ความแตกแยกในจีนหลังสิ้น “หยวนสื้อข่าย” ฟื้นฟูราชวงศ์ชิง เชิญ “ผู่อี๋” เป็นจักรรพรรดิ

ราชวงศ์ชิง ผู่อี๋
(ภาพซ้าย) ภาพวาดกำแพงเมืองในกรุงปักกิ่ง ในราวศตวรรษที่ 19 (ภาพประกอบหนังสือ The Middle Kingdom : a survey of the geography, government, education, social life, arts and history of the Chinese Empire and its inhabitants) ,(ภาพขวา) จักรพรรดิผู่อี๋หรือปูยี เมื่อปี 1922 (พ้นจากการดำรงตำแหน่งจักรพรรดิจีนแล้ว)

ความแตกแยกในจีนหลังสิ้น “หยวนสื้อข่าย” ฟื้นฟู ราชวงศ์ชิง เชิญ “ผู่อี๋” เป็นจักรรพรรดิ

หลังการโค่นล้มราชวงศ์ชิง ประเทศจีนเปลี่ยนสู่ระบอบสาธารณรัฐ แต่กลับมีความแตกแยกแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย และต่างก็มุ่งหวังครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จให้ฝ่ายตนเอง ความวุ่นวายภายในรัฐบาลสาธารณรัฐจึงเป็นช่องทางให้ขุนพลที่จงรักภักดีต่อจักรพรรดิ ราชวงศ์ชิง ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนจีนสู่ระบอบเก่าในระยะเวลาสั้น ๆ

ความแตกแยกภายในรัฐบาล

ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.. 1916 หยวนสื้อข่าย อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนที่แต่งตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิท่ามกลางเสียงต่อต้านทั่วประเทศ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ทำให้ ต้วนฉีรุ่ย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารบก ออกประกาศให้ หลีหยวนหง รองประธานาธิบดีรับตำแหน่งประธานาธิบดี และให้ฟื้นฟูรัฐสภาอีกครั้ง

โดยให้ใช้รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐจีนของหยวนสื้อข่าย ที่กำหนดให้ประธานาธิบดีรวมอำนาจการปกครองไว้เพียงผู้เดียว แต่ได้รับเสียงต่อต้านจาก ซุนยัตเซ็น และ หวงซิง ที่เซี่ยงไฮ้ สมาชิกสภาก็ออกแถลงการณ์การไม่ยอมรับการสืบทอดรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แม้กระทั่งบุคคลต่าง ๆ ในกองทัพฝ่ายเหนือและใต้ก็คัดค้าน แรงกดดันจากทั่วประเทศทำให้ต้วนฉีรุ่ยยอมยกเลิกรัฐธรรมนูญของหยวนสื้อข่าย ด้าน หลีหยวนหง หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้ต่อต้านต้วนฉีรุ่ยเช่นกัน ด้วยการประกาศให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐจีนของซุนยัตเซ็น (รัฐธรรมนูญฉบับแรก)

ความขัดแย้งกรณีรัฐธรรมนูญฉบับเก่ากับใหม่ ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลปักกิ่ง ระหว่างฝ่ายประธานาธิบดีหลีหยวนหง ที่มีพรรคก๊กมินตั๋งและกลุ่มอำนาจท้องถิ่นภาคใต้เป็นที่พึ่ง กับฝ่ายนายกรัฐมนตรีต้วนฉีรุ่ย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มศึกษารัฐธรรมนูญ พรรคก้าวหน้า และผู้บัญชาการทหารขุนศึกเป่ยหยาง โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การต่อสู้ระหว่างสองทำเนียบ

(ซ้าย) ต้วนฉีรุ่ย, (ขวา) หลีหยวนหง

การต่อสู้ระหว่างสองทำเนียบ เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.. 1917 เนื่องจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ดำเนินมาถึง 3 ปีแล้ว ต้วนฉีรุ่ยเสนอให้จีนประกาศสงครามกับเยอรมนี เพราะถูกประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรบีบบังคับให้เข้าร่วมสงคราม แต่ความจริงแล้วเป้าหมายของต้วนฉีรุ่ยคือหาโอกาสเข้ายึดครองกิจการของเยอรมนีในจีน และรับเงินกู้และอาวุธจากญี่ปุ่นที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร

ขณะที่ฝ่ายหลีหยวนหงและซุนยัตเซ็นคัดค้านการเข้าร่วมสงคราม เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่พัวพันถึงอนาคตของชาติ จึงเสนอให้รักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด สร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายต้วนฉีรุ่ยอย่างมาก กระทั่งเดือนพฤษภาคม ค.. 1917 กลุ่มสมาชิกสภาที่คัดค้านแนวทางของต้วนฉีรุ่ยได้มีการรวมตัวกันเพื่อลงมติไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามเมื่อเปิดประชุมสภา

