ปืนไฟตะวันตกและทหารรับจ้างในประวัติศาสตร์พม่า ที่กล่าวถึง “สงครามยุทธหัตถี”

ภาพประกอบเนื้อหา - ริ้วขบวนกองทัพพยุหยาตรา จากสมุดไทย ชุดกระบวนพยุหยาตราทัพ

ปืนไฟตะวันตกและทหารรับจ้างในประวัติศาสตร์พม่า ที่กล่าวถึง “สงครามยุทธหัตถี” และการศึกภายหน้าที่จะไม่เห็นฝีมือทหาร?

อาวุธดินปืน (Gunpowder weapon) และอาวุธปืนไฟ (Firearm) เป็นที่ยอมรับเชื่อถือกันในปัจจุบันว่า มีต้นกำเนิดมาจากอาณาจักรจีน ย้อนอายุกลับไปได้เก่าแก่ที่สุดในทศวรรษ 1100 เทคโนโลยีอาวุธปืนไฟที่ถูกพัฒนาขึ้นแรกสุดในจีน ได้ถูกแผ่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก นักรบชาวมองโกลในคริสต์ศตวรรษที่ 13 และ 14 เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการแพร่ขยายเทคโนโลยีอาวุธปืนไฟนี้จากจีน ไปยังอินเดีย โลกอาหรับมุสลิม และยังดินแดนยุโรป

เทคโนโลยีอาวุธปืนไฟถูกแพร่กระจายไหลทวนย้อนกลับ จากซีกโลกด้านตะวันตกสู่ซีกโลกด้านตะวันออกผ่านเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาค หรือเส้นทางสายไหม (Silk Road) และผ่านการติดต่อทางทะเลในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย การค้นพบเส้นทางเดินเรือโดยตรงจากยุโรปสู่เอเชียโดยมหาอำนาจโปรตุเกสในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นปัจจัยสำคัญในการกระจายเทคโนโลยีอาวุธปืนไฟยุโรปสู่บ้านเมืองต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่าเทคโนโลยีอาวุธปืนไฟของจีน

ปืนคาบศิลาแบบกระบอกยาวประเภท matchlock (ภาพจาก http://www.digital-images.net)

อาวุธปืนไฟเทคโนโลยีการผลิตแบบยุโรปจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ ที่ถูกนำเข้ามาแทนที่อาวุธปืนไฟของจีนแบบเดิม

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นี้ จีนเองได้เริ่มผลิตอาวุธปืนใหญ่ตามรูปแบบและวิธีการผลิตอาวุธปืนใหญ่ของโปรตุเกส  ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาณานิคมของโปรตุเกสที่เกาะมาเก๊า (Macao) เป็นแหล่งผลิตปืนใหญ่ทองสัมฤทธิ์ที่สำคัญและที่ดีที่สุดของโปรตุเกสในเอเชีย

อาวุธปืนไฟมีแพร่กระจายอยู่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันหมายรวมถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำอิรวดีและดินแดนโดยรอบ มาก่อนหน้าการเรืองอำนาจของอาณาจักรตองอูยุคต้นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16  อาวุธปืนไฟในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเทคโนโลยีที่มาจากแหล่งผลิตในจีน อาหรับมุสลิม และยุโรป

จากการศึกษาของ ซุน (Sun Laichen) แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายของเทคโนโลยีทางการทหารจากอาณาจักรจีนสมัยราชวงศ์หมิง สู่ดินแดนทางตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ซึ่งเขาได้วิเคราะห์ว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีทางการทหารและอาวุธปืนไฟจากจีนสมัยราชวงศ์หมิงนี้ เป็นเงื่อนไขปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง ที่ส่งผลให้รัฐทางตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเรืองสู่อำนาจในช่วงปี ค.ศ. 1390-1527/พ.ศ. 1933-2030 อาทิ อาณาจักรลุชวน หรืออาณาจักรมอว์ฉาน อาณาจักรล้านนา อาณาจักรไดเวียต รัฐฉานเมืองโมเม็ด และรัฐฉานเมืองโมญิน ฯลฯ

ปืนคาบศิลาแบบกระบอกสั้นประเภท flintlock (ภาพจาก http://www.nps.gov)

