เปิดเหตุการณ์สุดท้าย ก่อน “กรมหลวงชุมพร” สิ้นพระชนม์ ประชวรแต่รักษาน้ำใจชาวบ้าน

กรมหลวงชุมพร เสด็จเตี่ย
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. 2450

“กรมหลวงชุมพร” หรือพระนามเต็ม พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่ชาวบ้านขานพระนามพระองค์ด้วยความเคารพรักว่า “เสด็จเตี่ย” แม้กระทั่งห้วงสุดท้ายของพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ที่ ชุมพร ก็ยังมีเหตุการณ์ที่สะท้อนพระจริยวัตรที่แสนพิเศษ

กรมหลวงชุมพร ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 ทรงเป็นต้นราชสกุลอาภากร พระองค์ทรงเป็นนักเรียนนายเรือที่ประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังเคยนำทหารเข้ารบจริงมาแล้ว เมื่อเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ทรงรับราชการทหารเรือปฏิบัติภารกิจพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการทหารเรือหลายประการ

ช่วง พ.ศ. 2454 กรมหลวงชุมพรทรงถูกออกจากราชการ และทรงกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งใน พ.ศ. 2460 ทรงรับราชการจนถึงต้น พ.ศ. 2466 ช่วงเดือนเมษายนทรงออกจากราชการอีกครั้ง คำบอกเล่าและบันทึกหลายแห่งต่างบ่งชี้ว่า ช่วงนี้พระองค์ประชวร และกราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์

ระหว่างที่ประทับอยู่ ชุมพร เป็นที่ทราบกันว่า “เสด็จเตี่ย” ประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ ประชวรเพียง 3 วันก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ ตำบลหาดทรายรี สิริพระชันษาได้ 44 ปี

นายธงคนสุดท้าย เล่าเรื่องบั้นปลายพระชนมชีพ กรมหลวงชุมพร 

ข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงบั้นปลายพระชนมชีพ กรมหลวงชุมพร ถูกบอกเล่าผ่านงานเขียนของ คุณวิสิฏฐ์ ทุมมานนท์ (เทอด ธรณินทร์) หลานลุงของ พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์) ซึ่งเป็นนายธงคนสุดท้ายของกรมหลวงชุมพร ที่ได้ตามเสด็จไปยังชุมพรด้วย ในหนังสือ “อนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพ พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา” วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา ขณะอายุ 96 ปี เล่าถึงเหตุการณ์วันที่สิ้นพระชนม์ว่า ในคราวที่เสด็จในกรมฯ เพิ่งหายประชวรและทรงหวังจะไปพักผ่อน พระองค์โปรดให้สร้างพระตำหนักชั่วคราวที่หาดทรายรี

ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

“วันที่ 19 พฤษภาคม พระองค์ประชวรหนัก ก่อนหน้านี้ก็ได้ประชวรอยู่แล้ว แต่พระอาการมาทรุดหนักเอาในวันนี้ แพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายการพยาบาลอย่างเต็มที่ ขณะนั้น เรือเอก เจริญฯ เข้าเวรอยู่ภายนอกห้องพระบรรทม หากไม่มีราชการก็จะไม่เข้าไป เพราะแพทย์ห้ามรบกวน คงมีแต่หม่อมของพระองค์ท่านเท่านั้นที่เฝ้ารับใช้ใกล้ชิดอยู่ภายใน

พระอาการหนักมากไม่ดีขึ้นเลย แพทย์ได้ถวายยาฉีดระงับไว้เป็นพักๆ เพื่อให้ได้ทรงพักผ่อน ต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะพระอาการมีแต่ทรุด ไม่กระเตื้องขึ้น ยิ่งดึกอากาศก็แปรปรวนฟ้าฝนคะนองอย่างหนัก ภายในพระตำหนักคงมีแต่แพทย์ประจำพระองค์ เรือเอกเจริญฯ คอยฟังคำสั่งอยู่ข้างนอก มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาจากห้องบรรทมด้วยใบหน้าที่เศร้าหมอง แล้วพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์แล้ว

