ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ |
เผยแพร่ |
สมเด็จพระนเรศ (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-48) ทรงพระประชวรสวรรคต ณ เมืองห้างหลวง (หาง) ขณะยกทัพหลวงไปตีกรุงอังวะใน จ.ศ. 967 ปีมะเส็งสัปตศก (พ.ศ. 2148) พระราเมศวรจึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐา ทรงพระนามว่า สมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 2148-53)
นักพงศาวดารหลายท่านเชื่อว่า สมเด็จพระนเรศไม่มีพระราชโอรสธิดา เพราะยึดตามพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และจดหมายเหตุปีเตอร์ ฟลอริส (Peter Williamson Floris) ลูกจ้างชาวฮอลันดาที่ทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษประจำเมืองปัตตานี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2155-58) ในต้นรัชกาลพระอินทราชา พระองค์ที่ 3 (พระเจ้าทรงธรรม ครองราชย์ พ.ศ. 2153-71) บันทึกว่า
“กษัตริย์ผู้พิชิตพระองค์นี้ [สมเด็จพระนเรศ-ผู้เขียน] สวรรคตใน ค.ศ. 1605 [พ.ศ. 2148-ผู้เขียน] โดยปราศจากพระราชโอรสธิดาสืบสันตติวงศ์ ทิ้งราชบัลลังก์ไว้ให้กับพระอนุชา ซึ่งมีพระสมัญญานามว่า พระองค์ขาว [สมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1-ผู้เขียน] ผู้รักสันติและมีน้ำพระทัยอ่อนโยน”
แต่จดหมายเหตุสเปนชื่อ History of the Philippines and Other Kingdom ซึ่งบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา (Marcelo de Ribadeneira) เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) โดยเรียบเรียงจากคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันที่เดินทางเข้ามาพำนักยังพระนครศรีอยุทธยาใน ค.ศ. 1582 (พ.ศ. 2125) ปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระองค์ที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 2112-33) และในรัชกาลสมเด็จพระนเรศ เมื่อ ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) ได้กล่าวถึง “พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด” ของพระเจ้าแผ่นดินสยามในขณะนั้นว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)
“รูปแบบของการปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (An Absolute Monarchy) โดยพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์เป็นสูงสุด นับเป็นเวลา 2,000 ปีมาแล้วที่เหล่าพระมหากษัตราธิราชเจ้า ได้เสด็จขึ้นครองราชย์โดยสายตรงแห่งการสืบสันตติวงศ์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นพระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงพระมหาการุณยภาพ ทรงเป็นที่หวาดหวั่นครั่นคร้ามมาก แต่ก็ทรงเป็นพระปิยราชด้วยในเวลาเดียวกัน…
ครั้งหนึ่งบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินประทับในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งประดับประดาแล้วล้วนไปด้วยพระปฏิมากร เพื่อจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนพระอารามแห่งหนึ่ง มีเรือสี่ลำแล่นล่วงหน้าไปก่อนเรือพระที่นั่ง เพื่อเป็นการค้ำประกันความปลอดภัยของพระเจ้าแผ่นดิน
เรือเหล่านี้บรรทุกผู้คนเป่าแตรเงินเล็ก ๆ เพื่อป่าวประกาศการเสด็จพระราชดำเนินถึง บรรดาเรือล้วนมีรูปทรงวิจิตรพิสดารและแกะสลักอย่างน่าพิศวงด้วยรูปปฏิมาประดับประดาอย่างหรูหรา ก่อเกิดความรู้สึกประทับใจถึงโขลงช้างที่ลอยเหนือน่านน้ำ ด้วยเรือเหล่านี้ลอยเลื่อนไปเบื้องหน้าและท้ายเรือโลดทะยาน
เรือสี่ลำเหล่านี้หยุดที่พระอารามแห่งหนึ่งบนชายฝั่ง เพราะพวกเขาคาดหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเจริญพระพุทธมนต์และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ตามติดมาอย่างใกล้ชิดเรือสี่ลำนั้นเป็นเรืออื่น ๆ อีกหลายลำที่ใหญ่กว่านั้น แต่ละลำบรรทุกผู้คนมากมายที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบประเภทต่าง ๆ เรือแต่ละลำมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งราชสำนัก 1 คน แล้วจากนั้นเป็นพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์ในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งอย่างหรูหรามาก ตามติดมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลใน สมเด็จพระอัครมเหสีประทับแต่เพียงลำพังพระองค์ และบรรดานางกำนัลนั่งในเรือลำอื่นที่ตกแต่งอย่างน่าอัศจรรย์ และกั้นด้วยม่านอย่างรอบคอบจนเป็นไปได้ที่จะสามารถมองผ่านม่านจากภายในออกมาสู่โลกภายนอกได้ โดยที่คนภายนอกไม่เห็นคนภายใน
สุดท้ายที่มาถึงในกระบวนพยุหยาตราโดยชลมารคคือองค์พระมหากษัตริย์ ประทับในเรือพระที่นั่งขนาดกว้างใหญ่ที่ดูแต่ไกลเหมือนนกกระยางตัวมหึมาที่แผ่ปีกอันกว้างใหญ่ออกมา เป็นเรือพระที่นั่งปิดทองทั้งองค์ และโดยที่ฝีพายมีเป็นจำนวนมาก อิริยาบถในการพายของพวกเขาจึงดูเหมือนนกตัวใหญ่เหิรลมเหนือท้ายเรือพระที่นั่ง พระเจ้าแผ่นดินประทับเหนือพระราชบัลลังก์ เคียงข้างพระองค์เป็นสาวน้อยผู้เลอโฉมข้างละ 2 คนคอยถวายอยู่งานโบกพัด เพื่อให้พระองค์ทรงสดชื่นจากความร้อนระอุของดวงอาทิตย์
ทันทีที่เรือพระที่นั่งหยุดลง ฝูงชนก็ผลักดันกันไปข้างหนึ่งและหมอบราบลง และยกมือขึ้นประนมให้ลักษณาการศิโรราบจนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินผ่านไป แล้วเรือพระที่นั่งของพระราชกุมารผู้ทรงพระเยาว์ ก็ติดตามมาพรั่งพร้อมด้วยเหล่าขุนนางชั้นสูง
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินถึงพระอาราม พระองค์ได้รีบเสด็จไปถวายเครื่องราชสักการะแด่พระปฏิมากรทั้งหลาย และหลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จลงสรงสนานกลางสระน้ำใสในปริมณฑลของพระอาราม บรรดาเจ้าพนักงานภูษามาลาและชาวที่ได้อัญเชิญน้ำสรงปริมาณหนึ่งไว้เพื่อสักการบูชา และพวกเขาได้อยู่งานถวายพระมูรธาภิเษก จนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระราชวัง
บรรดาบาทหลวงของนิกายฟรานซิสกันของเราได้มีโอกาสอันหายากยิ่งในการที่ได้เห็นการเสด็จออกรับแขกเมืองจากกัมพูชา ได้มีการสร้างบ้านพักทันทีสำหรับคณะราชทูต เป็นบ้านพักที่กว้างขวางและตกแต่งประดับประดาอย่างหรูหรา ใกล้ที่พักนั้นเป็นหอสูงทรงแคบที่พวกเขาได้จารึกชื่อและความเป็นมาของคณะราชทูตกัมพูชาโดยจารเป็นตัวอักษรเขมร ด้วยพิธีกรรมอันเอิกเกริกตามควรแก่ฐานะของคณะราชทูต พวกเขาได้กระตุ้นให้ฝูงชนโบกธงทิว แกว่งไกวหอก ถือคันธนูและธนู
