วิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ ผ่านมุมมองการแพทย์สมัยใหม่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กรมหลวงชุมพร เสด็จเตี่ย
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

หากใครสักคนตั้งคำถามว่า “ใครคือเสด็จเตี่ย” ผู้คนส่วนใหญ่คงจะทราบดีว่า เสด็จเตี่ย หมายถึง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ในบทความนี้ผมขอใช้ “กรมหลวงชุมพร”) ซึ่งพระองค์ได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” และต่อมาได้แก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก [1]

กรมหลวงชุมพรทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 ทรงเป็นต้นราชสกุลอาภากร [1]

พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า การที่นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ในปี พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า “อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้” [2]

กรมหลวงชุมพร ทรงถูกออกจากราชการใน พ.ศ. 2454

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระประวัติของกรมหลวงชุมพร ซึ่งมีตอนหนึ่งกล่าวถึงพระสุขภาพของพระองค์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงชุมพรเป็นผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออยู่ได้เพียง 1 ปี ว่า

“…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว [1] จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2460 จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”[3]

ตามคำสั่งกองทัพเรือที่ลงพระนามโดย พลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ความว่า

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ออกเปนนายทหารกองหนุน
————————————–
ที่ ๒๔ / ๑๓๐
๐๐๔๗๔
แพนกปกครอง

วันศุกรที่ ๑๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ มีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งเหนือเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรีพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้ช่วยเสนาบดี กระทรวงทหารเรือ แลเจ้ากรมยุทธศึกษา ออกจากตำแหน่งหน้าที่ราชการประจำ เปนนายทหารกองหนุน รับพระราชทานเบี้ยหวัดตามพระราชบัญญัติ ส่วนหน้าที่เจ้ากรมยุทธศึกษาซึ่งว่างลงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ ผู้บัญชาการ กรมทหารชายเทล เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษา แลคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เดิมนั้นด้วยสนองพระเดชพระคุณสืบไป

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐ เปนต้นไป

บริพัตร
นายพลเรือเอก เสนาบดี

ซึ่งในกรณีที่กรมหลวงชุมพรทรงออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุนเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 นั้น คุณศรัณย์ ทองปาน กลับมีความเห็นต่างออกไป โดยเห็นว่า

“…ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เกิดเหตุนายทหารเรือผู้หนึ่งเมาสุราในร้านอาหารสันธาโภชน์ ที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วเกิดวิวาทกับมหาดเล็กหลวง ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงพิโรธดังความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

‘…ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัยและนามของทหาร… สมควรจะลงโทษให้เป็นตัวอย่าง…’

ประกอบมีข่าวลือว่า กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์กับกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต กำลังวางแผนก่อกบฏ ชิงราชสมบัติ โดยแม้ว่าพระองค์ทรงออกจากราชการแล้ว ทางการก็ยังให้ตำรวจท้องที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวของพระองค์…” [2]

ผมเห็นด้วยกับ คุณศรัณย์ ทองปาน ว่า กรมหลวงชุมพรไม่น่าจะทรงถูกให้ออกจากราชการเพราะเหตุ พระพลานามัย เพราะหากพระองค์ทรงออกจากราชการเพราะประชวรจริง ก็ไม่ควรจะทรงพาครอบครัวล่องเรือใบไปเรื่อยๆ จนครั้งหนึ่งทรงพบกับวาตภัยที่รุนแรง ทั้งฝน ทั้งลมงวง ดังนั้น เมื่อลมสงบจึงทรงเปลี่ยนพระทัยกลับกรุงเทพฯ ซึ่งปรากฏในบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระราชธิดาของพระองค์ ที่ คุณศรัณย์ ทองปาน ได้อ้างไว้ในหนังสือของท่านอีกทีหนึ่ง [2]

และอีกประการหนึ่งผมได้พบหลักฐานสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับกรณี กรมหลวงชุมพร ทรงออกจากราชการ ของ น.อ. สวัสดิ์ จันทนี ร.น. ที่ได้เขียนบรรยายไว้ในหนังสือนิทานชาวไร่ [5] ความว่า

