ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ณ ทำเนียบประธานาธิบดีจีน กรุงนานกิง, “ปรีดี พนมยงค์” รัฐบุรุษอาวุโส เข้าพบ “เจียง ไคเชก” ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน ในคราวที่คณะทูตสันถวไมตรีของไทยเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ
การเข้าพบครั้งนั้น ฝ่านจีนประกอบด้วย ประธานาธิบดี เจียง ไคเชก (Chiang Kai-shek) และดอกเตอร์ ที.วี.ซุง (T. V. Soong) ประธานสภาบริหาร (นายกรัฐมนตรี) และฝ่ายไทยประกอบด้วย ปรีดี พนมยงค์ และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เลขาธิการชั่วคราวของรัฐบุรุษอาวุโส
ในช่วงเวลานั้น สาธารณรัฐจีนยังเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เป็น 1 ใน 5 ชาติสมาชิกในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองโลก ส่วนสถานการณ์การสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ถึงช่วงแตกหัก ขณะที่ไทยพึ่งผ่านสถานการณ์การเมืองอันร้อนแรงจากกรณีสวรรคต แม้ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญในรัฐบาล โดยมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ประเด็นในการพูดคุยครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ และเป็นการทำความเข้าใจร่วมกันในกรณีของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ซึ่งเจียงดูให้น้ำหนักกับเรื่องนี้อย่างมากตลอดระยะเวลาการสนทนา และดูเหมือนว่า เจียงจะไม่ค่อยพอใจการกระทำของจอมพล ป. ในช่วงสงครามเท่าใดนัก
สมาชิกสหประชาชาติ
เจียงเริ่มต้นการสนทนาโดยกล่าวขอบคุณปรีดีและขบวนการเสรีไทยที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับจีนต่อต้านญี่ปุ่น และได้ช่วยเหลือชาวจีนในประเทศไทยที่ถูกกดขี่จากรัฐบาลจอมพล ป. ขณะที่ปรีดีได้กล่่าวขอบคุณเจียงเช่นเดียวกัน และได้ฝากเรื่องสำคัญจากรัฐบาลไทยถึงรัฐบาลจีน คือการขอเสียงสนับสนุนจากจีนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN)
เจียงกล่าวว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ แต่เป็นกังวลว่าสมาชิกในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีก 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพโซเวียต และฝรั่งเศสนั้นจะสนับสนุนประเทศไทยหรือไม่
ปรีดีแจ้งให้เจียงทราบว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้การสนับสนุนไทยแล้ว แต่สหภาพโซเวียตและฝรั่งเศสนั้น ตนกำลังจะเดินทางไปพบผู้แทนของทั้งสองประเทศที่สหรัฐอเมริกา เพื่อทำความเข้าใจให้ทราบว่าทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และอังกฤษต่างก็สนับสนุนประเทศไทย
เจียงจึงแนะนำปรีดีเพิ่มเติมว่า “…รัฐบาลจีนได้แจ้งสัมพันธมิตรมาตั้งแต่ต้นสงครามแล้วว่า รัฐบาลจีนรับรองขบวนการต่อต้านในประเทศไทย จึงไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู รัฐบาลจีนถือว่าพิบูลฯ เท่านั้นเป็นศัตรู และเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว รัฐบาลจีนก็เห็นพ้องด้วยกับอเมริกาและอังกฤษ ที่อนุญาตให้เมาท์แบตแตนส่งโทรเลขด่วนไปยังท่านปรีดีฯ ให้บอกเลิกประกาศสงครามที่พิบูลฯ ทำไว้กับอังกฤษและอเมริกาและก่อสถานะสงครามกับจีน จึงไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม เพราะขบวนการต่อต้านหรือเสรีไทยได้มีอุปการะคุณแก่สัมพันธมิตร”
ซึ่งเจียงรับว่าจะสั่งให้ผู้แทนในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงคะแนนให้ไทย และสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่
