ทำไมทหารเรือรักกรมหลวงชุมพรฯ เผยพระจริยวัตร-สยบ “นักเลง” สมานรอยร้าวระหว่างรุ่น

กรมหลวงชุมพรฯ เสด็จเตี่ย
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. 2450

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466) เป็นเจ้านายและทหารซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธามาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้วยหน้าที่การงานหรือด้านความเชื่อในแง่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้ กรมหลวงชุมพรฯ ยังเป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องวิธีการปกครองและความสัมพันธ์กับทหารในกรมกอง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทรงเป็นนักเรียนนายเรือที่ประเทศอังกฤษ เรียกได้ว่าเป็นนักเรียนนายเรือคนแรกของกองทัพไทย (โดยการแต่งตั้งของรัชกาลที่ 5) และเคยนำทหารเข้าทำการรบจริงมาแล้ว

ทรงเล่าให้พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ฟังว่า ขณะที่ทรงพระชนมายุ 18 พรรยา ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่ยกพลขึ้นบกปราบการจราจลบนเกาะครีต (Crete) ซึ่งอยู่ในการปกครองของตุรกี กินเวลา 3 เดือน ต้อง “นอนกลางดินกินกลางทราย หนาวก็หนาว ในสนามรบต้องนอนกับศพที่ตายใหม่ๆ และบางคราวซ้ำยังอดอาหาร ต้องจับหอยทากมาทอดเสวยกับหัวหอม ศพที่ถูกยิงที่ท้องนับว่าเหม็นร้ายกาจ” ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวที่เคยนำทหารเข้าทำการรบ อธิบายโดยง่ายคือ ทรง “ผ่านศึก” อย่างแท้จริง

เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2443 ได้รับพระราชทานยศเป็น “นายเรือโทผู้บังคับการ” และทรงรับราชการทหารเรือปฏิบัติภารกิจพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการทหารเรือหลายประการ

ในช่วงพ.ศ. 2448 ขณะที่ทรงเป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการทหารเรือ ทรงเห็นว่าจำเป็นต้องจัดการการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้พัฒนาขึ้น นำไปสู่คณะกรรมการปรับปรุงด้านการศึกษาของทหารเรือโดยกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เป็นประธานกรรมการ

การปรับปรุงหลักสูตรใหม่นี้เป็นที่ทราบกันว่า เสด็จในกรมฯ ทรงฝึกสอนนักเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง ปัญหาประการหนึ่งที่ทรงแก้ไขคือเรื่องความแตกแยกกันภายในระหว่างกลุ่มทหารเรือรุ่นเก่าที่ฝึกฝนเลื่อนชั้นตามระบบดั้งเดิม กับทหารเรือรุ่นใหม่ที่ผ่านการศึกษาภายใต้ระบบใหม่

สำหรับกลุ่มทหารเรือรุ่นเก่านั้น ศรัณย์ ทองปาน ผู้เขียนหนังสือ “เสด็จเตี่ย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนายทหารเชื้อสายมอญ เกี่ยวกับสภาพบรรยากาศของปัญหานี้ หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร พระชายาขององค์ผู้บัญชาการ ทรงบันทึกเอาไว้ มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

นายทหารเรือที่สำเร็จเป็นนายทหารใหม่ๆ มักดูหมิ่นพวกนายทหารเรือเก่าๆ ที่เป็นแขก (มุสลิม/จาม/มอญ) ว่าไม่มีความรู้ ทูนหม่อมไม่โปรดที่จะให้ผู้น้อยหมิ่นผู้ใหญ่ จึงสั่งให้นายทหารเรือรุ่นใหม่นำเรือออกไปฝึกซ้อมบริเวณอ่าวไทยในความควบคุมของนายทหารเรือผู้ใหญ่รุ่นเก่า…

