เผยแพร่ |
---|
พระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ มีหลากหลายแง่มุมทั้งในเชิงพระกรณียกิจ และพระประวัติในเชิงเกร็ดตำนาน ซึ่งต้องยอมรับว่า ประชาชนทั่วไปสนใจทั้งสองแง่มุม แต่จากมุมมองของบางท่านอาจเห็นว่า คนสนใจท่านในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นทั้งทหารเรือและเจ้านายผู้ใหญ่ที่มีพระกรณียกิจหลากหลายด้านทั้งในกองทัพ และในแง่การแพทย์ในช่วงที่ทรงเป็น “หมอพร” นอกจากพระปรีชาสามารถแล้ว พระประวัติความเป็นมายังมีมิติอื่นร่วมอยู่ด้วย โดยเฉพาะแง่ตำนานอภินิหาร ดังที่ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร “หลานปู่” ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เคยเอ่ยถึงเสด็จปู่ เมื่อครั้งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ เพื่อเขียนหนังสือเรื่อง “หลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ”
เมื่อพิจารณาจากชื่อหนังสือแล้ว อาจพอจินตนาการได้ว่า คำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระองค์ไม่แพ้เรื่องราวแง่มุมพระปรีชาสามารถ และพระกรณียกิจ
ประเด็นนี้เคยมีผู้ศึกษาพระประวัติตั้งเป็นโจทย์ในการค้นหาที่มาความเป็นไปอันนำมาสู่พระประวัติและคำบอกเล่าในส่วนที่เชื่อมโยงกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระองค์ ผู้ที่ศึกษาแง่มุมนี้ยังมีศรัณย์ ทองปาน นักเขียนและผู้เขียนหนังสือ “เสด็จเตี่ย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” หนังสือพระประวัติอีกเล่มที่รวบรวมแง่มุมมต่างๆ และมีเนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของพระประวัติในแง่มุมเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ในเวลาต่อมา
ศรัณย์ ทองปาน สืบค้นความได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2496 นาวาตรีหลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) อดีตนายทหารในวัยเกือบ 70 ปี ผู้ใกล้ชิดกรมหลวงชุมพรฯ เขียนจดหมายมาถึงกองบรรณาธิการของ “นาวิกศาสตร์” นิตยสารภายในของกองทัพเรือ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ
ศรัณย์ ทองปาน บรรยายว่า เนื้อหาในเรื่องเล่าผ่านจดหมายเหล่านี้มีสัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อยู่ด้วย โดยใช้คำเรียกพระองค์ว่า “เจ้าพ่อ” เรื่องหนึ่งที่มักถูกอ้างอิงกันคือการพบกันกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาทเป็นครั้งแรก เนื้อหาระบุแค่เดือน ไม่บอกปีที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2447 มีใจความว่า
“เดือน 5 หน้าร้อน เจ้าพ่อเสด็จประพาสตากอากาศไปทางเหนือ มีเรือกลไฟ 1 ลํา จูงเรือพระประเทียบที่ประทับ ได้ไปจอดหุงข้าวต้มแกงที่ศาลาวัดมะขามเฒ่า ในวันนั้นบังเอิญท่านอาจารย์วัดมะขามเฒ่าใช้เด็กวัดไปตัดหญ้าที่ดงต้นกล้วยๆ ที่ออกปลีที่แก่แล้วมี 7-8 ต้น เด็กวัดก็ตัดหัวปลีกล้วยมากองไว้ พอตกเวลาบ่ายท่านอาจารย์ก็ลงมาจากกุฏิดูเด็กที่ตัดกล้วยแล้วไปนั่งอยู่ที่กองหัวปลีกล้วย ท่านเอาหัวปลีที่กองอยู่นั้นมาลูบๆ คลําๆ สักครู่หนึ่งก็วางหัวปลีลงที่ดิน หัวปลีนั้นก็กลายเป็นกระต่ายวิ่งเพ่นพ่านไปหมด
เจ้าพ่อเห็นเข้าก็เรียกคนในเรือให้มองดู อีกสักครู่หนึ่ง ท่านก็เรียกกระต่ายที่วิ่งอยู่นั้นมาที่ท่านๆ ก็จับ กระต่ายๆ ก็กลับกลายเป็นหัวปลีไปอย่างเดิม เมื่อเจ้าพ่อเห็นดังนั้นก็เลื่อมใสนับถือท่านอาจารย์วัดมะขามเฒ่าทันที แล้วเจ้าพ่อก็เสด็จขึ้นไปหาอาจารย์ที่ดงต้นกล้วย พร้อมด้วยบริวาร 3 คน คุยกันอยู่สักครู่ใหญ่ ท่านอาจารย์ก็เชิญขึ้นไปคุยกันที่กุฏิ คุยกันไปคุยกันมา เจ้าพ่อก็พอพระทัย ประมาณ 4-5 ทุ่มจึงได้เสด็จกลับลงมาประทับเรือ ทางฝ่ายท่านอาจารย์ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นใคร รุ่งขึ้นจึงให้คนไปสืบถามพวกที่มากับเจ้าพ่อ จึงได้รู้ความว่านี่แหละ พระองค์เจ้าอาภากรฯ ลูกในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อท่านอาจารย์ทราบดังนั้นก็พอใจมาก”
อย่างไรก็ตาม เมื่อศรัณย์ สืบค้นการบอกเล่าจากอีกแหล่งคือเรื่องเล่าโดยหม่อมเจ้าหญิงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา ซึ่งศรัณย์ แสดงความคิดเห็นว่า มีแนวโน้มจะอยู่ในเหตุการณ์ด้วย รายละเอียดกลับแตกต่างกันพอสมควร ข้อความส่วนหนึ่งจากเรื่องเล่าของท่านหญิงมีว่า