อาวุธปืนไฟจากจีนนี้ยังได้แพร่หลายเข้าไปยังรัฐและบ้านเมืองอื่นๆ ทางตอนในอีก อาทิ อังวะประเทศ อาณาจักรอัสสัม อาณาจักรมณีปุระ เชียงรุ่ง-สิบสองปันนา อาณาจักรลาวล้านช้าง ตลอดจนรัฐชายฝั่ง และสมุทรรัฐ อาทิ อาณาจักรจามปา รัฐในเกาะชวาและเกาะสุมาตรา ฯลฯ เป็นต้น

จากข้อมูลในพงศาวดารพม่าและมอญ ปรากฏมีชื่อเรียกอาวุธปืนไฟใช้ในดินแดนพม่าตอนกลางและพม่าตอนล่าง ในช่วงสมัยก่อนหน้าการเข้ามาของอาวุธปืนไฟตะวันตกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซุนได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า อาวุธที่แพร่กระจายอยู่ในอังวะประเทศและรามัญประเทศนี้เป็นอาวุธปืนไฟที่มาจากแหล่งผลิตในจีน ส่งทอดลงมาในลักษณะจากเหนือสู่ใต้

นอกจากอาวุธปืนไฟและเทคโนโลยีทางการทหารจากจีนแล้ว รัฐชายฝั่งและสมุทรรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันหมายรวมถึงดินแดนรามัญประเทศทางดินแดนพม่าตอนล่างนั้น มีการแพร่หลายเข้ามาของเทคโนโลยีทางการทหารจากโลกอาหรับมุสลิมด้วยเช่นเดียวกัน ลีเบอร์แมนได้วิเคราะห์ว่า อาวุธปืนไฟที่ใช้ในดินแดนพม่าในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นอาวุธที่มาจากอินเดีย ถูกใช้โดยทหารรับจ้างชาวต่างชาติ คือ ชาวอินเดีย (Kala) หรือมุสลิม (Kala-panthei)

ภาพลายเส้นทหารปืนใหญ่พม่า ราว พ.ศ. 2422 (ภาพจาก Queen Victoria’žs Enemies (4) : Asia, Australasia and the Americas, 1990)

อาวุธปืนไฟตะวันตกถูกนำเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดินแดนพม่าตอนล่าง หรือรามัญประเทศโดยตรงจากการเดินทางเข้ามาของพ่อค้า ทหาร และนักแสวงโชคชาวโปรตุเกส หลังจากที่กองเรือโปรตุเกสสามารถยึดครองเมืองท่ามะละกาได้ในปี ค.ศ. 1511/พ.ศ. 2054 ได้เริ่มมีการติดต่อกันอย่างเป็นทางการระหว่างโปรตุเกสและราชสำนักพะโค ในการซื้อขายนี้สินค้าที่ผู้ปกครองแห่งรามัญประเทศมีความต้องการจากโปรตุเกสเป็นอย่างมาก คือ ปืนไฟและกระสุน

อาวุธปืนไฟตะวันตกและดินปืน เป็นยุทธปัจจัยสำคัญที่กษัตริย์กำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้าม มีครอบครองซื้อขายได้เฉพาะราชสำนักเท่านั้น ผู้นำรัฐพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีวิธีการหลายประการในการเข้าถึงและได้มาซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ตะวันตก ดังนี้

  1. การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าชาวต่างชาติ ทั้งที่ใช้เป็นเงินตรา และสินค้าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน
  2. การจ้างทหารรับจ้างชาวต่างชาติ (Foreign Mercenaries) เข้ามาประจำการในกองทัพ ทหารรับจ้างเหล่านี้มักจะนำอาวุธปืนไฟของตนเข้ามาด้วย
  3. การเข้ายึดครอบครองอาวุธปืนไฟและยุทธปัจจัยต่างๆ จากฝ่ายศัตรูที่แพ้สงคราม
  4. อาวุธปืนไฟ เป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งของมีค่าที่พ่อค้าต่างชาติและผู้นำต่างเมืองทั้งหลายมักจะนำมาบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์
  5. รัฐพื้นเมืองได้มีการหล่อปืนใหญ่และผลิตอาวุธขึ้นใช้เองตามเทคโนโลยีตะวันตก หรือมีการควบคุมการผลิตโดยทหารรับจ้างชาวตะวันตกผู้ชำนาญการ

