เผยแพร่ |
---|
พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ นายทหารคนสำคัญคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ประเทศไทย ท่านมีช่วงชีวิตอยู่ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เขียนบันทึกความทรงจำเหตุการณ์ที่เผชิญมาได้อย่างน่าสนใจ อันสะท้อนให้เห็นภาพประวัติศาสตร์จากอีกแง่มุมหนึ่งที่น้อยคนจะได้ทราบ
พลอากาศเอก ทวี ได้บันทึกช่วงชีวิตก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุว่า เมื่อ พ.ศ. 2484 ในขณะที่ยังมียศเป็น เรืออากาศเอก ผู้บังคับฝูงบินขับไล่ที่ 3 กองบินน้อยที่ 1 ประเทศไทยในขณะนั้น นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทราบข่าวดีว่า ญี่ปุ่นมีแผนยึดอินโดจีนทั้งหมดและอาจรุกไล่ยึดไปถึงคาบสมุทรมลายูของอังกฤษด้วย
รัฐบาลไทยทราบดีว่าญี่ปุ่นได้พยายามส่งทหารนอกเครื่องแบบมาตามจุดต่าง ๆ หากเกิดสงครามแล้วก็จะสวมเครื่องแบบ ติดอาวุธ และยึดจุดสำคัญ ๆ ได้ในทันที รัฐบาลไทยจึงพยายามติดต่อกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเพื่อปรึกษาหารือเรื่องกำลังทหารและขีดความสามารถของทั้งสองประเทศว่าหากเกิดสงครามขึ้นจะช่วยไทยได้อย่างไรบ้าง
ความวิตกกังวลของรัฐบาลไทยนี้ไม่ใช่เรื่องกระต่ายตื่นตูม เนื่องจากมีเค้าลางสงครามอยู่ทุกหนแห่ง พลอากาศเอก ทวี ก็สัมผัสได้ถึง “กลิ่นควันสงคราม” ที่คุกรุ่นขึ้นทั่วทุกมุมโลก แม้แต่ในประเทศไทยก็มี “กลิ่น” มาบ้างแล้ว
โดยเฉพาะวิทยุแห่งประเทศไทยที่มี “นายมั่น-นายคง” ออกวิทยุพูดคุยกันว่า “คนไทยจะทำประการใดถ้าข้าศึกบุกรุกประเทศไทยขึ้นมา” และออกวิทยุกระตุ้นความรักชาติเพื่อสร้างความฮึกเฮิมให้คนไทยหากเกิดสงครามขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งพลอากาศเอก ทวี เชื่อว่าเป็นการสั่งการจากจอมพล ป. ให้ออกวิทยุกระตุ้นประชาชนเช่นนี้
จอมพล ป. จึงได้ติดต่อกับ เซอร์ โยไซร์ ครอสบี้ เอกอัครราชทูตอังกฤษ เมื่อมีการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายนั้นก็พูดถึงขั้นว่า “ถ้าญี่ปุ่นบุกขึ้นไทยแล้วทางอังกฤษจะเข้าทำการช่วยเหลือขัดขวางการบุกทันที”
ฝ่ายอังกฤษมีความมั่นใจในกองทัพของตนเองมาก โดยอ้างว่า “อังกฤษมีกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก” อวดว่าเรือที่มาประจำอยู่ที่สิงคโปร์สองลำคือ เรือ Pince of Wales และ เรือ Repulse ว่าไม่มีอาวุธชนิดไหนจมเรือทั้งสองลำได้ (ใช้คำว่า “Unsinkable”) กองทัพบกก็แข็งแกร่ง มีกองทัพถึง 2 กองทัพ มีกำลังทหารทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย แอฟริกัน โดยเฉพาะทหารหน่วยกูราข่าที่เก่งกาจ ชำนาญปีนป่ายเขาสูง มีมีดขอเป็นอาวุธซึ่งสามารถย่องเข้าไปฆ่าศัตรูได้อย่างเงียบเชียบ