“…ในหลวงทรงกลัวว่าเสด็จเตี่ยจะชิงสมบัติเอาไปให้กรมพระนครสวรรค์ เพราะเรื่องนี้ดูลือกันหนาหู

…แต่ข้าพเจ้า [น.อ.สวัสดิ์ จันทนี ร.น. – ผู้เขียน] นึกในใจว่า เสด็จเตี่ยเอาจริงๆ คุณถวิล [ร.ท. ถวิล เสถียรสวัสดิ์ ร.น. เป็นข้าราชบริพารของท่านหญิงทิพยสัมพันธ์ ซึ่งเป็นชายาของกรมหลวงชุมพร – ผู้เขียน] ก็บอกว่าท่าจะเอาจริง ๆ

…เมื่อออกจากราชการแล้วนี่สิ เรืองน่าจะเอาจริงๆ ก็ชักจะเป็นรูปเป็นรอยขึ้น คุณถวิลบอกว่าดีแต่ หลวงพ่อวัดมะขามเฒ่าห้ามไว้ โดยเตือนสติว่า “ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อย่าไปขัดท่านเลย” คุณถวิลเล่าว่า “เสด็จเตี่ยทรงได้สติถึงลงกราบพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 6 แต่จะกราบเวลาใดวันใดได้ซักไซ้แล้วก็บอกว่าจำไม่ได้” [5] และเมื่อพิจารณาจากคำสั่งกองทัพเรือไม่ได้เขียนว่าให้กรมหลวงชุมพรออกจากราชการเพราะเหตุใด แต่ไม่ได้เขียนว่าเพราะพระพลานามัยไม่แข็งแรง

โดยสรุปผมคิดว่า สาเหตุสำคัญที่กรมหลวงชุมพรทรงถูกออกจากราชการ น่าจะเกิดจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงกลัวว่ากรมหลวงชุมพรจะก่อการกบฏ ไม่ใช่จากเหตุพระพลานามัยของพระองค์ไม่แข็งแรง

กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงฉายใน พ.ศ. 2460 (ภาพจากหนังสือหลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ โดย ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2546)

ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ พ.ศ. 2466

หลังจากที่เสด็จกลับมารับราชการอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2460 แต่ต่อมาพระองค์ทรงออกจากราชการอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2466 แต่คราวนี้ทรงลาออกเองโดยสมัครใจ ซึ่ง คุณอัจฉรา ทองรอด ได้เขียนเกี่ยวกับกรณีนี้ในหนังสือ “ทหารเรือ หมอยา คาถา ศิลปิน” ความว่า

…พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระองค์ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงทหาร ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466 แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันทรงกราบบังคมลาราชการออกไปเพื่อรักษาพระองค์จากพระอาการประชวร” [1]

ส่วน คุณศรัณย์ ทองปาน เขียนไว้ว่า “เสด็จในกรมฯ [กรมหลวงชุมพร – ผู้เขียน] ได้กราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ เนื่องจากทรงประชวรพระโรคภายใน…” [2]

พระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่ด้านใต้ปากน้ำเมืองชุมพร อันเป็นที่ที่ทรงจองไว้จะทำสวน ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่ชุมพร ประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่เนื่องจากถูกฝน ประชวรอยู่เพียง 3 วันก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ ตำบลหาดทรายรี สิริพระชันษาได้ 44 ปี [1], [2]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์กรณีสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร ในพระประวัติของกรมหลวงชุมพร ที่ปรากฏในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพของกรมหลวงชุมพร ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ดังนี้ [3]

“…แต่เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ได้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือนั้น เป็นพระโรคภายในประชวรเสาะแสะอยู่แล้ว พอทรงรับตำแหน่งแล้วก็กราบบังคมลาออกไปเปลี่ยนอากาศที่ชายทเล ข้างใต้ปากน้ำเมืองชุมพร ณ ที่ซึ่งได้ทรงจองไว้หมายจะทำสวน ผเอิญไปถูกฝน เกิดเป็นโรคหวัดใหญ่ ประชวรอยู่เพียง 3 วัน ก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปีกุญ พ.ศ. 2466 ประมวลพระชัณษาได้ 44 ปี…” [3]