ผู้ที่มีบทบาทแพร่กระจายอาวุธปืนไฟและเทคโนโลยีทางการทหารแบบตะวันตกสู่รัฐพม่าและรัฐไทย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-19 มีความหลากหลาย คือ มีทั้งชาวยุโรป อาทิ โปรตุเกส ดัตช์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ฯลฯ และชาวเอเชียผู้ที่มีความชำนาญทางการทหาร อาทิ อาหรับมุสลิม อินเดียมุสลิม และญี่ปุ่น ฯลฯ และมีความเป็นพลวัต คือ มีการเคลื่อนเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมามีบทบาทนำในแต่ละยุคสมัย อันสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมของกลุ่มชาวต่างชาตินั้นๆ ในรัฐพม่า รัฐไทย ตลอดจนบริบทระดับภูมิภาค

สำหรับสงครามไทย-พม่าในสมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 อันตรงกับสงครามของรัฐพม่าสมัยอาณาจักรตองอูยุคต้นนั้น กล่าวได้ว่า ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส และอาวุธปืนไฟตะวันตกที่นำเข้าโดยทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญโดดเด่นอย่างมากทั้งในกองทัพฝ่ายพม่า ฝ่ายไทย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงกองทัพของอาระกันด้วยเช่นกัน โปรตุเกสมีบทบาทที่โดดเด่นสำคัญในการกระจายอาวุธปืนไฟและเทคโนโลยีทางการทหารแบบตะวันตกสมัยใหม่สู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

ลูโดวิโค ดิ วาร์เธมา (Ludovico di Varthema) พ่อค้าชาวเมืองโบโลนญ่าที่เดินทางเข้ามายังราชสำนักพะโคในสมัยพระเจ้าปัญญารามในต้นทศวรรษ 1510 ได้บันทึกไว้ว่า ในบรรดาทหารจำนวนมากของพระองค์มีทหารชาวคริสเตียน หรือทหารรับจ้างชาวต่างชาติอยู่มากกว่าพันนาย ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเงินทองเป็นค่าตอบแทนแก่ทหารเหล่านี้เป็นรายเดือน

แฟร์นาว เมนเดส ปินโต (Fernao Mendes Pinto) บันทึกไว้ว่าในคราวพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา ปี ค.ศ. 1548/พ.ศ. 2091 พระองค์ทรงมีกองทหารรับจ้างชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก อาทิ ชาวเติร์ก ชาวมัวร์ ชาวมะละบาร์ ชาวอะแจ ฯลฯ รวมทั้งทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสซึ่งน่าจะมีจำนวนมากที่สุดโดยมี ดิโอกู โซอารีส ดี เมลู (Diogo Soares de Melo) เป็นผู้นำกองทหารรับจ้างเหล่านี้

ภาพลายเส้นทหารราบพม่าถือปืนคาบศิลา ราว พ.ศ. 2422 (ภาพจาก Queen Victoria’s Enemies (4) : Asia, Australasia and the Americas, 1990)

กาสปาโร บัลบี (Gaspero Balbi) นักเดินทางชาวอิตาลีผู้เข้ามายังอาณาจักรตองอูยุคต้นในช่วงปี ค.ศ. 1583/พ.ศ. 2126 ระบุว่า กษัตริย์แห่งกรุงพะโคมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ และประกอบไปด้วยทหารรับจ้างชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก มีทั้ง ทหารแม่นปืน ผู้ซึ่งเป็นแขกมัวร์จากเบงกอล และชาวต่างชาติอื่นๆ

จากการศึกษาเอกสารญี่ปุ่นและจีนของ ปิยะดา ชลวร แสดงให้เห็นว่า พ่อค้าเอกชนชาวจีน หรือโจรสลัดชาวจีน ชื่อว่า Wang Zhi/Wufeng มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการค้าอาวุธปืนไฟ ดินปืน และวัตถุดิบสำหรับอาวุธปืน ระหว่างจีน ญี่ปุ่น และอยุธยา ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปรากฏหลักฐานว่าเขาได้เดินทางมาค้าขายที่อยุธยาในช่วงก่อนหน้าปี ค.ศ. 1543/พ.ศ. 2086 อาวุธปืนไฟเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าที่เขาซื้อจากอยุธยา กรณีการค้าของ Wang Zhi สะท้อนถึงความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่ามีการติดต่อทำการค้าอาวุธปืนไฟระหว่างพ่อค้าชาวโปรตุเกสและพ่อค้าเอกชนชาวจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้