เมื่อการทั้งหลายทั้งปวงเตรียมพร้อมสรรพแล้ว ทหารนักล่า 6,000 คน และทหารธนู 12,000 คน ได้ตั้งแถวเรียงรายตามชายฝั่งน้ำ เพื่อต้อนรับการมาถึงของคณะราชทูต แตรเดี่ยวเล็กและแตรทองเหลืองดังกังวานขึ้นในอากาศ เมื่อราชทูตขึ้นบก ราชทูตมีข้าราชสำนักชั้นสูงติดตามไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งประทับรอคอยเขาอยู่อย่างสง่างาม”
แต่การที่จดหมายเหตุบาทหลวงริบาเดเนอิราถูกเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2139 ทำให้น่าเชื่อว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามหมายถึงสมเด็จพระนเรศ กอปรกับพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ดังกล่าวมีพระบุคลิกลักษณะคล้ายคลึงกับสมเด็จพระนเรศอย่างมาก คือ “พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นพระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงพระมหาการุณยภาพ ทรงเป็นที่หวาดหวั่นครั่นคร้ามมาก แต่ก็ทรงเป็นพระปิยราชด้วยในเวลาเดียวกัน”
แม้จดหมายเหตุบาทหลวงริบาเดเนอิราจะมิได้ระบุวันเดือนปีไว้เป็นหลักฐาน แต่ในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) มีบันทึกถึงเรื่องสมเด็จพระนเรศเสด็จออกรับคณะทูตกัมพูชาที่เดินทางเข้ามาถวายเครื่องราชบรรณาการใน จ.ศ. 949 ปีกุนนพศก (พ.ศ. 2130) ว่า
“ลุศักราช 949 ปีกุนนพศก ราชบุตรนักพระสัตถาผู้เป็นพญาละแวก เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จไปปราบ ขณะเมื่อทหารข้าหลวงเข้าเมืองละแวกในเพลากลางคืนนั้น ราชบุตรมาอยู่หน้าที่ ครั้นทัพไทยเข้าเมืองได้แล้ว ความกลัวก็มิได้ไปหาบิดา หนีออกจากหน้าที่กับบ่าวประมาณ 10 คน เข้าป่า พากันหนีไปถึงแดนเมืองล้านช้าง ครั้นรู้ข่าวว่ากองทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแล้ว ก็พากันกลับมายังเมืองละแวก
เสนาบดีที่เหลืออยู่กับสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจึงพร้อมกันยกพระราชบุตรท่านขึ้นราชาภิเษกเป็นพญาละแวกครอบครองแผ่นดินแทนบิดา พญาละแวกครั้นได้ครองสิริสมบัติแล้ว ก็อุตสาหะบำรุงสมณพราหมณาจารย์โดยยุติธรรมราชประเพณีมาได้เดือนเศษจึงตรัสปรึกษาเสนาบดีกระวีมุขทั้งหลายว่า แต่ก่อนพระราชบิดาเราไปกระทำเสี้ยนหนามต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา มิได้เกรงพระเดชเดชานุภาพ สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์อันทรงอิศวรภาพดุจสุริยเทวบุตร จันทรเทวบุตร อันมีรัศมีสว่างโลกธาตุ ความพินาศฉิบหายจึงถึงพระองค์แลญาติประยูรวงศ์ในกรุงกัมพูชาธิบดี แลครั้งนี้เราจะทำดุจพระบิดานั้นมิได้ ว่าจะอ่อนน้อมขอเอาพระเดชเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้ากรุงเทพมหานครศรีอยุธยาเป็นที่พึ่งที่พำนักความสุขสวัสดีจะได้มีแก่เราท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด
เสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์ดำรัสนี้ควรนัก ขอพระราชทานให้แต่งดอกไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการ มีพระราชสาส์นไปอ่อนน้อมโดยราชประเพณีเมืองขึ้นเมืองออกกรุงเทพมหานครแล้ว ความสิริสวัสดีพิพัฒนมงคลก็จะบังเกิดมีไปตราบเท่ากัลปาวสาน พญาละแวกได้ฟังดังนั้นยินดีนัก จึงให้แต่งดอกไม้ทองเงิน จัดเครื่องราชบรรณาการเป็นอันมาก แล้วแต่งลักษณะราชสาส์นให้ออกญาวงศาธิบดี พระเสน่หามนตรี หลวงวรนายก เป็นทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมา
ครั้นถึงด่านปราจีนบุรี กรมการก็คุมทูตานุทูตเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร เสนาบดีนำเอากิจจานุกิจกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวดำรัสให้เบิกทูตเฝ้า ณ มุขเด็จหน้าพระที่นั่งมังคลาภิเษก ตรัสพระราชปฏิสัณฐาน 3 นัดแล้ว พระศรีภูริปรีชาก็อ่านพระราชสาส์นในลักษณะนั้นว่า ข้าพระองค์ผู้ครองกรุงอินทปัตถ์กุรุรัฐราชธานี ขอถวายบังคมมาแทบพระวรบาทบงกชมาศ สมเด็จพระผู้จอมมงกุฎราชกรุงทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน ด้วยพระบิดาข้าพระองค์มิได้รักษาขอบขัณฑเสมาโดยราชประเพณี กระทำพาลทุจริตมิได้รู้จักกำลังตนกำลังท่าน มาก่อเกิดเป็นปรปักษ์แก่กรุงเทพมหานคร อุปมาดังจอมปลวกมาเคียงเขาพระสิเนรุราชบรรพต
มิดังนั้นดุจมิคชาติตัวน้อยองอาจยุทธนาการด้วยพญาราชสีห์อันมเหศวรศักดานุภาพก็ถึงแก่กาลพินาศจากไอสุริยสวรรยานั้นก็เพื่อผลกรรมอันได้กระทำมาแต่ก่อน แลข้าพระองค์ครองแผ่นดินเมืองละแวกครั้งนี้จะได้เอาเยี่ยงอย่างพระบิดานั้นหามิได้ จะขอเอาพระเดชเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ปกเกล้าปกกระหม่อมดุจฉัตรแก้วแห่งท้าวมหาพรหม อันมีปริมณฑลกว้างขวางร่มเย็นไปทั่วจักรวาล ข้าพระองค์ขอถวายสุวรรณหิรัญรัตนมาลาบรรณาการมาโดยราชประเพณีสืบไปตราบเท่ากัลปาวสาน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟัง ก็มีพระทัยเมตตาแก่พระสุธรรมราชาพญาละแวกองค์ใหม่เป็นอันมาก สั่งให้ตอบพระราชสาส์นไปว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้อาฆาตจองเวรแก่ราชบุตรนัดดานักพระสัตถาหามิได้ แลซึ่งบิดาท่านเป็นไปจนถึงกาลนิราลัยนั้น ก็เพื่อเวรานุเวรแต่อดีตติดตามมาให้ผลเห็นประจักษ์ แลให้พญาละแวกองค์ใหม่นี้ครอบครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรโดยยุติธรรมราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนนั้นเถิด แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานตอบเครื่องราชบรรณาการ แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่ทูตานุทูตโดยสมควร อยู่สามวันทูตก็กราบถวายบังคมลาไปยังกรุงกัมพูชาธิบดี”
ปีลำดับเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) นั้นวิปลาสคลาดเคลื่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องคณะทูตกัมพูชาเดินทางมายังราชสำนักศรีอยุทธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศไม่มีกล่าวอยู่ในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความแม่นยำในเรื่องปีศักราชและลำดับเหตุการณ์
หากย้อนกลับไปดูพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) อีกครั้งหนึ่ง จะพบว่าเรื่องคณะทูตกัมพูชาลำดับไว้ก่อนหน้าสมเด็จพระนเรศเสด็จยกทัพหลวงไปตีเมืองเมาะตะมะและกรุงหงสาวดี ใน จ.ศ. 950 ปีชวดสัมฤทธิศก (พ.ศ. 2131) เป็นเวลา 1 ปี พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกว่า
