ถอดความเชื่อและเรื่องเล่า รูพญานาคกับพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย จ.เลย

ถอดความเชื่อและเรื่องเล่า รูพญานาค กับ พระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย จังหวัดเลย

วัดโพนชัย เป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมันในเขตเมืองด่านซ้าย ตำแหน่งที่ตั้งของศาสนาคารที่สำคัญของวัดอยู่เนินสูง ซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า “โพน” จึงมีชื่อเรียกว่า “วัดโพน” วัดโพนชัยสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับการสร้าง พระธาตุศรีสองรัก ในระหว่าง พ.ศ. 2103-2106 โดยเป็นที่พักของพระสงฆ์ที่มาร่วมงานสมโภชพระธาตุศรีสองรัก [1]

สอดคล้องกับนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่ระบุว่า ภายในวัดมีพระเจดีย์ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระธาตุศรีสองรัก แต่มีขนาดเล็กและชะลูดกว่า ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียง หรือหลังการสร้างพระธาตุศรีสองรักเล็กน้อย [2]

ชาวบ้านเชื่อว่า บริเวณเนินดินที่ถูกสร้างเป็นวัดโพนชัย เกิดจากขุยดินปากรูพญานาค ซึ่งในสมัยพุทธกาล พญานาคเคยได้ถวายพื้นที่แห่งนี้ให้พระพุทธเจ้าประทับแรม พร้อมด้วยพระสาวก 500 รูปมาก่อน ทำให้ขุยดินปากรูพญานาคดังกล่าวกลายเป็นเนินดินย่อม ๆ ชาวด่านซ้ายเรียกเนินดินนี้ว่า “โพน” ภายหลังจึงมีการสร้างวัดและศาสนาคารบนเนินดินดังกล่าว แล้วตั้งชื่อเป็นมงคลว่า “วัดโพนชัย” [3]

หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่ วัดโพนชัย ถูกอุปมาว่าประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำตามปริศนาคำทายท้องถิ่นเมืองด่านซ้าย

เหนือเนินดินวัดโพนชัย มี วิหารหลวง เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของวัด เป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านช้าง หันหน้าไปทางทิศใต้สู่แม่น้ำหมันและตัวชุมชนเมืองด่านซ้าย เดิมเป็นวิหารโถง เสาไม้ แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนบนเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ส่วนล่างเป็นผนังก่ออิฐถือปูน มีช่องหน้าต่าง

ภายในวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อพระเจ้าใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 79 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ฝีมือช่างท้องถิ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 สันนิษฐานว่า อาจสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัดโพนชัย [4]

ที่พื้นวิหารหลวงทางด้านหลัง ทางซ้ายของฐานชุกชีพระประธานติดกับผนัง มีหลุมคล้ายรู ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เมตร มีป้ายขนาดเล็กเขียนกำกับที่ปากหลุมไว้ว่า “รูพญานาค” จากการสัมภาษณ์พระมหายุรนันท์ สุมงฺคโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพนชัย ทำให้ทราบว่า การทำหลุมหรือรูพญานาคนี้ ทำทดแทนรูพญานาคเดิมที่อยู่ทางหลังด้านขวาของฐานชุกชี ซึ่งถูกปิดไปเมื่อราว 30 ปีมาแล้ว [5]

รูพญานาครูเดิมมีขนาดปากหลุมใกล้เคียงกับรูปัจจุบัน รูดังกล่าวปรากฏอยู่ด้านข้างฐานชุกชีมาช้านานแล้ว สันนิษฐานว่าตั้งแต่พร้อมกับการสร้างวิหารหลวง เคยมีผู้เอาลูกมะพร้าวแห้งหย่อนลงไปในหลุม ปรากฏว่าลูกมะพร้าวแห้งดังกล่าวได้ไปปรากฏลอยวนอยู่ในแม่น้ำหมัน บริเวณท่าวังเวิน ซึ่งอยู่เยื้องจากหน้าวิหารหลวงไปทางทิศตะวันออก

ชาวด่านซ้ายเชื่อว่า รูพญานาค เป็นทางขึ้นลงของพญานาคจากแม่น้ำหมัน ที่มาคอยดูแลปกปักรักษาองค์พระเจ้าใหญ่ [6]

ในอดีตยังมีเรื่องเล่าว่า ในช่วงวันพระมักจะปรากฏเป็นคราบโคลนหรือน้ำอยู่บนฐานชุกชี และหน้าตักพระเจ้าใหญ่เป็นประจำ บ้างก็ว่า เป็นรอยคล้ายกับรอยพญานาค คราบโคลนหรือน้ำที่ปรากฏดังกล่าวเชื่อว่า เป็นโคลนที่ติดมากับตัวพญานาค ที่ขึ้นมากราบและดูแลพระเจ้าใหญ่วัดโพนชัย [7] ทั้งนี้ ความเชื่อเรื่องรูพญานาคดังกล่าว ยังสอดคล้องกับเรื่องเล่าที่มาของเนินดินวัดโพนชัย ที่เกิดจากขุยดินปากรูพญานาคตั้งแต่สมัยพุทธกาลอีกด้วย

