หยวนซื่อไข่ นายพลที่ทรยศทุกฝ่ายเพื่อสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ

หยวนซื่อไข่
หยวนซื่อไข่ (16 กันยายน 1859 - 6 มิถุนายน 1916)

หยวนซื่อไข่ (16 กันยายน ปี 1859 – 6 มิถุนายน ปี 1916) เกิดในภาคกลางของมณฑลเหอหนาน ประวัติครอบครัวไม่ชัดเจน บ้างว่าเป็นตระกูลนายทหารใหญ่ที่มีชื่อจากการปราบกบฏ บ้างว่าเป็นครอบครัวชาวนายากจนที่บิดายกให้เป็นบุตรบุญธรรมของแม่ทัพใหญ่ วัยเด็กเขาไม่มีนิสัยรักการอ่านหรือสนใจตำรา แต่ชมชอบศิลปะการต่อสู้และขี่ม้า เมื่อสอบเข้ารับราชการไม่ได้ถึง 2 ครั้ง จึงหันไปเป็นทหารด้วยการซื้อตำแหน่งในปี 1880 ก่อนจะเติบโตในตำแหน่งเรื่อยมา

จนเมื่อ “ซุนยัตเซ็น” ก่อตั้งขบวนการปฏิวัติถงเหมิงฮุ่ย โอกาสของหยวนซื่อไข่ก็มาถึง

ข่าวการปฏิวัติสร้างความตื่นตระหนกแก่ราชสำนักชิงอย่างมาก และ หยวนซื่อไข่ ผู้บัญชาการกองทัพเป่ยหยาง คือบุคคลที่มีอำนาจพอจะเป็นที่พึ่งได้ในยามนั้น วันที่ 27 ตุลาคม ปี 1911 ราชสำนักชิงเรียกตัวเขากลับเข้ารับราชการอีกครั้ง โดยมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรีให้เพื่อปราบปราบปรามฝ่ายปฏิวัติ

ความวิตกเปลี่ยนมาอยู่ที่ฝ่ายปฏิวัติแทน ซุนยัตเซ็นตระหนักดีถึงกองทัพที่เข้มแข็งของหยวนซื่อไข่ และเพื่อบีบให้ราชสำนักชิงสละอำนาจ ซุนยัตเซ็นจึงยื่นข้อเสนอให้หยวนซื่อไข่ว่า ถ้าสามารถทำให้จักรพรรดิสละราชสมบัติได้ เขายินดีมอบตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนให้ หยวนซื่อไข่รับข้อเสนอดังกล่าว และนั่นทำให้ราชวงศ์ชิงสิ้นสุดอำนาจลงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี 1912

แต่การเป็นประธานาธิบดีของหยวนซื่อไข่มีข้อจำกัดในอำนาจ ซึ่งเขาไม่พึงพอใจอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ซุนยัตเซ็นประกาศใช้ก่อนลาออก, ข้อจำกัดในการปกครองส่วนภูมิภาค เพราะหลังปฏิวัติซินไฮ่ มณฑลต่างๆ จำนวนมากอยู่ใต้อำนาจการปกครองของทหารส่วนท้องถิ่น

ปี 1913 หยวนซื่อไข่เริ่มการรวมอำนาจ มีการกวาดล้างสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งเกิดขึ้น ต่อมาในวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 1913 หยวนซื่อไข่ก็ประกาศยุบพรรคก๊กมินตั๋ง, สั่งปิดหนังสือพิมพ์, สั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ (10 มกราคม ปี 1914 )

นอกจากนี้ ในปี 1913 หยวนเค่อติ้ง บุตรชายคนโตของหยวนซื่อไข่ที่ไปรักษาอาการป่วยที่เยอรมนี มีโอกาสเข้าเฝ้า จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ของเยอรมนี ทรงมีรับสั่งว่า “ประเทศจีนจะเข้มแข็งไม่ได้เลยหากไม่ใช้ระบบราชาธิปไตย” และทรงฝากหนังสือถึงหยวนซื่อไข่ว่า ทั้งสองประเทศมีสัมพันธ์อันดี ทั้งจูงใจให้หยวนซื่อไข่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ

1 พฤษภาคม ปี 1914 หยวนซื่อไข่ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับหยวนซื่อไข่” เอื้อต่อการขยายอำนาจของเขา เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้ 10 ปี ทั้งสามารถขยายเวลาออกไปได้, มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการประกาศสงคราม, ลงนามในสนธิสัญญา, แต่งตั้งข้าราชการ, ออกกฤษฎีกาใช้บังคับแทนกฎหมายในกรณีฉุกเฉิน ฯลฯ

แต่ความต้องการของหยวนซื่อไข่ยังมีมากกว่านั้น

หยวนซื่อไข่ สักการะ สวรรค์
หยวนซื่อไข่ทำพิธีสักการะสวรรค์

วันที่ 23 ธันวาคม ปี 1914 หยวนซื่อไข่นำบรรดาข้าราชการไปสักการะสวรรค์ที่หอบูชาฟ้าเทียนถาน โดยสวมใส่ชุดและหมวกแบบโบราณ ทำพิธีกราบไหว้อย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นการซ้อมใหญ่ของเขาในการสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ

ถึงปี 1915 หยวนซื่อไข่ ก็พร้อมจะจะหักหลังสาธารณรัฐจีน หลังจากที่เคยหักหลังราชวงศ์ชิง, ซุนยัตเซ็น และขบวนการถงเหมิงฮุ่ยจนถึงพรรคก๊กมินตั๋งมาแล้ว