อาชญากรสงคราม
ในการสนทนาครั้งนี้ รัฐบาลจีนได้เตรียม “แฟ้ม” ข้อมูลของจอมพล ป. มาเป็นพิเศษ ข้อมูลในนั้นเกี่ยวข้องกับนโยบายของจอมพล ป. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีหลายเรื่องทำให้เจียงไม่พอใจ เช่น
ระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) จอมพล ป. กระจายเสียงวิทยุประกาศยกย่องญี่ปุ่นแล้วชวนประธานาธิบดีจีนให้ร่วมมือกับญี่ปุ่นต่อสู้กับสัมพันธมิตร ซึ่งเจียงคิดว่าเป็นเรื่องหมิ่นประมาทจีนอย่างร้ายแรงที่ชวนให้จีนก้มหัวต่อญี่ปุ่น
เจียงกล่าวว่า “พิบูลฯ หยามหน้าชาติจีนมากนักที่รับรองรัฐบาลแมนจูกั๊วะและรัฐบาลวังจิงไว (วาง จิงเว่ย แปรพักตร์จากพรรคก๊กมินตั๋งไปร่วมกับญี่ปุ่นตั้งรัฐบาลที่นานกิงหลังเจียงย้ายเมืองหลวงออกจากนานกิงแล้ว – ผู้เขียน) ที่ทรยศต่อชาติจีน…”
เจียงจึงถามปรีดีว่า เหตุใดรัฐบาลไทยจึงปล่อยตัวจอมพล ป. ทั้งที่เป็นอาชญากรสงคราม
ปรีดีตอบว่า รัฐบาลไม่ได้ปล่อย แต่ศาลฎีกาเป็นผู้ตัดสินปล่อย โดยวินิจฉัยว่ากฎหมายอาชญากรสงครามเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนต้องการนำตัวจอมพล ป. มาดำเนินคดีในฐานะอาชญากรสงครามให้ได้ โดยอ้างถึงข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1947 ที่มีภาคผนวกต่อท้ายข้อตกลง (Annex) ว่า “…หัวข้อที่ต้องทำความตกลงกับผู้บังคับบัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตร ในเรื่องที่ต้องทำความพอใจให้บริเตนใหญ่และอินเดีย 4. ‘จะร่วมมือในการจับกุมและชำระบุคคลที่ต้องหาว่าได้กระทำอาชญากรสงครามหรือขึ้นชื่อว่าให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นกิจการแก่ญี่ปุ่น’ “
เจียงกล่าวว่า “…เมื่อรัฐบาลไทยจัดการจับกุมและชำระจอมพลพิบูลฯ ได้เอง รัฐบาลจีนจึงไม่ติดใจ แต่พิบูลฯ ได้รับการปล่อยตัว จึงขอให้ท่านปรีดีฯ แจ้งรัฐบาลไทยว่าจะดำเนินการจับพิบูลฯ มาชำระตาม Annex ดังกล่าว เพราะถ้ารัฐบาลไทยทำไม่ได้จะมอบให้รัฐบาลจีนจัดการได้หรือไม่”
ปรีดีตอบว่า “รัฐบาลไทยได้ซื่อสัตย์ตามหลักกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่ศาลฎีกาเป็นผู้ตัดสินปล่อยตัวจอมพลพิบูลฯ คือ ศาลฎีกาได้สืบพยานโจทก์ในข้อเท็จจริงมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยไม่ตัดสินข้อกฎหมายก่อนว่ากฎหมายอาชญากรสงครามเป็นโมฆะ แต่ครั้นรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ลาออกในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1946 แล้ว ก่อนที่ท่านปรีดีฯ รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 เดือนนั้น เป็นระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลประจำ ศาลฎีกาก็ตัดสินด่วนเมื่อวันที่ 23 เดือนนั้น วินิจฉัยข้อกฎหมายอย่างเดียวว่ากฎหมายอาชญากรสงครามเป็นโมฆะ ถ้าศาลฎีกาตัดสินข้อกฎหมายก่อนตั้งแต่โจทก์ฟ้องจอมพลพิบูลฯ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1946 แล้ว ศาลฎีกาก็ไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาพยานโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นเวลาอีกหลายเดือน
ข้าพเจ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เพียง 5 เดือนเศษ ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ ๆ หลายอย่างจนไม่มีเวลาพอที่จะจัดการอย่างใดกับอาชญากรสงครามตามข้อตกลงระหว่างประเทศได้ ส่วนรัฐบาลธำรงฯ ซึ่งรับหน้าที่ต่อจากข้าพเจ้านั้น จะพิจารณาอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบ เพราะรัฐบาลใหม่ไม่บอกให้ทราบก่อนที่ข้าพเจ้าจะเดินทางมากรุงนานกิง”
