เผยแพร่ |
---|
หลังการสถาปนาสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912) แม้จะโค่นล้มราชวงศ์ชิงสำเร็จ แต่กลับไม่สามารถนำพาสันติภาพมาสู่ประเทศ เห็นได้จากการเคลื่อนไหวพยายามรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์, ลัทธิขุนศึก, การทุจริตคดโกงของเครือญาติผู้นำ (4 ตระกูล เจียง-ซ่ง-ขง-เฉิน) ฯลฯ จนนำไปสู่การปฏิวัติของปัญญาชน ระหว่าง ค.ศ. 1917-1923
ช่วงเวลาดังกล่าวมีปัญญาชนที่ไปศึกษาในต่างประเทศกลับมาร่วมการปฏิวัติจำนวนมาก ที่สำคัญได้ แก่ เฉินตู๋ซิ่วกับไช่หยวนเผย-ฝรั่งเศส, หลู่ซิ่น(โจวซู่เหริน)กับหลี่ต้าเจา-ญี่ปุ่น, หูซึ-อเมริกา ฯลฯ พวกเขาเดินหน้าเผยแพร่แนวคิด และสร้างสำนึกทางการเมือง เช่น
เฉินตู๋ซิ่ว เรียกร้องให้คนหนุ่มสาวคัดค้านสังคมเก่าของจีนที่เก่า, ลัทธิอนุรักษ์นิยม อันเป็นผลผลิตของสังคมศักดินาและการเกษตร และให้ปฏิรูปความคิดและความประพฤติใหม่ ใช้ท่าทีทางวิทยาศาสตร์
ไช่หยวนเผย อธิการบดีมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประกาศหลักการว่า มหาวิทยาลัยเป็นที่สำหรับศึกษาหาความรู้ไม่ใช่ทางลัดสู่ความมั่งคั่งและตำแหน่ง, มหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้ทดแทนระบบสอบไล่เพื่อเข้ารับราชการแบบเก่า, การศึกษาและแสดงความคิดเห็นให้เป็นโดยเสรี ฯลฯ
หูซึ เผยแพร่ลัทธิเสรีนินม, ประชาธิปไตย และวิทยาศาสตร์ ตามแบบอเมริกัน และคัดค้านลัทธิขงจื๊อ
หลู่ซิ่น สร้างงานเขียนจำนวนมาเพื่อประณามความโหดร้ายทารุณ และทรชาติต่อชาติของขุนศึกในยุคนั้น จนได้รับการยกย่องว่า “บิดาแห่งวรรณคดีของจีนใหม่”
หลี่ต้าเจา ที่ได้ชื่อว่า “มาร์กซิสต์คนแรกของจีน” เป็นผู้นำแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์มาเผยแพร่ เขาเชื่อว่ามันจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยปลดแอกผู้หญิงและแรงงาน
ช่วงเวลาที่เริ่มต้นการปฎิวัติปัญญาชน เพื่อนบ้านอย่างรัสเซียก็เกิดการปฏิวัติบอลเชวิคโค่นราชวงศ์โรมานอฟ ในเดือนพฤศจิกายน 1917 ต่อมาในเดือนเมษายน 1919 เลนิน จัดตั้ง องค์การคอมมิวนิสต์สากล เพื่อสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศต่างๆ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ เดือนเมษายน 1919 ก็เริ่มกระแสข่าวว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลจีน ในการประชุมสันติภาพที่ประเทศฝรั่งเศส จีนที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงคราม และส่งกำลังทหารหลายหมื่นนายไปสนับสนุนตั้งช่วงแรกๆ ด้วยหวังว่า ดินแดนจีนในเขตอิทธิพลของเยอรมัน เช่นเมืองท่าในเมืองชิงเต่า และพื้นที่ตอนเหนือในมณฑลซานตงจะคืนให้จีน
30 เมษายน 1919 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แถลงต่อสาธารณะว่า ข้อเสนอมอบดินแดนดังกล่าวให้ญี่ปุ่น ตาม “สนธิสัญญาแวร์ซายล์” เป็นไปตามพันธะสัญญาตามกฎหมายสากล อเมริกาและประชาคมโลกเลือกข้างญี่ปุ่น และต้องการให้ญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ เพราะจีนในเวลานั้นเป็นเสมือนคนป่วยที่เพิ่งฟื้นไข้
4 พฤษภาคม 1919 เกิดการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาปัญญาชน ที่ประตูเทียนอานเหมิน (เวลานั้นยังไม่ได้เป็นจตุรัส) ที่เรียกว่า “ขบวนการ 4 พฤษภา” นักศึกษาหลายพันคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปักกิ่ง 13 แห่งมาร่วมการชุมนุม พร้อมชูป้ายรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ประเทศ ตำรวจเข้าจับกุมผู้ชุมนุม
โจวเอินไหล เวลานั้นเป็นนักศึกษาได้รับเลือกให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สมาคมนักเรียนนักศึกษานครเทียนสิน เพื่อสร้างประชามติ นอกจากนี้ยังรวมชุมนุมประท้วง และการคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น (ค.ศ. 1920) ในเวลาต่อมา จนถูกเจ้าหน้าที่จับกุม แต่เขาและเพื่อนนักศึกษาก็ยังรณรงค์ต่อด้วยการอดข้าวประท้วง