“เสด็จพ่อทรงโปรดเสด็จประพาสทางแม่น้ำ มีเรือไปสองลํา หน้าร้อนเดือน 5 ทรงมีเรือยนต์ลากจูงเรือเครื่องแวะไปเรื่อยๆ ทางเหนือ จนถึงวัดหนึ่ง ชื่อวัดมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท มีแพที่หน้าวัดจอดใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มดี มีเด็กลูกวัด พระเณรออกมาดูเมื่อเรือเข้าไปจอด แพก็น่านั่งเล่น เอาไม้ไผ่ผูกเป็นแพ มีหลังคากันฝนกันแดดด้วย เราก็ลงอาบน้ำอาบท่ากันสบาย ขออนุญาตพระเอาเรือเข้าไปจอด รับประทานอาหารกลางวัน ลูกศิษย์ลงมาถางหญ้าตัดกล้วย ตัดหัวปลีกองไว้
หม่อมๆ ถามว่าตัดไปทําอะไร เด็กก็บอกเอาไปกินบ้างก็ได้ เราหยิบมา 2 หัวมาต้มแกง และจิ้มน้ำพริก เด็กก็เล่าให้ฟัง ท่านอาจารย์ที่วัดชื่อ “ศุข” เป็น “พระครูวิมลคุณากร” หลวงพ่อใจดีและมีวิชาอาคมขลัง พอดีท่านอาจารย์เดินลงมา เสด็จพ่อก็ขึ้นไปนมัสการ ท่านก็เลยเชิญให้ประทับคุยกันที่แพ รู้สึกโปรดอัธยาสัย คุยกันจนเย็น ท่านเชิญให้เสด็จไปที่กุฏิ เสด็จพ่อขอผลัดเป็นวันรุ่งเกรงใจท่านเพราะเย็นมากแล้ว
พอท่านอาจารย์ขึ้นไปแล้ว เด็กๆ ลงมาเล่าว่าหลวงพ่อเก่งต่างๆ มีวิชาอาคมขลัง มีอภินิหารอยู่ยงคงกระพันชาตรี ฯลฯ เสด็จพ่อสนพระทัย พอเช้ารุ่งขึ้นท่านลงมาเชิญเสด็จเอง เสด็จไปคุยกับหลวงพ่อจนบ่าย ลูกๆ จึงขึ้นไปเชิญเสด็จเสวยกลางวัน หลวงพ่อก็ลืมฉันเพล ตั้งแต่วันนั้นมา เสด็จพ่อไปคุยและขอเป็นลูกศิษย์เรียนวิชาอาคมเกือบทุกวัน…”
ศรัณย์ ตั้งสมมติฐานว่า เกร็ดพระประวัติฉบับของคุณหลวงรักษาราชทรัพย์น่าจะตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่านเอง เมื่อ พ.ศ. 2499 หน้าปกเขียนชื่อว่า “เกียรติประวัติ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เวทย์มนตร์ ตำรายาจากคัมภีร์ของ (เจ้าพ่อ)” และตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเมื่อกองประวัติศาสตร์กรมยุทธการทหารเรือ คัดมารวมพิมพ์ในหนังสือ “อนุสรณ์เปิดกระโจมไฟชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ที่ชลบุรี เมื่อพ.ศ. 2503 ซึ่งเชื่อว่า ได้กลายเป็นต้นแบบของพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ กลุ่มปาฏิหาริย์ในภายหลัง
ในเกร็ดพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ไม่เพียงมีนามพระภิกษุแค่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า แต่ยังมีพระภิกษุที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงนับถืออีกจำนวนหนึ่ง อาทิ หลวงพ่อพริ้ง วัดบางประกอก และยังมีพระเกจิที่มีนามเกี่ยวข้องกับกรมหลวงชุมพรฯ อีกจำนวนมาก เรื่องราวของกรมหลวงชุมพรฯ ที่เกี่ยวกับพระเกจิ มักดำเนินไปในลักษณะคล้ายกัน คือ เสด็จเตี่ย สนใจในวิชา และทรงยอมรับนับถือในวิชาของพระภิกษุ
ความเกี่ยวข้องระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ กับพระเกจิ (ที่มีชื่อเรื่องวิชาอาคม) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่ส่งเสริมกิตติศัพท์คำเล่าลือเรื่องความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ แต่ท่ามกลางเรื่องเล่า ย่อมมีที่มาที่ไปบางส่วนมาจากพระจริยวัตรส่วนพระองค์ที่ทรงมีพระเมตตาต่อบุคคลทุกหมู่ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระองค์ไม่เพียงชนะใจนักเรียนที่เป็นกลุ่มนักเลงในยุคต้นของกองทัพเรือได้ พระองค์ยังมีพระเมตตาต่อคนทั่วไป ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ว่า
“ไม่ว่าใครที่บรรดากรมหลวงชุมพรฯ ได้คบหาสมาคม จะเป็นพระก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม เจ้าก็ตาม ไพร่ก็ตาม คงมีใจรักใคร่ไม่เลือกหน้า…”
คลิกอ่านเพิ่มเติม : สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ วิเคราะห์ผ่านการแพทย์สมัยใหม่
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไมทหารเรือรักกรมหลวงชุมพรฯ เผยพระจริยวัตร-สยบ “นักเลง” สมานรอยร้าวระหว่างรุ่น
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ห้วงสุดท้ายก่อนกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์ ทรงประชวรแต่ยังต้องรักษาน้ำใจชาวบ้าน
อ้างอิง:
กองประวัติศาตร์ กรมยุทธการทหารเรือ. พระประวัติ นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. หนังสือที่ระลึกในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, 2542
ศรัณย์ ทองปาน. เสด็จเตี่ย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562