงความพอใจ

แผนการที่เกี่ยวกับกฎหมาย การเงิน และการต่างประเทศ ร.ท. จรูญ เนติบัณฑิต เป็นผู้ชี้แจงโดยละเอียด มีผู้ข้องใจเรื่องการเงินของชาติอยู่มาก ร.ท. จรูญ ก็ชี้แจงอย่างกว้างขวาง ตลอดจนโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติที่จะมีขึ้น และจะนำกรรมวิธีที่ดีและเหมาะสมแก่ประเทศไทยมาใช้จากอารยประเทศให้มากเท่าที่ควรแก่ฐานะ จนเป็นที่พอใจทั่วกัน

…………

ในที่สุด ก่อนจะปิดการประชุม หลวงสินาดฯ ได้ยืนขึ้นกล่าวเป็นพิเศษมีข้อความว่า เขาจะขอลาไปรับตำแหน่งที่พิษณุโลก ตามคำสั่งกลาโหมในวันสองวันนี้ และขอรับคำมั่นสัญญาของคณะที่มอบให้ไปเกลี้ยกล่อมทหารในมณฑลนั้นให้เป็นผลสำเร็จจนได้ เฉพาะกรมทหารปืนใหญ่ของเขาจะตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์ต่อคณะทุกขณะจิต

ฉวยว่ามีการต่อสู้กันขึ้น ทหารปืนใหญ่จะยืนหยัดต้านทานอย่างกล้าแข็งแล้วเขาก็ยื่นบัตรชื่อของเขาแจกให้แก่สมาชิกทุกคน ที่ประชุมปรบมือต้อนรับด้วยความปลาบปลื้มอีกครั้งหนึ่ง ประธานตรงเข้าจับมือหลวงสินาดฯ กล่าวคำอวยพรในการเดินทาง และขอให้นำความสำเร็จมาสู่คณะเพื่อชาติทุกประการ สมาชิกทุกคนก็กระทำตามหัวหน้าเสร็จแล้ว ประธานก็สั่งเลิกประชุม ประมาณเวลา 16 น. เศษ สมาชิกก็ร่ำลากันกลับเช่นเคย

…ในระหว่างเวลาที่ ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) เดินทางกลับ…

…ปรากฏจากข่าวที่สืบได้ในภายหลังว่า แทนที่หลวงสินาดฯ จะกลับบ้าน เขาได้มุ่งไปปรึกษา ร.ท. ทองอยู่ (ภายหลังเป็น พ.ท. พระตะบะฯ) ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เพราะรู้ว่า ร.ท. ทองอยู่ เป็น มหาดเล็กคนโปรดของทูลกระหม่อมจักรพงษ์ พอ ร.ท. ทองอยู่ ทราบเรื่องราวตลอด ก็พากันไปเฝ้าหม่อมเจ้าพันธุประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ที่บางซื่อ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อถือในการที่จะนำความขึ้นฟ้องร้องนั้นมีค่ามั่นคงยิ่งขึ้น ครั้นหม่อมเจ้าพันธุประวัติทรงทราบโดยมีสักขีพยานเช่นนั้น ก็นำความขึ้นกราบทูลทูลกระหม่อมจักรพงษ์ในเย็นวันนั้นเอง พร้อมด้วยพยานบุคคล

ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ตกพระทัยเมื่อทรงทราบ เพราะรายชื่อสมาชิกที่หลวงสินาดฯ กราบทูล ล้วนเป็นลูกศิษย์และมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์แทบทั้งสิ้น เฉพาะหมอเหล็ง แพทย์ประจำพระองค์และครอบครัวของพระองค์ก็โปรดปรานที่สุด พระองค์จึงทรงรู้สึกถึงพระองค์เองต่างๆ นานา เพราะพระประมุขของชาติ คือ พระเชษฐาร่วมพระอุทรเดียวกันแท้ๆ ซึ่งย่อมสำคัญกว่าผู้ใดอื่น

ฉะนั้น พระองค์จึงรับสั่งให้จัดรถไฟพิเศษโดยด่วน นำพระองค์ไปเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ขณะที่กำลังซ้อมรบเสือป่าอย่างทรงสำราญพระราชหฤทัย

พวกเสือป่าเล่าให้ฟังว่า ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ได้เสด็จไปอย่างร้อนพระทัยยิ่งนัก เมื่อถึงก็รีบเข้าเฝ้าทูลเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปพบกันเพียงสองต่อสองเป็นเวลานาน คงจะกราบทูลพฤติการณ์ของคณะ ร.ศ. 130 ที่จะคิดก่อการปฏิวัติประเพณีการปกครองแผ่นดิน ตลอดจนวิธีการที่จะปราบปรามคณะปฏิวัติลงให้ราบคาบโดยฉับพลัน ครั้นแล้วทูลกระหม่อมก็รีบทูลลากลับพระนครโดยด่วน ส่วนทางกองเสือป่าก็ถูกสั่งให้เลิกซ้อมรบในวันนั้นทันที…

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565