จากนั้นผู้บังคับบัญชาก็สั่งให้เรือเอก เจริญฯ รีบออกไปขอยืมม้าชาวบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ พระตําหนัก ขี่ม้าหลังเปล่า ควบม้าเต็มฝีเท้าไปท่ามกลางความมืดและสายฝนที่ตกคะนองหนักเข้าเมืองไปที่ทําการไปรษณีย์โทรเลขในจังหวัดชุมพร เพื่อส่งโทรเลขถึงกระทรวงทหารเรือให้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบว่า เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ขณะนั้นเป็นเวลาตีสี่พอดี ดังนั้นพระองค์ท่านคงสิ้นพระชนม์ก่อนเวลาตีสี่เล็กน้อย

กระทรวงทหารเรือส่งเรือมาอัญเชิญพระศพจากหาดทรายรีกลับกรุงเทพมหานคร เรือเอก เจริญ ทุมมานนท์ นายธงคนสุดท้ายของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ไปกับเรือด้วย นั่งเฝ้าพระศพมาจนถึงท่าราชวรดิฐ มีนายทหารเรือมาเป็นกองเกียรติยศคับคั่ง เพราะทุกคนมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ราวบิดาบังเกิดเกล้า

การที่ทหารเรือเรียกพระองค์ท่านว่า เสด็จเตี่ย นั้นเกิดขึ้นเพราะความจงรักภักดีต่อพระองค์ดุจบิดาบังเกิดเกล้าไม่ใช่เรียกกันส่งเดช คนที่เรียกขานก็ต้องเคารพและภักดีอย่างจริงใจด้วย”

เหตุสิ้นพระชนม์ 

นอกเหนือจากนายธงของเสด็จในกรมฯ แล้ว หม่อมเจ้าหญิง สุริยนันทนา สุริยง หรือ “ท่านหญิงน้อย” ทรงเป็นพระธิดาองค์หนึ่งใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ต้นราชสกุล “สุริยง”

พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ ผู้เขียนบทความ “19 พฤษภาคม 2466” อธิบายว่า กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดาในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กรมหลวงชุมพรจึงทรงเป็น “เสด็จลุง” ของ “ท่านหญิงน้อย”

พลเรือตรี กรีฑา บรรยายว่า ท่านหญิงน้อยทรงเป็นองค์หนึ่งที่เคยประทับอยู่ที่หาดทรายรี ตอนที่ กรมหลวงชุมพร สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2536 ท่านหญิงน้อยทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นให้ฟังว่า (จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่โดย กอง บก. ออนไลน์ เพื่อความสะดวกในการอ่าน)

“เมื่อเสด็จลุง กรมหลวงชุมพรฯ ทรงลาออกจากราชการแล้วนั้น ได้ตั้งพระทัยว่าจะดําเนินชีวิตชาวบ้านจริงๆ จึงไปปลูกบ้านอยู่ที่บริเวณหาดทรายรี บ้านที่กล่าวถึงนี้มีลักษณะเป็นกระต๊อบหลังคาจาก ติดต่อระหว่างบ้านที่หาดทรายรีกับตัวเมืองในตอนนั้น ยังไม่มีรถยนต์ จะเข้าเมืองก็ต้องขี่ม้า

ผู้คนที่ตามเสด็จท่านไปด้วย คือบรรดาหม่อมทั้งหมดและท่านหญิงใหญ่ (หม่อมเจ้าหญิงจารุพัตรา อาภากร พระธิดาองค์ใหญ่ในเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2516) ประทับอยู่ได้ไม่นานก็ส่งข่าวไปชวนคุณย่า (เจ้าจอมมารดาโหมด) ให้ไปที่ชุมพรด้วย คุณย่าจึงเดินทางไปที่ชุมพรและตั้งใจว่าจะเลยไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดสงขลาเพราะมีพวกตระกูล บุนนาค เป็นเจ้าเมืองอยู่ที่นั้น ทางทหารเรือได้จัดเรือเจนทะเลเป็นพาหนะ เดินทางจากกรุงเทพไปชุมพร คุณย่าได้พาเอาครอบครัวไปด้วย คือพวกข้าหลวง พวกแม่ครัวทํากับข้าว มีเด็กๆ ไปด้วย คือท่านรัศมีสุริยัน พี่ชายกับฉัน (ท่านหญิงน้อย)