ต่อมา พระครูสุมนวุฒิกร (หลวงปู่ใหญ่) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพนชัย ได้ปิดรูพญานาคดังกล่าว เนื่องจากไม่ต้องการให้พญานาคเอาโคลนเข้าในวิหารหลวง แต่หลังจากปิดรูแล้วทำให้วัดโพนชัยไม่เจริญรุ่งเรือง มีแต่ทรุดโทรมลงไป ทำให้ใน พ.ศ. 2536 เกิดเหตุการณ์พญานาคได้มาเข้าทรงร่างคุณยายสมปอง ชามนตรี ชาวบ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย พร้อมกับพูดต่อว่ามาปิดทางเดินของพญานาคทำไม เพราะพญานาคไม่สามารถขึ้นมารักษาดูแลพระเจ้าใหญ่ได้ ปิดรูของพญานาคก็เหมือนปิดวัด [8]

รู พญานาค วัดโพนชัย
รูพญานาค วัดโพนชัย

หลังจากพญานาคมาเข้าทรงแล้ว พระสงฆ์ ชาวบ้าน และคณะกรรมการวัด จึงได้ตกลงเปิดรูที่อยู่หลังพระเจ้าใหญ่อีกครั้ง โดยขยับมาไว้ทางด้านซ้ายของฐานชุกชี เพื่อให้พญานาคขึ้นมาดูแลพระเจ้าใหญ่ นับแต่นั้นมาวัดโพนชัยก็มีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในฐานะสถานที่จัดงานบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขนอันโด่งดังไปทั่วโลก

จากการตีความหลักฐานประวัติศาสตร์และคติชนวิทยาพบว่า คำว่า “นาค” ที่ปรากฏอยู่ในตำนานหรือนิทานปรัมปราต่าง ๆ บางครั้งไม่ได้หมายถึงสัตว์ หากแต่ “นาค” คือกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีระบบความเชื่อทางศาสนาเป็นของตนเองมาก่อน คือ ลัทธิบูชางูหรือนาค [9]

ดังนั้น เรื่องเล่านิทานปรัมปราเกี่ยวกับ พญานาค ในลุ่มน้ำหมัน จึงอาจมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่นับถือพญานาคหรืองูใหญ่ แล้วต่อมาก็เกิดการปรับเปลี่ยนมารับคติพระพุทธศาสนาในภายหลัง แต่ยังคงยกย่องพญานาคให้คอยปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาต่อไป

ความเชื่อเรื่อง รูพญานาค ที่วัดโพนชัย เห็นได้ชัดว่าสถานที่ตั้งวัดโพนชัยได้เกิดการสร้างวัดทางพระพุทธศาสนาซ้อนทับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของความเชื่อดั้งเดิม คำอธิบายเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าและพระสาวก แล้วพญานาคก็ยอมยกเนินขุยดินปากรูให้เป็นที่ประทับแรมนั้น สะท้อนให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานอยู่ที่บริเวณวัดโพนชัยแห่งนี้แทนที่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของความเชื่อเรื่องพญานาคของกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม และเป็นการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแทนความเชื่อดั้งเดิมเรื่องนาคของผู้คนในลุ่มน้ำหมันแห่งนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

[1] สัมฤทธิ์ สุภามา และคณะ. พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ดินแดนแห่งสัจจะและไมตรี. (เลย : มูลนิธิพระธาตุศรีสองรัก, 2556), น. 42.

[2] ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. (กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2555), น. 71.

[3] พระมหายุรนันท์ สุมงฺคโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย, สัมภาษณ์ วันที่ 25 สิงหาคม 2561.

[4] ธีระวัฒน์ แสนคำ. พระพุทธรูปสำคัญในจังหวัดเลย. (เลย : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, 2561), น. 24-35.

[5] พระมหายุรนันท์ สุมงฺคโล สัมภาษณ์ วันที่ 25 สิงหาคม 2561.

[6] นางประจบ หมื่นสม ปราชญ์ท้องถิ่นตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย, สัมภาษณ์ วันที่ 26 สิงหาคม 2561.

[7] พระครูถาวรรัตนากร (เชาวรัตน์ จตฺตภโย) เจ้าคณะตำบลด่านซ้าย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย, สัมภาษณ์ วันที่ 25 สิงหาคม 2561.

[8] นางสมปอง ชามนตรี ผู้ถูกพญานาคเข้าทรงร่าง ชาวบ้านเดิ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย, สัมภาษณ์ วันที่ 26 สิงหาคม 2561.

[9] ดู สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), น. 3-62.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “เรื่องเล่าพญานาคในลุ่มน้ำหมัน : การผสานความเชื่อดั้งเดิมกับพระพุทธศาสนาในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2564