นอกจากนี้ หยวนซื่อไข่ยังจ่ายเงินกว่า 2 ล้านเหรียญ ให้ “หยางตู้” ก่อตั้งสมาคมวางแผนสันติภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพียงประการเดียวคือ สนับสนุนหยวนซื่อไข่ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ต่อมาสมาคมวางแผนสันติภาพรวบรวมข้อมูลและฎีกาถึงหยวนซื่อไข่โดยตรงว่า ประชาชนจีนต้องการให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสาธารณรัฐเป็นระบอบกษัตริย์

21 พฤศจิกายน ปี 1915 หยวนซื่อไข่จัดให้มีการประชุมสมัชชาในเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนให้รื้อฟื้นระบบการปกครองโดยกษัตริย์ขึ้น

11 ธันวาคม ปี 1915 ผู้แทนมณฑลต่างๆ เข้าชื่อในนามของประชาชน เรียกร้องให้หยวนซื่อไข่รับเป็นจักรพรรดิ แต่เขาปฏิเสธอย่างสุภาพว่า ตนเองยังขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม แต่เมื่อมีหนังสือเรียกร้องยืนยันอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น หยวนซื่อไข่ก็จำต้องรับเป็นจักรพรรดิอย่าง “เสียไม่ได้”

13 ธันวาคม ปี 1915 หยวนซื่อไข่ออกฎีกาของประธานาธิบดี กำหนดให้ปี 1916 ที่จะมาถึงเป็นปีที่ 1 ของรัชกาลของจีน มีชื่อว่า “หงเสี้ยน-รัฐธรรมนูญรุ่งโรจน์” และกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ปี 1916 เป็นวันราชาภิเษก

ขอย้อนกลับไปเรื่องการยุบพรรคก๊กมินตั๋งโดยหยวนซื่อไข่ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 1913 ซุนยัตเซ็นและแกนนำได้รวบรวมกำลังตั้งพรรคก๊กมินตั๋งขึ้นอีกครั้งในวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 1914 มีองค์การจัดตั้งของพรรคทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อต่อสู้กับหยวนซื่อไข่

วันที่ 23 ธันวาคม ปี 1915 ไช่เอ้อ-นายทหารนักปฏิวัติ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาทหารและผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 47 ในหยุนหนาน ยื่นคำขาดให้หยวนซื่อไข่ยกเลิกแผนตั้งตนเป็นจักรพรรดิแต่ถูกปฏิเสธ

วันที่ 25 ธันวาคม ปี 1915 มณฑลหยุนหนานประกาศเป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง มีการจัดตั้งกองทัพพิทักษ์ชาติต่อสู้กับฝ่ายของหยวนซื่อไข่

หลังวันที่ 1 มกราคม ปี 1916 หยวนซื่อไข่ทำพิธีราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิแล้ว สั่งขุนพลคนสนิทให้ยกกองกำลังไปปราบกองทัพพิทักษ์ชาติ แต่ไม่มีใครปฏิบัติตามคำสั่ง

15 มีนาคม ปี 1916 มณฑลกว่างซีประกาศเป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง และเกิดกองทัพต่อต้านจักรพรรดิอย่างหยวนซื่อไข่ในมณฑลซานตง ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นที่เคยเป็นมิตรเพราะหวังพึ่งหยวนซื่อไข่ก็ปลีกตัวออกห่าง โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจีนที่กรุงปักกิ่งไม่สามารถรักษาความสงบภายในประเทศได้ ชาติมหาอำนาจอื่นที่หยวนซื่อไข่เคยเอาผลประโยชน์ของจีนไปแลกต่างก็แยกตัวออกห่าง

22 มีนาคม ปี 1916 หยวนซื่อไข่ต้องยอมสละตำแหน่งจักรพรรดิที่เป็นได้เพียง 80 กว่าวัน และหวังว่าตนจะได้กลับมาเป็นประธานธิบดีต่อได้ จึงพยายามรื้อฟื้นคณะรัฐมนตรีขึ้นเพื่อเอาใจนักปฏิวัติ แต่สถานการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่หยวนซื่อไข่คาดการณ์และรับมือได้ มณฑลต่างๆ เริ่มประกาศตนเป็นอิสระในเวลาต่อมา เช่น 6 เมษายน-มณฑลกวางตุ้ง, 12 เมษายน-มณฑลเจ้อเจียง ฯลฯ

5 พฤษภาคม ปี 1916 นักปฏิวัติ, ทหาร และผู้นำพลเมืองของ 19 มณฑล รวมตัวกันประกาศไม่ยอมรับหยวนซื่อไข่ว่าเป็นประธานาธิบดีของจีน เรียกร้องให้ลาออก และเดินทางออกนอกประเทศ

9 พฤษภาคม ปี 1916 มณฑลส่านซีประกาศเป็นอิสระ และมณฑลอื่นในเวลาต่อมา คือ 22 พฤษภาคม-มณฑลเสฉวน, 27 พฤษภาคม-มณฑลหูหนาน

หยวนซื่อไข่ จากผู้กุมอำนาจสูงสุดของประเทศกำลังถูกโดดเดี่ยว ล้มป่วยด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ และทรุดหนักเมื่อรู้ข่าวว่า ผู้ว่าการทหารมณฑลเสฉวนซึ่งเป็นคนสนิทของตนยังประกาศเป็นอิสระ อาการป่วยของเขาทรุดหนักทันที ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1916

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กุมภาพันธ์ 2547

สิทธิพล เครือรัฐติกาล. ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่,  สำนักพิมพ์ชวนอ่าน ตุลาคม 2555

เส้าหย่ง, หวังไห่เผิง เขียน, กำพล ปิยศิริกุล แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2563