ส่วนกองทัพอากาศอังกฤษก็มีเครื่องบินประจำการจำนวนมากพอที่จะป้องกันทะเลจีนใต้ ไทย มลายู และสิงคโปร์ได้ มีทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลาง Blenheim เครื่องบินขับไล่ Hurricane 2 ฝูง และ Buffalo-Brewster 3 ฝูง รวมถึงเครื่องบินตรวจการและเครื่องบินลำเลียงอีกจำนวนมาก
ทูตทหารของอังกฤษนามว่า นาวาอากาศเอก Bishop บอกกับฝ่ายรัฐบาลไทยว่า “กองทัพอากาศญี่ปุ่นอ่อนแอมาก มีเครื่องบินมากแต่ไม่มีคุณภาพทางด้านการคล่องตัว นักบินก็ยังใหม่ต่อการบินสมัยใหม่ คนญี่ปุ่นส่วนมากใส่แว่นตา สายตาสั้น ดังนั้น จะเป็นนักบินที่ดีไม่ได้ เฉพาะอย่างยิ่งนักบินขับไล่และนักบินโจมตี”
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้จอมพล ป. ถึงกับ “ต้องพิจารณาใช้สมองอย่างหนัก” จนราวบ่ายวันหนึ่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2484 จอมพล ป. จึงออกคำสั่งให้ พันโท หลวงสุรณรงค์ เป็นหัวหน้าคณะและให้พลอากาศเอก ทวี เป็นนายทหารไปติดต่อที่กองบัญชาการทหารอังกฤษที่สิงคโปร์กับจอมพลอากาศ Sir Robert Brook Popham ผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษภาคตะวันออกไกล เพื่อตรวจสอบข้อมูลการทหารที่ทางอังกฤษเคยแจ้งต่อรัฐบาลไทยว่าจริงแท้อย่างนั้นหรือไม่ โดยได้ตั้งสมมติฐานว่าหากญี่ปุ่นบุกประเทศไทยแล้วกองกำลังของอังกฤษจะช่วยเหลือไทยได้เพียงใด
เมื่อเดินทางถึงสิงคโปร์ ได้ปรึกษาหารือระหว่างสองฝ่าย และฝ่ายอังกฤษได้พาคณะทหารไทยเยี่ยมชมสถานที่ทางสำคัญ ๆ ตรวจดูกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ของอังกฤษ ซึ่งพลอากาศเอก ทวี สรุปความเห็นว่า
“อังกฤษยังไม่พร้อมที่จะทำการป้องกันภูมิภาคแถบนี้เลย เครื่องบินต่าง ๆ ที่มีอยู่ล้าสมัย มีจำนวนไม่เพียงพอ อาวุธหนักของกองทัพบกยังมีไม่พอเพียง ดังจะเห็นได้จากการที่ทางกองทัพบกได้นำเอาปืนต่อสู้รถถังของอิตาลีที่จับมาได้มาใช้ในหน่วยทหารบก รถ Bren Gun Carrier มีอยู่เป็นจำนวนหลายร้อยคัน แต่ข้าพเจ้าคิดว่าจะช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะเล็กเกินไปและมีเกราะที่อ่อนแอ”
พลอากาศเอก ทวี ยังบันทึกว่า อังกฤษคิดแต่จะป้องกันแต่เพียงสิงคโปร์เท่านั้น เพราะได้เอาปืนใหญ่ขนาด 8 นิ้วไปตั้งไว้บนเกาะนอกชายฝั่ง และมีเป้าแต่เพียงด้านหน้าทางทะเลเท่านั้น ส่วนด้านหลังคือส่วนแผ่นดินใหญ่ กลับไม่มียุทธศาสตร์การป้องกันมากเท่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายอังกฤษระบุว่าพวกเขาไม่มีความกังวลด้านนั้นเลย เพราะมั่นอกมั่นใจในกองทัพบกของพวกตนมาก และเชื่อมั่นว่าเรือรบ Pince of Wales และ Repulse ที่ได้อวดอ้างไว้ก่อนหน้านั้นจะคอยยิงช่วยสกัดกั้นหากเกิดการสู้รบขึ้น
“ข้าพเจ้าไม่ได้ Comment อะไร แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ความคิดของมหาอำนาจนี้ช่างคิดเข้าข้างตัวเองเหลือเกิน การเป็นมหาอำนาจมานานทำให้เขาพิจารณาเหตุการณ์ผิดไปหมด”
