จีนปลุกกระแสต้านตะวันตก กล่าวหา “นักบุญ” ของชาวคริสต์ “ละเมิดทางเพศ”

ภาพเหตุการณ์ทรมานบาทหลวงแชปด์เลนโดยทางการจีน จาก Le Monde Illustré

ศาสนาคริสต์ได้เข้าถึงแผ่นดินจีนมานานนับพันปี เคยผ่านทั้งช่วงที่รุ่งเรืองได้รับการสนับสนุนจากทางการ และช่วงเวลาแห่งการเสื่อมถอยเนื่องจากความเป็นปฏิปักษ์ของรัฐ โดยในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงที่ชาวคริสต์ถูกกดขี่อย่างหนัก เมื่อจักรพรรดิยงเจิ้งขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงเห็นอิทธิพลของคณะมิชชันนารีว่าเป็นภัยคุกคามจึงประกาศว่าคริสต์ศาสนาเป็นลัทธิที่มุ่งล้มสถาบัน และใช้อำนาจปราบปรามชาวคริสต์ มีการยึดโบสถ์มาเป็นที่หลวง ชาวคริสต์ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ บาทหลวงหลายคนก็ถูกฆ่าตาย

เมื่อเข้ารัชกาลของจักรพรรดิเต้ากวง นโยบายปราบปรามชาวคริสต์จึงจะเริ่มเบาลงแต่เหตุการณ์กบฏไท่ผิง (ค.ศ. 1850-1864) ซึ่งเกิดจากการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านราชสำนักชิงของชาวคริสต์ ทำให้เกิดการปราบปรามชาวคริสต์ขึ้นอีกครั้ง

ภาพเขียนศตวรรษที่ 19 ของ บาทหลวงออกุสต์ แชปด์เลน
ภาพเขียนศตวรรษที่ 19 ของ บาทหลวงออกุสต์ แชปด์เลน

และบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ออกุสต์ แชปด์เลน (Auguste Chapdelaine) ก็เดินทางมายังกว่างซี ภาคใต้ของประเทศจีนในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับชาวต่างชาติ ทำให้นักบวชรายนี้ถูกจับกุมในปี 1856 พร้อมกับถูกตั้งข้อหาฉกรรจ์อื่นๆ และถูกทรมานจนถึงแก่ความตาย

ความตายของบาทหลวงแชปด์เลน กลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศสในการเปิดศึกกับจีนในสงครามฝิ่นรอบสอง สร้างบาดแผลใหญ่ให้กับประวัติศาสตร์ของชาวจีน และกลายเป็นเรื่องเล่าที่ถูกตอกย้ำบ่อยครั้งเพื่อปลุกกระแสรักชาติ และการต่อต้านตะวันตก

แต่สำหรับชาวคริสต์ บาทหลวงแชปด์เลนคือผู้สละชีพเพื่อศาสนา และได้รับการสถาปนาให้เป็น “นักบุญ” เมื่อปี 2000 ทำให้จีนออกมาตอบโต้ผ่านสื่อของรัฐโดยกล่าวหาว่า นักบวชรายนี้เคยก่อเหตุข่มขืนหญิงชาวจีนหลายคน แต่บรรดานักวิชาการมองว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวขาดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยัน

ถึงวันนี้ จีนไม่ใช่ชาติที่ตะวันตกจะเข้ามาข่มเหงได้อีก แต่เรื่องเล่านี้ก็ยังคงถูกตอกย้ำเพื่อขยายความเกลียดชัง พร้อมกับการปลุกกระแสชาตินิยมในยามที่จีนต้องการขยายอิทธิพลจนเกิดข้อพิพาทกับเพื่อนบ้านรายล้อม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ

รายงานของเอเอฟพีกล่าวว่า เมื่อปี 2015 รัฐบาลท้องถิ่นในพื้นที่ที่นักบุญรายนี้ถูกฆ่าตายได้จัดการประกวดบทกลอนเพื่อ “กระตุ้นจิตวิญญาณแห่งความรักชาติ” และยกย่องผู้ปกครองชาวจีนซึ่งสั่งประหารนักบุญแชปด์เลน ในฐานะ “วีรบุรุษมีมีใจแข็งดังเหล็ก” โดยมีเงินรางวัลมูลค่า 1,000 หยวน (ราว 5,000 บาท) เป็นเครื่องล่อใจ

นอกจากนี้ จีนยังเตรียมทำภาพยนตร์สารคดีความยาว 2 ชั่วโมง ด้วยทุนสร้าง 3 ล้านหยวน (ราว 15.6 ล้านบาท) เพื่อป่าวประกาศสรรพคุณของนักบุญแชปด์เลนในแบบที่จีนต้องการให้เป็น เห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของ เหลียง ชุยกัง (Liang Shuikang) เจ้าของบริษัทสร้างภาพยนตร์ที่รับงานนี้มา

“พ่อหม่า [ชื่อบาทหลวงแชปด์เลนในภาษาจีน] ไม่ใช่บาทหลวงธรรมดา…วิธีล้างบาปของท่านคือการแย่งเมียชาวบ้าน และร่วมหลับนอนกับเธอเสียก่อน” เหลียงกล่าวกับเอเอฟพี

“เราต้องการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง” เหลียงกล่าว พร้อมเสริมว่าเป้าหมายของภาพยนตร์คือการทำให้ชาวจีน “จดจำ” ความเจ็บปวด และร่วมกันสร้างมาตุภูมิให้ยิ่งใหญ่

ท่าทีของทางการทำให้นักวิชาการเป็นห่วงว่า “ประวัติศาสตร์” กำลังถูกใช้ในทางที่ผิด เช่น หยวน เว่ยฉี (Yuan Weishi) ศาสตราจารย์เกษียรอายุจากมหาวิทยาซุนยัตเซ็น ที่กล่าวว่า การฆ่านักบุญแชปด์เลน ละเมิดกฎหมายของราชวงศ์ชิงเอง นับเป็น “ความน่าอับอาย” ของจีน และการส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อในนามความรักชาติเช่นนี้ทั้ง “ผิด” และ “ไม่มีการศึกษา”


อ้างอิง: “Church and China Communists vie over French missionary”. AFP. <https://sg.news.yahoo.com/church-china-communists-vie-over-french-missionary-062433900.html?nhp=1>


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ.2559