“ครั้นเข้าเดือน 5 ปีชวดสัมเรทธิศก [จ.ศ. 950-ผู้เขียน] สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้บำรุงช้างม้ารี้พลไว้ เดือนสิบสองจะยกไปเมืองเมาะตะมะเมืองหงสาวดี ในเดือน 5 นั้นมีหนังสือบอกพญาศรีไศลเข้ามาว่า ซึ่งพระเจ้าแปรผู้เป็นพระราชนัดดาเสียทัพกลับไปเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีเอาโทษถอดเสียจากที่ฐานาศักดิ์ ไพร่พลรามัญซึ่งไปกับพระเจ้าแปรนั้นจับใส่เล้าคลอกเสีย ที่แตกฉานซ่านเซ็นไปภายหลังรู้เนื้อความดังนั้น กลัวตายก็มิได้เข้าบ้านเมือง คุมกันเป็นพวกเป็นเหล่าออกอยู่ป่า แต่งข้าหลวงไปจับก็ต่อรบ แลหัวเมืองทั้งปวงนั้นเห็นว่าพระเจ้าหงสาวดีถอดพระเจ้าแปรเสีย ก็เสียใจพากันกระด้างกระเดื่องเป็นอันมาก แลกรุงหงสาวดีเห็นจะเสียแก่มอญขบถ
ครั้นถึง ณ วันเสาร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 เพลารุ่งเช้า สองนาฬิกาได้มหาอุดมฤกษ์ สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเครื่องอลังการ์สรรพาภรณ์วิชัยยุทธสรรพเสร็จเสด็จลงสู่พระที่นั่งกนกรัตนวิมานมหานาวาอันรจนาด้วยกาญจนมณีชัชวาลทั้งคู่ ดูพันลึกอธึกด้วยเรือจำนำท้าวพญาสามนตราช ฝ่ายทหารพลเรือนเรียงประจำจับฉลากสลอนสลับคับคั่งตั้งโดยขบวนพยุหยาตรา พระโหราราชครูธิบดีศรีพิชาจารย์ก็ลั่นฆ้องชัยให้คลาเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์อันทรงพระพุทธิปฏิมากรทองนพคุณบรรจุพระสารีริกบรมธาตุ ถวายพระนามสมญาพระไชยนั้นก่อน แล้วเรือขบวนหน้าทั้งปวงเดินโดยลำดับเรือพระที่นั่งแลเรือแห่ซ้ายขวา กระบวนหลังทั้งปวงก็โดยเสด็จดาดาษในท้องอรรณพมหานทีธารประทับรอนแรมห้าเวนก็ถึงเมืองกาญจนบุรี…
ครั้น ณ วันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 3 เพลาย่ำรุ่ง สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จทรงสรรพสิริราชอลังการยุทธสำหรับราชรณรงค์ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งไปยืนอยู่ ณ ริมฝั่งเมาะลำเลิง ครั้นเพลา 5 บาท ได้มหาเพชรฤกษ์ พระโหราธิบดีศรีพิชาจารย์ลั่นฆ้องชัยเป็นสำคัญ เจ้าพญาจักรีนายทัพนายกองก็ยกพลเรือรบเรือไล่ข้ามไปรบเมืองเมาะตะมะ พญาลาวก็แต่งเรือรบเรือไล่ออกมารบก็พ่ายแก่พวกทหารข้าหลวง ๆ ก็ไล่ส่ำรุดขึ้นป่ายปีนเอาเมืองเมาะตะมะนั้นได้ พญาลาวแลท้าวพญามอญขบถทั้งปวงก็พ่ายหนี แลพลทหารข้าหลวงไล่ฟันแทงมอญขบถหญิงชายทั้งปวงตายสิ้นทั้งเมืองเมาะตะมะนั้น
ถึงวันศุกร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 3 พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จด้วยพระชลวิมาน ข้ามแม่น้ำเมาะลำเลิงไปตั้งทัพหลวงในเมาะตะมะ ในขณะนั้นสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงตรัสทรงพระโกรธแก่เจ้าพญาจักรี แลตรัสให้จำไว้คงไว้เมาะลำเลิง แลไว้พญาธนบุรีนอกราชการแลขุนหมื่นทั้งปวงให้อยู่รั้งเมืองเมาะลำเลิงด้วยเจ้าพญาจักรี แลมีพระราชกำหนดให้ซ่องสุมเอามอญอันซ่านเซ็นทั้งปวงให้เข้าอยู่ในเมืองเมาะลำเลิง ตรัสให้เจ้าพญาสวรรคโลก แลพญาพิชัย พญากาญจนบุรี แลขุนหมื่นทั้งหลายอยู่รั้งเมืองเมาะตะมะ แลซ่องมอญอันซ่านเซ็นทั้งปวงเข้าอยู่เมืองเมาะตะมะ ถึงวันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 3 ก็ยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเมาะตะมะ ก็เสด็จโดยสถลมารคถึงฝั่งแม่น้ำสโตง
ฝ่ายพญาตองอูอยู่ในเมืองหงสาวดี ครั้นได้ยินข่าวว่าทัพหลวงเสด็จไป พญาตองอูแต่งให้ม้าประจำข่าวถึงเมืองเมาะตะมะ ครั้นรู้ข่าวว่าเสียเมืองเมาะตะมะแล้ว พญาตองอูก็เทเมืองหงสาวดี แลให้เผาเหย้าเรือนทั้งปวงเสีย แล้วก็พาพระเจ้าหงสาวดีรุดหนีไปยังเมืองตองอูฝ่ายทัพหลวงไซร้ ครั้นถึงฝั่งสโตง พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตรัสใช้พระมหาเทพเป็นนายกองทัพม้าสองร้อยให้ยกไปก่อนทัพหลวง แล้วก็ตรัสใช้พญาเพชรบุรีให้ยกช้างม้าแลพลสามพันหนุนทัพพระมหาเทพ จึงยกทัพหลวงข้ามแม่น้ำสโตง แลเสด็จถึงเมืองหงสาวดีในวันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 3 ตั้งทัพหลวงในตำบลสวนหลวง จึงพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธิเจ้าพระเมาะตาวในเมืองหงสาวดี”
พระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวถึงเรื่องสมเด็จพระนเรศเสด็จยกทัพหลวงไปเมืองสะโตงแต่เพียงสังเขปว่า “ศักราช 956 มะเมียศก ยกทัพไปเมืองสะโตง”
ในเมื่อคณะทูตกัมพูชาเดินทางมาถึงพระนครศรีอยุทธยาก่อนหน้าสมเด็จพระนเรศยกทัพหลวงไปเมืองสะโตงใน จ.ศ. 956 ปีมะเมียฉศก (พ.ศ. 2137) หนึ่งปี แสดงว่าคณะทูตกัมพูชาชุดนี้เดินทางมาถึงพระนครศรีอยุทธยาใน จ.ศ. 955 ปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ. 2136) เป็นอย่างน้อย
ส่วนพระสุธรรมราชาพระญาละแวกองค์ใหม่นั้น พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุว่า พระองค์เป็นพระราชโอรสในนักพระสัตถา (ครองราชย์ พ.ศ. 2119-36) มีพระนามเดิมว่า “เจ้าพระญาตน” เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับนักองค์นพรัตน์ จ.ศ. 1239 (พ.ศ. 2420) เรียกว่า “พระราชโองการ พระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” แต่พงศาวดารละแวก ฉบับแปล จ.ศ. 1170 (พ.ศ. 2351) เรียกเพียงสั้นๆ ว่า “สมเด็จพระบรมราชา” (ครองราชย์ พ.ศ. 2140-42)
พงศาวดารฝ่ายเขมรค่อนข้างสับสนเรื่องลำดับกษัตริย์กัมพูชาโบราณ เพราะหลังจากเมืองละแวกถูกกองทัพสมเด็จพระนเรศตีแตกใน จ.ศ. 955 ปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ. 2136) แล้ว นักพระสัตถาและพระราชวงศ์ รวมทั้งสมเด็จพระบรมราชา (เจ้าพระญาตน) เสด็จหนีภัยสงครามไปประทับที่เมืองศรีสุนทร แล้วเสด็จลี้ภัยต่อไปยังเมืองลาวล้านช้างใน จ.ศ. 956 ปีมะเมียฉศก (พ.ศ. 2137) กว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาเสวยราชสมบัติในกรุงกัมพูชาก็ตก จ.ศ. 959 ปีระกานพศก (พ.ศ. 2140) กษัตริย์กัมพูชาในห้วง พ.ศ. 2136 จึงควรหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพร (ครองราชย์ พ.ศ. 2138-39)
หนังสือเรื่องความสำเร็จของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ (Sucesos de las Islas Filipinas) ของ ดร. อันโตนิโอ เด มอร์กา (Dr. Antonio de Morga) รองผู้ว่าราชการและผู้พิพากษาแห่งคณะตุลาการประจำหมู่เกาะฟิลิปปินส์ (ราว พ.ศ. 2138-41) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1609 (พ.ศ. 2152) ระบุว่า “ขุนนางผู้หนึ่งชื่อ องค์นักพระราม (Anacaparan) ได้ครอบครองทั้งประเทศและปกครองโดยตั้งตนเป็นกษัตริย์ แม้จะเป็นการฝืนเจตนารมณ์ของผู้อื่น”
