พบ “ช็อกโกแลต 118 ปี” ฟื้นเหตุควีนวิกตอเรียขู่ บ.ช็อกโกแลตชื่อดัง ผลิตแจกทหาร

ช็อกโกแลตอายุ 118 ปี ควีนวิกตอเรีย
กล่องช็อกโกแลตอายุ 118 ปี ทำลายนูนเป็นรูปสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=HJRbhya08zY)

พบ “ช็อกโกแลต 118 ปี” ฟื้นเหตุ ควีนวิกตอเรีย ขู่ บ.ช็อกโกแลตชื่อดัง ผลิตแจกทหาร

หลายปีก่อน โดยเฉพาะปี 2018 มีข่าวดังที่มี “ช็อกโกแลต” เป็นเหตุอยู่หลายข่าวทีเดียว อาทิ ข่าวการปิดถนนในเยอรมนี ด้วยเหตุว่าช็อกโกแลตเหลวในถังเก็บของโรงงานไหลหกออกมาเคลือบแข็งอยู่บนท้องถนน ทำให้เจ้าหน้าต้องเตรียมทั้งเครื่องพ่นไฟ น้ำร้อน และพลั่วมาช่วยกันกู้ถนนสะอาด ๆ คืน

นอกจากนี้ในช่วงกลางปีก็ยังมีข่าวการค้นพบช็อกโกแลตที่มีอายุเก่าแก่ถึง 103 ปี ของนายทหารชาวอังกฤษที่ร่วมรบในสงครามครั้งที่ 1 โดยช็อกโกแลตอายุเกินศตวรรษดังกล่าวนี้ท้ายที่สุดก็ถูกประมูลไปในมูลค่ากว่า 3,000 ปอนด์ หรือมากกว่า 120,000 บาท กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับช็อกโกแลตในปีนั้นที่ดูจะสร้างรสชาติ “เผ็ดร้อน” มากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของ “ช็อกโกแลตอายุ 118 ปี” ที่ข่าวจากหลายสำนักถึงกับกล่าวว่าน่าจะเป็นช็อกโกแลตที่สร้าง “ข้อโต้แย้ง” ให้กับผู้คนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ช็อกโกแลตอายุ 118 ปีนี้เป็นช็อกโกแลตแท่งบรรจุในกล่องดีบุกที่ผลิตโดยบริษััท Hudson Scott and Sons บริษัทผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ชื่อดังในเมืองคาร์ไลล์ (Carlisle) ประเทศอังกฤษ

เรื่องความเก่าแก่ของช็อกโกแลตก็ถือว่าน่าสนใจ แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหลักของเรื่องนี้อยู่ที่ที่มาของช็อกโกแลตซึ่งย้อนกลับไปในช่วงที่กองทัพอังกฤษกำลังสู้รบใน “สงครามบัวร์ครั้งที่ 1” หรือสงครามการต่อสู้ระหว่างอังกฤษและชาวบัวร์ในบริเวณที่เป็นประเทศแอฟริกาใต้ในปัจจุบัน

ในระหว่างที่สงครามครั้งนี้กำลังดำเนินไปอยู่นั้น ควีนวิกตอเรีย หรือ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรทรงทราบข่าวว่าอังกฤษกำลังเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการสู้รบ จึงมีพระราชประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือเหล่าทหารทางด้านของกำลังใจ โดยได้มีพระราชดำริในการจัดซื้อช็อกโกแลตยี่ห้อดังของประเทศเพื่อนำไปแจกให้กับทหารทุกคนที่กำลังสู้รบอยู่ในสงคราม

แต่ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตชั้นนำในเมืองผู้ดีทั้งหลายต่างก็เป็นพวก “เควกเกอร์ (Quaker)” หรือกลุ่มสันตินิยมผู้ต่อต้านสงครามและความรุนแรงรวมไปถึงปฏิเสธที่จะรับผลประโยชน์ใด ๆ ที่ก่อเกิดมาจากความรุนแรง และแน่นอนว่ากลุ่มเควกเกอร์ย่อมไม่เห็นด้วยกับการสู้รบในสงครามบัวร์ของอังกฤษครั้งนี้

แต่เชื่อหรือไม่ว่าบริษัทกลับยินยอมที่จะผลิตช็อกโกแลตเพื่อส่งไปให้กำลังใจทหาร…เพราะอะไร?

