มุมน่าสะพรึงกลัวของ “พระนเรศวร” จากบันทึกวัน วลิต กับงานเขียนโต้ของคึกฤทธิ์

พระนเรศวร
ภาพประกอบเนื้อหา - พระนเรศ และพระเอกาทศรถ ในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคยุทธนาวี (ภาพจากคลิป "ตัวอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3 ยุทธนาวี (Official Tr.)" จาก Youtube : Sahamongkolfilm International Co.,Ltd)

มุมน่าสะพรึงกลัวของ “พระนเรศวร” จากบันทึก วัน วลิต กับงานเขียนโต้ของคึกฤทธิ์

วัน วลิต หรือ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremais van Vliet) เป็นพ่อค้าชาวดัตช์ ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา 3 เล่ม เล่มที่เป็นพงศาวดารเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2183

Advertisement

วัน วลิต เขียนบันทึกจากคำบอกเล่าของผู้คนในกรุงศรีอยุธยา บันทึกของเขามีความน่าสนใจตรงที่เนื้อหามีรายละเอียดค่อนข้างมากและสามารถอธิบายได้เป็นฉาก ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร หรือ พระนเรศวร ที่ วัน วลิต ให้ข้อมูลแตกต่างจากพงศาวดารหรือหลักฐานชิ้นอื่นแทบจะสิ้นเชิง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงความคิดเห็นว่า วัน วลิต น่าจะได้ไต่ถามเรื่องราวจากคนที่เคยอยู่ร่วมสมัยเหตุการณ์มาประกอบการเขียน แต่โดยนิสัยของคนโบราณในการเล่าเรื่องให้ชาวต่างชาติฟังนั้น อาจต่อเติมอะไรต่อมิอะไรเข้าไปเพื่อแสดงพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อแสดงความเด็ดเดี่ยว และพระราชอำนาจอันน่าสะพรึงกลัว ซึ่งในมุมมองของคนโบราณเห็นว่า เป็นพระเกียรติยศ

แนวคิดของคนโบราณย่อมตรงกันข้ามกับมุมมองของคนยุคปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวที่ วัน วลิต บันทึกนั้น จะเอามาตำหนิติเตียนด้วยมาตรฐานของคนสมัยนี้ว่า ผิดถูกชั่วดี เห็นจะไม่ถูกต้องนัก

ถลกหนัง

“หลังจากได้ชัยชนะพระมหาอุปราชาและกองทัพพะโค พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ทรงรวบรวมกองทัพ ประกอบด้วยทหารจำนวนมากพอสมควรยกไปโจมตีกัมพูชา โดยมีออกญาจักรีและออกญากลาโหมเป็นทัพหน้า และสมเด็จพระนเรศพระราชโอรสเป็นทัพหลัง

เมื่อยกทัพมาถึงพรมแดนกัมพูชา ออกญาจักรีก็ฉวยโอกาสเข้ายึดเมืองชายแดน โดยคิดว่าจะทำความดีถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินและพระราชโอรส เมื่อพระนเรศเสด็จมาถึงก็ทรงพระพิโรธในการกระทำของออกญาจักรี มีรับสั่งให้ถลกหนังทั้งเป็น ทรงตรัสว่า

‘พระเจ้าแผ่นดินพระราชบิดาของเราและตัวเรา เป็นผู้สั่งเจ้ามาที่นี่ แต่ไม่ได้สั่งให้เจ้าเข้าโจมตี และเอาชีวิตทหารของเรามาเสี่ยงอันตรายเช่นนี้ เจ้าพยายามจะทำความดีความชอบแข่งกับเรา เพื่อว่าเมื่อได้รับชัยชนะแล้ว ทั้งเราและเจ้าจะได้เป็นผู้มีชัยชนะเหมือนกันทั้งสองคน ด้วยเหตุนี้เจ้าจึงต้องตาย'”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายว่า การสงครามที่ปรากฏชื่อออกญาจักรีและออกญาโหม เกิดขึ้นในคราวสงครามที่เมืองชายฝั่งด้านอ่าวเมาะตะมะ ไม่ใช่ที่เขมร ส่วนเรื่องการถลกหนังไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ การที่ถลกหนังออกญาจักรีนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารหรือหลักฐานอื่นใดเลย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ชี้ว่า ศัพท์ชาวบ้านเรียกการเฆี่ยนว่า “ถลกหลัง” นั่นเพราะเมื่อผู้ใดถูกเฆี่ยนหลังแล้ว หนังก็จะขาดหรือถูกถลกออกมาตามรอยหวายที่เฆี่ยนลงบนหลัง จึงเรียกการเฆี่ยนว่า ถูกถลกหลัง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า “บางที วัน วลิต จะไปคุยกับคนไทยได้ยินคำว่าถลกหลังแล้วฟังผิดว่า ถลกหนัง เลยเขียนความไปตามนั้นก็ได้” ดังนั้น ตามข้อสันนิษฐานนี้ การถลกหนังออกญาจักรีจึงอาจเป็นการเฆี่ยนมากกว่า