ข้อเท็จจริงดังกล่าวขัดแย้งกับบันทึกและเรื่องแนะนำสิ่งที่ควรปฏิรูป และเรื่องความมั่งคั่งในหมู่เกาะฟิลิปปินส์และในหมู่เกาะโมลุกกะ ซึ่งเอร์นันโด เด โลส รีโอส โกโรเนล (Hernando de los Rios coronel) บาทหลวงและทนายเอกแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ กับเฟร์นันโด โกร์เรอา (Fernando Correa) เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1621 (พ.ศ. 2164) กล่าวว่า “พระวงศานุวงศ์ในกษัตริย์ผู้ชอบธรรมโดยนิตินัย [นักพระสัตถา-ผู้เขียน] กำลังทรงราชย์อยู่ คือ นักพระราม พระบัณฑูร (Nancaparan Prabantul)”
เรื่องที่สมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพรทรงเป็น “พระวงศานุวงศ์” กับนักพระสัตถาในจดหมายเหตุสเปนนั้นสอดคล้องต้องกันกับข้อมูลในพงศาวดารละแวกที่ว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีเป็นพระวงศานุวงศ์กับพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี [นักพระสัตถา-ผู้เขียน] กินเมืองอยู่ ณ เมืองเชิงไพร” แต่บันทึกเรื่องการพิชิตหมู่เกาะโมลุกกะ (Conqvista de las Islas Malvcas) ของบาร์โตโลเม เลโอนาร์โด เด อาร์เฆนโซลา (Bartolome Leonardo de Argensola) พระอนุศาสนาจารย์ในสมเด็จพระนางเจ้ามาเรีย (Maria) พระราชินีแห่งออสเตรีย ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 1609 (พ.ศ. 2152) กลับให้ข้อมูลสำคัญยิ่งเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ระหว่างนักพระสัตถาและสมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพร รวมถึงเบื้องหลังการเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติของพระองค์ว่า
“…พระเจ้ากรุงเสียน [สมเด็จพระนเรศ-ผู้เขียน] ได้ทรงพิชิตพระเจ้ากรุงกัมพูชา [นักพระสัตถา-ผู้เขียน] เพื่อนบ้านจนราบคาบแล้ว พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้เสด็จหนีพร้อมกองทัพที่เหลือไปอาณาจักรลาว ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกัน… พระเจ้ากรุงเสียนได้ทรงนำเสนอพระโองการ [แต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน-ผู้เขียน] องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ซึ่งทรงพระสมัญญานามว่า ‘พระโอษฐเบี้ยวผู้ทรยศ’ [สมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพร-ผู้เขียน] พระองค์ทรงเป็นพระอนุชา [ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาเรียกว่า พระเชษฐาประทับอยู่ ณ เมืองเจิงเปร๊ย-ผู้เขียน] ในพระโองการผู้พ่ายแพ้…”
สมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพรหาใช่ขุนนางธรรมดาสามัญไม่ แต่พระองค์เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของนักพระสัตถา เข้าใจว่าพระองค์ประสูติแต่พระสนม จึงถูกนับเนื่องใน “พระวงศานุวงศ์” ของนักพระสัตถาพระญาละแวกองค์ก่อน
การที่สมเด็จพระนเรศทรงให้การต้อนรับคณะทูตกัมพูชาที่มาขออ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้นของกรุงพระนครศรีอยุทธยาใน จ.ศ. 955 ปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ. 2136) ย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงยอมรับสมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพรไว้ในฐานะเจ้าเมืองประเทศราช เสมือนหนึ่งพระองค์ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพรขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชากลาย ๆ ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในหนังสือเรื่องการพิชิตหมู่เกาะโมลุกกะ ของบาร์โตโลเม เลโอนาร์โด เด อาร์เฆนโซลา
ใน จ.ศ. 956 ปีมะเมียฉศก (พ.ศ. 2137) ขณะนักพระสัตถาและพระราชวงศ์ทรงลี้ภัยสงครามไปประทับอยู่ที่เมืองศรีสุนทรนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพรทรงฉวยโอกาสทูลขอพระราชเทพีจากนักพระสัตถาถึง 2 พระองค์ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาบันทึกว่า
“ลุศักราช 956 (พ.ศ. 2137) ปีมเมีย… แต่พระเชษฐาประทับอยู่ ณ เมืองเจิงเปร๊ย (ตีนป่า) เห็นว่าสมเด็จพระราชโองการ พระบรมราชา [นักพระสัตถา-ผู้เขียน] ได้เสด็จไปประทับอยู่เมืองเสร๊ยสนทอ์รแล้ว ให้ขอพระราชเทพีทั้ง 2 พระองค์จากพระองค์ พระองค์ก็โปรดให้ แต่ส่วนพระองค์กับพระอรรคมเหสีแลพระราชบุตรได้เสด็จไปประทับเมืองลาว…”
เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพรทรงสร้างสิทธิธรรมในราชบัลลังก์กัมพูชาด้วยการขอการรับรองจากราชสำนักศรีอยุทธยา และทูลขอพระราชทานพระราชเทพี 2 พระองค์จากนักพระสัตถามาเป็นพระมเหสีแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มต้นเกลี้ยกล่อมขุนนางและราษฎรที่ตกค้างอยู่ในกัมพูชามาเป็นสมัครพรรคพวกได้เป็นจำนวนมากแล้ว ก็คิดสลัดแอกจากการครอบงำของกรุงพระนครศรีอยุทธยา จึงยกไพร่พลเข้าขับไล่กองทัพของพระมหามนตรีที่อยู่รักษากรุงกัมพูชาออกไปเป็นผลสำเร็จใน จ.ศ. 957 ปีมะแมสัปตศก (พ.ศ. 2138) พงศาวดารละแวกเล่าว่า
“ครั้นถึง ณ วันจันทร์ เดือน 6 ขึ้นค่ำหนึ่ง ศักราช 1517 ปีมะแมสัปตศก (พ.ศ. 2318) สมเด็จพระรามาธิบดีเป็นพระวงศานุวงศ์กับพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี กินเมืองอยู่ ณ เมืองเชิงไพร พระชนมายุพระองค์ได้ 51 ปี ตั้งพระทัยคิดอ่านเกลี้ยกล่อมไพร่ฟ้าข้าราชการ ซึ่งตกค้างอยู่ที่ใด ๆ พระองค์ก็เอามาเลี้ยงไว้ได้เป็นอันมาก สมเด็จพระรามาธิบดีคุมพลได้มากแล้ว ยกกองทัพมาตีทัพพระมหามนตรีซึ่งตั้งอยู่ ณ ที่สระแก้ว พระมหามนตรีอิดโรยด้วยกำลังเสบียงอาหาร ต้านทานทัพ (สมเด็จ) พระรามาธิบดีมิได้ พระมหามนตรีเลิกทัพ (กลับ) กรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระรามาธิบดีตั้งตัวเป็นเจ้าอยู่ในเมืองศรีสุนทร ณ ปีมะแม ปีวอกต่อกัน พระชนมายุพระองค์ได้ 52 ปี”
หลังจากสมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพรทรงประกาศตั้งตัวเป็นอิสระในเมืองศรีสุนทรได้เพียงไม่นาน พระองค์ก็ทรงถูก “ฝรั่งสองคนพี่น้อง” คือ บลัส รุยส์ (Blas Ruys) ชาวสเปน และเดียโก เบโยโซ (Diego Belosso) ชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นราชบุตรบุญธรรมของนักพระสัตถา ลอบปลงพระชนม์เมื่อ ม.ศ. 1518 ปีวอกอัฐศก (พ.ศ. 2139) พงศาวดารละแวกเล่าว่า