สาเหตุการสิ้นพระชนม์

ต่อไปผมขอวิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร จากเอกสารต่างๆ ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ผมพบว่า เอกสารส่วนใหญ่อ้างอิงมาจากพระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ลงในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพของกรมหลวงชุมพร [3] และจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฉบับนี้ที่เขียนว่า กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์จากโรคหวัดใหญ่ [3] นั้น ทำให้ผมคิดถึงกรณีทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ที่เมืองสิงคโปร์ ซึ่งผมได้เขียนลงในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 โดยผมสันนิษฐานว่า สาเหตุการทิวงคตของพระองค์มาจากพระโรคปัปผาสะอักเสบจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ แล้วต่อมาเชื้อได้ลุกลามไปสู่สมองเกิดภาวะสมองอักเสบ [4]

ผมคิดว่า กรณีทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ มีความคล้ายคลึงกับกรณีสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร หลายประการ คือ

ประการที่ 1 ทั้ง 2 พระองค์ยังทรงหนุ่มแน่นอยู่ (สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทิวงคตเมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา ส่วนกรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ 44 ปี)

ประการที่ 2 ทั้ง 2 พระองค์ทรงตากฝนก่อนที่จะประชวรหนัก

ประการที่ 3 ทั้ง 2 พระองค์ประชวรหนักเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะทิวงคต (5 วัน) และสิ้นพระชนม์ (3 วัน)

ประการที่ 4 จากเอกสารเบื้องต้นสันนิษฐานว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ทิวงคตและกรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์

ผมมีความยากลำบากในการวิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ มากกว่ากรณีทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์มาก เพราะไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่บันทึกพระอาการของพระองค์ในช่วงที่ทรงประชวรหนัก

มีแต่ข้อมูลชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงใกล้ๆ วันสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร เป็นบทความหนึ่งที่เขียนไว้ในหนังสือ “คิดถึงพ่อ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของ นาวาเอก สมารมภ์ บุนนาค ได้บรรยายโดยอ้างอิงท่านหญิงน้อย หรือหม่อมเจ้าหญิงสุริยนันทนา สุริยง ว่า ได้ทรงเล่าถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพร ซึ่งท่านเป็นองค์หนึ่งที่เคยประทับอยู่ที่หาดทรายรีตอนที่กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์

โดยสรุปใจความได้ว่า ช่วงนั้นพระมารดาของกรมหลวงชุมพร (เจ้าจอมมารดาโหมด) ได้เสด็จมาเยี่ยมพระองค์โดยเรือเจนทะเล ซึ่งได้จอดเรือที่ชุมพรประมาณ 1 อาทิตย์ ท่านกะว่าจะออกเรือไปสงขลาแล้วจะกลับมาชุมพรอีกที และมีเหตุการณ์ที่ผมคาดว่าน่าจะทำให้สิ้นพระชนม์ เขียนไว้ดังนี้

“…ก่อนที่จะออกเรือไปสงขลาเพียงวันเดียว ตกกลางคืนชาวบ้านเอาหนังตะลุงมาเล่นถวายเสด็จในกรมฯ อากาศตอนนั้นก็เยือกเย็น เสด็จลงประทับบนเก้าอี้ มีผ้าคลุมพระชงฆ์ทั้งๆ ที่ท่านไม่ค่อยทรงสบายประชวรหวัดอยู่บ้างแล้ว ตอนนั้นทรงฉลองพระองค์เสื้อกุยเฮง กางเกงแพรปังลิ้ม มักจะประทับบนเก้าอี้ คุยเล่นกับเด็กๆ ทำของเล่นกับเด็กๆ ไม่เห็นท่านดำเนินไปไหนมาไหนเลย