ตอนนั้นฉันอายุประมาณ 7-8 ขวบ ทุกคนที่ไปกับเรือต้องนอนในเรือ เด็กๆ นอนบนฝาสกายไลท์ (SKY LIGHT) ซึ่งเอียงเป็นมุมเล็กน้อย ตอนที่นอนใหม่ๆ ตัวก็เลื่อนลงมากองอยู่กับพื้น นอนไปๆ เกิดความชํานาญและเคยชิน จึงนอนอยู่กับที่ได้ตลอดคืน คุณย่าเป็นนักทํากับข้าว จึงทํากับข้าวกันในเรือ เลี้ยงทหารด้วย เลี้ยงครอบครัวด้วย ตอนจ่ายตลาดก็ให้ทหารเรือไปจ่ายตลาดให้

เสด็จในกรมฯ ไม่ได้เสด็จขึ้นเรือ คงประทับอยู่บนบก มีท่านหญิงใหญ่คอยดูแลใกล้ชิด พวกที่อยู่เรือถ้าขึ้นบกแล้วจะต้องกลับเรือก่อนมืด ส่วนพี่ชายกับฉันนั้น เสด็จในกรมฯ รับสั่งให้ขึ้นบกไปเฝ้า หลังจากที่เสวยกลางวันในเรือเรียบร้อยแล้ว ทรงสอนหลาน 2 คนให้รู้จักทําของเล่นเอง และทรงสอนให้รู้จักวิธีดำรงชีพในที่กันดาร ท่านสอนวิธีดักแย้ให้ ที่หาดทรายรีมีแย้ชุกชุมมาก ท่านทําเครื่องมือตกแย้เอง แล้ววางเครื่องดักแย้เอาไว้ เสร็จแล้วพาหลานเดินเล่นตามป่าชายหาดเป็นที่สนุกสนาน และได้ความรู้ไปด้วย ขากลับก็เก็บเครื่องดักแย้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ที่จับได้แล้วก็ปล่อยไปไม่เคยเอามาเป็นอาหาร

คุณย่าเอาเรือไปจอดอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ท่านอยู่ในเรือตลอด ไม่ได้ขึ้นบก กะว่าเมื่อเลยไปสงขลาแล้วจะกลับมาแวะที่ชุมพรอีก ก่อนที่จะออกเรือไปสงขลาเพียงวันเดียว ตกกลางคืนชาวบ้านเอาหนังตะลุงมาเล่นถวายเสด็จในกรมฯ อากาศตอนนั้นพอตกค่ำก็เย็นเยือก เสด็จลงประทับบนเก้าอี้ มีผ้าคลุมพระชงฆ์ทั้งๆ ที่ท่านไม่ค่อยทรงสบาย ประชวรหวัดอยู่บ้างแล้ว ตอนนั้นทรงฉลองพระองค์เสื้อกุยเฮง กางเกงแพรปังลิ้ม มักจะประทับบนเก้าอี้ คุยเล่นกับเด็กๆ ทําของเล่นกับเด็กๆ ไม่เห็นท่านดําเนินไปไหนมาไหนเลย

ในคืนวันนั้นด้วยความที่ท่านเกรงใจในความหวังดีของชาวบ้าน จึงต้องแข็งพระทัยทอดพระเนตรอยู่ทั้งๆ ที่ต้องตากน้ำค้างด้วย ตกดึกมีอาการมากขึ้นต้องให้คนขี่ม้าไปซื้อยาในตลาด กว่าจะไปถึง กว่าจะกลับมาอาการก็ทรุดหนัก ต่อมามีหมอจากกรุงเทพมาตรวจบอกว่าท่านเป็นปอดบวม หาซื้อยาที่ต้องการก็ไม่ได้ ตอนที่ท่านเสด็จไปหาดทรายรีคราวนั้นก็ไม่ได้เตรียมการอะไรมากมายเลย เพราะกะไว้ว่าจะต้องกลับไปอีกครั้ง