“ครั้น ณ วันเข้าพระวษาทุติยาษัฏศักราชได้ 1518 ปีวอกอัฎฐศก (พ.ศ. 2139) มีฝรั่งพี่น้อง 2 คน ผู้พี่นั้นชื่อลวิศปรัด ผู้น้องชื่อวินัศอรุ่ม แต่ก่อนนั้นพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีนับถือฝรั่ง 2 คนว่าเป็นลูกเลี้ยง เป็นนายกำปั่นบรรทุกสิ่งของมาค้าขาย ณ เมืองกัมพูชา มิได้รู้ว่าพระเจ้ากรุงกัมพูชาเป็นอันตรายหามิได้ สมเด็จพระรามาธิบดีรู้ว่าฝรั่ง 2 พี่น้องเป็นลูกเลี้ยงพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี มีจิตคิดอิจฉาเป็นโมหจริตคิดจะฆ่าฝรั่ง 2 คนพี่น้องเสีย ฝรั่ง 2 คนพี่น้องรู้ตัวกลับคิดฆ่า (สมเด็จ) พระรามาธิบดีเสียในปีวอกอัฎฐศกนั้น…”
เมื่อบลัส รุยส์ และเดียโก เบโยโซ รู้ว่านักพระสัตถาและพระราชวงศ์เสด็จหนีไปประทับยังเมืองลาวล้านช้าง จึงตัดสินใจเดินทางไปทูลเชิญพระองค์กลับมาครองราชสมบัติดังเก่า แต่ปรากฏว่านักพระสัตถาและสมเด็จพระไชยเชษฐาพระราชโอรสองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เหลือเพียงสมเด็จพระบรมราชา (เจ้าพระญาตน) พระราชโอรสองค์น้อยเท่านั้น ฝรั่งสองคนพี่น้องจึงทูลเชิญพระองค์กลับมาครองกรุงกัมพูชาใน ม.ศ. 1519 ปีระกานพศก (พ.ศ. 2140) พงศาวดารละแวกเล่าว่า
“…ครั้น ณ วันพุธ เดือน 5 แรม 8 ค่ำ เป็นวันเถลิงศกศักราช 1519 ปีระกานพศก (พ.ศ. 2140) ลวิศปรัด วินัศอรุ่ม เชิญสมเด็จพระบรมราชาผู้เป็นพระราชโอรสพระเจ้ากรุงกัมพูชามาครองราชสมบัติ ณ เมืองศรีสุนทรในปีระกานั้น พระองค์เลี้ยงฝรั่ง 2 คนนั้นให้เป็นใหญ่กว่าคน (อื่น)”
หนังสือความสำเร็จของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ของ ดร. อันโตนิโอ เด มอร์กา เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชา (เจ้าพระญาตน) เสด็จกลับมาครองราชสมบัติในกรุงกัมพูชาว่า “…พระราชโองการ [สมเด็จพระบรมราชา-ผู้เขียน] เสด็จพระราชดำเนินโดย (ทาง) ชลมารคพร้อมด้วยพระอัยยิกา พระปิตุจฉา และพระมาตุจฉา และพระชายาในรัชกาลก่อน [นักพระสัตถา-ผู้เขียน] นายเดียโก เบโยโซ และนายบลัส รุยส์ จากลาวสู่กัมพูชา เมื่อไปถึงกัมพูชา ทั้งคณะได้พบความไม่สงบตามหัวเมือง แต่ในทันทีที่พระราชโองการเสด็จไปถึง ก็มีผู้คนมากมายมาสวามิภักดิ์เข้าด้วยพระองค์
โดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิม (Moor) 2 คน ชื่อออกญาลักษมานา (Ocuna Lax Casa mana) และจามโปรัต (Concona) ซึ่งอยู่ในประเทศ พร้อมด้วยกองทัพบกมลายูและอาวุธปืนใหญ่จำนวนหนึ่งและช้างจำนวนมาก พระราชโองการทรงได้ชัยชนะหลายครั้ง… พระราชโองการทรงเป็นใหญ่เหนือมณฑลเกือบทั้งหมดของอาณาจักร พระราชโองการโปรดให้นายเดียโก เบโยโซ และนายบลัส รุยส์ เป็นหัวหน้าใหญ่ในกิจการทหารและทั้งสองคนกระทำศึก จนกระทั่งทั้งสองได้สถาปนาพระราชโองการขึ้นครองราชบัลลังก์อย่างสมบูรณ์ เมื่อสงครามเกือบจะยุติลงนั้น พระราชโองการโปรดให้นายเดียโก เบโยโซ และนายบลัส รุยส์ เป็นเจ้าฟ้า (Chofas) แห่งอาณาจักร…”
แม้สมเด็จพระบรมราชา (เจ้าพระญาตน) พระญาละแวกองค์ใหม่จะสามารถปราบปรามบรรดาหัวเมืองที่คิดกระด้างกระเดื่องจนราบคาบแล้ว แต่ใน ม.ศ. 1521 ปีกุนเอกศก (พ.ศ. 2142) ลักษณมานาแขกและโปปรัศจามกลับคิดกระด้างกระเดื่องตั้งตัวเป็นขบถในเมืองตบูงขมุม พระองค์จึงเสด็จยกทัพหลวงไปปราบปรามพวกขบถ แต่กลับถูกลักษณมานาแขกและโปปรัศจามจับพระองค์ปลงพระชนม์ พงศาวดารละแวกเล่าว่า
“ครั้นศักราชได้ 1521 ปีกุนเอกศก (พ.ศ. 2142) ลักษมานาแขก โปปรัศจาม ตั้งบ้านอยู่แขวงเมืองตบูงขมุม คุมพรรคพวกได้มากคิดกบฏประทุษร้ายต่อสมเด็จพระบรมราชา สมเด็จพระบรมราชารู้พระองค์ ยกคนไปจับลักษมานาแขกโปปรัศจาม ลักษมานาแขกโปปรัศจามต่อสู้ พระองค์ประมาทไป ลักษมานาแขกโปปรัศจามกลับจับพระองค์ได้ ฆ่าเสียสิ้นพระชนม์ในปีกุนนั้น…”
จดหมายเอร์นันโด เด โลส รีโอส โกโรเนล ถึง ดร. อันโตนิโอ เด มอร์กา กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งลักษณมานาแขกลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระบรมราชา (เจ้าพระญาตน) ว่า “หลังจากที่ออกญาลักษมานาชาวมลายูมุสลิม พร้อมด้วยความช่วยเหลือของเหล่าขุนนางของกัมพูชาที่เข้าข้างเขา และบางส่วนที่เข้าข้างพระมารดาเลี้ยงของพระราชโองการ [สมเด็จพระบรมราชา-ผู้เขียน] ได้ฆ่านายบลัส รุยส์ และนายเดียโก เบโยโซ และชาวคาสติล โปรตุเกส และชาวญี่ปุ่นที่อยู่ฝ่ายเดียวกัน และอยู่ในอาณาจักรแล้ว ออกญาลักษมานาก็มีความกล้ามากขึ้นถึงขนาดสำเร็จโทษพระโองการ นับแต่นั้น ทั้งอาณาจักรก็แตกแยกแบ่งฝ่ายและมีความไม่สงบสุขเกิดขึ้นทั่วทั้งแผ่นดินมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน…”
อัน “พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด” ของสมเด็จพระนเรศนั้น เข้าใจว่าพระองค์คงประสูติแต่พระอัครมเหสี คำให้การขุนหลวงหาวัดจดพระนามไว้ว่า “พระมณีรัตนา” สันนิษฐานว่าเป็นองค์เดียวกับ “พระแก้วฟ้า” พระธิดาในสมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช (พระเธียรราชา ครองราชย์ พ.ศ. 2091-2106 และ พ.ศ. 2110-12) อันประสูติแต่พระสนม พระราชโอรสองค์น้อยพระองค์นี้จึงมีฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” ซึ่งโดยเสด็จสมเด็จพระราชบิดาไปในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินเมื่อ พ.ศ. 2136
จดหมายเหตุบาทหลวงริบาเดเนอิราไม่ได้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์เพียงฉบับเดียวที่กล่าวถึงพระราชโอรสของสมเด็จพระนเรศ แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยากลุ่มความพิสดารของไทยเองก็มีบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้เช่นกัน
เมื่อ จ.ศ. 953 ปีเถาะตรีนิศก (พ.ศ. 2134) พระญาออนตั้งตัวเป็นขบถในเมืองศรีสุนทร (เสนสโทง) สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ (ครองราชย์ พ.ศ. 2145-61) พระญาละแวกทูลขอกองทัพจากกรุงพระนครศรีอยุทธยาไปปราบปรามพวกขบถ สมเด็จพระนเรศและสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 (พระราเมศวร) จึงโปรดให้ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา” ยกทัพไปปราบขบถพระญาออนในดินแดนกัมพูชา พระราชพงศาวดารฯ พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เล่าว่า
