“ซุนยัตเซ็น” กับประสบการณ์ถูก “ลักพาตัว” ที่อังกฤษ ดังกระฉ่อนโลก

ภาพถ่าย ซุนยัตเซ็น
ซุนยัตเซ็นในช่วงบั้นปลายชีวิต ภาพถ่ายเมื่อที่เมือง กว่างโจว ปี 1924 (เครดิตภาพ Wikimedia)

ซุนยัตเซ็น เป็นผู้บุกเบิกการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศจีนสมัยใหม่ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เขาต้องเผชิญความล้มเหลวและภัยอันตรายมานับครั้งไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือการถูก “ลักพาตัว” ขณะเดินสายปลุกระดมชาวจีนโพ้นทะเลที่อังกฤษ

เหตุการณ์เกิดใน ค.ศ. 1896 ขณะที่ ซุนยัตเซ็น เดินทางตระเวนไปในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ ฯลฯ เพื่อปลุกระดมเผยแพร่ความคิด และระดมทุนสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเลตามที่ต่าง ๆ เพื่อก่อการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง

เมื่อถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนได้จับตาดูการเคลื่อนไหวของ ซุนยัตเซ็น อย่างใกล้ชิด โดยได้รับคำสั่งจากรัฐบาลราชวงศ์ชิงมาว่า

“จับกุมตัวซุนยัตเซ็นมาให้ได้ โดยไม่ต้องคำนึงราคาค่างวดใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยงว่าจะจับเป็นหรือตาย”

วันที่ 11 ตุลาคม ปี 1896 เวลา 10.30 น. ขณะที่ซุนยัตเซ็นกำลังไปเยี่ยมบ้านของ เจมส์ แคนทลีย์ (James Cantlie) อาจารย์และเพื่อนสนิทชาวอังกฤษ เจ้าหน้าที่สถานทูตและนักสืบที่รัฐบาลราชวงศ์ชิงจ้างมาได้ดักซุ่มอยู่ข้างทาง และอาศัยจังหวะที่ซุนยัตเซ็นเดินอยู่ในซอกตึกที่ไม่มีคน เข้ารวบตัวและนำไปขังไว้ในสถานทูตจีน

ขณะถูกคุมขัง ซุนยัตเซ็นพยายามร้องขอความช่วยเหลือจากคนในสถานทูตจีนอย่างไม่ลดละ เช่น ขอให้คนงานชาวอังกฤษช่วยส่งจดหมายไปให้เพื่อน แต่ก็ไม่มีใครยอมช่วย เพราะกลัวจะเดือดร้อนไปด้วย เขายังใช้กระดาษจดหมายห่อเหรียญและขว้างออกไปนอกหน้าต่าง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะถูกเจ้าหน้าที่จับได้ สถานทูตจึงเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าคุมตัวมากขึ้น

ระหว่างนั้น มีคำสั่งลับจากรัฐบาลราชวงศ์ชิงให้พาตัวซุนยัตเซ็นกลับไปรับโทษประหารชีวิตที่ประเทศจีน สถานทูตได้เช่าเรือกลไฟลำหนึ่ง เพื่อส่งตัวซุนยัตเซ็นกลับไปให้ทางการจีน ช่วงเวลาวิกฤตนี้ เขาได้พูดจาโน้มน้าว นายโคล ภารโรงของสถานทูต ให้ช่วยส่งจดหมายไปยังแคนทลีย์ได้สำเร็จ จดหมายฉบับนั้นมีใจความว่า

“ผมถูกกักขังอยู่ในสถานทูต สถานทูตกำลังจะส่งตัวผมกลับไปประเทศจีนเพื่อลงโทษประหารชีวิต…หากไม่รีบช่วยให้รอดพ้นจากอันตราย คงมีอันต้องถึงแก่ชีวิตเป็นแน่”

แคนทลีย์หาทางช่วยเหลือเพื่อนอย่างเต็มที่ เขารีบแจ้งตำรวจนครบาลให้เดินเรื่องช่วยเหลือ และยังแจ้งกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษด้วยว่า การกระทำของรัฐบาลราชวงศ์ชิงฝ่าฝืนกฏหมายระหว่างประเทศ

วันที่ 19 ตุลาคม หลังจากสืบสาวราวเรื่องแล้ว กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษมีความเห็นว่าเรื่องนี้มีมูลความจริง จากนั้นได้ส่งบันทึกถึงสถานทูตจีน ขอให้ปล่อยตัวซุนยัตเซ็นโดยด่วน ขณะเดียวกันสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ (The Times) เดอะโกลบ (The Globe) และฉบับอื่น ๆ ต่างทยอยรายงานข่าวอย่างครึกโครมจนโด่งดังไปทั่ว

ชาวเมืองลอนดอนจำนวนมากเห็นใจในชะตากรรมของซุนยัตเซ็น จึงรวมตัวกันประท้วงที่หน้าสถานทูตจีน คัดค้านการกระทำผิดกฎหมายของราชสำนักชิงอย่างรุนแรง

เมื่อถูกกดดันจากทั้งหน่วยงานรัฐบาลและประชาชน สถานทูตจีนจึงจำใจต้องปล่อยตัวซุนยัตเซ็นในวันที่ 23 ตุลาคม นับเวลาถูกจองจำได้ 12 วัน

หลังได้รับอิสรภาพ เขาเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ของกรุงลอนดอน แสดงความขอบคุณจากใจจริงแก่ชาวอังกฤษทุกคนที่ให้การช่วยเหลือและเป็นกระบอกเสียงให้ จากนั้นได้นำประสบการณ์การถูกจองจำมาถ่ายทอดเป็นหนังสือชื่อ Kidnapped in London ออกวางขายในปี 1897

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งเท่านั้นในชีวิตของ “ซุนยัตเซ็น” ที่ถูกปองร้าย ยังมีอีกหลายครั้งที่ศัตรูมุ่งมาดเอาชีวิต แต่ทุกครั้งก็ยิ่งทำให้สถานะของซุนยัตเซ็นโดดเด่นขึ้นในฐานะผู้นำการต่อต้านราชวงศ์ชิง และทำให้ประชาคมโลกให้ความสนใจสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในจีนด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เส้าหย่ง และ หวังไห่เผิง. (2560). หลังสิ้นบัลลังก์มังกร : ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน. (ผู้แปล กำพล ปิยะศิริกุล). กรุงเทพฯ : มติชน.

Gray’s Inn Place, Sun Yat-sen And A London kidnapping เข้าถึงจาก https://alondoninheritance.com/london-characters/grays-inn-place-sun-yat-sen/

The Chinese Revolution of 1911 เข้าถึงจาก https://www.britannica.com/event/Chinese-Revolution-1911-1912


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2566