สำหรับอาณาจักรอยุธยานั้น พ่อค้าทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสชื่อ ดูมิงกูส ดึ เซยชาส (Domingos de Seixas) รับราชการในกองทัพของอยุธยาถึง 25 ปี คือ ประมาณปี ค.ศ. 1523-47/พ.ศ. 2066-90 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการ และมีหน้าที่สอนวิชาการใช้ปืนให้แก่ไพร่พลอยุธยา เขาและทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสประมาณ 160 นาย ได้ร่วมรบกับสมเด็จพระไชยราชา (ค.ศ. 1534-46/พ.ศ. 2077-89) เมื่อคราวตีกรุงศรีสัตนาคนหุตในปี ค.ศ. 1545/พ.ศ. 2088 และในปีถัดมาทหารรับจ้างโปรตุเกสเหล่านี้ได้ร่วมรบกับพระองค์ในคราวโจมตีนครเชียงใหม่ด้วยเช่นกัน

ส่วนในครั้งพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยานั้น ทางฝ่ายกองทัพอยุธยามีกองทหารชาวโปรตุเกสนำโดย ดิโอกู เปเรยรา (Diogo Pereira) ซึ่งพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงพยายามติดสินบนดิโอกู เปเรยรา เพื่อให้หักหลังฝ่ายอยุธยา แต่ทว่าไม่ประสบผลสำเร็จ

ในสมัยพระเจ้าบุเรงนองนั้น พระองค์พระราชทานที่ดินให้เหล่าทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสพำนักอาศัยอยู่ในกรุงพะโค และมีพระบรมราชานุญาตให้เปิดโกดังเก็บสินค้าเพื่อการค้าขายได้ที่เมืองท่าสิเรียม ในปี ค.ศ. 1560/พ.ศ. 2103 พงศาวดารพม่าบรรยายว่าพระองค์ทรงมีทหารรับจ้างชาวต่างชาติ ซึ่งหมายรวมถึงทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสผู้มีตำแหน่งเป็นทหารแม่นปืนอยู่ในกองทัพพระองค์ถึง 400 นาย ทหารรับจ้างชาวต่างชาติเหล่านี้มีหน้าที่เป็นทหารราชองครักษ์ส่วนพระองค์ ที่คอยล้อมพิทักษ์พระองค์เมื่อทรงช้างออกศึกในสมรภูมิรบ

ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสจำนวนมาก ได้เข้าร่วมอยู่ในกองทัพของกษัตริย์แห่งอาระกันเช่นเดียวกัน อาวุธปืนไฟและเทคโนโลยีทางการเดินเรือของโปรตุเกสได้เข้ามาเสริมให้กองทัพเรือของอาระกันนั้นมีแสนยานุภาพมากขึ้น ดังจะสะท้อนให้เห็นได้จากการที่ซีซาร์ เฟดริซี ที่เดินทางเข้ามายังดินแดนพม่าในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 16 บันทึกไว้ว่า

กษัตริย์แห่งอาระกันทรงมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ซึ่งกองทัพของศัตรูที่ยิ่งใหญ่อย่างอาณาจักรพะโค หรืออาณาจักรตองอูยุคต้นนั้นไม่สามารถทำอะไรได้ ทั้งนี้เพราะกษัตริย์พะโคทรงมีแสนยานุภาพที่กล้าแข็งเฉพาะกองทัพบก ส่วนกษัตริย์แห่งอาระกันนั้นทรงมีกองทัพบกที่ยิ่งใหญ่ และมีกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก ซึ่งกองทัพแห่งพะโคไม่สามารถจะทำอันตรายได้

ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์อาระกันและทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสมีความเป็นพลวัตสูง ในบางช่วงเวลาทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสเป็นกำลังสำคัญให้กับกองทัพของกษัตริย์อาระกันในการทำสงครามขยายดินแดน และในบางช่วงเวลาทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสเหล่านี้กลับก่อการกบฏต่อสู้กับกษัตริย์อาระกัน ดังจะเห็นได้จากบทบาทของ ฟิลิป ดี บริตู (Filipe de Brito) และ ซัลวาดอร์ ริเบียโร (Salvador Ribeiro de Sousa) แห่งเมืองสิเรียม Antonio de Sousa Godinho, Domingos Carvolho, Manuel de Mattos และ Sebastiao Goncalves Tibau ฯลฯ แห่งเกาะแซนด์วิป (Sandwip) ฯลฯ เป็นต้น