“ลุศักราช 953 ปีเถาะตรีนิศก พระศรีสุพรรมาธิราชผู้เป็นพญาละแวก ก็ให้พญากลาโหมผู้ลูกเขย มากราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ว่า พญาออนอันหนีไปอยู่ด้วยซ่องพรรคในตำบลเสนสโทงนั้น ประมูลซ่องพรรคทั้งปวงได้มาก แลว่าจะยกมารบพญาละแวก พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัสให้แต่งทัพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา แลช้างเครื่องห้าสิบ ม้าร้อยหนึ่ง พลทหารหมื่นหนึ่ง แลทัพพญาธรรมาธิบดี พญาสวรรคโลก พญากำแพงเพชร พญาสุโขทัย พญาพันธารา ยกไปโดยทางโพธิสัตว์ แลมีพระราชกำหนดไปให้พญาละแวกยกทัพออกมาบรรจบด้วยกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ แลยกไปตีทัพพญาออนในตำบลเสนสโทง ครั้นตีทัพพญาออนแตกฉานแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็ยกทัพคืนมาโดยทางพระนครหลวง มาถวายบังคมพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์…”
แม้พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)จะระบุอย่างชัดเจนว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนเรศ แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กลับทรงเห็นว่าผู้ชำระพงศาวดารมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องนี้ ความจริงสมเด็จพระนเรศหาได้มีพระราชโอรสธิดาไม่ ดังพบพระวินิจฉัยดังกล่าวในคำอธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระนเรศ ท้ายพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
“ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรมีลูกเธอพระองค์ 1 ได้เป็นพระมหาธรรมราชา ประวัติพระเจ้าลูกเธอของสมเด็จพระนเรศวรพระองค์นี้ เป็นที่สงสัยกันในผู้ศึกษาโบราณคดีมาแต่ก่อน ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวถึงในที่แห่งเดียวว่า ได้เป็นแม่ทัพออกไปปราบจลาจลเมืองเขมรแล้วก็นิ่งเงียบสูญพระนามแต่นั้นมา
ข้าพเจ้ามาพบในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เมื่อกล่าวถึงเรื่องแต่งกองทัพออกไปปราบจลาจลเมืองเขมรครั้งนั้นว่า ‘ให้พระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จ’ ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐไม่ได้ออกพระนามถึงสมเด็จพระเอกาทศรถในที่อื่นเลยสักแห่งเดียว เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าพระเจ้าฝ่ายหน้าในหนังสือนั้น น่าจะต้องเข้าใจว่า หมายความว่าสมเด็จพระเอกาทศรถ ล้างหลักฐานที่จะวินิจฉัยถึงประวัติพระมหาธรรมราชา ที่ว่าเป็นราชโอรสของสมเด็จพระนเรศ ๆ เห็นจะไม่มีราชโอรสธิดาทีเดียว การสืบสันตติวงศ์จึงลงทางสมเด็จพระเอกาทศรถโดยไม่ปรากฏเหตุการณ์เกี่ยวข้องถึงพระเจ้าลูกเธอของสมเด็จพระนเรศวรอย่างหนึ่งอย่างใด”
นักพงศาวดารยุคหลังจึงพากันหลงใหลไปว่า สมเด็จพระนเรศไม่มีพระราชโอรสธิดาจริงตามพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสียเป็นส่วนใหญ่ ปีศักราชขบถพระญาออนนั้นคลาดเคลื่อน เมื่อสอบกับพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์แล้ว ตรงกับเหตุการณ์เมื่อคราว “พระเจ้าฝ่ายหน้า” ทรงยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาใน จ.ศ. 965 ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. 2146) ความว่า “ศักราช 965 เถาะศก ทัพพระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้”
ขบถพระญาออนจึงควรเกิดขึ้นใน จ.ศ. 965 ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. 2146) สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ที่ระบุว่า ขบถพระญาออนเกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณครองราชย์ได้เพียง 1 ปีเท่านั้น สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณเป็นพระอนุชาในนักพระสัตถา พระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์เรียกว่า “พระญาศรีสุพรรณ” พระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดารเรียกว่า “สมเด็จพระศรีสุพรรณมาธิราช”
สมัยนักพระสัตถายังครองเมืองละแวกอยู่นั้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็น “พระมหาอุปยุรราชฝ่ายหลัง” แต่หลังจากเมืองละแวกถูกกองทัพศรีอยุทธยาตีแตกใน จ.ศ. 955 ปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ. 2136) สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ พระมเหสี พระราชโอรสธิดา และพระศรีไชยเชษฐ์น้องพระมเหสี ถูกนำกลับไปเป็นตัวประกันที่พระนครศรีอยุทธยา พงศาวดารละแวกเล่าว่า หลังจากสมเด็จพระบรมราชา (เจ้าพระญาตน) ถูกพวกขบถในเมืองตบูงขมุมปลงพระชนม์ใน ม.ศ. 1521 ปีกุนเอกศก (พ.ศ. 2142) สมเด็จพระราชเทวีกษัตริย์พระอัยกีทรงจัดการราชาภิเษก “เจ้าพระญานอน” (ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาว่า เจ้าพระญานวง) พระโอรสของนักพระสัตถากับนักนางจันท์พระสนม ขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชา ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชา” (ครองราชย์ พ.ศ. 2142-43)
อยู่มา “แก้วพระเพลิง” เผ้ามหาพรรคชาวป่ายกไพร่พลเข้ากุมสมเด็จพระบรมราชา (เจ้าพระญานอน) ปลงพระชนม์ใน ม.ศ. 1522 ปีชวดโทศก (พ.ศ. 2143) สมเด็จพระราชเทวีกษัตริย์จึงยก “เจ้าพระญาโยม” พระโอรสของนักพระสัตถากับนักนางแพงนางกำนัลลาว ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระแก้วฟ้า” (ครองราชย์ พ.ศ. 2143-45)
บรรดาหัวเมืองมิได้เกรงกลัวสมเด็จพระแก้วฟ้า ต่างพากันขบถตั้งตัวเป็นเจ้าสิ้น สมเด็จพระราชเทวีกษัตริย์จึงแต่งพระราชสาส์นไปทูลขอสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณเสด็จกลับมาครองกรุงกัมพูชายังราชสำนักศรีอยุทธยา สมเด็จพระนเรศพระราชทานให้ตามคำขอของทางฝ่ายเจ้านายเขมร แต่ “สมเด็จพระไชยเชษฐา” พระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณนั้น พระองค์ทรงขอตัวให้ประทับอยู่ที่พระนครศรีอยุทธยาไปพลางก่อน
สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณเสด็จกลับมาครองราชสมบัติในกรุงกัมพูชาเมื่อ ม.ศ. 1524 ปีขาลจัตวาศก (พ.ศ. 2145) พระองค์ทรงครองราชย์อยู่จนกระทั่งทรงพระชรา จึงทรงเวนราชสมบัติให้กับสมเด็จพระไชยเชษฐา เมื่อ ม.ศ. 1540 ปีมะเมียสัมฤทธิศก (พ.ศ. 2161) พระองค์ทรงมีพระนามตามจารึกเจดีย์ไตรตรึงษ์ว่า “พระบาทสมเด็จพระไชยเชฏฐาธิราช” (ครองราชย์ พ.ศ. 2161-70)
พงศาวดารเขมร ฉบับแปล จ.ศ. 1217 (พ.ศ. 2398) และราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาระบุว่า สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณเสด็จสวรรคตใน จ.ศ. 981 ปีมะแมเอกศก (พ.ศ. 2162) ตรงกับจารึกเจดีย์ไตรตรึงษ์บนเขาพระราชทรัพย์ในเมืองอุดงฦๅไชยว่า พระองค์สวรรคตในปีมะเมียเอกศก ค.ศ. 1619 (พ.ศ. 2162) ขณะพระชนม์ได้ 72 พรรษา (พงศาวดารละแวกว่า 68 พรรษา ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาว่า 64 พรรษา)