ตอนดึกได้ยินเสียงคุณย่าร้องไห้จึงทราบว่าเสด็จลุงกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์เสียแล้ว เด็กๆ เลยร้องไห้ตามไปด้วย ได้นําพระศพขึ้นบนเรือเจนทะเล และส่งโทรเลขจากจังหวัดชุมพรถึงกองทัพเรือที่กรุงเทพแล้วเรือเจนทะเลก็แล่นเข้ากรุงเทพ และเมื่อกองทัพเรือส่งเรือพระร่วงมารับพระศพ จึงอัญเชิญพระศพขึ้นสู่เรือพระร่วงที่บริเวณบางนาในตอนก่อนเช้ามืดของวันนั้น การอัญเชิญพระศพจากเรือลําหนึ่งไปยังเรืออีกลําหนึ่งค่อนข้างยากลําบาก เพราะวันนั้นคลื่นลมแรง พระองค์ท่านอยู่ในท่าเอน ทหารอัญเชิญพระศพส่งต่อกันไปนําไปไว้ที่บริเวณแท่นปืน ท่านหญิงใหญ่นั่งเฝ้าเสด็จในกรมฯ ตลอดเวลา คอยซับน้ำมูกที่ไหล

เรือพระร่วงนําพระศพมาขึ้นที่ท่าวาสุกรี แล้วอัญเชิญต่อไปยังวังนางเลิ้ง ส่วนเรือเจนทะเล แล่นตามเรือพระร่วงเข้ามาเป็นอันว่าคุณย่าไม่ได้ไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดสงขลาเพราะเสด็จลุงกรมหลวงชุมพรฯ มาสิ้นพระชนม์เสียก่อน

ก่อนวันที่กรมหลวงชุมพรฯ จะสิ้นพระชนม์ตอนประมาณตี 5 ได้ยินเสียงทหารเรือวิ่งกันพล่านในเรือเจนทะเล พี่ชายกับฉันวิ่งตามกันไปดูบ้าง เห็นลูกไฟดวงใหญ่สีแดงจ้าเหมือนไข่แดง ดวงกลมๆ ใหญ่ๆ ค่อยๆ ลอยลงมา ทุกคนที่เห็นพากันยืนดูนิ่งพูดจาไม่ออก ได้ยินทหารเรือเอ่ยคําว่าลูกอุกกาบาต ทําให้รู้จักว่านั่นคือ ลูกอุกกาบาต ทุกคนตลึงมองดูจนกระทั่งลูกอุกกาบาตค่อยๆ จมลงในน้ำทะเลทีละนิดๆ จนมิด สวยก็สวย น่ากลัวก็น่ากลัว มีแสงสว่างจ้า จมลงไปจนกระทั่งมิดหมดทั้งตวง คนที่อยู่บนบกไม่มีใครได้เห็นเหมือนคนที่อยู่ในเรือ ผู้ใหญ่ที่อยู่ในเรือก็เริ่มไม่ค่อยสบายใจกันแล้ว เพราะถือว่าเป็นลางไม่ดี”

ข้อมูลจากการบอกเล่าข้างต้น มีบางจุดแตกต่างจากรายละเอียดในเอกสารทางการ อาทิ เวลาที่กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์ ซึ่งท่านหญิงน้อยและคุณวิสิฏฐ์ให้ข้อมูลเป็นเวลาแตกต่างกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

กองประวัติศาตร์ กรมยุทธการทหารเรือ. พระประวัติ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. หนังสือที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, 2542

ศรัณย์ ทองปาน. เสด็จเตี่ย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2562