เมื่อล่วงมาถึงสงครามไทย-พม่าในสมัยหลัง คือ สมัยกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 การใช้อาวุธปืนไฟย่อมมีการใช้ในหมู่พลทหารชาวพื้นเมืองของกองทัพพม่าและกองทัพของรัฐไทยอย่างกว้างขวาง บทบาทของพลทหารแม่นปืนมิได้จำกัดอยู่เฉพาะทหารรับจ้างชาวต่างชาติเฉกเช่นสงครามในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16

พงศาวดารพม่าเมื่อบรรยายการสงครามในสมัยอาณาจักรคองบองตอนต้น ระบุให้เห็นอย่างชัดเจนถึงจำนวนพลทหารแม่นปืนของกองทัพพม่า อาทิ ในกองทัพพระเจ้าอลองพญาโจมตีกรุงศรีอยุธยานั้นมีพลทหารแม่นปืนเรือนหมื่น “…พระองค์จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้มางของนรทา (แปลว่า แม่ทัพปีกขวา) คุมพลทหารม้า 300 พลทหารราบถือปืน 3000 ตั้งให้มางละนรทา (แปลว่า แม่ทัพปีกซ้าย) คุมพลทหารม้า 300 พลทหารราบถือปืน 3000 ทรงตั้งให้มะเยดูมางศรีธรรมราชาพระราชโอรสเปนแม่ทัพหน้าคุมพลทหารม้า 500 พลทหารราบถือปืน 5000…”

ในพระบรมราชโองการของพระเจ้าอลองพญา ฉบับวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1759/พ.ศ. 2302 พระองค์ทรงสอนวิธีการใช้ปืนคาบศิลา (Flintlock) ให้แก่หมู่นายทหาร ทีละขั้นตอนอย่างละเอียด ทรงย้ำเตือนให้ทหารทำตามขั้นตอนต่างๆ อย่าง

ในสมัยอาณาจักรคองบองตอนต้นนี้ อาวุธปืนไฟที่ใช้ในการรณรงค์สงคราม มาจากพ่อค้าอังกฤษและพ่อค้าฝรั่งเศสเป็นสำคัญ ซึ่งพ่อค้ายุโรปทั้ง 2 ชาตินี้ได้เข้ามาตั้งโกดังสินค้าและอู่จอดเรือที่เมืองท่าสิเรียมและเมืองนีเกรสในพม่าตอนล่างมาตั้งแต่ก่อนหน้าการเรืองอำนาจของอาณาจักรคองบองในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยพ่อค้าอังกฤษเป็นแหล่งการค้าอาวุธสำคัญแก่พระเจ้าอลองพญาในการทำสงครามกับราชสำนักพะโค และย่อมหมายรวมถึงการสงครามกับกรุงศรีอยุธยาด้วยเช่นกัน

พงศาวดารพม่าแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายรัฐไทยนั้นมีอาวุธปืนไฟในครอบครองจำนวนมากเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากกรณีสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 อาทิความตอนหนึ่งว่า “…ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงทราบว่ากองทัพพม่ายกมาทางเมืองเชียงใหม่ พระองค์จึงรับสั่งว่าอย่าให้กองทัพพม่ายกล่วงเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยาได้ แล้วพระองค์ก็จัดให้พระยาสุรเทพอมาตย์เปนแม่ทัพคุมพลทหารราบ 30000 เศษ ปืนใหญ่บรรทุกล้อ แลปืนใหญ่บรรทุกช้างรวม 2000 กระบอกเศษ ช้าง 300 เศษ ยกไปโดยทางบก แล้วทรงจัดให้พระยาพระคลังอมาตย์เปนทัพเรือ คุมพลทหาร 30000 เศษ เรือฉลอม 300 ลำเศษ เรือสัมปันนี 300 เศษ ปืนใหญ่ 2000 กระบอกบรรทุกเรือยกไปโดยทางน้ำ…” ฯลฯ เป็นต้น

บทบาทของอาวุธปืนไฟและพลทหารแม่นปืนอันปรากฏในการสงครามระหว่างไทยและพม่า สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ลักษณะ

ปืนใหญ่ Culverin (ภาพจาก http://www.upload.wikimedia.org)

ประการแรก คือ การรบต่อสู้ในสมรภูมิรบแบบเปิด อาทิ ในการขับกองพลต่อสู้ประจัญบานกัน ในลักษณะเช่นนี้ พลทหารแม่นปืนและพลทหารราบถือปืนมีหน้าที่หลักประการหนึ่งคือการรายล้อมคุ้มกันจอมทัพ และแม่ทัพนายกองที่นำทัพอยู่บนหลังช้างและหลังม้า