ช่วงเวลานั้น ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หลี่ต้าเจา-บรรณารักษ์ของห้องสมมุดของมหาวิทยาลัย และ เฉินตู๋ซิ่ว-คณบดีคณะอักษรศาสตร์ สนับสนุนการชุมนุมประท้วง นอกจากนี้พวกเขายังร่วมกันทำนิตยสารซินชิงเหนียน (เยาวชนใหม่) ฉบับพิเศษว่าด้วยลัทธิมาร์กซ์ นิตยสารฉบับนี้เป็นที่แพร่หลายมาก คนหนุ่มสาวที่สนใจลัทธิมาร์กซ์ มาพบหลี่ต้าเจาถึงห้องทำงาน ในจำนวนนั้นมีเหมาเจ๋อตงด้วย
แต่ก็เจอแรงกดดันจากพวกอนุรักษ์นิยมจนเฉินตู๋ซิ่วถูกกุมขัง และต้องลาออกจากตำแหน่งคณบดี แต่เขายังคงเดินหน้าทำงานต่อ เดือนพฤษภาคม1920 เฉินตู๋ซิ่วจัดตั้ง “สมาคมศึกษามาร์กซิสต์” ต่อมาในเดือนสิงหาคมก็จัดตั้ง “กองกำลังเยาวชนโซชะลิสต์” ซึ่งเป็นองค์การต้นกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนองค์การหนึ่ง
เหตุการณ์การเมืองข้างต้น ทำให้ปัญญาชนจีนจำนวนมากหมดศรัทธากับชาติตะวันตก อิทธิพลของลัทธิมาร์กซ์ที่มีเพียงน้อยนิดในจีน กลับได้รับการตอบสนองของประชาชน นอกจากนี้ท่าทีของรัสเซีย และรัฐบาลเลนิน เวลานั้นก็เป็นมิตรและไม่เอาเปรียบจีน
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 1920 กรีกอรี วอยตินสกี้ ผู้แทนองค์การคอมมิวนิสต์สากล เดินทางมาปรึกษาหารือกับ หลี่ต้าเจา ที่เซี่ยงไฮ้ เกี่ยวกับการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ข้อสรุปว่าจะมีการตั้งพรรคขึ้น โดยระยะแรกจะมีสาขาที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งหลี่ต้าเจาเป็นผู้ดูแล ส่วนสาขาหนึ่งทางเหนือเฉินตู๋ซิ่วดูแล
วันที่ 1 กรกฎาคม 1921 การประชุมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เริ่มขึ้น
หากการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 1 จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ในคืนวันที่ 23 กรกฎาคม 1921 ที่บ้านเลขที่ 3 ซอยชูด ถนนเปอเล่ ในเขตเช่าประเทศฝรั่งเศส เมืองเซี่ยงไฮ้ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 106 ถนนว่างจื้อ ปัจจุบันคือบ้านเลขที่ 76 ถนนซิงเย่)
ผู้แทนที่เข้าร่วม การประชุมมีทั้งหมด 13 คน ได้แก่ หลี่ฮั่นจวิ้นและหลี่ต๋าจากเมืองเซี่ยงไฮ้, จางกั๋วเทาและหลิวเหรินจิ้งจากกรุงปักกิ่ง, เหมาเจ๋อตงและเหอซูเหิงจากเมืองฉางซา, ต่งปี้อู่และเฉินถานชิวจาก เมืองอู่ฮั่น, หวังจิ้นเหม่ยและเติ้งเอินหมิงจากเมืองจี้หนาน, เฉินกงปั๋วจากเมืองกวางเจา, โจวฝัวไห่ นักเรียนจีนในประเทศญี่ปุ่น และเป่าฮุยเซิงซึ่งเฉินตู๋ซิ่วส่งมา
ส่วนเฉินตู๋จิ๋วและหลี่ต้าเจา ผู้ก่อตั้งหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้เนื่องจากติดภารกิจเร่งด่วนอื่น
วันที่ 30 กรกฎาคม เนื่องจากการประชุม ถูกหน่วยงานตํารวจในเขตเช่าบุกรุกและก่อกวน คณะผู้แทนจึงตัดสินใจย้ายจากเมืองเซี่ยงไฮ้ไปจัดการ ประชุมต่อบนเรือท่องเที่ยวลําหนึ่งในทะเลสาบหนานหู เมืองเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง
ถึงวันนี้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2021 พรรคอมมิวนิสต์จีนมีอายุครบ 100 ปี มีสมาชิกพรรคมากกว่า 90 ล้านคน เป็นการพรรคการเมืองที่สุด มีสมาชิกมากที่สุด
ข้อมูลจาก
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2577
เส้าหย่ง-เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล- แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร: ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน, สำนักพิมพ์มติชน ตุลาคม 2560
เชาวน์ พงษ์พิชิต. โจวเอินไหลรัฐบุรุษจีน, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2558
รานา มิตเตอร์-เขียน, สุทธิมาน ลิมปนุสรณ์-แปล. ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่, สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป, พิพม์ครั้งแรก เมษายน 2562
https://www.cfr.org/backgrounder/chinese-communist-party สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2564
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 1 กรกฎาคม 2564