ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2423
พระองค์ทรงได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” และต่อมาได้แก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก
ส่วนกรณีที่นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” นั้น พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า “อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้”
เมื่อช่วงต้นรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงออกจากราชการซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว ๑ จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”
แต่กรณีนี้ ศรัณย์ ทองปาน มีความเห็นต่างออกไปโดยเห็นว่า “…ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งเมาสุราในร้านอาหารสันธาโภชน์ ที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง ทำให้รัชกาลที่ ๖ ทรงพิโรธ ดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ‘…ปรากฎชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนายของทหาร…สมควรลงโทษเป็นตัวอย่าง’
ประกอบกับมีข่าวลือว่า กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์กับกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต กำลังวางแผนก่อกบฏ ชิงราชสมบัติ โดยแม้ว่าพระองค์ทรงออกจากราชการแล้วทางการก็ยังให้ตำรวจท้องที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวของพระองค์…”
ระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า “หมอพร” ในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งได้อยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย ช่วงเวลานี้กินเวลาราว 6 ปี พระองค์จึงได้กลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง หลังสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี
เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้วก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ
ในบั้นปลายพระชนมชีพ กรมหลวงชุมพรฯ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมมีชื่อว่า “มณฑลชุมพร” อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมทหารเรือรักกรมหลวงชุมพรฯ เผยพระจริยวัตร-สยบ “นักเลง” สมานรอยร้าวระหว่างรุ่น
- ห้วงสุดท้ายก่อนกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ ประชวรแต่ยังต้องรักษาน้ำใจชาวบ้าน
- ค้นต้นแบบพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ฉบับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เมื่อพบหลวงปู่ศุขครั้งแรก
- กรมหลวงชุมพรฯ กับการเลี้ยงนักมวยในวัง สู่การปั้นชกไฟต์แห่งยุค กำปั้นไทยดวล “มวยจีน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
บทความ “เหตุที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงถูกปลดจากทหารเรือ” โดย วรชาติ มีชูบท ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558
บทความ “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์: กรณีสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” โดย รศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัช ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2559