เมื่อต้วนฉีรุ่ยทราบข่าวดังกล่าว เขาจึงระดม กลุ่มมวลชนอาสา” กว่า 3,000 คน มาล้อมรัฐสภา บีบบังคับให้สมาชิกสภาผ่านร่างกฎหมายในการประกาศสงคราม มีสมาชิกสภา 10 กว่าราย ที่คัดค้านจนถูกกลุ่มมวลชนอาสารุมทำร้ายบาดเจ็บ และถูกกักขังไว้ในรัฐสภานานกว่า 10 ชั่วโมง

พฤติกรรมที่เลวร้ายของต้วนฉีรุ่ย ทำให้เหล่าสมาชิกสภาคนอื่น ๆ ไม่พอใจอย่างมาก จึงยุติการประชุม รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ก็ทยอยกันลาออก จนคณะรัฐมนตรีเหลือแค่ต้วนฉีรุ่ยเพียงคนเดียว ในวันที่ 11 พฤษภาคม ซุนยัตเซ็นและสมาชิกสภาได้โทรเลขถึงหลีหยวนหงให้ลงโทษต้วนฉีรุ่ยในข้อหานำกลุ่มมวลชนมาทำร้ายสมาชิกสภา หลีหยวนหงจึงสั่งปลดต้วนฉีรุ่ยออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารบกทันที

ขุนพลหางเปียฟื้นฟูชิง

ทว่าหลังจากที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ต้วนฉีรุ่ยได้สั่งให้ผู้บัญชาการกองทัพมณฑลอันฮุย เหอหนาน ซานตง เฟิ่งเทียน ส่านซี เจ้อเจียง และจื๋อลี่ ประกาศตัวเป็นเอกเทศ พร้อมขู่ว่าจะใช้กำลังทหารกับหลีหยวนหง ซึ่งสร้างความวิตกกังวลแก่หลีหยวนหง ที่ไม่มีกำลังทหารพอจะรับมือกับกลุ่มผู้บัญชาการกองทัพจึงขอความช่วยเหลือจาก จางซวิน ผู้บัญชาการกองทัพอันฮุยแห่งเมืองสวีโจว ขุนศึกผู้มีเอกลักษณ์เรื่องไว้ผมทรงหางเปีย ที่แสดงถึงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง และแน่นอนว่าทหารที่เขาบัญชาการต่างก็ไว้หางเปียทุกคน จนถูกคนทั่วไปเรียกว่ากองทัพหางเปีย   

จางซวิน

หลังจากที่ได้ฟังคำขอของหลีหยวนหง ที่ขอให้จางซวินมาคุ้มครองตนและให้ช่วยเจรจากับต้วนฉีรุ่ย จางซวินได้ตอบตกลง และยกทัพหางเปียกว่า 6,000 นาย ไปกรุงปักกิ่งทันที ในวันที่ 7 มิถุนายน ค.. 1917 เมื่อกองทัพหางเปียมาถึงเทียนสิน ได้ประกาศให้หลีหยวนหงยุบสภาภายใน 3 วัน สร้างความตื่นตกใจแก่หลีหยวนหงและชาวปักกิ่ง ที่คาดไม่ถึงว่าจางซวินจะหักหลังพวกตน

ความจริงแล้วจางซวินมีเป้าหมายในการฟื้นฟูราชวงศ์ชิงอยู่ตลอดเวลา พอเห็นว่ารัฐบาลปักกิ่งกำลังอ่อนแอจากการต่อสู้ระหว่างสองทำเนียบ จึงใช้โอกาสนี้ในการยึดกรุงปังกิ่ง เพื่อทำตามเป้าหมาย

วันที่ 9 มิถุนายน ค.. 1917 กองทัพหางเปียได้เดินทางมาถึงบริเวณนอกกรุงปักกิ่ง หลีหยวนหงที่กำลังจนปัญญากับสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากขาดกำลังทหารป้องกันเมือง จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาตามคำสั่งของจางซวิน เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบ กองทัพหางเปียจึงเข้ายึดกรุงปักกิ่งได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น จางซวินได้เรียกตัว คังโหย่วเหวย มาที่กรุงปักกิ่ง เพื่อร่วมกันวางแผนฟื้นฟูราชวงศ์ชิง

วันที่ 1 กรกฎาคม ค.. 1917 จางซวินที่สวมชุดและหมวกของขุนนางราชวงศ์ชิง พาคังโหย่วเหวยและคณะมาที่ตำหนักหยางซิน (พระที่นั่งหลังหนึ่งทางตอนเหนือของพระราชวังต้องห้าม) เพื่ออัญเชิญอดีตจักรพรรดิ ผู่อี๋ ขึ้นครองบัลลังก์อีกครั้ง หลังจากที่ผู่อี๋ตอบตกลง จางซวินจึงแต่งตั้งตนเองเป็นเสนาบดีใหญ่และเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลจื๋อลี่ พร้อมควบตำแหน่งข้าหลวงพาณิชย์เป่าหยาง กุมอำนาจทั้งการเมืองและการทหาร