ในคืนวันนั้นด้วยความที่ท่านเกรงใจในความหวังดีของชาวบ้าน จึงต้องแข็งพระทัยทอดพระเนตรอยู่ทั้งๆ ที่ต้องตากน้ำค้างด้วย ตกดึกมีอาการมากขึ้น ต้องให้คนขี่ม้าไปซื้อยาในตลาด กว่าจะไปถึง กว่าจะกลับมาอาการก็ทรุดหนัก ต่อมามีหมอจากกรุงเทพมาตรวจบอกว่าท่านเป็นปอดบวม หาซื้อยาที่ต้องการก็ไม่ได้ ตามที่ท่านเสด็จไปหาดทรายรีคราวนั้นก็ไม่ได้เตรียมการอะไรมากมายเลย เพราะกะไว้ว่าจะต้องกลับไปอีกครั้ง

ตอนดึกได้ยินเสียงคุณย่าร้องไห้จึงทราบว่าเสด็จลุงกรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์เสียแล้ว…” [6]

ในหนังสือ “คิดถึงพ่อ” นี้เองก็มีอีกบทความหนึ่งซึ่ง คุณวิสิฎฐ์ ทุมมานนท์ เขียนเรื่องเล่าเหตุการณ์วันที่กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์ ไว้ในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลเรือโท หลวงเจริญราชนาวา (เจริญ ทุมมานนท์ – อดีตรองผู้บัญชาการทหารเรือ) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านได้เล่าให้คุณวิสิฎฐ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานลุงฟัง มีใจความว่า

“…เรือเอกเจริญ ทุมมานนท์ เป็นนายธงคนสุดท้ายของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ตามเสด็จไปที่จังหวัดชุมพรด้วย ในคราวที่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ เพิ่งหายจากประชวรและทรงหวังจะไปพักผ่อน พระองค์โปรดให้สร้างพระตำหนักชั่วคราวขึ้นที่หาดทรายรีเป็นที่พักแรมเพราะทรงรักหาดทรายรีมาก

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ พระองค์ประชวรหนัก ก่อนหน้านี้ก็ได้ประชวรอยู่แล้ว แต่พระอาการมาทรุดหนักเอาในวันนี้ แพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายการพยาบาลอย่างเต็มที่ ขณะนั้นเรือเอกเจริญฯ เข้าเวรอยู่ภายนอกห้องพระบรรทม หากไม่มีราชการก็จะไม่เข้าไป เพราะแพทย์ห้ามรบกวน คงมีแต่หม่อมของพระองค์ท่านเท่านั้นที่เฝ้ารับใช้ใกล้ชิดอยู่ภายใน พระอาการหนักมากไม่ดีขึ้นเลย

แพทย์ได้ถวายยาฉีดระงับไว้เป็นพักๆ เพื่อให้ได้ทรงพักผ่อน ต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะพระอาการมีแต่ทรุด ไม่กระเตื้องขึ้น ยิ่งดึกอากาศก็แปรปรวนฟ้าฝนคะนองอย่างหนัก

ภายในพระตำหนักคงมีแต่แพทย์ประจำพระองค์ เรือเอกเจริญฯ คอยฟังคำสั่งอยู่ข้างนอก มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกมาจากห้องบรรทมด้วยใบหน้าที่เศร้าหมอง แล้วพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์แล้ว…”

ผมคิดว่าพระพลานามัยของพระองค์ที่กำลังอ่อนแออยู่ เมื่อต้องมาตรากตรำพระองค์ตลอดคืนท่ามกลางอากาศที่เย็นและน้ำค้างที่ลง ทำให้ไม่ทรงสามารถฝืนพระองค์ได้ต่อไปอีก จึงสิ้นพระชนม์ในคืนนั้นเอง

โดยสรุป ผมจึงสันนิษฐานว่า พระองค์น่าจะทรงเป็นพระโรคไข้หวัดใหญ่ ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้

ถ้านับจาก พ.ศ. 2463 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์เสด็จทิวงคต ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ มาถึง พ.ศ. 2466 ที่กรมหลวงชุมพรสิ้นพระชนม์ เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่โรคไข้หวัดใหญ่มักระบาดทุกๆ 1-3 ปี [7,8] ในช่วงการระบาดที่รุนแรง (ค.ศ. 1918-19)