ส่วนพระญาออนหัวหน้าขบถในเมืองศรีสุนทรนั้น เมื่อสอบกับพงศาวดารละแวกแล้ว ควรหมายถึง “นักนอน” พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพร จดหมายเหตุสเปนเรียกว่า “เจ้าพระญานอน” Chupinanon) พระนามพ้องกับ “เจ้าพระญานอน” (เจ้าพระญานวง) พระราชโอรสในนักพระสัตถา ซึ่งถูกแก้วพระเพลิงลอบปลงพระชนม์ไปตั้งแต่ ม.ศ. 1522 ปีชวดโทศก (พ.ศ. 2143) จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะทรงเป็นหัวหน้าขบถในเมืองศรีสุนทรเมื่อ จ.ศ. 965 ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. 2146)
เรื่องขบถพระญาออน (เจ้าพระญานอน) ในต้นรัชกาลสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณไม่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารฝ่ายเขมร แต่เค้าโครงเรื่องคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณโปรดให้สมเด็จพระศรีไชยเชษฐ์พระมหาอุปราชฝ่ายหน้ามีรับสั่งให้เจ้าพระญาเดโชนุวงศ์ยกทัพไปตีเมืองศรีสุนทรและเมืองไพรแวงใน ม.ศ. 1524 ปีขาลจัตวาศก (พ.ศ. 2145) และเมื่อคราวสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณโปรดให้เจ้าพระญาเดโชนุวงศ์ยกทัพไปตีเมืองโคแสะและเมืองสันทุกใน ม.ศ. 1529 ปีมะแมนพศก (พ.ศ. 2150) แล้วจึงยกล่วงไปตีเมืองทมอคูนของสมเด็จพระรามาธิบดี (เจ้าพระญานอน) พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีเมืองเชิงไพร ซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้ามาตั้งแต่ ม.ศ. 1518 ปีวอกอัฐศก (พ.ศ. 2139) พงศาวดารละแวกเล่าว่า
“ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน 5 แรม 6 ค่ำ เถลิงศกศักราช 1529 ปีมะแมนักษัตรนพศก จึงสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณสั่งให้เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองโคแสะและเมืองสันทุก เจ้าเมืองโคแสะและเจ้าเมืองสันทุกรู้ว่ากองทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกมา แต่งราชบรรณาการมาขึ้นแก่เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์สิ้น แล้วเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกกองทัพไปตีเมืองทมอคูน สมเด็จพระรามธิบดีเจ้าเมืองทมอคูนรู้ว่ากองทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ยกมาตีเมืองพระองค์ พระองค์จึงจัดแจงแต่งแม่ทัพนายกองประลวงล่อต่อทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์เห็นว่ากำลังทัพสมเด็จพระรามธิบดีกล้าแข็งหนัก ก็หยุดพักพลทหารตั้งทัพอยู่ทำค่ายขุดคูประตูพื้นเชิงเทิน ให้นายทัพนายกองตั้งทำนาเอาข้าวปลาอาหารเสบียงให้เป็นกำลังศึกสืบไป
ครั้น ณ เดือน 11 ออกพระวษา จึงสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระนเรศวรเป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบพระทัยว่า พระศรีสุริโยพรรณมีหนังสือเข้ามาขอพระศรีไชยเชษฐา และว่าบรรดาหัวเมืองปากใต้ พระศรีสุริโยพรรณปราบสิ้นเสี้ยนหนามแล้ว ยังแต่เมืองฝ่ายเหนือยังกระด้างกระเดื่องเคืองขัดแข็ง เรียวแรงมีกำลังอยู่เป็นหลายเมืองนั้น จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ จัดนายทัพนายกองไทยให้พระศรีไชยเชษฐาเป็นแม่ทัพคุมออกไปช่วยกันตีเป็น 2 ทัพ เป็นทัพกระหนาบกับทัพเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ พระศรีไชยเชษฐาเป็นแม่ทัพไทยออกไปตีเมืองพระนครสวรรค์ เจ้าเมืองพระนครสวรรค์รู้ว่าทัพพระศรีไชยเชษฐายกมาแต่เมืองไทย ตกใจแล้วแต่งราชบรรณาการมาถวายตัวเข้าด้วยพระศรีไชยเชษฐา พระศรีไชยเชษฐาพระองค์ตั้งผู้รักษาเมืองให้คงเมืองแล้ว พระองค์ยกกองทัพไปตีเมืองโพธิสัตว์ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมืองโพธิสัตว์มาสวามิภักดิ์ด้วยพระศรีไชยเชษฐา พระศรีไชยเชษฐาพระองค์ยกกองทัพไปตีเมืองบริบูรณ์ เมืองละแวก ผู้รักษาเมืองบริบูรณ์ เมืองละแวก ก็เข้าสวามิภักดิ์ด้วยทัพพระศรีไชยเชษฐาสิ้น แล้วพระองค์ก็ข้ามไปเฝ้าพระศรีสุริโยพรรณ ณ เกาะสระเกษในปีมะแมนั้น พระชนมายุพระศรีไชยเชษฐานั้นได้ 23 ปี
และจะว่าด้วยเรื่องเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ตั้งล้อมเมืองทมอคูนรบกันกับสมเด็จพระรามธิบดีนั้นช้านาน จะได้แพ้ชนะกันหามิได้ เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์จึงมีหนังสือบอกมาให้กราบทูลสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณแจ้งว่า เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์รู้ทัพกันกับสมเด็จพระรามธิบดีก็แข็งกันอยู่ มีพระโองการให้ไปนิมนต์พระพุทธวงศ์อยู่ ณ วัดเมืองไทรหัดมาปรึกษาการศึกเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์รบกับศึกสมเด็จพระรามธิบดี พระพุทธวงศ์แจ้งเหตุแล้วรับอาสาไปเจรจาด้วยสมเด็จพระรามธิบดี สมเด็จพระรามธิบดีรู้แจ้งว่า พระพุทธวงศ์มาเกลี้ยกล่อมพูดจาว่า พระศรีสุริโยพรรณพระองค์จะเลี้ยง พระองค์อย่าทรงพระดำริว่า พระพุทธวงศ์บ่เป็นสมณะ หาไหนจะมาล่อลวงพระองค์นั้นหามิได้ สมเด็จพระรามธิบดีก็เข้าหาเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ เจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ก็เลิกกองทัพกลับมาเฝ้าพระศรีสุริโยพรรณ พระศรีสุริโยพรรณพระองค์ให้สมเด็จพระรามธิบดีถือน้ำพระพิพัฒสัจจาดีแล้ว พระองค์ตั้งสมเด็จพระรามธิบดีให้ไปเป็นเจ้าเมืองโคแสะ ชื่อสมเด็จพระรามธิบดีศรีสุริยวงศ์ดังเก่า…”
เค้าโครงเรื่องสมเด็จพระนเรศโปรดให้สมเด็จพระไชยเชษฐา (ผู้ชำระพงศาวดารละแวกเรียกเพี้ยนเป็นพระศรีไชยเชษฐ์น้องพระมเหสี) คุมทัพศรีอยุทธยายกออกไปช่วยเจ้าพระยาเดโชนุวงศ์ปราบปรามบรรดาหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องต่อสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ จนเจ้าเมืองพระนครสวรรค์ เจ้าเมืองโพธิสัตว์ เจ้าเมืองบริบูรณ์ และเจ้าเมืองละแวกยอมออกมาสวามิภักดิ์ต่อพระองค์สิ้นนั้น คล้ายกับเรื่องพระเจ้าฝ่ายหน้ายกทัพไปตีกรุงกัมพูชาได้ใน จ.ศ. 965 ปีเถาะเบญจศก (พ.ศ. 2146)