เป็นอันว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ตัวจอมพล ป. ไปดำเนินคดีอาชญากรสงครามตามที่มุ่งหวังไว้
จอมพล ป. และเพชรบูรณ์
แต่เรื่องของจอมพล ป. ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ปรีดีบอกเจียงถึง “ข่าว” ในกองทหารหลายหน่วยของไทยว่า จอมพล ป. เคยให้นายทหารไทยที่ชายแดนติดต่อกับนายทหารจีน ถึงขั้นว่าจอมพล ป. เคยพูดวิทยุโทรศัพท์ติดต่อกับเจียงมาแล้ว ดังนั้น ปรีดีจึงตั้งข้อสังเกตว่า หากเรื่องนี้เป็นจริง และหากนำตัวจอมพล ป. ไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามของสัมพันธมิตรที่กรุงโตเกียวให้ชำระความ ศาลก็คงต้องปล่อยตัวจอมพล ป. เพราะสามารถอ้างถึงการติดต่อระหว่างจอมพล ป. กับเจียงได้
เจียงหัวเราะพลางส่ายศีรษะและกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูก “ระบายสี” ถูกแต่งเติมขึ้นจากเรื่องจริงบางส่วน จากนั้นจึงได้นำเอกสารจากรายงานของนายทหารจีนที่ชายแดนและคำสั่งประธานาธิบดีจีนมาแสดงต่อปรีดี
ในจดหมายฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 ของนายทหารจีนรายงานว่า นายทหารไทยที่ชายแดนติดต่อมาว่า จอมพล ป. จะถอนตัวเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและจะมาร่วมมือกับจีนรบญี่ปุ่น โดยเจียงได้เขียนข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นในหัวรายงานนั้นว่า
(1) เมื่อเขาเห็นว่าญี่ปุ่นชนะในตอนต้นสงคราม เขาชวนเรา (จีน) ก้มหัวให้ญี่ปุ่น เขาสาบานต่อหน้าพระพุทธรูปว่าจะซื่อสัตย์ต่อญี่ปุ่น เหตุใดยอมผิดคำสาบานนั้น
(2) นายสิบนายร้อยจีนรู้เบื้องต้นว่า การทำสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นแยกกองบัญชาการสูงสุดออกเป็นเขตยุทธภูมิต่าง ๆ ข้าพเจ้า (จอมทัพเจียงฯ) เป็นผู้บัญชาการสูงสุดยุทธภูมิจีน เมาท์แบทแตนเป็นผู้บัญชาการสูงสุดภาคเอเชียอาคเนย์ เหตุใดพิบูลฯ ไม่ติดต่อกับเมาท์แบทแตน
(3) กลยุทธญี่ปุ่นชัด ๆ หวังทำให้สัมพันธมิตรแตกกัน
จดหมายอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1944 นายทหารจีนรายงานว่า ได้รับแจ้งจากนายทหารไทยว่า จอมพล ป. ร้อนใจมากอยากเข้าร่วมกับจีนรบญี่ปุ่น และอ้างว่าจอมพล ป. ได้เตรียมสร้างฐานทัพเพื่อสู้กับญี่ปุ่นไว้ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยนายทหารจีนแสดงความคิดเห็นต่อท้ายรายงานดังกล่าวว่า
(1) เมืองใหม่ที่สร้างด้วยไม้บ้าง ไผ่บ้าง ไม่มีวัสดุก่อสร้างแข็งแรง ถ้าฝนตกหนัก มีลมพัดแรงก็พังทลาย
(2) ราษฎรถูกเกณฑ์ไปสร้างเมืองใหม่ล้มตายมากเพราะไข้จับสั่น ยารักษาโรคไม่พอ ทหารไทยที่เชียงตุงตายมากเพราะขาดยา
(3) กว่าจะสร้างเมืองใหม่สำเร็จต้องใช้เวลาหลายสิบปี ไม่ทันสงครามที่ใกล้สิ้นสุดเข้ามาแล้ว
(4) เพชรบูรณ์ไม่เหมาะเป็นฐานทัพ ถ้าญี่ปุ่นถอยมาทางแม่สอด อีก 3 วันก็ตีเพชรบูรณ์แตก
(5) ทหารไทยทั่วประเทศมีประมาณ 2 แสนคน จะย้ายไปเพชรบูรณ์ได้อย่างมาก 5 หมื่นคน ทหารไทยที่เหลืออยู่ในภาคอื่น ๆ จะต้องถูกญี่ปุ่นทำลาย
และเจียงได้เขียนข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นในหัวรายงานนั้นว่า
(1) เห็นด้วยว่าข้ออ้างฐานทัพเพชรบูรณ์เหลวไหล
(2) สร้างเพชรบูรณ์เพื่อพิบูลฯ เอาตัวรอด เพราะเห็นว่าญี่ปุ่นกำลังจะแพ้หรือเป็นกลยุทธลวงเรา (จีน) ให้ขัดกับเมาท์แบทแตน
