3 สาวพี่น้องตระกูลซ่ง กับฉายาผู้รักเงิน รักชาติ และรักอำนาจ

ตระกูลซ่ง ซ่งชิงหลิง ซ่งอ้ายหลิง ซ่งเหม่ยหลิง
(จากซ้าย) ซ่งชิงหลิง, ซ่งอ้ายหลิง, ซ่งเหม่ยหลิง

บรรดาผู้หญิงที่มีความสามารถในประเทศจีน บุตรสาวของ “ตระกูลซ่ง” หรือครอบครัวของชาลีซ่ง ได้แก่ ซ่งอ้ายหลิง, ซ่งชิงหลิง, และซ่งเหม่ยหลิง เป็นที่กล่าวถึงเสมอ

ไม่ว่าจะหน้าตาที่งดงาม ความรู้ความสามารถ ที่พวกเธอได้จากการศึกษาสมัยใหม่จากอเมริกา เนื่องจากชาลีซ่งไปสร้างครอบครัวอยู่ที่นั่น และความมีชื่อเสียงของชายที่พวกเธอแต่งงานด้วย จนมีการนำเรื่องราวชีวิตของทั้ง 3 สาวมาทำเป็นภาพยนตร์ชื่อ สามพี่น้องตระกูลซ่ง (The Soong Sister)  ในปี 1997

Advertisement

หากความคิดความเชื่อ และเส้นทางเดินที่ค่อยแยกออกจากกัน 3 สาว “ตระกูลซ่ง” จึงได้รับฉายาจากแตกต่างกันไป

ซ่งอ้ายหลิง (1888-1973) บุตรสาวคนโต แต่งงานกับ ดร.ข่งเสียงซี นักเศรษฐศาสตร์ผู้สืบตระกูลนายธนาคาร เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ของสาธารณรัฐจีน เมื่อเป็นรัฐมนตรีคลัง ปฏิบัติตามคําสั่งของเจียงไคเช็คผู้เป็นน้องเขย ด้วยการพิมพ์ธนบัตรไม่อั้นจนเงินหมดค่ากลายเป็นเศษกระดาษ ซ่งอ้ายหลิงเธอได้ชื่อว่า“รักเงิน”

ซ่งชิงหลิง (1893-1981) บุตรสาวคนกลาง ที่เข้าร่วมงานปฏิวัติกับ ดร.ซุนยัตเซ็น และภายหลังได้แต่งงานกับ ดร.ซุนยัตเซ็น เธอคัดค้านเจียงไคเช็คน้องเขยที่เป็นผู้นําจีนมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปกครองจีนเยี่ยงเผด็จการทรราช ไม่ยอมต่อสู้กับญี่ปุ่น หันมารบกับคอมมิวนิสต์ เธอถือว่าเจียงไคเช็คทรยศต่ออุดมคติของ ดร.ซุนยัตเซ็น  ตลอดเวลาที่เจียงไคเช็คเป็นผู้นําจีน มาดามซุนจึงเป็นสัญลักษณ์ของ ดร.ซุนเสมอมา

เมื่อเหมาเจ๋อตงสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น เธอก็ได้ดํารงตําแหน่งรองประธานรัฐบาลกลาง หรือรองประธานาธิบดี ในเดือนพฤษภาคม ปี 1981 ซ่งชิงหลิงได้รับตำแหน่งพิเศษเป็น “ประธานาธิบดีกิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” ชาวจีนยกย่องเธอว่า มาดามซุนผู้ “รักชาติ”

ซ่งเหม่ยหลิง (1898-2003) บุตรสาวคนเล็ก แต่งงานกับเจียงไคเช็ค เมื่อเป็นมาดามเจียง เธอไม่ยอมเป็นช้างเท้าหลังของสามีตามแบบฉบับผู้หญิงจีนสมัยเก่า แต่ต้องการเป็นช้างเท้าหน้าเดินเคียงข้างไปกับสามี ชาวจีนถึงกล่าวว่า มาดามเจียงใช้อํานาจยิ่งกว่านายพลเจียงเสียอีก เมื่อเจียงไคเช็คเป็นประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค มาดามเจียงเป็นบุคคลสำคัญในวงการเมืองจีน เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสาธารณรัฐจีน ได้ชื่อว่าเป็นหญิงที่ “รักอํานาจ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทวีป วรดิลก. เหมาเจ๋อตง ฮ่องเต้นักปฏิวัติ, สำนักพิมพ์มติชน 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564