สมเด็จพระไชยเชษฐาจึงเป็นพระองค์เดียวกับพระเจ้าฝ่ายหน้าในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แม้พงศาวดารละแวกจะเรียกสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 (พระราเมศวร) ว่า “มหาอุปราชฝ่ายหน้าเมืองไทย” ก็ตาม แต่พงศาวดารทั้งไทยและเขมรไม่เคยกล่าวถึงเรื่องสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาไว้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ตามปรกติพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์จะจดบันทึกวันเดือนปีเรื่องการยกทัพไปยกทัพกลับไว้อย่างละเอียดเสมอ แต่ในกรณีของพระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปตีกรุงกัมพูชากลับจดไว้อย่างย่นย่อ และรวบรัด จึงตีความได้ว่าพระเจ้าฝ่ายหน้าไม่ได้เสด็จกลับมาพระนครศรีอยุทธยาหลังเสร็จศึก พงศาวดารละแวกกล่าวว่า หลังจากสมเด็จพระไชยเชษฐาปราบปรามหัวเมืองฝ่ายเหนือจนราบคาบลงแล้ว พระองค์ทรงข้ามไปประทับยังเกาะสระเกษร่วมกับสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณพระราชบิดาเมื่อ ม.ศ. 1529 ปีมะแมนพศก (พ.ศ. 2150)
ความจริงสมเด็จพระไชยเชษฐาหาใช่พระเจ้าฝ่ายหน้าของกัมพูชาไม่ แต่มีตำแหน่งเป็นเพียง “พระมหาอุปยุรราชฝ่ายหลัง” พงศาวดารละแวกกล่าวว่า สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณโปรดให้สถาปนาสมเด็จพระไชยเชษฐาขึ้นเป็นพระมหาอุปยุรราชฝ่ายหลังเมื่อ ม.ศ. 1538 ปีมะโรงอัฐศก (พ.ศ. 2159) ส่วนตำแหน่ง “พระมหาอุปราชฝ่ายหน้า เป็นของสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ์พระมาตุลา (น้าชาย) ของพระองค์ โดยรั้งตำแหน่งมาตั้งแต่ ม.ศ. 1524 ปีขาลจัตวาศก (พ.ศ. 2145) ครั้นสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ์สิ้นพระชนม์ใน ม.ศ. 1539 ปีมะเส็งนพศก (พ.ศ. 2160) ตำแหน่งนี้ถูกปล่อยให้ว่างลง โดยมิได้แต่งตั้งผู้ใด
แต่ด้วยพระนามที่คล้ายคลึงกันมากระหว่างสมเด็จพระไชยเชษฐาและสมเด็จพระศรีไชยเชษฐ์ ทำให้ผู้ชำระพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์เกิดความสับสน สลับเอาตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า (พระเจ้าฝ่ายหน้า) มาเป็นของสมเด็จพระไชยเชษฐาไปเสีย ส่วนในกรณีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชานั้น ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะเป็นพระองค์เดียวกับสมเด็จพระไชยเชษฐา เพราะพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุชัดว่า เมื่อปราบปรามขบถพระญาออน (เจ้าพระญานอน) จนแตกพ่ายไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา เสด็จยกทัพกลับคืนมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนเรศและสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 ยังทัพหลวงที่เมืองเพชรบุรี แม้ว่าหลังจากนั้นพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) จะมิได้กล่าวถึงพระองค์อีกเลยก็ตาม
ต่อมา จ.ศ. 956 ปีมะเมียฉศก (พ.ศ. 2137) สมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 2148-53) โปรดให้จัดการพระราชพิธีอาสวยุชแข่งเรือขึ้น ในครั้งนั้นมีการกล่าวถึง “พระราชนัดดา” ของพระองค์ไว้ด้วย พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เล่าว่า
“ลุศักราช 956 ปีมะเมียศก พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวก็มี พระราชโองการตรัสแก่พญาศรีพิศวกรรมให้สถาปนาพระที่นั่งอรรณพอันอลังกตรจนามหึมาด้วยแก้วกาญจนพิสดารจัตุรมุขรตนาศกนกกุฎาคารบราลีเรืองรัตน์ชัชวาลมเหาฬารด้วยพระกระบวนเสด็จ… ครั้นเถิงทินพารการพระราชพิธีอาสวยุชก็ให้ประดับพระที่นั่งอรรณพด้วยเครื่องอลังการมเหาฬารพิจิตรโอภาสชัชวาล แลจามรทั้งปวง จึงให้เอาเรือพระครุฑพาหนะอันรจนา ประดิษฐานพระพิศวกรรมออกทั้งฉาน แลให้พระราชครูทั้งสี่กระทำการพระราชพิธีอาสวยุช จึงให้ตั้งเรือแห่ ให้เทียบเรือต้นแลเรือแข่งทั้งปวงตามขบวน จึงให้เบิกพระราชกุมารแลพระราชนัดดา แลท้าวพญาสามนต์มหาเสนาธิบดีทั้งปวงมาประชุมในหน้าพระที่นั่งอรรณพ แลให้เบิกทูตานุทูตอันมาแต่เมืองตองอูแลเมืองล้านช้างนั้นมาถวายบังคม…”
ปีศักราชการพระราชพิธีอาสวยุชนั้นคลาดเคลื่อนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะ จ.ศ. 956 ปีมะเมียฉศก (พ.ศ. 2137) ยังอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศ แต่สามารถเทียบเคียงปีศักราชได้จากเหตุการณ์เมื่อครั้งคณะทูตตองอูเดินทางมากรุงพระนครศรีอยุทธยาใน จ.ศ. 955 ปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ. 2136) พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกว่า
“ลุศักราช 955 ปีมะเส็งศก ณ เดือนยี่ พญาตองอูก็แต่งราชทูต อุปทูต ตรีทูต ถือพระราชสาส์นคุมช้างม้าเครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระนครศรีอยุธยาขอพึ่งพระราชสมภารสืบไป”
จดหมายพ่อค้าฮอลันดาถึงวิคเตอร์ สปรินค์เคล (Victor Sprinckel) ลงวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1609 (พ.ศ. 2152) กล่าวถึงการมาเยือนของคณะทูตตองอูว่า “วันที่ 10 สิงหาคม [ค.ศ. 1609-ผู้เขียน] คณะทูตจากพระเจ้าแผ่นดินเมืองตองอู (Tangou) เดินทางมาถึงที่นี่ [พระนครศรีอยุทธยา-ผู้เขียน] ได้นำทับทิมเม็ดใหญ่มาถวายพระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นเครื่องราชบรรณาการสำหรับความช่วยเหลือต่าง ๆ…”
งานพระราชพิธีอาสวยุชจัดขึ้นหลังจากคณะทูตตองอูเดินทางมาถึงพระนครศรีอยุทธยาได้เพียง 1 ปี คือ จ.ศ. 972 ปีจอโทศก (พ.ศ. 2153) ปีสุดท้ายในรัชกาลสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 สันนิษฐานว่าพระราชนัดดาที่ปรากฏพระองค์หน้าพระที่นั่งอรรณพคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา เพราะพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาไม่เคยระบุว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์และเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์มีพระโอรสธิดาไว้เลยแม้แต่พระองค์เดียว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา จึงน่าจะมีพระชนม์ยืนยาวมาจนถึงปลายรัชกาลสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 เป็นอย่างน้อย
แต่ข้าพเจ้าไม่อาจยืนยันได้ว่า พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุด ซึ่งโดยเสด็จสมเด็จพระนเรศไปในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินเมื่อ พ.ศ. 2136 จะเป็นเจ้านายพระองค์เดียวกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา ซึ่งยกทัพไปปราบขบถในเมืองศรีสุนทรเมื่อ พ.ศ. 2146 เพราะมีระยะเวลาห่างกันแค่เพียง 10 ปีเท่านั้น จึงอนุมานว่าเป็นคนละพระองค์กัน
ในการสอบค้นครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าสมเด็จพระนเรศมีพระราชโอรสอย่างน้อย 2 พระองค์ ล้มล้างความเชื่อเดิมลงอย่างสิ้นเชิง
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2562