จากนั้นพลอากาศเอก ทวี ได้มาเยี่ยมกองพลทหารราบที่อลอร์สตาร์ บริเวณชายแดนมาลายู-ไทย ได้จัดการสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเป็นการต้อนรับ มียุทโธปกรณ์จำนวนมาก ทั้งอาวุธชนิดต่าง ๆ ยานเกราะ ปืนใหญ่ ปืนต่อสู้อากาศยาน และรถถังขนาดเล็ก ซึ่งได้สวนสนามเป็นเวลานานกว่าชั่วโมงครึ่งก็ยังไม่จบ จนพลอากาศเอก ทวี ที่ยืนรอชมการสวนสนามได้เห็นสิ่งผิดปกติและได้บันทึกไว้ ความว่า
“ขณะกำลังยืนรออยู่นั้น ข้าพเจ้าได้พยายามจำเบอร์รถที่ผ่านไปและปรากฏว่ามีรถถังและ Brengun Carrier ผ่านข้าพเจ้าไปถึงสามครั้ง ข้าพเจ้าก็รู้ว่าทหารอังกฤษเขาต้องการแสดงแสนยานุภาพเพื่อให้เราเห็นว่าอังกฤษยังมีกองกำลังอีกมากมาย แม้ว่าจะต้องทำการรบติดพันอยู่ทางด้านอังกฤษเอง”
หลังจากสวนสนามแล้วเสร็จ ก็มีข่าวว่าญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่เมืองดองแดงในเวียดนามแล้ว พลอากาศเอก ทวี จึงได้มาพูดคุยกับผู้บัญชาการกองพลของฝ่ายอังกฤษในประเด็นดังกล่าวว่า หากอังกฤษมีกองทัพที่เกรียงไกรและแข็งแกร่ง ญี่ปุ่นคงไม่กล้ารุกคืบมาอย่างแน่นอน และอาจหยุดแต่เพียงการยึดที่อินโดจีนเท่านั้น พลอากาศเอก ทวีจำต้องพูดอย่างเป็นไมตรี แต่ความเป็นจริงนั้น…
“ข้าพเจ้าพูดออกไปทั้ง ๆ ที่รู้อยู่อย่างเต็มที่แล้วว่ากองทัพอังกฤษในมาลายูและสิงคโปร์อ่อนแอมาก แม้จะรักษาตนเองก็ไม่พอเสียแล้ว”
เมื่อพลอากาศเอก ทวี เดินทางกลับถึงประเทศไทยจึงรายงานเรื่องเหล่านี้ให้จอมพล ป. ทราบทั้งหมด และเสนอความเห็นว่า การที่รัฐบาลไทยคาดหวังความช่วยเหลือจากอังกฤษนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากอังกฤษติดพันสงครามในยุโรป ขาดการส่งกำลังและยุทโธปกรณ์มายังภาคพื้นเอเชีย และเห็นว่า รัฐบาลอังกฤษ โดยนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ก็ทราบดีว่าหากเกิดสงครามสู้รบในคาบสมุทรมลายูขึ้นจริง สมรภูมินี้ก็เป็นแต่เพียงการสู้รบเพื่อประวิงเวลาให้อังกฤษเท่านั้น
ถือเป็นความโชคดีของไทย? ความโป๊ะแตกของอังกฤษ? หรือความช่างสังเกตและความสามารถด้านยุทธศาสตร์ทางทหารของพลอากาศเอก ทวี ก็ไม่ทราบได้ ที่ทำให้รัฐบาลไทยไม่หลงกลคำพูดโอ้อวดของฝ่ายอังกฤษ จึงทำให้รัฐบาลไทยได้ข้อมูลมาประกอบการพิจารณาเพื่อวางยุทธศาสตร์การทหารได้อย่างรัดกุม โดยที่ไม่ตีราคาตัวเองสูงเกินไปที่จะหวังพึ่งให้ชาติอื่นมาช่วยเหลือ
และเมื่อญี่ปุ่นบุกคาบสมุทรมลายู กองทัพอังกฤษก็ย่อยยับอย่างรวดเร็ว…
อ้างอิง :
ทวี จุลละทรัพย์. (2539). ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์. พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2539 ณ วัดเทพศิรินทราวาส. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2562