เผาทั้งเป็น

ทรงมีกระแสรับสั่งให้เตรียมเรือ และเสด็จพร้อมทั้งขุนนางไปยังเพนียด (ซึ่งเป็นโรงช้างและสถานที่ราชาภิเษก) เพื่อประกาศสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และให้ขุนนางสาบานว่าจะจงรักภักดี ต่อพระองค์ตลอดไป

เมื่อเสด็จถึงเพนียด ฝีพายของพระนเรศเทียบเรือผิด พระองค์ก็ทรงเสด็จขึ้น ไม่ได้ทรงลงพระอาญาในเวลานั้น ได้ทรงราชาภิเษกถูกต้องตามราชประเพณี เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา และทรงพระนามว่า พระนเรศราชาธิราช

หลังจากพิธีราชาภิเษกแล้ว พระองค์มีรับสั่งให้เผาฝีพายเรือของพระองค์ และฝีพายเรือหลวงลำอื่น ๆ (ประมาณ 1,600 คน) เสียทั้งเป็น ณ สถานที่นั้น ทรงมีรับสั่งกับคณะขุนนางว่า พระองค์ทรงปรารถนาให้คณะขุนนางจดจำการลงพระอาญาครั้งนี้ไว้เป็นเยี่ยงอย่างการปกครองของพระองค์ และจากนั้นพระองค์ก็เสด็จกลับพระราชวัง

เรื่องนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หากเผาฝีพายจำนวนมากเช่นนั้น แล้วสมเด็จพระนเรศวรจะเสร็จพระราชดำเนินกลับพระราชวังหลวงได้อย่างไร อีกทั้ง หากให้ขุนนางลงทำหน้าที่แทนฝีพาย พอถึงพระราชวังหลวงก็คงต้องรับพระราชอาญา เพราะจะให้พายเรือให้ดีเท่าฝีพายคงจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ มีบันทึกเรื่องทำนองนี้ไว้ว่า “ศักราช 955 มะเสงศก… เสด็จเถลิงพระมหาปราสาท ครั้งนั้นทรงพระโกรธแก่มอญ ให้เผามอญเสียประมาณ 100”  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ วิเคราะห์ว่า พงศาวดารมิได้กล่าวถึงต้นเหตุที่ทำให้ทรงพระพิโรธ อาจเพราะมอญเผาอิฐที่จะสร้างพระมหาปราสาทไม่ได้ขนาด หรือมอญคอยแต่นับอิฐแบบมอญว่า “หนึ่งแผ่นอิฐมอญ สองแผ่นอิฐมอญ สามแผ่นอิฐมอญ…” จนเป็นเหตุให้ล่าช้าเหลืออดเหลือทนเสียประมาณ แต่เชื่อว่าวัน วลิต น่าจะฟังเรื่องนี้มาผิดเป็นแน่

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่วัน วลิต บันทึก เกิดขึ้นหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีมงคล การจะเผาคนนับพันจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

จิตรกรรมโคลงภาพพระราชพงศาวดารตอน “สงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” เขียนโดย หลวงพิศณุกรรม (เล็ก) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพจากหนังสือ “จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม ๒”)

เฉียบขาด

“เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพระองค์ และประจักษ์พยานทั้งหลายซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ได้รายงานว่า ในระยะ 20 ปี ที่อยู่ในราชสมบัติ พระองค์ทรงฆ่าคนตามกฎหมายมากกว่า 80,000 คน ทั้งนี้ไม่รวมพวกที่เสียชีวิตในการรบ ไม่ว่าจะเป็นบนหลังช้าง หลังม้า ในเรือพาย หรือแม้ในขณะประทับ ณ พระราชบัลลังก์

ขณะที่ออกขุนนางปรากฏว่า ไม่มีครั้งใดเลยที่พระองค์จะปราศจากอาวุธ ทรงมีกระบอกลูกธนูบนพระเพลา และมีคันธนูอยู่ในพระหัตถ์ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นผู้ใดทำผิด แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ไม่เป็นที่สบพระทัย พระองค์จะทรงยิงธนูไปที่ผู้นั้น และรับสั่งให้ผู้นั้นนำลูกธนูมาถวาย