นายทหารหนุ่มเป็นผู้ทำการเดินเรือ นายทหารผู้ใหญ่เป็นคนดู นายทหารหนุ่มจะเข้าจอดเรือในบริเวณหนึ่ง แต่นายทหารผู้ใหญ่ห้ามเพราะมีหินโสโครก เรือจะติด พวกนายทหารหนุ่มไม่เชื่อ อ้างว่าในแผนที่ไม่มี นายทหารผู้ใหญ่ก็ทัดทานว่า ในแผนที่ไม่มีจริง แต่หินใต้น้ำมันมี รู้ได้เพราะเดินเรือมามากแล้ว นายทหารหนุ่มไม่เชื่อนำเรือเข้าไปจอด เรือก็ติด

เมื่อติดแล้วก็นำเรือออกไม่ได้ น้ำก็กำลังลง เรือจะหักกลางลำ นายทหารเรือผู้ใหญ่ต้องทำการแก้ไขเดินเรือเอง จึงได้ถอยเรือออกจากเขตอันตรายได้ ตั้งแต่นั้นมานายทหารหนุ่มก็รู้สึกว่า ‘ความรู้กับความชำนาญนั้นผิดกัน’…”

พระรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หน้าวิทยาลัยพณิชยการพระนคร

สภาพบรรยกาศที่ไม่ลงรอยกันในช่วงเวลานั้นสะท้อนจากคำบอกเล่าของ พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ ซึ่งอธิบายว่า แต่ละก๊กก็มีหัวหน้าเป็นการภายใน ซึ่งมักมีความเป็น “นักเลงโต” มักมีเหตุเบียดเบียนรังแกกันระหว่างพวก

“วิสัยนักเลงโตย่อมจะยอมเชื่อฟังหรืออยู่ใต้อิทธิพลของผู้อื่นได้ ก็ต่อเมื่อผู้นั้นได้แสดงฝีมือและน้ำใจให้เห็นว่าเหนือกว่าหรือเป็นนักเลงที่ยิ่งใหญ่กว่าเท่านั้น”

ในส่วนนี้ กรมหลวงชุมพรฯ ก็ทรงดำเนินพระจริยวัตรสอดคล้องกับแนวทางที่นักเลงนิยมกันด้วย อาทิ ศึกษาวิทยาคมกับพระอาจารย์ คือ หลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า ซึ่งประการนี้ก็ย่อมแสดงบารมี และสร้างความนิยม ทำให้เหล่า “นักเลงโต” สัมผัสทั้งบารมีและ “ความเป็นนักเลง” ที่เหนือกว่า ซึ่งตามความคิดเห็นของพลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช เล่าว่า “ย่อมสร้างความเคารพรักใคร่ขึ้นในหมู่ทหารเรือโดยทั่วๆ ไปอย่างที่ไม่เคยมีประมุขของทหารเรือหรือเจ้านายพระองค์ใดได้รับมาก่อน…”

ในการแก้ปัญหาและสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นนั้น พระองค์ต้องแสดงออกถึงการเป็น “พวกเดียวกัน” เห็นได้จาก การบอกเล่าของนาวาตรี หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) ที่บันทึกเรื่องราวระหว่างย้ายทหารเรือไปตั้งหน่วยฝึกพลทหารเรือที่บางพระ ชลบุรี การจัดอาหารในนั้นเป็นกองจัดเลี้ยงจัดอาหารโดยจัดอาหารให้ทหารเหมือนกันทั้งหมดเป็น “ข้าว 1 หม้อ แกง 1 ถ้วย ใส่ฝาหม้อ ปลาเค็มหนึ่งชิ้นวางบนข้าว” การรับอาหารจัดแบบตั้งแถวเดินไปรับโดยเรียงตามลำดับชั้นยศ เท่ากับว่า พระองค์จะอยู่ด้านหน้าเสมอ

อย่างไรก็ตาม วันหนึ่งเจ้าหน้าที่จัดอาหารพิเศษถวาย เป็นไข่ดาว หมูแฮม ขนมปังทอด และของหวาน เรื่องนี้หลวงรักษาราชทรัพย์เล่าว่าพระองค์กริ้ว และรับสั่งว่า

