ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อ “เจียงไคเช็ค” ขึ้นเป็นผู้นำ “พรรคก๊กมินตั๋ง” และผู้นำรัฐบาลจีนคณะชาติ (บ้างเรียกรัฐบาลคณะชาติ) ที่สามารถรวมชาติจีน นับแต่ปี 1926-1946 เขากุมอำนาจทางการเมืองในพรรคได้เพียงผู้เดียว โดยไม่มีผู้ใดคุกคามได้เลย แต่การที่ให้กลุ่มอิทธิพลเครือญาติ 4 ตระกูลอิทธิพลใหญ่ เจียง-ซ่ง-ข่ง-เฉิน มีอำนาจอยู่ภายใน “พรรคก๊กมินตั๋ง” ทำให้การบริหารล้มเหลว จนนำไปสู่ความพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในที่สุด
ผู้มีอำนาจกลุ่มอิทธิพลเครือญาติ 4 ตระกูล ได้แก่
เจียง-ตระกูลของเจียงไคเช็ค ตัวเขาเองดำรงตำแหน่งต่างๆ มากมาย เช่น เป็นหัวหน้าบริหารของพรรคก๊กมินตั๋ง, ประธานรัฐบาลแห่งชาติ, ประธานสภาทหารแห่งชาติ, ผู้บัญชาการกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ประธานสภาป้องกันสูงสุดแห่งชาติ, ผู้อำนวยการคณะกรรมการวางแผน, ผู้อำนวยการสมาคมขบวนการชีวิตใหม่ ฯลฯ
ซ่ง ตระกูลของ ชาร์ลีซ่ง บิดา 3 สาวตระกูลซ่งผู้มีชื่อเสียง (ซ่งอ้ายหลิง-ภรรยาข่งเสียงซี, ซ่งชิงหลิง-ภรรยาซุนยัตเซ็น และซ่งเหม่ยหลิง-ภรรยาเจียงไคเช็ค) ซ่งจื่อเหวิน-น้องชายภรรยาเจียงไคเช็ค ดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลเจียงไคเช็ค
ข่ง ตระกูลของข่งเสียงซี-สามีของซ่งอ้ายหลิง (พี่สาวของซ่งเหม่ยหลิง) ดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา นายธนาคารใหญ่ และผู้มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเวลานั้น
เฉิน เป็นตระกูลของ 2 พี่น้อง เฉินกัวฟู และเฉินลิฟู หลานของเจียงไคเช็ค ซึ่งเป็นหัวหน้า “กลุ่ม ซี.ซี.” กลุ่มอิทธิพลที่หนังสือพิมพ์ตะวันตกกล่าวขาน เจียงมอบหมายให้มีอำนาจควบคุมหน่วยจัดตั้งองค์กรของพรรค, สถานศึกษา, สันนิบาตเยาวชน, สหภาพแรงงาน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองเบื้องหลังอย่าง ไต้ลี่ หัวหน้าตำรวจลับของเจียง ผู้เปรียบเสมือน ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ของฮิตเลอร์ เพราะมีกองกำลังบลูเชิ้ต (ทำนองเดียวกับพลพรรคนาซีของฮิตเลอร์) หรือตำรวจลับเสื้อฟ้า อยู่ในบังคับบัญชาถึง 600,000 คน รวมทั้งสายลับอันตราย สำหรับผู้ที่คัดค้าน หรือเห็นต่างกับเจียงไคเช็คตลอดจนเรียกร้องประชาธิปไตยอีก 100,000 คน
ภายใต้การควบคุมของผู้นำทั้ง 4 ตระกูลแซ่ รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยามสงครามเพียงวิธีเดียวคือ พิมพ์ธนบัตรออกมาแบบไม่ยั้ง ยังผลให้เงินเฟ้อยิ่งขึ้นทุกที ตัวเลขตามตารางที่ 1 แสดงให้ถึงความหายนะที่รออยู่ในอนาคตอันใกล้
ในเวลานั้นประเทศจีนต้องทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นเป็นเวลา 8 ปี จำนวนธนบัตรที่หมุนเวียนในท้องตลาดเพิ่มขึ้นถึงกว่า 500 เท่า ในขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 2,500 เท่า ท่ามกลางความอดอยากยากแค้นและทุกข์ทรมานของประชาชนจีนส่วนใหญ่ (ยังไม่พูดถึงทุพภิกขภัย) เงินเฟ้อกลับสร้างความมั่งคั่งให้แก่หัวหน้าของ 4 มหาตระกูล “เจียง, ซ่ง, ข่ง และเฉิน”
นอกจากการควบคุมการเงินของจีนทั้งประเทศผ่านทางธนาคารต่างๆ ของรัฐแล้ว 4 ตระกูลนี้ยังผูกขาดพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยการกดราคาผลิตผลการเกษตรของชาวนาอย่าง ฝ้าย, ใบชา, ใบยาสูบ ฯลฯ ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ ขณะเดียวกันก็ขึ้นราคาสินค้าบริโภคประจำวันที่จำเป็นคือ เกลือ, น้ำตาล, สบู่และไม้ขีดไฟ ทั้ง 4 ตระกูล ยังควบคุมสินค้าออกของจีนอย่างถ่านหิน, ทังสเตน และพลวง รวมทั้งสินค้าเข้าอย่างรถยนต์, เครื่องจักรและอุปกรณ์ นั่นทำให้สามารถควบคุมกลุ่มทุนที่จะเข้ามาลงทุนในจีนถึง 70% ของทั้งหมด
พฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรกับ “ปล้นสะดม” เพียงแต่คนที่ทำไม่ใช่โจร และไม่ผิดกฎหมาย
ปี 1941 ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น จนรัฐบาลเองก็ไม่เชื่อในค่าของเงินที่ตนพิมพ์ออกมาในรูปธนบัตร จึงกำหนดการเก็บภาษีเป็นผลิตผลที่ผลิตได้แทน โดยชาวนาผู้ผลิตจะต้องจ่ายผลิตผลของตนเป็นภาษีแก่รัฐบาลถึง 50% ธนาคารเกษตรกลางที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเกษตรกรทางการเงินหรือสินเชื่อ กลับร่วมมือกับนายทุนเงินกู้ในหมู่บ้านต่างๆ เข้ายึดเอาที่ดินติดจำนองธนาคารของชาวนาที่ค้างชำระเงินกู้กัน
เฉินปอต้า ผู้เขียน หนังสือสี่มหาตระกูล – เจียง ซ่ง ข่ง เฉิน เปิดเผยข้อเท็จจริงเบื้องหลังการเผด็จอำนาจทางการเมืองของ “เจียงไคเช็ค” แล้วเข้ายึดธนาคารใหญ่ๆ ทำการผันเงินเข้ากระเป๋าของตนและภรรยา รวมทั้งเครือญาติว่า เงินทั้งหมดที่ 4 ตระกูลฉ้อโกงไปจากจีน เป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
อ่านเพิ่มเติม :
- 3 สาวพี่น้องตระกูลซ่ง กับฉายาผู้รักเงิน รักชาติ และรักอำนาจ
- บันทึกสนทนา ปรีดี-เจียง ไคเชก เผยข้อมูล จอมพล ป. ร้อนใจอยากร่วมมือกับจีนรบญี่ปุ่น?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กุมภาพันธ์ 2547
ทิพย์สุดา ปิยะพันธ์. บทบาททางการเมืองของพรรคกั๋วหมินตั่งก่อนการเลือกตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1912-1949, สารนิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พฤษภาคม 2551
สิทธิพล เครือรัฐติกาล. ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่, สำนักพิมพ์ชวนอ่าน, ตุลาคม 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2564