พระองค์จะตรัสสั่งให้เฉือนเนื้อบุคคล (แม้แต่ขุนนาง) ที่กระทำผิดแม้ว่าจะน้อยนิดเสมอ และทรงให้บุคคลผู้นั้นกินเนื้อของตนเอง เฉพาะพระพักตร์ และทรงให้บางคนกินอุจจาระของตนเองบ่อยครั้ง ที่ตรัสว่า

‘นี่เป็นวิธีที่จะปกครองพวกเจ้าชาวสยาม เพราะว่าเจ้าเป็นพวกที่มีธรรมชาติที่ดื้อดึง น่าขยะแขยง ในอาณาจักรที่แสนเลวนี้ แต่ข้าจะปฏิบัติเช่นนี้ต่อเจ้าจนกว่าจะทำให้เจ้าเป็นชนชาติที่น่านับถือได้ เจ้าเป็นเหมือนหญ้าที่ขึ้นบนท้องทุ่งที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าตัดให้สั้นได้เท่าไร เจ้าก็จะขึ้นได้สวยงามมากเท่านั้น ข้าจะหว่านทองไว้ในท้องถนนสายต่าง ๆ เป็นเวลาหลายเดือน ใครก็ตามที่มองทองเหล่านี้ด้วยความละโมภจะต้องถูกฆ่าตาย'”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า เรื่องการปกครองด้วยความเฉียบขาดของสมเด็จพระนเรศวรนั้นน่าจะเป็นความจริง เพราะการปกครองของกรุงศรีอยุธยาเริ่มอ่อนแอมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เกิดการแตกสามัคคีจนต้องเสียกรุง โจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วพระราชอาณาจักร ราษฎรหาความสุขมิได้ สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องทรงปกครองโดยเฉียบขาด ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างรุนแรงเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง

สำหรับการประหารชีวิตกว่า 80,000 คน นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เชื่อว่า อาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ส่วนเรื่องพระแสงติดพระองค์นั้น เป็นราชประเพณีโดยธรรมเนียมที่เจ้าพนักงานต้องทอดพระแสงไว้เสมอ เรื่องยิงธนู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายว่า นั่นมิใช่การลงพระราชอาญา ถ้าเป็นในระหว่างเสด็จออกว่าราชการ น่าจะเป็นการปลุกผู้ที่แอบงีบให้ตื่น เพราะขุนนางหมอบเฝ้า อาจก้มหน้าก้มตาแล้วหลับไปเลย

พระราชอาญาให้คนกินเนื้อของตน หรือกินอุจจาระของตนนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า “ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เรื่องคอร์รัปชันว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าลงพระราชอาญาแบบนี้แก่ขุนนางตำแหน่งใหญ่ ๆ ผู้กินไม่อิ่มก็น่าจะเห็นพระราชหฤทัยอีกเช่นเดียวกัน”

กลัวไม่ได้กลับบ้าน

“ขุนนางทั้งหลายรับราชการอยู่ด้วยความหวาดกลัวพระเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ขุนนางจะจัดบ้านช่อง เหมือนกับว่าตนจะไปตาย เพราะว่าขุนนางกลัวอยู่เสมอว่าตัวจะไม่ได้กลับมาเห็นบ้านอีก”

ในเรื่องนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องยืนยันข้อความในพงศาวดารพม่า ที่ขุนนางพม่ากราบทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า คนไทยกลัว พระนเรศวร ยิ่งกว่ากลัวตาย” ซึ่งทำให้เห็นว่า ในประเด็นนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เห็นพ้องตามบันทึกของวัน วลิต

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อธิบายสรุปว่าวัน วลิต ได้บันทึกเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรอย่างชาวต่างชาติเขียน ไม่มีเหตุที่จะยกย่องพระเกียรติยศ บางครั้งก็เขียนไปในทางเสื่อมเสีย เพราะคงจะได้ฟังจากคำบอกเล่าของคนในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นคนที่อยู่ใต้ราชวงศ์ใหม่ อาจเล่าเรื่องราวบางประการให้วัน วลิต ฟังเพื่อเป็นการลบหลู่ราชวงศ์เดิม ส่งเสริมราชวงศ์ใหม่ก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. 2182. (2546). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.

คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. (2533). กฤษดาภินิหาร อันบดบังมิได้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สยามรัฐ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ  11 พฤศจิกายน 2563