คำตอบก็คือ ควีนวิกตอเรียทรงตระหนักถึงประเด็นที่บริษัทผลิตช็อกโกแลตไม่สนับสนุนการสงครามใด ๆ จึงได้รับสั่งพร้อมกำชับว่าหากไม่ทำตามพระประสงค์แล้ว ชื่อเสียงของบริษัทก็เสี่ยงจะอยู่ในอันตรายได้ บริษัทต่าง ๆ ได้ยินดังนั้นก็ต้องยอมจำนนทำตาม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการคงจุดยืนความเป็นสันตินิยมเอาไว้ จึงได้ยอมผลิตช็อกโกแลตเพื่อบริจาคแทนที่จะขายเอากำไร

ทว่าปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะช็อกโกแลตที่ผลิตออกมานั้นไม่มีการติดโลโก้แสดงยี่ห้อลงในส่วนใดเลย ทำให้พระราชินีทรงไม่พอพระทัย เนื่องจากพระองค์มีพระประสงค์ให้ทหารรู้ว่าพวกเขาได้รับช็อกโกแลตยี่ห้อดีและดังที่สุดของประเทศ ไม่ใช่ช็อกโกแลตโนเนมไร้ยี่ห้อ ด้วยพระประสงค์ดังนี้จึงทำให้บริษัทต้องยอมตามอีกครั้ง และคราวนี้บริษัทได้ตราโลโก้ลงบนตัวช็อกโกแลตแต่ก็ยังไม่ยอมติดโลโก้ลงบนกล่องบรรจุภัณฑ์อยู่ดี หากแต่ว่าพระราชินีก็ทรงยอมรับวิธีการประนีประนอมดังกล่าว

กล่าวกันว่าของขวัญสุดพิเศษชิ้นนี้เป็นที่ถูกใจของเหล่าทหารอย่างยิ่ง บางคนก็ไม่กินช็อกโกแลตที่ได้แต่กลับเก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือส่งกลับไปให้ครอบครัว

ช็อกโกแลตอายุ 118 ปี เป็นของหญิงชาวอังกฤษเจ้าของร้านขายของสะสมและของชำร่วยที่ปิดตัวลงไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เธอได้เห็นข่าวเกี่ยวกับการประมูลช็อกโกแลตอายุ 103 ปี แล้วก็คิดได้ว่าเธอมีช็อกโกแลตที่เก่ากว่า 103 ปี เก็บไว้ในตู้ ตั้งขายอยู่นานแต่ไม่มีใครซื้อ แต่แล้วตอนนี้เมื่อเธอเอามันออกมาจากตู้ นำมันไปสู่สายตาสาธารณะชนพร้อม ๆ กับที่เรื่องราวเบื้องหลังของมันได้ถูกเปิดเผย ช็อกโกแลตกล่องนี้ก็กลายเป็นที่ต้องการและถูกเอาขึ้นแท่นประมูลไปเรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Carlisle tin containing chocolate survives 118 years”. BBC. 13 Dec 2018 <https://www.bbc.com/news/uk-england-cumbria-44757386>

Chaos and the chocolate factory as leak smothers German street”. The Guardian. 13 Dec 2018 <https://www.theguardian.com/world/2018/dec/12/chocolate-factory-leak-smothers-german-street-paving>

WW1 soldier’s 103-year-old chocolate lot fetches £3,000”. BBC. 13 Dec 2018 <https://www.bbc.com/news/uk-england-leicestershire-44385043>

Wood, Alex.The chocolate that is 118 years past its sell-by-date – but could still fetch £300. The Yorkshire Post. 13 Dec 2018. <https://www.yorkshirepost.co.uk/news/the-chocolate-that-is-118-years-past-its-sell-by-date-but-could-still-fetch-300-1-9238871>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2561