ลักษณะการรบในสมรภูมิรบเช่นนี้ แสนยานุภาพของอาวุธปืนไฟสามารถเป็นตัวตัดสินความแพ้ชนะของศึกสงครามครั้งนั้นๆ ได้ หากจอมทัพถูกสังหารด้วยอาวุธปืนจนถึงแก่ชีวิต ดังจะเห็นได้จากกรณีสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชในคราวสงครามยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวร ปี ค.ศ. 1592/พ.ศ. 2135 ในพงศาวดารพม่าระบุว่า พระมหาอุปราชทรงต้องพระแสงปืนที่ยิงมาจากทหารรับจ้างชาวต่างชาติชาวโปรตุเกส ผู้เป็นนายทหารรักษาพระองค์ของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ กองทัพพม่าจึงถอยทัพกลับคืนกรุงหงสาวดี เป็นอันยุติศึกสงคราม

ประการที่ 2 คือ ในการทำสงครามป้อมค่ายประชิดนั้น อาวุธปืนไฟมิได้เป็นปัจจัยหลักปัจจัยเดียวที่ทำให้สามารถพิชิตศึกสงครามได้ หน้าที่หลักของอาวุธปืนไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนใหญ่ คือ การยิงทำลายกำแพงเมือง และระดมยิงประดุจห่าฝนเข้าไปในเมืองเพื่อให้เกิดความเสียหาย และเพื่อเป็นการข่มขวัญให้ผู้คนภายในตัวเมืองเกิดความกลัว อันหนึ่งในยุทธวิธีสร้างความกดดันให้ยอมจำนน กองทัพพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองเป็นต้นมา ได้ประยุกต์การใช้อาวุธปืนไฟตะวันตกเข้ากับการทำสงครามป้อมค่ายประชิดในรูปแบบพื้นเมือง

กล่าวคือ มีการทำเนินดินและหอเพื่อนำปืนใหญ่ไปตั้งให้อยู่ในระดับสูงเพื่อที่จะยิงถล่มเข้าไปในตัวเมืองได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ตลอดจนการนำปืนใหญ่มาใส่หลังช้างเพื่อเป็นปืนใหญ่เคลื่อนที่สะดวกในการยิงในสมรภูมิรบ ฯลฯ เป็นต้น

แม้ปืนไฟจะเป็นอาวุธที่อานุภาพในการทำลายล้าง ช่วยเสริมเขี้ยวเล็บให้กองทัพดูน่าเกรงขาม ขณะเดียวกันปืนไฟก็ทำศิลปะในการศึกเช่นกัน  ซึ่งใน “ราชาธิราช” พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง (พ.ศ. 1916-1965) กษัตริย์แห่งพม่ามีพระราชวินิจฉัยไว้อย่างดี เมื่อนายเรือพระที่นั่งเห็นพระองค์ทรงโทมนัสน้อยพระพระทัยจนน้ำพระเนตรตก (ด้วยคันพระเศวตฉัตรโดนด้วยปืนใหญ่ทหารฝรั่งจนหัก) พระองค์ทรงทำสงครามมาทุกครั้ง ถึงจะเสียหายเพียงใดก็ทรงพระสวรจทุกครั้ง ครั้งนี้น้ำพระเนตรตกด้วยเหตุใด

พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องตรัสว่า เป็นกษัตริย์มีการสนุกเพราะเล่นสงครามดูงามเป็นขวัญตา แล้วได้เห็นทแกล้วทหารฟ้อนรำด้วยอาวุธต่างๆ ตามชั้นเชิงสู้กันในกลางสงคราม และบัดนี้มามีอาวุธอันมหึมาสิ่งหนึ่งออกมาแต่ในเมือง ต้องเศวตฉัตรเราปลิวไปฉะนี้ถ้าต้องทหารผู้ใดเห็นจะท่านมิได้ อาวุธสิ่งนี้เกิดมีมาแล้ว นานไปภายหน้าไหนเลยเราจะได้เห็นทหารอันมีฝีมือสืบไปอีกเล่า


ข้อมูลจาก

ดร. ภมรี สุรเกียรติ. “อาวุธปืนไฟตะวันตก และทหารรับจ้างต่างชาติ ใน ประวัติศาสตร์พม่า” ใน, ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2552.

ราชาธิราช. พิมพ์เพื่อบรรณการในงานพระราชเพลิงศพ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2897


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2562