และจากการที่เชื้อไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นไวรัสตัวใหม่ๆ ที่แพร่ไปสู่ประชากรโลกที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน (immunity) ต่อเชื้อไวรัสนี้ มักไม่เกิดในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามปกติ และโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกอายุโดยเฉพาะคนหนุ่มที่แข็งแรง [8]

โดยเหตุนี้เองทำให้ไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้กรมหลวงชุมพรประชวรหนัก ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเป็นนายทหารเรือที่มีพระพลานามัยแข็งแรงมาก่อน

ผมคิดว่าภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้พระองค์สิ้นพระชนม์ เช่น โรคปอดอักเสบ (ปอดบวม) โรคสมองอักเสบ เช่นเดียวกับที่ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์เสด็จทิวงคต

แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีเอกสารใดบันทึกพระอาการในช่วงก่อนสิ้นพระชนม์ไว้อย่างละเอียดเหมือนสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ทำให้ผมไม่สามารถสรุปได้ว่า ภาวะแทรกซ้อนใดที่ทำให้พระองค์สิ้นพระชนม์

ผมมีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่ง พระอาการประชวรด้วยพระโรคภายในอะไรที่พระองค์ทรงป่วยเสาะแสะอยู่แล้วเป็นสาเหตุให้พระองค์ต้องกราบบังคมลาออกจากราชการไปตากอากาศเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ ซึ่งผมจนปัญญาจริงๆ ที่จะวินิจฉัยพระโรคของพระองค์ เพราะว่าไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่เขียนถึงพระอาการ (Symptom) และพระอาการแสดง (Sign) ของพระองค์เลย

แต่อย่างน้อยหลักฐานนี้บอกเราว่า ในขณะนั้นพระองค์ไม่ได้ทรงแข็งแรงเหมือนในอดีตก่อนหน้านั้นอย่างแน่นอน ซึ่งช่วยทำให้เราเชื่อได้ว่าพระองค์น่าจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายแม้ว่าพระองค์ยังทรงหนุ่มอยู่

ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่มักพบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 64 ปี ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ เบาหวาน ไตทำงานผิดปกติ โรคเลือด (Hemoglobinopathies) เช่น โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia) และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunosuppression) [9]

สรุป

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงมีพระโรคเดิมอยู่แล้วที่ทำให้ทรงลาออกจากราชการไปพักผ่อน

ต่อมาประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคที่รุนแรง อันเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

[1] อัจฉรา ทองรอด. ทหารเรือ หมอยา คาถา ศิลปิน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิราชสกุลอาภากร ใน พลเรือเอก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, 2557.

[2] ศรัณย์ ทองปาน. เสด็จเตี่ย “เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น”. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2549.

[3] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. “พระประวัติ พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์,” ใน จดหมายเหตุเรื่อง เซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๙๓. พิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2466.

[4] เอกชัย โควาวิสารัช. “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีทิวงคตของ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 35 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2557).

[5] สวัสดิ์ จันทนี, น.อ. นิทานชาวไร่ เล่ม 9. พิมพ์ครั้งแรก. พระนคร : ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์, 2515.

[6] กรีฑา พรรธนะแพทย์, พล.ร.ต. “19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์,” ใน คิดถึงพ่อ. พิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก สมารมภ์ บุนนาค. กรุงเทพฯ : พันกร ครีเอชั่น, 2546.

[7] Hayden FG. Influenza. In : Goldman L, Ausiello D, editors. Cecil Textbook of Medicine. 22nd ed. Philadelphia : Saunders, 2004, pp. 1974-1978.

[8] Treanor JJ. Influenza viruses, including avian influenza and swine influenza. In : Mandell GL, Bennett JE, Dolin R, editors. Mandell, Douglas and Bennett’s Principles and Practice of Infections Diseases. 7th ed. Philadelphia : Churchill Livingstone Elsevier, 2010, pp. 2265-2288.

[9] Roos KL, Tyler KL. Meningitis, encephalitis, brain abscess, and empyema. In : Longo DL, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Jameson JL, Loscalzo JL, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 18th ed. New York : Mc Graw Hill Medical, 2012, pp. 3410-3434.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2562