“ฉันก็เป็นทหารคนหนึ่งเหมือนกัน จะกินอาหารพิเศษดีกว่าเพื่อนทหารทั้งหลายไม่ได้”

หากสงสัยว่าอาหารพิเศษที่ว่านี้ไปลงเอยอย่างไร ศรัณย์ ทองปาน บรรยายว่า คุณหลวงฯ ที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินควบคุมการจัดซื้ออาหารก็ขอรับอาหารพิเศษแทน

พระจริยวัตรของพระองค์แบบที่เรียกได้ว่า ไม่ถือพระองค์ และทรงนับนักเรียนนายเรือเป็น “ลูก-ศิษย์” มากกว่าเป็น “เจ้า-นาย” ดังจะเห็นได้จากบันทึกและการบอกเล่าว่าด้วยเรื่องที่นักเรียนนายเรือเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” เป็นที่ประทับใจในหมู่ลูกศิษย์ ซึ่งส่วนหนึ่งคงต้องกล่าวว่า ในเวลานั้นทหารเรือมีขนาดเล็ก บุคลากรจำกัด การถ่ายทอดความรู้และความสัมพันธ์กันก็ย่อมทำให้เกิดความผูกพัน มีเรื่องกล่าวขานกันว่า นายทหารเรือบางคนพบเห็นว่า นักเรียนนายเรือแสดงท่าทีขยะแขยงไม่กล้าล้วงส้วมตัน เสด็จในกรมฯ ยังทรงปฏิบัติให้ดูด้วยพระหัตถ์ แม้ว่าอีกส่วนหนึ่งจะจดจำพระองค์ว่าทรง “ดุ” ไม่เบาด้วยก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรของ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ในประเด็นการเอ่ยวาจาและพระจริยวัตรนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงปรารถถึงพระองค์ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปในพ.ศ. 2440 ว่า

“ชายอาภากรนั้นอัธยาศัยเป็นคนซื่อมาแต่เดิม เป็นผู้สมควรแก่วิชาที่เรียนอยู่แล้ว ไม่เป็นคนที่มีอัธยาศัยที่จะใช้ฝีปากได้ในการฝ่ายพลเรือน แต่ถ้าเป็นการในหน้าที่อันเดียวซึ่งชำนาญ คงจะมั่นคงในทางนั้นแลตรงไปตรงมา การที่ได้พบในคราวนี้เห็นว่าอัธยาศัยดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก”

หากกล่าวโดยสรุปแล้ว อาจต้องยกแนวคิดของ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี ระหว่างร่วมรายการเสวนาปริทรรศน์กองทัพเรือ “ร่วมเครือนาวี” ครั้งที่ 36 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ซึ่งนาวาเอก สวัสดิ์ อธิบายในหัวข้อ “ทำไมทหารเรือจึงรักเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ มาก” ว่า

“1. พระองค์ตรงไปตรงมาไม่มีมโขโลกนะ หมายความว่า พระองค์ทรงมีความยุติธรรม
2. พระองค์ไม่ถือพระองค์
3. พระองค์ไม่เหยียดคนจน แต่เกลียดคนไม่รู้จักศักดิ์ศรี
4. พระองค์ไม่กินสินบน หรืองุบงิบทำบิลปลอม
5. ราชการเป็นราชการ ส่วนตัวเป็นส่วนตัว ไม่ได้เอามาปนกัน
6. พระองค์เป็นผู้นำที่ดี เป็นนักต่อสู้ที่กล้าหาญ
พวกใต้บังคับบัญชาจึงรักพระองค์มาก


อ้างอิง: 

กองประวัติศาตร์ กรมยุทธการทหารเรือ. พระประวัติ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. หนังสือที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, 2542

ศรัณย์ ทองปาน. เสด็จเตี่ย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2549


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ.2562