“พญานาค” คุ้ยควักแผ่นดิน กำเนิดที่ราบเมืองเชียงแสน

ที่ราบ เมืองเชียงแสน ด้านขวาคือ แม่น้ำโขง มี ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ เกี่ยวข้องกับ พญานาค
ที่ราบเมืองเชียงแสน ด้านขวาคือแม่น้ำโขง

“พญานาค” คุ้ยควักแผ่นดิน กำเนิดที่ราบ เมืองเชียงแสน ใน ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ

ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 72 ซึ่งจะมีการเล่าเรื่องราวการเกิดพื้นที่ราบเมืองเชียงแสน ในตอนต้นของเอกสารเรื่องนี้ ซึ่ง อ. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายไว้ว่า

เรื่องกำเนิดที่ราบเชียงแสน กล่าวอยู่ในตอนต้นของ ตำนานสุวรรณโคมคำ เอกสารบนใบลานที่ได้รับการถอดความจัดลำดับพิมพ์เป็น ประชุมพงศาวดารภาคที่ 72 ตำนานตอนนี้ใช้แนวคิดจากพระอัคคัญสูตร ในพระสุตตันตปิฎก กล่าวถึงเมื่อเริ่มกัปป์ใหม่หลังจากไฟได้เผาทำลายโลกในกัปป์ที่แล้ว เริ่มกัปป์ใหม่คือภัททกัปป์อันเป็นชื่อกัปป์ของปัจจุบัน เกิดฝนตกไฟดับและเกิดน้ำท่วมสูงขึ้นถึงชั้นพรหม แล้วน้ำได้ลดลงมีแผ่นดินโผล่พ้นน้ำขึ้นมา 4 ทวีปใหญ่ กับอีก 2,000 อนุทวีป

แผ่นดินที่ราบเชียงแสนนี้ ตำนานสุวรรณโคมคำได้แต่งเรื่องต่อจากเรื่องพระอัคคัญสูตรว่า เป็น 1 ใน 2,000 อนุทวีปโดยกล่าวว่า แต่เดิมเนื่องจากเป็นที่ราบที่มีเทือกเขาล้อมรอบอยู่ทั้งสี่ด้าน เมื่อน้ำลดลงไปหมดแล้วจึงเหลือบริเวณนี้เป็นที่ที่มีน้ำขังอยู่เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบเอาไว้ ต่อมามี พญานาค 2 ตนทะเลาะกันทางทิศเหนือของหนองน้ำแห่งนี้ พญานาคทั้งสองได้รุกไล่กันโดยคุ้ยควักแผ่นดินไล่หนีกันลงมาทางใต้ผ่านหนองน้ำแห่งนี้และคุ้ยควักแผ่นดินหนีไล่กันต่อไปจนถึงมหาสมุทรทางทิศใต้

เส้นทางที่พญานาค 2 ตนคุ้ยควักไล่หนีกันนี้จึงเกิดเป็นร่องน้ำมหึมา พาให้น้ำในหนองน้ำแห่งนี้ไหลไปตามทางทางนาคลงมหาสมุทรจนหมด หนองน้ำจึงแห้งกลายเป็นแผ่นดินคือ บริเวณที่ต่อมากลายเป็นที่ราบเชียงแสน ส่วนทางพญานาคที่นำน้ำให้ไหลออกไปมหาสมุทรก็คือแม่น้ำโขง แผ่นดินที่ราบเชียงแสนเมื่อแห้งแล้วก็มีคนและสัตว์เข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากิน ผู้เล่าตำนานจึงจัดให้แผ่นดินผืนนี้เป็น 1 ใน 2,000 อนุทวีปที่กล่าวอยู่ในพระอัคคัญสูตร”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 20 ธันวาคม 2566