(3) ทิ้งบางกอกไปอยู่เพชรบูรณ์ ญี่ปุ่นจะปล้นเอาของดีมีค่าของไทยและของคนจีน ญี่ปุ่นจะยึดภาคกลางอู่ข้าวอู่น้ำ คนไทยและทหารไทยที่ไปอยู่เพชรบูรณ์ก็อดข้าวตาย
(4) จีนไม่ก้าวก่ายยุทธภูมิของเมาท์แบทแตน แต่พิบูลฯ ยั่วจะให้กองทัพจีนเข้าไปในประเทศไทยให้ได้
ดอกเตอร์ ที.วี.ซุง อธิบายถึงกรณีใกล้เคียงกับที่จอมพล ป. กระทำ นั่นก็คือในตอนใกล้สงครามยุติ จักรพรรดิปูยีแห่งแมนจูกัวก็ติดต่อมายังรัฐบาลสาธารณรัฐจีนเพื่อเอาตัวรอดเช่นเดียวกัน และอธิบายว่า การอ้างว่าจอมพล ป. เคยติดต่อมายังรัฐบาลจีนนั้นไม่มีความหมาย เพราะความสำคัญอยู่ที่รัฐบาลจีนว่าจะตกลงเรื่องนั้น ๆ ด้วยหรือไม่
ปรีดีกล่าวขอบคุณที่รัฐบาลจีนได้นำรายงานมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ และถามเจียงว่า จะให้แก้ข่าวเรื่องนี้อย่างไร เจียงถามปรีดีกลับว่า “คนไทยเชื่อข่าวตลกนั้นมากน้อยเพียงใด”, “ข้าพเจ้าไม่เชื่อข่าวตลกนั้น แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งเชื่อเรื่องตลก ๆ” ปรีดีตอบ
เจียงจึงได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การติดต่อกันในยามสงครามนั้นไม่มีชาติใดพูดวิทยุโทรศัพท์ระหว่างกัน เพราะศัตรูสามารถดัดฟังได้ง่าย แม้ทางวิทยุโทรเลขก็ต้องใช้รหัสลับที่ตกลงไว้ก่อนล่วงหน้า แต่ก็ยังอันตรายเพราะสามารถถอดรหัสลับได้ เช่นกรณีสหรัฐอเมริกาดักฟังรหัสลับญี่ปุ่น ทราบว่านายพลยามาโมโตจะเดินทางโดยสารเครื่องบินไปไหน ก็ถอดรหัสสำเร็จ ส่งเครื่องบินไปปลิดชีวิตนายพลญี่ปุ่นได้
“ถ้าพิบูลฯ พูดวิทยุโทรศัพท์กับข้าพเจ้า (ประธานาธิบดีจีน) ญี่ปุ่นก็ต้องดักฟังได้ แล้วก็จะทำลายพิบูลฯ และบางกอกกับเพชรบูรณ์ทันที แม้จะใช้วิทยุโทรเลขติดต่อกันก็ตกลงรหัสกันก่อน แต่ข้าพเจ้า (ประธานาธิบดีจีน) ไม่เคยตกลงรหัสกับพิบูลฯ เลย ข้าพเจ้า (ประธานาธิบดีจีน) จะเชื่อพิบูลฯ ได้อย่างไรว่าจะไม่เอารหัสไปให้ญี่ปุ่น”
สรุปแล้วรัฐบาลไทยในช่วงสงครามพยายามติดต่อไปยังจีนจริง แต่ดูเหมือนว่าจีนจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก เพราะคงไม่อาจเชื่อถือจอมพล ป. ได้เท่าใดนัก และโดยตัวเจียงเองที่ดูไม่พอใจจอมพล ป. เพราะ “ข่มเหงคนจีนไม่ว่าจีนขวาหรือจีนซ้ายตลอดมา ตั้งแต่ก่อนสงครามและข่มเหงหนักขึ้นระหว่างสงคราม” ถึงขั้นที่จะเอาตัวจอมพล ป. มาดำเนินคดีอาชญากรสงครามให้ได้ แม้จะเป็นการแทรกแซงข้อตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษ เรียกง่าย ๆ ว่า หากไทยไม่ทำก็จับตัวมาเดี๋ยวจีนทำเอง
นี่จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามเฮือกท้าย ๆ ของจอมพล ป. ในการ “พลิก” สถานการณ์ให้ตัวเองกลับมา “เป็นต่อ” อีกครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจอะไรเพราะเมื่อต้นสงคราม ไทยก็เคย “พลิก” ไปอยู่ข้างญี่ปุ่น เพราะเห็นทีท่าว่าอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรใหญ่ในภูมิภาคอ่อนแอเต็มที จะแปลกอะไรหากญี่ปุ่นใกล้แพ้สงคราม ไทยก็ “พลิก” กลับไปอยู่ข้างสัมพันธมิตรที่อย่างไรเสียก็จะชนะสงครามอยู่รอมร่อ
อ่านเพิ่มเติม :
- ความโอ้อวดของชาติมหาอำนาจ? เมื่อทหารอังกฤษปฏิบัติการ “ตบตา” ทหารไทย
- ข้อเท็จจริงที่ทำให้ไทย “ไม่แพ้” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เพราะไทย เพราะนโยบายสหรัฐ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นายปรีดี พนมยงค์ เล่าเรื่องขบวนการเสรีไทย. (2527), สำนักพิมพ์จิรวรรณนุสรณ์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2563