จางซวินประกาศตั้งราชวงศ์ชิงขึ้นใหม่อีกครั้ง พร้อมประกาศพระราชโองการ 8 ฉบับในนามจักรพรรดิผู่อี๋ กำหนดให้เปลี่ยนปีที่ 6 ของสาธารณรัฐจีนเป็นรัชศกเซวียนถ่งปีที่ 9 เปลี่ยนธงห้าสีเป็นธงมังกรเหลือง ฟื้นฟูระบบขุนนางปลายราชวงศ์ชิง แต่งตั้งบรรดาศักดิ์และตำแหน่งให้บุคคลต่าง ๆ นอกจากนี้ จางซวินยังส่งคนไปเชิญหลีหยวนหงมาลงฎีการับยศบรรณาศักดิ์ระดับกงขั้นที่ 1 แต่หลีหยวนหงไม่กล้าลงนาม และได้หลบหนีไปอยู่ที่สถานทูตญี่ปุ่นที่ซอยตงเจียวหมินในกรุงปักกิ่ง

หลังจากประกาศตั้งราชวงศ์ชิง ตำรวจในกรุงปักกิ่งได้เดินตระเวนออกคำสั่งให้ทุกบ้านแขวนธงมังกรเหลือง ร้านขายธงมังกรเหลืองที่ปิดกิจการไปกว่า 5 ปีก็กลับมาทำการค้าใหม่อีกครั้ง แต่สินค้าไม่พอต่อความต้องการ หลายครอบครัวจึงต้องใช้ธงมังกรกระดาษหน้าเดียวแก้ขัดไปก่อน ส่วนพวกขุนนางที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิงต่างยินดีปรีดา สวมชุดเสื้อคลุมยาวแบบจีนโบราณเดินแกว่งผมหางเปียทั้งของแท้และของเทียมไปมาในเมือง

ล้มราชวงศ์ชิง (อีกครั้ง)

พอข่าวการตั้งราชวงศ์ชิงแพร่สะพัดออกไป ก็เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งไม่ต่างจากกรณีหยวนสื่อข่าย เนื่องจากการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยถือว่าฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนและกระแสของยุคสมัยที่ไม่ต้องการระบบชนชั้นอีกต่อไป

เมื่อซุนยัตเซ็นทราบข่าวดังกล่าว เขาสั่งให้รวบรวมกองกำลังทั่วประเทศ และสั่งปราบจางซวินอย่างเร่งด่วน ด้านต้วนฉีรุ่ยเห็นว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการขับไล่หลีหยวนหงและยุบสภา จึงจัดตั้งกองทัพปราบผู้ทรยศโดยตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาการสูงสุด มีเป้าหมายโค่นราชวงศ์ชิง เพื่อสร้างชื่อเสียงและอำนาจให้แก่ตนเอง

ในรุ่งเช้าวันที่ 12 กรกฎาคม ค.. 1917 กองทัพปราบผู้ทรยศได้ชิงบุกเข้ากรุงปักกิ่งก่อนกองทัพของซุนยัตเซ็น ด้วยกองกำลังจำนวนมากกว่าและอาวุธที่ทันสมัย กองทัพหางเปียจึงพินาศย่อยยับในเวลาอันรวดเร็ว จางซวินหลบหนีไปที่สถานทูตฮอลันดา ส่วนคังโหย่วเหวยหลบหนีไปอยู่ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา

วันนั้นจักรพรรดิผู่อี๋ทรงประกาศสละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง ระบอบราชาธิปไตยที่ได้ฉายเพียง 12 วันก็ได้ปิดฉากลงอย่างรวดเร็ว และแทนที่ด้วยรัฐบาลใหม่ของต้วนฉีรุ่ย

จากความขัดแย้งภายในรัฐบาลปักกิ่ง ส่งผลให้เสถียรภาพของรัฐบาลอ่อนแอลง เกิดการแบ่งฝ่ายกันไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว จนกลายเป็นโอกาสของผู้ที่ต้องการขึ้นมามีอำนาจ หรือล้มล้างระบอบการปกครอง เช่นกรณี จางซวิน ที่ได้ใช้ช่วงเวลาที่รัฐบาลแตกแยกบุกกรุงปักกิ่ง และฟื้นฟูราชวงศ์ชิงขึ้นมาอีกครั้ง ถึงท้ายที่สุดจะถูกโค่นล้มอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ความขัดแย้งทางการเมืองของซุนยัตเซ็นกับต้วนฉีรุ่ยก็ยังดำเนินต่อไป จนนำไปสู่สงครามในภายภาคหน้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลิวดสี่ยวฮุ่ย. ซุนยัตเซ็น มหาบุรุษผู้พลิกแผ่นดินจีน. แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร.  กรุงเทพฯ : มติชน,  ตุลาคม 2556. 

เส้าหยงหวังไท่เผิง. (2560). หลังสิ้นบัลลังก์มังกร : ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน. แปลโดย กำพล ปิยะศิริกุล.  กรุงเทพฯ : มติชน,  ตุลาคม 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 19 กรกฎาคม 2562